เสวนา ‘หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย' เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 โดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน 3 บริษัทอาหารทะเลรายใหญ่ยืนยันเดินหน้าส่งเสริมสิทธิแรงงาน แม้พ้นใบเหลือง IUU
31 ก.ค. 2562 ขณะที่หลายฝ่ายยังมีความกังวลต่อประเด็นสิทธิแรงงาน ภาคเอกชนผู้ส่งออกอาหารทะเลแถวหน้าของไทย ได้ให้คำมั่นถึงการปรับปรุงและพัฒนาการส่งเสริมสิทธิแรงงานในประเด็นกลไกการร้องเรียน ความปลอดภัยในการทำงาน และกระบวนการสรรหาแรงงาน โดยต่างระบุว่ามีความตั้งใจจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ภาคประชาสังคมชี้ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีพร้อมย้ำถึงความสำคัญของภาคธุรกิจว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังร่วมถึงการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายรวมถึงภาครัฐ เพราะปัญหาแรงงานโดนละเมิดและความเสี่ยงจากการทำงานยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง แม้พ้นใบเหลืองไปแล้วก็ตาม
การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้นเวทีเสวนา ‘หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย' เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 จัดโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปักหมุดว่าตอนนี้เราเดินมาถึงไหนและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับก้าวต่อไปของประเทศ โดยภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการเข้าร่วม
ช่องทางการร้องเรียน และคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ
นางเบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ชี้ถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้คณะกรรมการสวัสดิการสามารถทำงานและเป็นผู้แทนแรงงานได้จริง ทั้งนี้จาก 8 ช่องทางกลไกการร้องเรียนที่บริษัทมี คณะกรรมการสวัสดิการเป็นช่องทางการร้องเรียนที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยที่คณะกรรมการสวัสดิการจะประชุมร่วมกับไม่เฉพาะฝ่ายบุคคลแต่ประชุมร่วมกับผู้บริหาร เฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้ง ปัจจุบัน ร้อยละ 80 ของคณะกรรมการที่ผ่านการเลือกตั้งจากพนักงานด้วยกันเองทั้งหมด 22 คนเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยการมี Employee Caring Team ซึ่งเป็นทีมดูแลพนักงานของบริษัทไว้คอยเข้าหาพูดคุยเชิงรุกกับแรงงานเพื่อรับเรื่องร้องเรียนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติได้จริง เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจในการสื่อสารระหว่างหัวหน้าและแรงงานข้ามชาติ
“หลายๆ เรื่องของพนักงานเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างพนักงานกับหัวหน้า เกิดปัญหาความเข้าใจผิดกัน ไม่รู้ล่ามแปลอย่างไรบ้าง วันนี้เราให้หัวหน้างานในไลน์การผลิตไปเรียนภาษาพม่าเพิ่มขึ้น เริ่มทำตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว วันนี้บรรยากาศการทำงานในไลน์การผลิตดีขึ้น เพราะหัวหน้ากับพนักงานพูดภาษาเดียวกัน โดยเฉพาะศัพท์ง่ายๆ ในไลน์การผลิต” นางเบ็ญจพรกล่าว
นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าช่องทางการร้องเรียนแต่ละช่องทางมีความเฉพาะตัวและความท้าทายแตกต่างกันออกไป เช่น การร้องเรียนให้ปรับปรุงสวัสดิการและสภาพการทำงานทั่วไปมักจะมาจากคณะกรรมการสวัสดิการ แต่ถ้าเป็นการเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น ร้องเรียนหัวหน้างานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมาจากกลไกภายนอกผ่านเอ็นจีโอเป็นต้น
ด้านนางสาวพักตร์พริ้ง บุญน้อม ตัวแทนจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า นอกจากบริษัทจะจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ภายหลังรับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทางบริษัทจัดให้มีสัดส่วนคณะกรรมการเพิ่มขึ้นจากขั้นต่ำ 5 คน โดยให้เพิ่มตัวแทน 1 คนต่อพักงานทุกๆ 400 คน ทั้งนี้หากผลการเลือกตั้งยังไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่ม ก็จะจัดให้มีการเลือกอนุกรรมการที่เป็นตัวแทนของแรงงานให้ครอบคลุมใน 4 ด้านคือ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความพิการ โดยคณะอนุกรรมการมีหน้าที่นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการสวัสดิการ ก่อนที่คณะกรรมการสวัสดิการจะประชุมร่วมกับผู้บริหาร บริษัทขอขอบคุณเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ให้แนวคิดและจุดประกายเราในเรื่องสัดส่วนตัวแทนนี้ขึ้นมา ซีพีเอฟเริ่มทำมาตั้งแต่ปลายปี 2561โดยจะให้ครบคลุมโรงงานทั้งหมดของบริษัท
ขณะที่ภาครัฐเองก็มีแผนที่จะส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการสวัสดิการมากขึ้นเช่นกัน นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในอนาคตคณะกรรมการสวัสดิการจะต้องมีส่วนร่วมในพิจารณาในกรณีนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างด้วย ส่วนกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการของภาครัฐเองก็ต้องเข้มข้นขึ้น เช่น พุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบบริษัทที่ต้องสงสัยว่าจะมีปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน มากกว่าการตรวจสอบบริษัทใหญ่ๆ ที่ค่อนข้างจะมีมาตรฐานอยู่พอสมควรแล้ว
“คณะกรรมการสวัสดิการเป็นหนึ่งในช่องทางการร้องเรียนกับบริษัท ครั้นจะรวมตัวกันแบบสหภาพแรงงานก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับคือตัว 87 (อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว) และ 98 (อนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง) แต่เป้าหมายและความพึงพอใจอันสูงสุดของเราคือการที่รัฐบาลรับอนุสัญญาทั้ง 87 และ 98” นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าว
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายฯเห็นว่าคณะกรรมการสวัสดิการเป็นกลไกการร้องเรียนหนึ่งที่มีอยู่แล้วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งควรทำให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ให้แรงงานสามารถเข้าถึงเพื่อสื่อสารปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม จุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งยอมรับในสิทธิเสรีภาพของแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในการรวมตัวและเจรจาต่อรองอย่างแท้จริง
สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
ตัวแทนซีพีเอฟกล่าวว่าบริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือจากคู่ค้า เช่น ผู้ผลิตปลาป่นให้ตรวจสอบซัพพลายเออร์อีกที ตอนนี้บริษัทซื้อปลาป่นที่เป็น by product ทั้งหมดซึ่งส่งผลให้ไม่ได้มีการจัดซื้อจากเรือในประเทศไทย ในส่วนของสถานประกอบการ มีความท้าทายในปัจจุบันคือความคาดหวังจากคู่ค้าต่างชาติที่สูงกว่ากฎหมายไทย
ด้านซีเฟรชฯ เปิดเผยว่ามีเป้าหมายทำให้อุบัติเหตุในที่ทำงานเป็นศูนย์ แต่แรงงานข้ามชาติส่วนมากมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันอุบัติเหตุในการทำงานน้อย จึงต้องให้ความสำคัญอบรมเรื่องความปลอดภัย และมีหน่วยงานเชิงรุกที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานการผลิตว่าแรงงานมีความเข้าใจหรือไม่ หากแรงงานไม่รู้ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือหัวหน้างาน
ขณะที่นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ตัวแทนจากไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่าทางบริษัทก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง แต่สนับสนุนให้คู่ค้าที่เป็นเรือประมงพัฒนามาตรฐาน มีการสุ่มตรวจสอบเรือประมง และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดเวิร์กช็อปอบรมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้แรงงานประมงเจ้าของเรือโดยดำเนินการกับเรือที่เชื่อมโยงกับสายการผลิตของบริษัท
“คู่ค้า [เรือประมง] น่าจะมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะทราบว่าช่วงนี้อาจมีการขาดแคลนแรงงานประมง เพราะฉะนั้นถ้าแรงงานเขาบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตมันไม่เป็นผลดีอยู่แล้ว เขาก็ให้คอมเม้นว่าเขาดีใจที่ได้รับความรู้ เพราะไม่เคยมีใครมาพูดเรื่องสุขภาพความปลอดภัยตรงนี้เลย” ตัวแทนจากไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว
ด้านรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชี้ถึงช่องว่างซึ่งทำให้ไม่สามารถรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันได้ โดยกล่าวว่าทางกรมไม่ได้เก็บสถิติอุบัติเหตุและความปลอดภัยของแรงงานเอง แต่ใช้สถิติของประกันสังคม ปัญหาคือแรงงานประมงยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม จึงไม่มีสถิติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวยืนยันว่าหลังจากนี้ แรงงานประมงกำลังจะเข้าระบบประกันสังคมแล้ว
กระบวนการสรรหาแรงงาน
ในประเด็นเรื่องการสรรหาแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบ ตัวแทนของทั้งสามบริษัทมีแนวทางที่คล้ายคลึงกันคือการทำงานร่วมกับบริษัทจัดหางานในประเทศต้นทาง เพื่อให้มีการให้ข้อมูลต่อแรงงาน ทั้งเงื่อนไขในการทำงาน ข้อมูลเรื่องสิทธิและสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่งาน เป็นต้น และเมื่อแรงงานเดินทางมาถึงเมืองไทยและเริ่มทำงานกับบริษัทแล้ว จะมีการสัมภาษณ์เพื่อหาความผิดปกติในการเก็บค่าจัดหางานเพื่อนำไปสู่การสอบสวนและดำเนินการกับบริษัทจัดหางานต่อไป
ตัวแทนบริษัทไทยยูเนียนกล่าวว่ามีการอบรมที่ประเทศพม่าร่วมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ก่อนแรงงานจะเดินทางมาทำงาน และเมื่อเดินทางมาทำงานแล้ว บริษัจะสำรวจกับพนักงานว่าพึงพอใจกับระบบจัดหางานที่ประเทศต้นทางหรือไม่ นอกจากนั้นมีการสุ่มสัมภาษณ์โดย MWRN เพื่อนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์หรือกำหนดเงื่อนไขกับบริษัทจัดหางานอีกด้วย
ส่วนของบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด กล่าวว่าบริษัทนำเข้าแรงงานจากพม่าเป็นส่วนใหญ่โดยมีบันทึกข้อตกลงที่มีเงื่อนไขเรื่องค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน บริษัทส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลไปที่พม่าโดยตรงเพื่อให้แรงงานทราบเงื่อนไขการทำงานมากที่สุดก่อนตัดสินใจมาทำงานกับบริษัท มีการเปิดวิดิโอการผลิตให้เห็นถึงสภาพการทำงาน ข้อมูลเรื่องรายได้ สวัสดิการ สถาพหอพัก ชุดยูนิฟอร์มเพื่อให้แรงงานเห็นสภาพการทำงานจริงมากที่สุดก่อนการตัดสินใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้เป็นบริษัทต่างขนาดกับอีกสองบริษัทที่ร่วมเวทีก็สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้
นางสาวพักตร์พริ้ง บุญน้อม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เผยว่าบริษัทมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 12,000 คน จากกัมพูชา 8,000 คน จากพม่า 4,000 คนทำงานในโรงงานแปรรูปไก่และกุ้ง โดยบริษัทแม้ยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่หรือทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดอบรมแรงงานก่อนข้ามแดนโดดยตรง แต่ได้จัดให้บริษัทจัดหางานมาเยี่ยมโรงงานและเห็นกระบวนการทำงาน เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดต่อกับแรงงาน โดยบริษัทจัดหางานจะได้รับข้อมูลเรื่องสถานที่ทำงาน สวัสดิการ หอพัก โดยสิทธิและสวัสดิการได้เท่ากันกับแรงงานไทย (แตกต่างกันไปตามแหล่งที่ทำงาน) นอกจากนั้น บริษัทได้ร่วมงานกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ในการสัมภาษณ์แรงงาน (Post-arrival interview) เมื่อแรงงานเริ่มทำงานที่บริษัทแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลเรืองการเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ หากมีการเก็บเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะมีการประสานกับบริษัทรวมถึงกับบริษัทจัดหางานลูก (sub-agency) ด้วย
ด้านความคุ้มค่าของการสรรหาแรงงานอย่างมีความรับผิดชอบ นางเบ็ญจพรจากทางซีเฟรชกล่าวว่า “ถามว่าคุ้มไหม เราดูผลที่เกิดขึ้น เด็กที่เดินทางมาอยู่กับเรา อัตราการคงอยู่ในช่วงก่อนพ้นโปร 98% เมื่อเทียบกับสองปีที่แล้วประมาณ 75%”
นางสาวนาตยา เพ็ชรัตน์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ กล่าวย้ำว่า “เป็นความน่ายินดีที่ทางบริษัทยืนยันถึงการแก้ไขปัญหาการจ้างงานในธุรกิจประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ ต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงานมีความซับซ้อนไม่สามารถจัดการได้โดยใครหรือหน่วยงานใดเพียงลำพังหรือระยะเวลาอันสั้นได้ จุดที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังตามที่ชี้แจงไว้ ขณะเดียวกันความเสี่ยงคือการส่งเสริมสิทธิแรงงานเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ ธุรกิจ ภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญในการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าแรงงานจะได้รับความใส่ใจในสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ประโยชน์ตรงนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานเท่านั้น แต่จะช่วยยกมาตรฐานอุตสากรรมไทยในการแข่งขันและสร้างความยอมรับในระดับสากลด้วย”
ด้าน ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการพูดคุยวันนี้ทำให้เห็นการประสานความร่วมมือในประเด็นข้อท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ
“คนอาจมองว่าปัญหาไอยูยูและแรงงานผิดกฎหมายเป็นปัจจัยภายนอกที่อียูบังคับให้เราทำ แต่วันนี้มีพลวัตรคือเกิดความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ โดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำ ขณะที่มีความกังวลว่าหากไม่มีใบเหลืองแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่เวทีวันนี้ทำให้เห็นว่ามีปัญหา มีทางออก และมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น จึงต้องคิดไปข้างหน้าว่าในอีก 4-5 ปี อุตสาหกรรมประมงจะเป็นอย่างไร และคนอาจมองว่าบริษัทใหญ่มีต้นทุนสำหรับการจัดการที่ดีและนวัตกรรม แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ