สำรวจชั้นหนังสือ เมื่อ 'นิตยสาร-นสพ.' ทยอยปิดตัว 'หนังสือเล่ม' จะรอดไหม?

ไอโกะ ฮามาซากิ: 28 เม.ย. 2562 | อ่านแล้ว 23389 ครั้ง

แม้นิตยสาร-หนังสือพิมพ์จะทยอยปิดตัว แต่พบธุรกิจสำนักพิมพ์-หนังสือเล่ม เม็ดเงินยังมหาศาล งาน ‘สัปดาห์หนังสือ-มหกรรมหนังสือ’ คนเข้างานหลักล้าน-ยอดขายแตะหลักร้อยล้านทุกปี คนวงการหนังสือถก ‘ปี 2562 ตายสนิทหรือฟื้นได้’ ชี้หนังสือไทยต้องมีความหลากหลายมากขึ้น ‘ห้องสมุดคือเครื่องมือของหนังสือ’ ประเทศซึ่งเจริญเรื่องหนังสือจะมีห้องสมุดให้เห็นอยู่ทุกมุมเมือง ที่มาภาพประกอบ: Philippe Put (CC BY-ND 2.0)

สื่อสิ่งพิมพ์ ‘นิตยสาร-หนังสือพิมพ์’ ทยอยปิดตัว

ในรอบไม่กี่ปีมานี้ วงการสิ่งพิมพ์ไทยเผชิญกับกระแสเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะธุรกิจ ‘นิตยสาร’ และ ‘หนังสือพิมพ์’ จากข้อมูลปี 2558 – 2560 คาดว่าจะมีสื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวหรือยกเลิกการพิมพ์บนกระดาษอย่างน้อย 36 แห่ง (เท่าที่รวบรวมได้ ) อาทิ ซุบซิบ, OOPS!, OHO, ZOO, FHM, เปรียว, lemonade, candy, VIVA! FRIDAY, KC WEEKLY, C-KiDs!, VOLUME, IMAGE, COSMOPOLITAN, บางกอกรายสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, seventeen, สกุลไทย, WHO, I LIKE, FLIMAX, ขวัญเรือน, ดิฉัน, madame FIGARO, คู่สร้าง คู่สม, พลอยแกมเพชร, แมรี แคลร์ marie claire, Men’s Health, Women’s Health, THE Hollywood REPORTER Thailand, billboard Thailand, HEALTH & CUISINE, ครัว, Go Genius, WRITER, และหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เป็นต้น [1]

ต่อมาในปี 2561 หนังสือพิมพ์ ‘เชียงใหม่นิวส์’ ที่ยืนระยะของการนำเสนอข่าวสู่ภาคเหนือมากว่า 27 ปี ก็ได้ยุติบทบาทในรูปแบบของหนังสือพิมพ์ ก่อนผันตัวไปนำเสนอข่าวในรูปแบบออนไลน์บนเว็บไซต์อย่างเต็มตัว ในปีเดียวกันนี้หนังสือพิมพ์ ‘มวยสยาม’ ภายใต้สังกัดบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเดท จำกัด (มหาชน) ก็ได้หันมารวมเป็นฉบับเดียวกับหนังสือพิมพ์ ‘สยามกีฬา’ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กีฬาค่ายเดียวกัน

และในปี 2562 Lonely Planet Traveller Thailand ก็ได้ยุติการตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเดือน ก.พ. 2562 ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ ‘โพสต์ทูเดย์’ ได้ประกาศตัวผ่านทางเว็บไซต์ ว่าจะยุติบทบาทบนหน้าหนังสือพิมพ์ในฉบับสุดท้าย ฉบับที่ 5,897 ด้วยเช่นกัน

สำรวจธุรกิจสำนักพิมพ์ เม็ดเงินยังมหาศาล

สำหรับภาพรวมธุรกิจสำนักพิมพ์และร้านขายหนังสือปี 2562 นี้ เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากสำนักพิมพ์เริ่มมีรายได้ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อมรินทร์  ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น 14% ขณะที่หนังสือเล่มเติบโตกว่า 16% เช่นเดียวกับซีเอ็ด ที่โชว์ผลประกอบการทำกำไรได้มากกว่า 14.61 ล้านบาทหลังจากปีก่อนที่ต้องเผชิญสภาวะขาดทุนประมาณ 27.50 ล้านบาท และยังมีแผนเปิดสำนักพิมพ์น้องใหม่ขึ้นอีก 5 แห่ง [2]

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25 เม.ย. 2562) พบว่าส่วนใหญ่แล้วสำนักพิมพ์ต่างๆ มักจะจดทะเบียนธุรกิจอยู่ในหมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ซึ่งภาพรวมในธุรกิจกลุ่มนี้ ปี 2559 ส่งงบการเงิน 3,679 แห่ง ปี 2560 ส่งงบการเงิน 3,603 แห่ง และปี 2561 ส่งงบการเงิน 315 แห่ง (เข้าถึงข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ 25 เม.ย. 2562) รายได้รวมของทั้งกลุ่ม ในปี 2559 อยู่ที่ 81,127.95 ล้านบาท ปี 2560 78,702.82 ล้านบาท ปี 2561 6,130.98 ล้านบาท กำไรสุทธิรวมของทั้งกลุ่ม ในปี 2559 อยู่ที่ 3,299.04 ล้านบาท ปี 2560 3,522.06 ล้านบาท ปี 2561 359.33 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2560 บริษัทส่วนใหญ่ยังไม่รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ดูรายได้สำนักพิมพ์ขวัญใจนักอ่านปี 2560

(สืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562)

  • สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย [บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 451,061,559.04 กำไรสุทธิ -78,749,427.29]
  • ซีเอ็ด [บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) หมวด 47611 ร้านขายปลีกหนังสือหนังสือพิมพ์วารสารและนิตยสาร ปี 2560 รายได้รวม 3,585,876,862.00 บาท กำไรสุทธิ -28,681,834.00 บาท]
  • อมรินทร์ [บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หมวด 58111 การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ตำราเรียนพจนานุกรมและสารานุกรมลงบนสื่อต่างๆ (ยกเว้นทางออนไลน์) ปี 2560 รายได้รวม 1,823,022,221.00 บาท กำไรสุทธิ 195,315,561.00 บาท]
  • เคล็ดไทย [บริษัท เคล็ดไทย จำกัด หมวด 47611 ร้านขายปลีกหนังสือหนังสือพิมพ์วารสารและนิตยสาร ปี 2560 รายได้รวม 117,685,218.64 กำไรสุทธิ 327,144.57 บาท]
  • อนิเมท กรุ๊ป [บริษัท อนิเมท กรุ๊ป จำกัด หมวด 46431 การขายส่งหนังสือหนังสือพิมพ์และเครื่องเขียน ปี 2560 รายได้รวม 28,292,132.55 กำไรสุทธิ 689,584.50 บาท]
  • วงศ์สว่างพับลิชชิ่ง [บริษัท วงศ์สว่างพับลิชชิ่ง แอนด์ พริ้นติ้ง จำกัด หมวด 58111 การจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่ตำราเรียนพจนานุกรมและสารานุกรมลงบนสื่อต่างๆ (ยกเว้นทางออนไลน์) ปี 2560 รายได้รวม 65,739,962.51 บาท กำไรสุทธิ 1,234,159.42 บาท]
  • วีเลิร์น [บริษัท วีเลิร์น จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 74,519,018.35 บาท กำไรสุทธิ 6,256,322.89 บาท]
  • สถาพรบุ๊คส์ [บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี รายได้รวม 152,195,008.07 บาท กำไรสุทธิ -1,269,604.97 บาท]
  • แจ่มใส [บริษัท แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 243,407,867.09 บาท กำไรสุทธิ 47,451,298.58 บาท]
  • เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง [บริษัท เอิร์นเนส พับลิชชิ่ง จำกัด หมวด 47611 ร้านขายปลีกหนังสือหนังสือพิมพ์วารสารและนิตยสาร ปี 2560 รายได้รวม 2,720,262.55 บาท กำไรสุทธิ 345,118.40 บาท]
  • โอเพ่นบุ๊กส์ [บริษัท โอเพ่น โซไซตี้ จำกัด หมวด 18111 การพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสารอื่น ๆ ปี 2560 รายได้รวม 6,032,594.38 บาท กำไรสุทธิ 919,773.46 บาท]
  • แซลมอน เฮ้าส์ [บริษัท แซลมอน เฮ้าส์ จำกัด 59112 กิจกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์ ปี 2560 รายได้รวม 46,871,792.16 กำไรสุทธิ 4,685,866.07 บาท]
  • บรรลือสาส์น [บริษัท บรรลือสาส์น จำกัด หมวด 46431 การขายส่งหนังสือหนังสือพิมพ์และเครื่องเขียน ปี 2560 รายได้รวม 41,832,955.11 บาท กำไรสุทธิ 1,015,336.98 บาท]
  • บันลือบุ๊คส์ [บริษัท บันลือบุ๊คส์ จำกัด หมวด 46431 การขายส่งหนังสือหนังสือพิมพ์และเครื่องเขียน ปี 2560 รายได้รวม 17,801,962.63 บาท กำไรสุทธิ 19,758.50 บาท]
  • นานมีบุ๊คส์ [บริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 457,121,506.42 บาท กำไรสุทธิ 11,058,407.37 บาท]
  • บงกช พับลิชชิ่ง [บริษัท บงกช พับลิชชิ่ง หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 141,016,968.88 บาท กำไรสุทธิ 2,117,873.80 บาท]
  • บูรพาสาส์น [บริษัท บูรพาสาส์น (1991) จำกัด หมวด 46431 การขายส่งหนังสือหนังสือพิมพ์และเครื่องเขียน ปี 2560 รายได้รวม 9,480,189.77 บาท กำไรสุทธิ -422,361.29 บาท]
  • ฟ้าเดียวกัน [บริษัท โค-โลคัล จำกัด หมวด 70209 กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่นๆซึ่งมิได้จัด ประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 6,354,354.09 บาท กำไรสุทธิ 7,678.09 บาท]
  • แฮพเพนนิ่ง [บริษัท แฮพเพนนิ่ง จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 26,314,882.94 บาท กำไรสุทธิ 205,881.72 บาท]
  • THOUGHT LEADERS [บริษัท ต๊อท ลีดเดอร์ส จำกัด หมวด 82301 การจัดการประชุม ปี 2560 รายได้รวม 463,046.39 บาท กำไรสุทธิ -780,647.11 บาท]
  • KOOB [บริษัท คู้บบุ๊ก จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 1,887,858.78 บาท กำไรสุทธิ 365,139.36 บาท]
  • ชัชพลบุ๊คส์ [บริษัท ชัชพลบุ๊คส์ จำกัด หมวด 47611 ร้านขายปลีกหนังสือหนังสือพิมพ์วารสารและนิตยสาร ปี 2560 รายได้รวม 3,876,607.37 บาท กำไรสุทธิ 995,935.94 บาท]
  • สำนักพิมพ์ 113 [บริษัท 113 จำกัด หมวด 18119 การพิมพ์อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ปี 2560 รายได้รวม 5,072,339.39 บาท กำไรสุทธิ -2,196,052.44]

 

งาน ‘สัปดาห์หนังสือ-มหกรรมหนังสือ’ เม็ดเงินยังมหาศาล

ข้อมูลจากนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่างาน ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 ปี 2562’ ที่เพิ่งผ่านมานี้ สมาคมฯ คาดการณ์โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 1.8 ล้านคน และมียอดขายกว่า 500 ล้านบาท [3]

ส่วนในปี 2561 ที่ถึงแม้จะมีผู้เข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ลดลงจากปี 2560 จำนวน 1% (จำนวนผู้เข้าชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2560 : 1,840,088 / จำนวนผู้เข้าชมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2561 : 1,819,484) แต่ยอดขายหนังสือภายในงานกลับเพิ่มขึ้นถึง 24% (จำนวนยอดขายภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2560 : 411,338,382 / จำนวนยอดขายภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2561 : 508,702,554) [4]

ส่วน ‘งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ’ ที่จัดในช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี พบว่ายอดขายในงาน 8 ปี ระหว่างปี 2554-2561 มีถึง 2,581,473,129 บาท เลยทีเดียว อ่านเพิ่มเติม จับตา: 8 ปี (2554-2561) ยอดขาย ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ’ รวม 2.58 พันล้านบาท

คนอ่านซื้ออะไร ? ในงานสัปดาห์หนังสือฯ

นอกจากนี้ ข้อค้นพบจากข้อมูลการสำรวจภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 ปี 2561 ว่าผู้อ่านที่จับจ่ายเพื่อซื้อหนังสือนั้น ส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้หญิง’ ซึ่งหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2561 แม้จะยังคงเป็นหนังสือในหมวดหมู่ ‘การ์ตูน’ และ ‘นิยายรัก’ แต่กลับมีอัตราการซื้อลดลงจากปี 2560 โดยค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2561 ผู้อ่านกลับมีอัตราการซื้อหนังสือในหมวดหมู่ของ ‘ตำราเรียน’ ‘วรรณกรรมเยาวชน’ และ ‘จิตวิทยา – ให้กำลังใจ’ เพิ่มขึ้นจากปี 2560

แม้ปัจจุบันจะมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์   (E-Books) แต่พฤติกรรมความต้องการของผู้อ่านยังคงนิยมช่องทางการซื้อหนังสือจากร้านหนังสือ และจากงานสัปดาห์หนังสือรองลงมา โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ซื้อจากร้านหนังสือ 45% ซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือ 44%

แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า แม้การซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์จะยังคงเป็นช่องทางที่ไม่นิยมมากนัก เมื่อเทียบกับอัตราการซื้อผ่านทางร้านหนังสือ โดยในปี 2560 มีอัตราการซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์เพียง 6% ซึ่งส่วนที่น่าสนใจคือ ในปี 2561 ช่องทางการซื้อหนังสือออนไลน์กลับเพิ่มขึ้นเป็น 8% เฉกเช่นเดียวกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Books ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น จาก 1% ในปี 2560 เป็น 3% ในปี 2561 [5]

เกี่ยวกับ 'งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ' และ 'งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ' 

'งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ' มักจะจัดช่วงต้นปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2515 ส่วน 'งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ' มักจะจัดในช่วงเดือน ต.ค. โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 ที่มาภาพประกอบ: BooK Thai

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2515 โดยกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ร่วมกันจัดขึ้น (ต่อมาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นผู้จัดงานในภายหลัง) โดยตั้งแต่ครั้งที่ 1 จัดงานขึ้นที่บริเวณโรงละครแห่งชาติ จากนั้นมีการย้ายสถานที่จัดงานไปหลายแห่ง ได้แก่สวนลุมพินี โรงเรียนหอวัง ท้องสนามหลวง คุรุสภา และถนนลูกหลวง ข้างกระทรวงศึกษาธิการ และได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานเป็นประจำทุกปี ต่อมาในปี 2546 เพิ่มการจัดงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ (Bangkok International Book Fair) ไปพร้อมกันด้วย

งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ (เดิมชื่องานมหกรรมหนังสือและสื่อการศึกษาระดับชาติ) เป็นงานจำหน่ายหนังสือและสื่อการศึกษาในส่วนกลาง ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ตามปกติจะจัดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี เริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2539 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ และ ‘งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ’ จัดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้คนไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และส่งเสริมให้อ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยเหลือบิดามารดา ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์ เรียนรู้และทำความเข้าใจเทคนิควิธีการส่งเสริมการอ่าน แก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมและได้ผล นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้คนไทยสัมผัสกับหนังสือจากนานาชาติ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์และมองเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนังสือในต่างประเทศ และขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสัมผัสกับหนังสือไทย และยังเป็นสื่อกลางในการสร้างโอกาส ให้กับนักเขียนและสำนักพิมพ์ของไทย ในการจำหน่ายลิขสิทธิ์ให้กับต่างประเทศ ผลทางอ้อมของการจัดงาน ยังเป็นการส่งเสริมให้สำนักพิมพ์ในประเทศไทยเกิดความตื่นตัว ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตหนังสือ ให้มีคุณภาพ มีความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ตลอดจนกระตุ้นการเรียนรู้ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง

ที่มา: วิกิพีเดีย

 

วงการหนังสือเมืองไทยปี 2562 ตายสนิทหรือฟื้นได้


ภาพจากงานเสวนา ‘วงการหนังสือเมืองไทย พ.ศ. 2562 ตายสนิทหรือฟื้นได้’ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562

แม้ผลสำรวจจะเป็นที่น่าวางใจว่า หนังสือและร้านหนังสือยังคงเป็นที่นิยม แต่ผู้คนที่หลงใหลในการอ่านผ่านกระดาษ ผู้คนที่เกี่ยวข้องในแวดวงการหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และร้านหนังสือ กลับยังไม่วางใจเท่าที่ควร เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่มีการยุติบทบาท การแปรเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ของนิตยสารหลายสำนัก หนังสือพิมพ์หลายแห่ง ทำให้สั่นคลอนต่อผู้ เกี่ยวข้องในวงการหนังสือพอสมควร บางท่านในวงการหนังสือ ระบุถึงความสำคัญของนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ว่าคือประตูบานแรกที่จะเปิดต้อนรับให้นักอ่านหลงใหลในตัวอักษรบนกระดาษ เมื่อประตูบานแรกปิดลงและหายไป จึงเป็นไปได้ว่า ในอนาคตข้างหน้า ผู้อ่านอาจถูกขังในห้องของจอสี่เหลี่ยมแต่เพียงแบบเดียว ความกังวลที่เกิดขึ้น ผู้คนในวงการหนังสือจึงทำการจัดงานเสวนา ‘วงการหนังสือเมืองไทย พ.ศ. 2562 ตายสนิทหรือฟื้นได้’ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยและหาทางออกร่วมกัน

โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2562 งานเสวนา ‘วงการหนังสือเมืองไทย พ.ศ. 2562 ตายสนิทหรือฟื้นได้’ ได้จัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ อาคารมหาจักรีสิรินธร ชั้น 4 ห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา โดยภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากร ผู้ร่วมการสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้แก่ ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ข้าราชการบำนาญ, คุณสิโรตม์ จิระประยูร ผู้บริหารร้านหนังสือ The Papersmith by The Booksmith, คุณธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ และคุณมกุฏ อรฤดี คุณครูใหญ่ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

‘วงการหนังสือตาย’ หรือ 'เพราะไม่มีอะไรให้อ่าน’

ในทัศนะของคุณสิโรตม์ จิระประยูร ผู้บริหารร้านหนังสือ The Papersmith by The Booksmith  ซึ่งเริ่มจากการตั้งคำถามต่อวงเสวนาว่า ‘วงการหนังสือตาย’ หรือ 'เพราะไม่มีอะไรให้อ่าน’ ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา และในบรรดาหนังสือที่วางขายอยู่บนชั้น คุณสิโรตม์ได้เล็งเห็นว่าความหลากหลายของชนิดหนังสือ ประเภทหนังสือนั้นมีน้อย หนังสือภาคภาษา ไทยส่วนใหญ่ที่ได้พบเจอ มักจะเป็นหนังสือที่อ่านได้รวดเดียวจบ หนังสือที่ให้ความรู้สึกที่ดียามอ่าน แต่ก็อ่านได้เพียงแค่ครั้งเดียวและรวดเดียว กับหนังสือที่มีเนื้อหาเดิมๆ เช่น วรรณกรรมคลาสสิก ที่มักจะเปลี่ยนรูปแบบบนปก แล้ววนเวียนกลับมาขายบนชั้นหนังสือซ้ำแล้วซ้ำเล่า บนแผงหนังสือซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แม้จะมีเด็กเกิดใหม่ขึ้นทุกปี แต่หนังสือเล่มนั้น เนื้อหานั้นๆ ก็ยังคงอยู่บนชั้นหนังสือ ความจำเจ จำนวนประเภทของหนังสือ ยังคงอยู่เท่าเดิม ไม่สามารถตอบสนองต่อยุคสมัย และคนที่แสวงหาการอ่านในรูปแบบที่แปลกใหม่ เนื้อหาที่แปลกใหม่

นอกจากนี้ คุณสิโรตม์ยังได้เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมปรับปรุงห้องสมุด ที่โรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่ง โดยได้รับโจทย์ว่า "ทำอย่างไร นักเรียนจึงจะเข้าห้องสมุดมากขึ้น อ่านมากขึ้น" คุณสิโรตม์เริ่มจากการสอบถามความต้องการของนักเรียน ซึ่งได้คำตอบที่ผู้ใหญ่ไม่อาจคาดเดาได้ นั่นคือคำตอบที่ว่า "ผมอยากได้ห้องสมุดธรรมดา แต่มีเนื้อหาที่นอกเหนือจากห้องเรียน" หนังสือที่มีความหลากหลายตอบสนองต่อความสนใจ เช่น หนังสือศิลปะ หนังสือการเป็นเชฟ ฯลฯ หนังสือที่จะสนับสนุนให้เขาได้ค้นหาตัวตน พบตัวตน หนังสือ (สิ่งพิมพ์) ที่จะเป็นก้าวต่อไปสำหรับชีวิตข้างหน้า หนังสือที่มอบประสบการณ์ในสิ่งที่ยังไม่รู้ และไม่มีสอนในห้องเรียน และต้องการห้องสมุดที่ออกแบบมาอย่างเรียบง่าย ธรรมดา ธรรมชาติ มีความเงียบสงบ ไม่ต้องการห้องสมุดที่ออกแบบมาอย่างทันสมัย หรือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสืบค้นข้อมูล เพราะนักเรียนมองว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านั้นอยู่ล้อมรอบตัว อยู่ในมือของเขาตลอดเวลาและมีมากเกินไป แต่สิ่งที่ขาด ณ ขณะนี้ คือพื้นที่ที่มีที่ว่างให้เขาได้คิด ได้ทำการบ้าน ได้ปลีกตัวออกจากความวุ่นวาย แล้วใช้เวลากับการอ่าน นอกจากนี้ยังต้องการให้ขยายวันและเวลาในการใช้ห้องสมุดของโรงเรียน

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ หนังสือที่ถูกคัดเลือกให้อยู่ในห้องสมุด มักมาจากรสนิยมของผู้คัดเลือก หรือเป็นหนังสือที่ไม่เหมาะกับการอ่านของคนทุกเพศ เนื่องจากบรรณารักษ์ประจำโรงเรียนมักเป็นเพศหญิง และคำนึงถึงสิ่งที่ตนชอบอ่านมากกว่าคำนึงถึงสิ่งที่นักเรียนอยากอ่าน

‘ห้องสมุด’ เครื่องมือของหนังสือ 

ส่วน ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ข้าราชการบำนาญ ได้ให้ทัศนะในเรื่องของห้องสมุดโรงเรียนว่า ห้องสมุดโรงเรียนไม่ได้มีวันและเวลาทำการที่รองรับสำหรับนักเรียน เมื่อนักเรียนไม่มีที่ให้ไป สถานที่ที่จะตอบสนองต่อเขาได้ ก็คือ ห้างสรรพสินค้า และร้านเกม

และยิ่งเมื่อคำนึงถึงเด็กที่ไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียนหนังสือ ยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาว่า เด็กเหล่านั้นไม่มีโอกาสได้เข้าห้องสมุดของโรงเรียนเลย ยิ่งไกลห่างจากการอ่านหนังสือมากขึ้นไปอีก เพราะเขาอาจไม่ได้ตระหนักถึงการอ่านเลย ครั้นเมื่อนึกถึงห้องสมุดสาธารณะสำหรับประชาชน ด้วยบรรยากาศและสถานที่ของห้องสมุดที่ไม่เป็นมิตร เขายิ่งรู้สึกว่าที่นั่นไม่ใช่ที่ทางของตน จึงผลักตนออกไป และหมดความสนใจในที่สุด

ส่วนคำถามต่อหัวข้องานเสวนานั้น ผศ.ดร.ปณิธิ แสดงทัศนะว่า "วงการหนังสืออาจจะยังไม่ตาย แต่อาการหนัก โดยเฉพาะสำหรับคนไม่มีโอกาส"

ขณะนี้ ยังไม่สามารถตอบคำถามต่อหัวข้อได้ ว่าวงการหนังสือเมืองไทยตายสนิทหรือฟื้นได้ เพราะ ประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลการสำรวจที่ละเอียดมากพอ ทำให้เราไม่รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ไม่รับรู้ถึงความต้องการของผู้อ่าน (อย่างละเอียด) ไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าวงการหนังสือควรจะไปในทิศทางไหน เช่น การสำรวจของผู้ที่ใช้บริการห้องสมุดว่าเมื่อยืมหนังสือเล่มนั้นๆ แล้ว ได้ซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ เก็บเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวอีกหรือไม่

ส่วนคุณมกุฏ อรฤดี  คุณครูใหญ่พิเศษภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อ 'ห้องสมุด' เพิ่มเติมว่า ‘ห้องสมุดนั้นคือ เครื่องมือของหนังสือ’ คุณมกุฎเสนอว่า แทนที่เราจะพูดเรื่องหนังสือตายหรือไม่ตาย เราควรพูดเรื่องเครื่องมือของหนังสือแทน ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ‘ห้องสมุด’ ใครหลายๆ คน อาจคิดว่า ยิ่งมีห้องสมุดมาก สำนักพิมพ์ยิ่งขาดทุนมาก เพราะเมื่อมีห้องสมุดหลายแห่ง คนก็จะหยิบยืมหนังสือจากห้องสมุด ไม่ซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์อีกต่อไป แต่คุณมกุฏไม่คิดเช่นนั้น หากแต่คิดว่าห้องสมุดเป็นเสมือนสถานที่โฆษณาหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ เพราะเมื่อบรรณารักษ์ห้องสมุดได้เลือกหนังสือเล่มไหนขึ้นบนชั้นวาง ย่อมแปลว่าหนังสือเล่มนั้นดี และหนังสือเล่มไหนที่มีคนยืมอ่านเยอะ ย่อมแปลว่า หนังสือเล่มนั้นดีเช่นกัน และหนังสือเล่มนั้นก็จะเป็นที่ต้องการ ผู้อ่านก็ย่อมอยากได้หนังสือเล่มนั้น เก็บเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัว

นอกจากนี้ คุณมกุฏยังเสนอข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในประเทศซึ่งเจริญเรื่องหนังสือแล้ว ประเทศนั้นๆ จะมีห้องสมุดให้เห็นอยู่ทุกมุมเมือง

ด้านคุณธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ ได้สนับสนุนและให้น้ำหนักเพิ่มเติมต่อทุกความเห็นที่วิทยากรข้างต้นกล่าวมา โดยเสนอมุมมองเพิ่มเติมว่า ที่ต่างประเทศนั้น ประเภทของหนังสือมีให้เลือกอ่านหลากหลาย และในประเภทนั้นๆ หมวดนั้นๆ ยังแตกแขนงแยกยิบย่อยออกไป ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ที่ความหลากหลายของหนังสือมีไม่มากพอ ทำให้ประชาชนคนในประเทศไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือหลากหลายหมวดหมู่ จึงอาจถูกจำกัดกรอบของการมองเห็น และไม่อาจจินตนาการถึงรูปแบบและเนื้อหาที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เคยอ่าน ที่เคยสัมผัสได้ จึงไม่สามารถคิดหรือผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาแปลกใหม่ แตกต่างไปจากเดิมได้

อีกความเห็นจากคุณธนิษฐา ที่สนับสนุนเรื่องของ ‘ห้องสมุด’ คือ ในต่างประเทศ (ที่มีวัฒนธรรมของการอ่าน) แม้จะมีห้องสมุดหลายแห่ง แต่สำนักพิมพ์กลับไม่ต้องกังวลเรื่องของยอดขายหนังสือ เพราะยิ่งมีห้องสมุดหลายแห่ง ยิ่งเป็นสิ่งการันตีว่าหนังสือจำนวนหนึ่งจะถูกส่งไปที่ห้องสมุด และไม่เคยพิมพ์ต่ำกว่า 3,000 เล่ม นอกจากนี้ บางประเทศยังมีกฎหมาย Fixed book price (FBP) ที่ช่วยรักษาระบบนิเวศน์วิทยาหนังสือ ทำให้สำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ยังคงตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง

Fixed book price เป็นข้อตกลงร่วม ระหว่างสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ในเรื่องมาตรฐานของราคาขายหนังสือ การลดราคาหนังสือโดยตรงจากสำนักพิมพ์ จะทำให้ร้านหนังสือบางแห่งไม่มีรายได้ ในเวลาต่อมาจึงต้องปิดตัวลง เพราะเมื่อสำนักพิมพ์ลดราคาหนังสือโดยตรง ผู้อ่านก็มักจะซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์นั้นๆ โดยตรง ทำให้ร้านหนังสือไม่สามารถขายหนังสือเล่มเดียวกันกับที่สำนักพิมพ์นำไปลดราคาได้

 

ปิดท้ายที่คุณสิโรตม์ จิระประยูร อีกครั้ง คุณสิโรตม์กล่าวถึงการลดราคาหนังสือว่า ในราคาหนังสือนั้นมีโครงสร้าง การไปลดขาใดขาหนึ่ง ย่อมมีคนเสีย ส่วนวงการหนังสือจะตายหรือฟื้นสนิท ย่อมขึ้นอยู่กับคนทำหนังสือ ‘หนังสือและนิตยสารตาย เพราะคนทำทำไม่ดี ไม่มีคุณค่า’

หนังสือและนิตยสารนั้น จะกลับมามีชีวิตได้ก็ต่อเมื่อคนทำหนังสือให้คุณค่า เห็นถึงความงามในเนื้องานของตนเอง รักหนังสือ รักในการทำหนังสือ รัก ดูแล และทะนุถนอมหนังสือทุกๆ เล่มเหมือนหนังสือของตนเอง ที่ถึงแม้ในปลายทางจะเป็นหนังสือของผู้อ่าน เป็นความรัก ความปรารถนาดีที่ส่งต่อจนถึงมือผู้อ่าน เป็นคุณค่าที่ผู้ทำหนังสือกับผู้อ่านหนังสือ สัมผัสกันได้ผ่านกระดาษและตัวอักษร

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] รวมนิตยสารปิดตัว 2558-2560 (สำนักข่าวไทย, 15/12/2560)
[2] ปิดฉากบุ๊กแฟร์ เงินสะพัด 500 ล้าน (หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 11 - 13 เม.ย. 2562)
[3] เพิ่งอ้าง
[4] รวบรวมงานวิจัยของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25/4/2562
[5] เพิ่งอ้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: 8 ปี (2554-2561) ยอดขาย ‘มหกรรมหนังสือระดับชาติ’ รวม 2.58 พันล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: