การทูตเชิงวัฒนธรรม และความเป็นมหาอำนาจด้าน Soft Power ของไทยบนเวทีโลก

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข | 31 ธ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 13909 ครั้ง


ผลการจัดอันดับจากบริษัท Consulting ชื่อดังนามว่า Portland ได้จัดอันดับประเทศที่ใช้ Soft Power (อำนาจทางด้านวัฒนธรรม) ได้ดีที่สุดระดับโลกไว้ 30 ประเทศ โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับไว้ในระดับแถวหน้าก็เป็นประเทศในแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เยอรมนี สวีเดน แล้วตามด้วยสหรัฐอเมริกา ที่มีประวัติการใช้นโยบาย Soft Power ได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมๆกับการจัดอันดับของประเทศในกลุ่มเอเชียโดยเฉพาะแทรกมาด้วยในตอนท้ายของรายงาน ซึ่งได้จัดให้ญี่ปุ่นอยู่ในหัวขบวนของ 5 อันดับแรก (ตามด้วยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และไต้หวัน)

สิ่งที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้ก็คือ ประเทศไทยก็ติดอันดับมากับเขาด้วย และเป็นการติดลำดับที่ 6 ตามหลังไต้หวันมาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันแล้ว (2018-2019) ทำให้เมื่อมองจากมิติของขีดความสามารถด้าน Soft Power หรืออำนาจด้านวัฒนธรรม ไทยเราถือว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และ ASEAN เลย เพราะมีเพียงสิงคโปร์แห่งเดียวเท่านั้นที่ถูกจัดลำดับให้อยู่สูงกว่าไทย (ส่วนประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆนั้นล้วนแต่มีลำดับที่ต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น)

ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นความจริง ข้อกล่าวอ้างเหล่านี้จึงไม่ใช่การกล่าวอ้างแบบเกินเลย หากสังเกตความเป็นไปของสถานการณ์ทางด้าน Soft Power ไทยในช่วง 3-5 ปีให้หลังมานี้ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าไทยเรามีปัจจัยส่งเสริม และตัวแปรสำคัญที่มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ทางด้าน Soft Power ของไทยเรานั้นติดอันดับแถวหน้าของ ASEAN มาตลอด ตั้งแต่ในมิติของวงการบันเทิงไปจนถึงมิติด้านการท่องเที่ยว บทความนี้จึงถือโอกาสนำประเด็นในเรื่องของ Soft Power ของไทยกลับมาอภิปรายโดยตั้งอยู่บนฐานที่ว่า Soft Power รูปแบบใดบ้างที่มีส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และหน้าตาของไทยจนได้รับการยอมรับบนเวทีระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายปีเช่นนี้

สำหรับผู้เขียนแล้ว ประการที่หนึ่งเลยเห็นว่าเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมการบันเทิง ทั้งในด้านภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ทีวีซีรีส์ ไปจนถึงภาพยนตร์สั้นเชิงโฆษณาล้วนแต่เป็นที่นิยมชื่นชอบของชาวต่างชาติทั้งสิ้น ภาพยนตร์จากช่อง ONE และค่าย GDH559 ไปดังที่ต่างประเทศเยอะมาก ไม่ว่าจะเลือดข้นคนจาง ฉลาดเกมส์โกง โฮมสเตย์ หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์เรื่องบุพเพสันนิวาสที่ดังไกลไปถึงประเทศจีน

ละครและภาพยนตร์เหล่านี้เป็นที่สนใจ ตื่นตากันมากในหมู่วัยรุ่นชาวจีน มาเลเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ทั้งในเรื่องของความโดดเด่นในด้านรูปร่างหน้าตานักแสดงชาวไทย เนื้อเรื่อง เทคนิควิธีในการเล่าเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่จากแวดวงภาพยนตร์โฆษณา ที่ชาวต่างชาติมักจดจำได้จากลีลาการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของสายเชีย วงศ์วิโรจน์ (จากผลงานเรื่อง “จน-เครียด-กินเหล้า”) โดยภาพรวมแล้วปฏิเสธได้ค่อนข้างยากว่าอุตสาหกรรมการบันเทิงไทยนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักในระดับโลกไม่น้อยหน้าไปกว่าอุตสาหกรรมการบันเทิงของเพื่อนบ้านทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเกาหลีใต้เลย

ประการถัดมาคือ เรื่องของอาหาร ทั้งผัดไท ต้มยำกุ้ง แกงพะแนง และส้มตำนั้นเป็นอาหารยอดนิยมที่พบได้ไม่ยากในร้านอาหารไทยและร้านอาหารประเภทเอเชียฟิวชั่นภายในต่างประเทศอยู่เสมอพร้อมกับมีการส่งต่อสูตรอาหารกันไปยังทุกๆภูมิภาคของโลกอย่างต่อเนื่องมาหลายปี จนปัจจุบันไปถึงขั้นมีความพยายามในการลอกเลียนแบบอาหารไทย เครื่องครัว เครื่องปรุงของไทยภายในประเทศต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น ซอสพริกศรีราชา และเตาปิ้งกะทะของไทย เป็นต้น

ซึ่งในส่วนนี้ก็ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะมองเห็นโอกาส ความเป็นไปได้ของครัวไทย อาหารไทย และเครื่องปรุงไทยเป็นอย่างดี จนมีโครงการอย่าง Global Thai ของพันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่มุ่งจะขยายขอบฟ้าในด้านอาหารของไทย เพื่อให้อาหารและวัฒนธรรมการกินแบบไทยๆนั้นถูกส่งต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก พร้อมกับสนับสนุนให้มีการเปิดภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มเติมในฐานะเครื่องมือและตัวแทนทางการทูตของประเทศไทยอีกด้วย โดยผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะจากเดิมภัตตาคารอาหารไทยในต่างประเทศนั้นมีอยู่เพียง 5,000 กว่าแห่งทั่วโลกในปี 2002 ก็เพิ่มจำนวนมาเป็นทั่วตัว คือ กว่า 10,000 แห่งภายในปี 2011 (เช่นเดียวกับธุรกิจสอนทำอาหารไทยให้แก่ชาวต่างชาติที่ก็กำลังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตที่มากขึ้นในปี 2020 ตามกระแสของการท่องเที่ยวอีกด้วย)

ต่อมาคือเรื่องของสถานที่การท่องเที่ยว ที่ไม่ว่าจะจัดอันดับอย่างไร ทุกๆปีต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวจากประเทศไทยนั้นติดลำดับร่วมไปกับสถานที่เที่ยวภายในยุโรป ญี่ปุ่นไปด้วย ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี ทำให้ไทยนั้นสามารถฟันรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปในมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่สหราชอาณาจักรทำได้เพียงแค่ 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี เพราะไทยมีปริมาณนักท่องเที่ยวขาเข้ามากกว่า ไทยจึงถือเป็นศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยวแห่งสำคัญที่เรียกเงินจากนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดในประเทศแถบเดียวกันไปโดยปริยาย

โดยกลุ่มย่อยที่กำลังมาแรงก็คือ กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงรักษาพยาบาล (medical tourism) ที่ไทยมีสถิตินักท่องเที่ยวขาเข้าในกลุ่มนี้มากกว่า 3 แสนรายต่อปี จนประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีขนาดตลาดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรักษาพยาบาลใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ตุรกีและเบลเยียม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าสำหรับโรงพยาบาลเอกชนไทยนั้นแม้จะดูค่าใช้จ่ายสูงในสายตาคนไทย แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพนั้นมีราคาที่ต่ำ และคุณภาพดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งมาก

ประการที่สี่ อุตสาหกรรมการนวดแผนไทย อันนี้เป็นส่วนที่แตกหน่อออกมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะมันไม่ได้กินความหมายอยู่แค่ภายในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ยังหมายรวมถึงโอกาสของการต่อยอดทางการค้า ธุรกิจ และการเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังต่างประเทศอีกด้วย

อนึ่งศิลปะของการนวดแผนไทยนั้นเป็นที่โจษขานกันในหมู่นักท่องเที่ยวที่รู้จักประเทศไทยมาช้านาน ทำให้มีนักธุรกิจและนายทุนที่มองเห็นโอกาสทางด้านนี้ สนใจนำเอาแนวคิดบริการนวดแผนไทย ร้านนวดแผนไทยออกไปเปิด ณ ต่างประเทศมากมายไม่ว่าจะในยุโรปหรืออเมริกา อุตสาหกรรมของการนวดแผนไทยจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เคยว่าง ไม่เคยมีวันหยุด โดยเฉพาะในความรับรู้ของกลุ่มแรงงานหญิงชาวไทย โอกาสการเคลื่อนย้าย การอพยพไปต่างประเทศเพื่อทำงาน ประกอบอาชีพ ‘หมอนวด’ (หมายถึงงานนวดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับขายบริการทางเพศ) เปิดกว้างรอรับอยู่เสมอ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ไม่มีคำว่า ‘ที่นั่งเต็ม’ ความต้องการในตัวหมอนวดมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฯลฯ จะมีนายหน้ามาคอยประกาศหาหญิงไทยวัยน้อย-ใหญ่ไปทำกันอยู่ตลอดเกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการขยายตัวในช่วง 10 หรือ 20 ปีหลังจากนี้

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมการนวดของไทย สิ่งที่ผู้เขียนพอจะนึกได้ก็เห็นจะมีเรื่องของสินค้า และอุปกรณ์ต่างๆของวงการนวด และการทำสปาที่ยังมีโอกาสในการขายและการขยายตัวได้อีก ทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จีน และไต้หวัน บินเข้ามายังประเทศไทย หรือชุมชนสินค้าแบรนด์ไทย สิ่งที่พวกเขามักจะตามหาเป็นอันดับแรกๆในหมวดสปาหรือการนวด ก็คือ น้ำมัน น้ำหอม และอุปกรณ์ที่นักทำสปาภายในอุตสาหกรรมนวดใช้กัน สิ่งหนึ่งที่ทัวร์จีน หรือนักท่องเที่ยวเหล่านี้มักถามจากไกด์ ก็คือ การให้พาไปซื้อสินค้าในกลุ่มดังกล่าว

ไม่ใช่แค่แบรนด์ระดับตลาดนัดเท่านั้นที่ขายดี แต่ยังมีแบรนด์ระดับพรีเมียมราคาสูงที่ถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยว อย่างแบรนด์ Harnn ที่ทัวร์ลงเมื่อใดเป็นต้องซื้อเหมากันกลับไปเป็นตะกร้า เป็นกล่องใบเขื่องกันแทบทุกครั้ง (แม้สนนราคาต่อชิ้นจะมีราคาเกือบ 2,000 บาท ก็ตาม) อีกด้วย

เช่นเดียวกับสินค้าในลักษณะหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) หรืองานประดิษฐ์ งานฝีมือ (crafts) นักท่องเที่ยวจะชื่นชอบเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นกางเกงเล กางเกงผ้าพื้นเมืองชาวเหนือ ผ้ามัดย้อม งานจักสาน งานกระเป๋าผ้า งานตะกร้า รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ที่มีลายเป็นช้าง และลายที่แสดงออกถึงความเป็นไทย กระแสความชื่นชอบ และเอกลักษณ์ลวดลายที่เข้าตามลักษณะดังกล่าวเป็นเหตุผลให้แบรนด์อย่าง NaRaYa ที่แม้จะไม่ใช่สินค้าที่มีราคาแพง (ราคามักอยู่ในระดับ 200-300 บาท) สามารถดึงสายตาของนักท่องเที่ยวอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวันให้พากันซื้อเหมาเป็นคันรถกลับประเทศไปด้วยความนิยมชมชอบนั้นเอง

ประการสุดท้ายที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจไม่แพ้ข้ออื่นๆที่อภิปรายไว้ข้างต้นก็คือ ความเปิดกว้างของสังคมไทยที่มีต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) คนไทยหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ตัว แต่วงการ LGBT ของไทย และความเปิดกว้างต่อเรื่องดังกล่าวของคนไทยนั้นถือว่าก้าวหน้ามากที่สุดแห่งหนึ่งในสายตาชาวโลกมาตลอด ทั้งในระดับเทคโนโลยีที่อุตสาหกรรมการผ่าตัดและศัลยกรรมในกลุ่ม LGBT ของไทย อย่างโรงพยาบาลยันฮีมีชื่อเสียงในด้านฝีมือของศัลยแพทย์มานานมากกว่า 10 ปี ไปจนถึงในระดับสังคม-วัฒนธรรม คนไทยก็เปิดโอกาสให้ชาว LGBT มีที่ยืนภายในสังคมมาตลอดไม่น้อยหน้าประเทศที่เพิ่งอนุมัติกฎหมายสมรสของเพศเดียวกันอย่างไต้หวัน

ใครที่คิดว่าสังคมไต้หวันนั้นก้าวหน้าเรื่องเพศและ LGBT มากกว่าไทยนั้น จริงๆถ้าลองไปถามคนที่ไต้หวันจำนวนมาก เขามองว่าสังคมไทยนั้นก้าวหน้า และเปิดกว้างต่อ LGBT มากกว่าไต้หวันอีก เพราะถึงแม้ว่าไต้หวันจะสามารถผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อสนับสนุนกลุ่มคู่สมรส LGBT ได้จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้วสังคมไต้หวันก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ไม่น้อย สังเกตได้จากการทำประชามติในปี 2018 ที่ยังมีคนไต้หวันจำนวนมากยังคงไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับดังกล่าวนัก (และที่กฎหมายสามารถผ่านมาได้ในปี 2019 นั้นเป็นเพราะมีกลไกของศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันที่เข้ามาช่วยตีความสนับสนุนเอาไว้ในปี 2017)

อีกกรณีหนึ่ง คือ ในความเป็นจริงนั้นที่ไต้หวันเขาจะคึกคักต่อประเด็นเรื่อง LGBT กันอยู่แค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น คือช่วงเดือนตุลาคม ที่เป็นเทศกาลของกลุ่มชาว LGBT ในไต้หวัน ซึ่งจะมีการจัดขบวนพาเหรด งานประชุมเรื่องสิทธิ LGBT งานเลี้ยงฉลอง งานแฟร์ งานวัด หรือตลาดนัดที่มีธีมเกี่ยวกับ LGBT เพื่อเป็นการรณรงค์เท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปเพื่อเหตุผลทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการเรียกร้องทางการเมืองเท่านั้น ถ้าลองไปเดินเล่นในเมืองไทเป หรือเมืองท่องเที่ยวหลายๆแห่ง เพื่อสังเกตวิถีชีวิตชาวเมืองแล้วมาพิจารณาเปรียบเทียบกับในกรุงเทพฯ จำนวน LGBT ที่แสดงออก แต่งกายตามเพศสภาพ อะไรทำนองนี้มีไม่เท่าที่กรุงเทพฯที่การแสดงออกในมิติดังกล่าวมีค่อนข้างเสรี เปิดเผยมากกว่า อีกทั้งในระดับเทคโนโลยีก็เช่น อุตสาหกรรมการผ่าตัดและศัลยกรรมในกลุ่ม LGBT ของไทย อย่างโรงพยาบาลยันฮีก็มีชื่อเสียงในด้านฝีมือของศัลยแพทย์มานานมากกว่า 10 ปี ถึงขั้นที่ว่า 10 กว่าปี

โดยภาพรวมแล้วจึงพอจะสรุปได้ว่าภาพลักษณ์ด้านวัฒนธรรม และสังคมของไทยนั้นค่อนข้างอยู่ในระดับเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกทีเดียว ไม่ว่าจะด้านอาหาร ด้านค่านิยม ด้านแฟชั่น และอุตสาหกรรมการบันเทิง เหตุปัจจัยเหล่านี้ต่างมีส่วนเสริมสร้างอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรม และชื่อเสียงให้แก่ไทยอย่างช้าๆมาตลอด แม้ว่าในบางกรณีจะไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงภายในไทย แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้มุมมองของชาวต่างชาติที่มองเข้ามา ก็จะช่วยให้เข้าใจได้ไม่ยากว่า เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างผัดไท หรือภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกง ละครบุพเพสันนิวาสนั้นสร้างชื่อและเรียกแขก/นักท่องเที่ยวขาเข้าให้ไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว การที่ไทยได้รับการยกย่อให้เป็นผู้นำด้าน Soft Power ของภูมิภาคอาเซียนจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ หรือกังขาแต่อย่างใด


 

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Women of China

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: