ต้นทุนบริการ 'เจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิทธิทุกที่' (UCEP) รพ.เอกชนสูงกว่ารัฐ 4.7 เท่า ทำขาดทุน ไม่อยากเข้าร่วม

กองบรรณาธิการ TCIJ: 21 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 4919 ครั้ง

งานวิจัยชี้ รพ.เอกชน อึดอัดใจจาก 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' (UCEP) ระบุรัฐให้ค่าชดเชยต่ำกว่าต้นทุนมาก ได้แค่ 40-50% ของราคา อยากให้รัฐเพิ่มอย่างน้อยเป็น 70-80% รพ.เอกชนบางแห่งเคยระบุว่าขาดทุนถึงเดือนละ 3 ล้าน พบต้นทุนการให้บริการ UCEP รพ.รัฐ อยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มเดียวกัน ส่วน รพ.เอกชน เฉลี่ยอยู่ที่ 47,272 บาท ที่มาภาพประกอบ: Healthline

นโยบาย 'เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่' Universal Coverage for Emergency Patients (UCEP) เป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทันที ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยจะมีกองทุนตามสิทธิการรักษารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่แรกเข้าโรงพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤต แต่ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยนโยบายนี้เป็นการต่อยอดจากนโยบาย 'เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน' (EMCO) ที่ดำเนินการระหว่างปี 2555-2559 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ การแพทย์ฉุกเฉิน โดยอาศัยโรงพยาบาลเอกชน และลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ (บัตรทอง สวัสดิการข้าราชการฯ ประกันสังคม)

ทั้งนี้ การเข้าถึงสิทธิ UCEP ต้องเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย 6 อาการฉุกเฉินวิกฤติ อาทิ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งเมื่อมีเหตุฉุกเฉินให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งนี้สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จะมีเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและคัดกรองภาวะฉุกเฉินของผู้ป่วย ประสานรถพยาบาลฉุกเฉินไปให้ความช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาล   โดยหากอาการเข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต ค่ารักษาตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลจนถึงพ้นภาวะวิกฤตแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมงแรก โรงพยาบาลจะเรียกเก็บเงินจากกองทุน แต่หากพ้นภาวะฉุกเฉินวิกฤตแล้ว ผู้ป่วยหรือญาติสมัครใจจะรักษาต่อที่เดิมก็ต้องจ่ายค่ารักษาต่อเอง อ่านเพิ่มเติม: แนวทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

โดยข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 30 ส.ค. 2561 มีการบันทึกข้อมูลการเบิกชดเชยค่ารักษาพยาบาล UCEP ผ่าน สปสช.จำนวน 24,416 ราย มีการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาล 489 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 15,780 ราย สวัสดิการข้าราชการจำนวน 4,277 ราย ประกันสังคมจำนวน 3,384 ราย [1]

รพ.เอกชน อึดอัดใจจาก UCEP บางแห่ง'ขาดทุน' ถึงเดือนละ 3 ล้าน

ใน งานวิจัยโครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) โดย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่เมื่อ พ.ค. 2561 ได้ทำการศึกษาในช่วงระยะเวลา 10 เดือนแรกของการใช้นโยบาย UCEP (เม.ย. 2560 - ม.ค. 2561) พบว่าการเข้าถึงบริการตลอด 10 เดือนแรก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ป่วยที่รุนแรงน้อย แสดงว่าประชาชนรับรู้ ตระหนักและพยายามใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามปรากฏตัวเลขการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งต่ำหรือลดลงผิดสังเกต บ่งชี้ว่าค่าชดเชยบริการไม่เป็นไปตามที่โรงพยาบาลเหล่านั้นคาดหวัง

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการสัมภาษณ์คณะผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลเอกชน 12 แห่งจากทั้ง 4 ภาค ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนระบุว่าค่าชดเชยตามนโยบาย UCEP ยังต่ำกว่าต้นทุนมาก (ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนคาดประมาณค่าชดเชยว่าเท่ากับ ร้อยละ 40-50 ของราคาขาย) และประสงค์ให้รัฐเพิ่มค่าชดเชยให้อย่างน้อยเท่ากับร้อยละ 70-80 ของราคาขาย เมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า โรงพยาบาลเอกชนก็อาจไม่แจ้งบันทึกผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าระบบ UCEP

“โรงพยาบาลยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าข่าย UCEP ที่มาถึงโรงพยาบาลทั้งหมดอาจไม่ถูกบันทึกเข้าระบบ UCEP โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงกลุ่มผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งโรงพยาบาลได้ค่าตอบแทนเร็วกว่า สะดวกกว่าที่จะได้จาก UCEP” ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งระบุ

นอกจากนั้น การกำหนดอัตราชดเชยบริการคงที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แตกต่างกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในการให้บริการต่างกัน โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งระบุว่าสามารถเปิดห้องผ่าตัดได้ภายในเวลา 15-45 นาทีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่อาจเป็นไปได้ถ้าไม่วางกำลังสำรองทีมผ่าตัด (standby capacity) ในทางตรงกันข้ามโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในภูมิภาคระบุว่าไม่พร้อมให้การรักษาจำเพาะโรค ที่ผ่านมาจึงได้แต่ให้การรักษาเบื้องต้นแล้วส่งต่อเท่านั้น

“ทางโรงพยาบาลเองยังไม่มีศักยภาพในการรองรับภาวะวิกฤตในเด็กได้ต้องส่งต่ออย่างเดียว ส่วนใหญ่ส่งไปโรงพยาบาลขอนแก่น หากจะส่งไปศรีนครินทร์ต้องโทรไปจองเตียงก่อน ถ้าเป็นโรงพยาบาลขอนแก่นแค่โทรประสานก็ส่งต่อไปได้เลยไม่มีเตียงเต็ม” ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในภูมิภาคระบุ

ในด้านการเปิดเผยอัตราค่าบริการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ผลการสัมภาษณ์ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งสอดคล้องกันว่า โรงพยาบาลเอกชนพยายามดำเนินการอยู่แล้วสำหรับผู้ป่วยทุกประเภท โดยมีอย่างน้อยสองช่องทางในการเปิดเผยอัตราค่าบริการ ได้แก่ การแสดงสมุดบันทึกรายการราคาขาย และการประกาศข้อความชี้ช่องให้ผู้ป่วยสามารถสอบถามเกี่ยวกับราคาขายตลอดจนขอดูสมุดดังกล่าวได้ ณ จุดเรียกเก็บเงิน นอกจากนั้น ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนยังอ้างอิงถึงการที่โรงพยาบาลเอกชนต้องยื่นบัญชีผลประกอบการทางการเงินประจำปีต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอาจใช้พิจารณาเกี่ยวกับต้นทุนและราคาขายของโรงพยาบาลเอกชนได้

“หากจะดูในภาพกว้าง รายงานการเงินจะเห็นงบประมาณขาดทุนชัดเจน จะมีรายการและหมายเหตุประกอบ ดูต้นทุนขายประกอบด้วยรายการอะไรบ้าง และทำเป็นคอมมอนไซต์สัดส่วนเปอร์เซ็นต์จะเห็นได้ ดูได้เลยเพราะทุกโรงพยาบาลที่เป็นนิติบุคคลต้องส่งรายงานประจำปีต่อกระทรวงพาณิชย์และสรรพากรเพื่อจ่ายภาษี” ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งระบุ

สำหรับวิธีการเบิกค่าชดเชยบริการ ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเผยว่า วิธีการเบิกค่าชดเชยบริการในปัจจุบันมีความยุ่งยาก กล่าวคือโรงพยาบาลเอกชนต้องจ้างบุคลากรให้ทำงานเพิ่มต่างหากเพื่อบันทึกรายการย่อยๆ ทุกรายการ ต้องประชุมทีมงานเพิ่มเป็นการจำเพาะสำหรับเตรียมการทั้งในเรื่องการเงินและการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น (บางแห่งระบุว่า ผ่านมาจนปัจจุบันก็ยังต้องประชุมทีมงานทุกสัปดาห์เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการดำเนินการ) นอกจากนี้ บางรายการที่โรงพยาบาลเอกชนเห็นว่าจำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยก็เบิกไม่ได้ เช่น ยาอะดรีนาลีน น้ำเกลือ ค่าบริการเครื่องให้น้ำเกลืออัตโนมัติ เป็นต้น

ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังพบข้อค้นพบที่สำคัญ โดยจากการพิจารณาฐานข้อมูลเบิกจ่ายของ clearing house กลับพบว่าโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง (ส่วนน้อยของโรงพยาบาลเอกชนในฐานข้อมูลเบิกจ่าย) มีปริมาณผู้ป่วยฉุกเฉินน้อยลงผิดสังเกตต่อเนื่องกันหลายเดือนหรือเป็นศูนย์ หลังจากที่เคยตั้งเบิกค่าชดเชย หรือการที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่เคยตั้งเบิกต่อเนื่องกันหลายเดือนตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบาย UCEP แล้วเพิ่งมาตั้งเบิกภายหลัง เมื่อทีมวิจัยติดต่อขอสัมภาษณ์โรงพยาบาลเอกชนสองแห่งในลักษณะนี้ก็ปรากฏว่าถูกปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ ข้อเท็จจริงเหล่านี้บ่งชี้ว่าโรงพยาบาลเอกชนเหล่านั้นอาจอึดอัดใจที่จะร่วมมือในการดำเนินนโยบาย UCEP เช่นเดียวกันกับการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนต้นทางบางแห่งซึ่งระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนต้นสังกัดของผู้ป่วยฉุกเฉินสิทธิ์ประกันสังคมบ่ายเบี่ยงที่จะรับผู้ป่วยฉุกเฉินกลับไปรักษาต่อหลังพ้นวิกฤตด้วย [2]

นอกจากนี้ในรายงานพิเศษของสำนักข่าว BBC Thai เมื่อปี 2560 ระบุว่าจากนโยบาย UCEP ทำให้โรงพยาบาลเอกชนบางรายในกรุงเทพต้องประสบกับภาวะขาดทุนถึงเดือนละ 3,000,000 บาท เป็นผลจากผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาเฉลี่ย 20,000-50,000 บาทต่อราย ขณะที่รัฐบาลให้เงินคืนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุน [3]

ต้นทุนบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รพ.เอกชน สูงกว่า รพ.รัฐ

ข้อมูลจาก งานวิจัยโครงการพัฒนาข้อเสนอ UCEP ด้านการเงินการคลัง โดยสถาบันระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่เมื่อ ก.ย. 2561 ระบุว่าต้นทุนในการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลภาครัฐ มีต้นทุนในการให้บริการอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มเดียวกัน (Recalibration of weight- RW) ในขณะที่ข้อมูลค่าใช้จ่ายเรียกเก็บของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบัน เฉลี่ยอยู่ที่ 47,272 บาท (สูงกว่า รพ.รัฐ ประมาณ 4.7 เท่า) และมีการอนุมัติจ่ายให้โรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ 21,513 บาท (ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนของ รพ.เอกชน) [4]

นอกจากนี้ข้อมูลจากงานศึกษาเรื่อง ‘ค่าบริการวิชาชีพที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานพยาบาลเอกชนภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอ UCEP ด้านการเงินการคลัง’ โดยภาสกร สวนเรือง และอุทุมพร วงษ์ศิลป์ ที่เผยแพร่ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2562 ที่ศึกษาจากสถิติข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาลเอกชนต่างๆ ที่ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด (แบ่งเป็นกลุ่มโรงพยาบาลในตลาดหลักทรัพย์และเครือข่ายจำนวน 69 แห่ง กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปจำนวน 275 แห่ง และกลุ่มโรงพยาบาลมูลนิธิ จำนวน 17 แห่ง รวมทั้งสิ้น 361 แห่ง) ตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบาย UCEP เมื่อ 1 เม.ย. 2560 - 27 ธ.ค. 2560  ผลการศึกษาพบว่าจำนวนรายการที่เรียกเก็บ และมูลค่าการเรียกเก็บในภาพรวม พบว่ารายการค่าตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการโดยแพทย์ ที่ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานพยาบาลเอกชน มีสัดส่วนรายการเรียกเก็บเพียงครึ่งหนึ่งของรายการค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมด หรือมีเพียง 263 รายการจาก 512 รายการที่มีอยู่ในอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ขณะที่ค่าบริการทางการพยาบาลและค่าบริการทางเภสัชกรรมมีจำนวนรายการที่เรียกเก็บคิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์

จำนวนครั้งที่มีการเรียกเก็บสูงสุดเป็นค่าบริการทางการพยาบาลร้อยละ 63.4 โดยที่ค่าบริการทางการแพทย์อยู่ที่ร้อยละ 36.2 และค่าบริการทางเภสัชกรรมมีเพียงร้อยละ 0.3 เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในแง่ของมูลค่าการเรียกเก็บรวมของค่าบริการวิชาชีพทั้งหมดที่มีประมาณ 88 ล้านบาท กลับพบว่าค่าบริการทางการแพทย์มีมูลค่าสูงสุด คือประมาณ 4.7 ล้านบาท หรือเกินกว่าร้อยละ 53 ของมูลค่าค่าบริการวิชาชีพทั้งหมด รองลงมาคือ ค่าบริการทางการพยาบาล ร้อยละ 46.1 ในขณะที่ค่าบริการทางเภสัชกรรมมีเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าเรียกเก็บกับอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จากผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่าราคาที่เรียกเก็บสูงสุดมีค่าสูงกว่าราคาที่กำหนดในอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 0.05 – 10 เท่า โดยพบว่ารายการการตรวจรักษากรณีผู้ป่วยในครั้งต่อไป เป็นรายการที่มีการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ สูงสุด 3,000 บาทต่อครั้งในการให้บริการ หรือสูงเป็น 10 เท่าของราคาในอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่กำหนดไว้เพียง 300 บาทต่อวัน รองลงมา คือ Initial inpatient evaluation and management มีการเรียกเก็บสูงกว่า 7 เท่าของราคาในอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีการเรียกเก็บต่อครั้งสูงสุด เท่ากับ 7,000 บาท ในขณะที่ราคาที่กำหนดในอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เท่ากับ 1,000 บาทต่อครั้ง [5]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 17 เดือน ยอดผู้ป่วย 2.4 หมื่นราย ชี้ผลสำเร็จ รพ.เอกชน ร่วมหนุนนโยบาย (ประชาไท, 16/9/2561)
[2] โครงการติดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) (ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยแพร่เมื่อ พ.ค. 2561)
[3] รพ.เอกชน โวย 'ขาดทุน' จากนโยบายรักษาฉุกเฉิน (BBC Thai, 27/6/2560)
[4] โครงการพัฒนาข้อเสนอ UCEP ด้านการเงินการคลัง [สถาบันระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยแพร่เมื่อ ก.ย. 2561]
[5] ค่าบริการวิชาชีพที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินของสถานพยาบาลเอกชนภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอ UCEP ด้านการเงินการคลัง (ภาสกร สวนเรือง และอุทุมพร วงษ์ศิลป์, วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2562)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ระบบการแพทย์ฉุกเฉินและ Fee schedule ใน ‘ญี่ปุ่น-ไต้หวัน’
แนวทางปฏิบัติการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: