รัฐสวัสดิการหมดเงินกับราชการ Andrew Yang จะแจกเงิน เชื่อไม่ทำใครขี้เกียจ

ฐานันดร ชมภูศรี: 28 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 3462 ครั้ง


รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในการแก้ปัญหาความยากจน แม้ว่าฟินแลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศรัฐสวัสดิการที่โดดเด่นที่สุดในโลกและยังโดดเด่นเรื่องระบบการศึกษาที่ดีและเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนคนยากจนน้อยที่สุดในโลก ทั้งนี้เมื่อใช้การจัดอันดับพบว่าประเทศสวีเดนมีสัดส่วนคนยากจนขั้นรุนแรง (serious poverty) น้อยที่สุดในสหภาพยุโรปที่ 1% ของประชากรสวีเดน แต่ก็เป็นจำนวนประมาณ 1 แสนคน ซึ่งในที่นี้เป็นความขาดแคลนที่เรียกว่า material poverty เช่นไม่มีที่อยู่อาศัย หรือหากมีที่อยู่อาศัยก็ขาดแคลนเครื่องปรับอากาศซึ่งสวีเดนเป็นเมืองหนาว ไม่มีเงินสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ไม่สามารถไปไหนได้ในวันหยุด และขาดแคลนอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งสัดส่วนประมาณ 1 แสนคนนี้ แม้จะเป็นการลดลงจากประมาณ 2 แสนคนจาก 10 ปีก่อนหน้า แต่ก็มิได้ลดลงจากสองสามปีก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ที่อพยพเข้ามาจากประเทศอื่นก็อาจไม่แปลกนัก แต่อีกกลุ่มคือคนว่างงานที่เป็นชาวสวีเดน และเมื่อดูที่ประชากรที่เสี่ยงต่อความยากจนในที่นี้คือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 60% ของรายได้เฉลี่ย (median income) ของคนในประเทศ สวีเดนกลับมีสัดส่วนนี้มากกว่าหลายประเทศในยุโรป หากตัดผู้ลี้ภัยออกไปก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าชาวสวีเดนที่ว่างงานสามารถตกอยู่ในสภาพที่ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวไม่ต่างจากอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา นี่ยังไม่ได้รวมรัฐสวัสดิการกลุ่มเดียวกันอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก

ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วที่เคยลงทุนต่อสู้กับความยากอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1964 เรื่อยมาก็ใช้เงินไปแล้วถึง 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนายแอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2020 สังกัดพรรคเดโมแครตซึ่งจะมีการโต้วาทีครั้งแรกเพื่อชิงตำแน่งตัวแทนพรรคในปลายเดือน มิ.ย. นี้ ตั้งคำถามว่าเงินเหล่านั้นจ่ายไปให้ใคร? ซึ่งครั้งหนึ่งนายหยางเคยเขียนในทวิตเตอร์ว่า “สิ่งที่อยู่ตรงข้ามความเป็นมนุษย์ บางทีอาจเป็นระบบราชการก็ได้” โดยนายหยางเป็นผู้เสนอนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าแบบไร้เงื่อนไขผูกพัน (Universal Basic Income หรือ UBI) ให้กับทุก ๆ คนโดยตรง ไม่ว่ารวยหรือจนที่อายุตั้งแต่ 18-64 ปี เดือนละ 1 พันดอลลาร์สหรัฐฯ! หรือปีละ 12,000 ดอลลาร์! ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี! หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐเขาจะเริ่มจัดสรรเงินให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 โดยผู้ที่ได้รับสวัสดิการจากโครงการต่าง ๆ อยู่แล้วในขณะนี้ สามารถเลือกได้ว่าจะเลือกรับสวัสดิการแบบเดิมหรือเลือกรับเงิน 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนอย่างไม่มีเงื่อนไขใด ๆ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหยางเชื่อว่าส่วนใหญ่จะเลือกรับเงินสดที่จ่ายให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ส่วนชาวอเมริกันที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปยังคงรับเงินสวัสดิการต่อไปได้แต่ไม่มีสิทธิรับเงินจากนโยบาย UBI

ที่มาภาพ: NowThis News

นายหยางเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายใต้หวันวัย 44 ปี เป็นบุตรของอดีตนักวิจัยบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง IBM ซึ่งบิดาของหยางได้พัฒนานวัตกรรมจนมีลิขสิทธิ์ของตัวเองถึง 69 ชิ้น ส่วนตัวหยางเองได้ก่อตั้งและเป็นซีอีโอขององค์กรไม่แสงกำไร Venture for America ซึ่งระดมเงินทุนจากภายนอกและคัดเลือกนักศึกษาจบใหม่ระดับหัวแถวเพื่อฝึกฝนให้เป็นผู้ประกอบการในหลายเมืองของสหรัฐฯโดยเฉพาะเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการจ้างงานในเมืองเหล่านั้นและฝึกฝนผู้ประกอบการในรุ่นถัด ๆ ไป (โดยก่อนหน้านั้นเขาประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากการก่อตั้งบริษัท Manhattan Prep ซึ่งเป็นธุรกิจช่วยเตรียมตัวสำหรับการสอบเข้าเรียนปริญญาโทด้านการบริหาร) จนถึงปัจจุบัน Venture for America จ้างงานไปแล้วกว่าพันตำแหน่ง และถูกสร้างเป็นสารคดีในชื่อ Generation Startup โดยผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง Cynthia Wade ฉายในปี 2016 ก่อนที่เขาจะเริ่มเปิดตัวแคมเปญชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017

 

UBI ตามนโยบายของนายหยางมาจากปัญหาที่ชาวอเมริกันปัจจุบันกว่า 70% มีรายได้แบบ ‘เดือนชนเดือน’ และอีก 40% ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายแบบฉุกเฉินได้ และในอีก 12 ปีข้างหน้า ชาวอเมริกัน 1 ใน 3 มีความเสี่ยงที่จะตกงานจากการใช้เทคโนโลยีแทนคน ซึ่งจะต่างจากการมีเทคโนโลยีเกิดใหม่แบบที่ผ่าน ๆ มา เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นระบบอัตโนมัติที่ต้องการลดต้นทุนด้านค่าจ้างคนงานโดยเฉพาะ ตัวอย่างคนงานที่มีแนวโน้มสูงที่จะตกงานงานคืองานที่ทำกันมากใน 29 รัฐอย่างการขับรถบรรทุกซึ่งมีคนขับรวม 3.5 ล้านคน และยังมีคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้อีก 12 ล้านคนอย่างพนักงานห้องพักรายวันและพนักงานตามจุดพักรถที่คนขับรถบรรทุกแวะพักระหว่างทาง

โดยเหตุที่เขาต้องการให้เงิน 1 พันดอลลาร์ต่อกับทุก ๆ คน เพราะคาดว่าเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจมหาศาลจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 4.5-4.7 ล้านตำแหน่ง ตามรายงานของสถาบัน Roosevelt Institute ที่อ้างอิงอยู่ในเว็บไซต์ของเขา

ส่วนเงินมหาศาลที่จะนำมาจ่ายนั้น นายหยางเสนอให้ยุบรวมสวัสดิการต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 5-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มาใช้ในอัตรา 10% จากมูลค่าเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มากถึง 19 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 8 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งนายหยางชี้ว่าเป็นภาษีที่บริษัทขนาดใหญ่หลบเลี่ยงได้ยาก โดยปัจจุบันมี 160 ประเทศจาก 193 ประเทศทั่วโลกที่เก็บภาษีนี้อยู่แล้ว หยางชี้ว่ายิ่งเทคโนโลยีดีชึ้น ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยิ่งสำคัญ เพราะไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากซอฟต์แวร์หรือเครื่องจักรอัตโนมัติได้ และคาดว่านโยบาย UBI จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างถาวรหลังจากปี 2025 เพิ่มขึ้นจากเมื่อเทียบกับหากไม่มีนโยบายนี้ 12.5-13% ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐมีรายได้จากภาษีต่าง ๆ รวมกันเพิ่มขึ้นอีก 5-6 แสนล้านดอลลาร์ และปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในด้านสุขภาพ, การดูแลผู้ต้องขัง, คนไร้บ้านและอื่น ๆ แต่จะประหยัดเงินได้ 1-2 แสนล้านดอลลาร์หากผู้คนสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้น หากเป็นไปตามงานวิจัยในวารสาร Science Magazine ที่นายหยางอ้างอิงในเว็บไซต์ของเขาซึ่งชี้ว่า ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของบุคคลจะลดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์เทียบเท่ากับ IQ ลดลง 13 หน่วย นายหยางจึงเชื่อว่าเงิน 1 พันดอลลาร์ต่อเดือนจะทำให้ผู้คนตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

สำหรับเรื่องเงินเฟ้อ นายหยางชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างที่แลดูสุดโต่งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯพิมพ์เงินออกมาโดยไม่มีอะไรมาอ้างอิงว่าเงินที่พิมพ์ออกมาใหม่นั้นมีมูลค่าได้อย่างไร ถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์! เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติปี 2008 ก็มิได้ทำให้เงินเฟ้อแต่อย่างใด ก่อนที่จะพูดถึงนโยบายแจกเงินปีละ 12,000 ต่อคนต่อปีของเขาว่ามิได้ทำให้ปริมาณเงินในระบบเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากใช้เงินจากภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อาจมีบางบริษัทขึ้นราคาสินค้า เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้นและเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แต่นายหยางเชื่อว่าการที่ธุรกิจต้องเผชิญกับการแข่งขันตลอดเวลา การขึ้นราคาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะช่วยให้ราคาสินค้าและบริการจะไม่ปรับขึ้นมากนัก

ประโยชน์ของ UBI ที่นายหยางคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่ ทำให้ต้นทุนของระบบราชการลดลงได้มาก เพราะการให้เงินแบบ UBI ง่ายกว่าการพิสูจน์ว่าใครมีสิทธิได้รับสวัสดิการแบบดั้งเดิมมาก, UBI จะเพิ่มอำนาจการต่อรองของแรงงาน เพราะคนวัยทำงานได้ 1 พันดอลลาร์ต่อเดือนแน่ ๆ อยู่แล้ว จึงมิใช่เรื่องยากนักที่แรงงานจะปฏิเสธการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อใช้เวลาหางานที่ดีกว่า, UBI จะทำให้ผู้คนกล้าเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น เนื่องจาก UBI จะเป็นเสมือนเบาะรองรับหากกิจการล้มเหลว นอกจากนี้ผู้บริโภคก็มีเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวและเกิดการจ้างงานมากขึ้นตามรายงานของสถาบัน Roosevelt Institute ข้างต้น   

นอกจากนั้น หยางยกตัวอย่างการทดลอง UBI ในแคนนาดาที่พบว่าทำให้กลุ่มคนที่ทดลองรับ UBI เข้าโรงพยาบาลน้อยลง 8.5% เนื่องจากเงินที่ได้มาทำให้ผู้คนเหล่านั้นเครียดน้อยลง และพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพลดลง
ส่วนความกังวลว่าผู้คนจะเอาเงินที่ได้มาฟรี ๆ ไปซื้อยาเสพติด สุรา หรือขี้เกียจทำงาน หรือมีลูกมากขึ้น นายหยางได้อ้างอิงรายงานของธนาคารโลกว่าความกังวลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด และเขายังอ้างอิงงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Chicago ที่พบว่าพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หลายอย่างลดลงด้วยซ้ำ นอกจากนั้นเขายังมีรายงานจากการทดลองให้เงินฟรี ๆ ในแคนาดาที่พบว่ามิได้ทำให้จำนวนชั่วโมงในการทำงานของคนที่รับเงินฟรีลดลง และการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งแมตซาชูเสตส์ (MIT) ก็พบว่าเงินที่ได้ฟรีไม่มีผลต่อพฤติกรรมการทำงาน ส่วนเหตุที่ต้องให้เงินนี้แก่คนรวยอยู่แล้วด้วย เพราะว่าคนรวยก็มีแนวโน้มที่จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่าคนจนอยู่แล้ว

และเหตุที่ทำไมไม่แค่ฝึกทักษะใหม่ ๆ ให้กับแรงงานจากโรงงานที่ตกงาน? เนื่องจากพบว่ามีเพียง 37% ของอดีตคนงานโรงงานที่ออกไปทำงานตามที่ได้รับการฝึกทักษะใหม่ และโครงการ Michigan’s No Worker Left Behind ที่ช่วยฝึกทักษะให้คนงานมิชิแกนที่ตกงานได้งานใหม่ แต่ก็พบว่า 1 ใน 3 หลังจากได้รับการฝึกอบรมแล้ว ยังคงว่างงานต่อไป ซึ่งก็ไม่ค่อยต่างกับคนตกงานที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฝึกทักษะใหม่นี้ซึ่งตกงานต่อไปประมาณ 40% และพบด้วยว่าครึ่งหนึ่งของคนงานที่ออกจากงานในมิชิแกนระหว่างปี 2003-2013 กลายเป็นคนว่างงานแทบจะถาวร และไม่ฝึกทักษะเพื่อให้ได้งานใหม่ นายหยางเชื่อว่าเงิน UBI จะฟื้นฟูให้คนเหล่านั้นตัดสินใจในชีวิตได้ดีขึ้นตามงานวิจัยที่เขาอ้างอิง

UBI จะทำให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างน้อยลงหรือไม่? นายหยางตอบว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างน้อยลงโดยให้ลูกจ้างทำงานมากขึ้นอยู่แล้ว โดยเขาชี้ให้เห็นว่านับจากปี 1973 ผลิตภาพของธุรกิจอเมริกันเพิ่มขึ้น 72% แต่ค่าจ้างของคนอเมริกันโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 9% ซึ่งหยางเชื่อว่า UBI จะทำให้คนหางานมีโอกาสเลือกมากขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • รายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันล่าสุดอยู่ที่ 59,039 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ส่วนชาวต่างชาติจะไม่มีสิทธิได้รับเงิน UBI และสหรัฐฯยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขั้นตอนยาวนานที่สุดในโลกกว่าจะได้สัญชาติ
  • นโยบาย UBI จะไม่ยุ่งกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนายหยาง เขาจะใช้วิธีเน้นการเข้าถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง โดยเขาจะกำหนดราคาการใช้บริการทางการแพทย์ ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างคลินิกคลีฟแลนด์ (Cleveland Clinic) ในรัฐโอไฮโอ ที่ใช้ระบบจ่ายเงินเดือนให้แพทย์แบบคงที่ ซึ่งมีรายงานที่ชี้ว่าดีกว่าการให้ค่าจ้างแพทย์ตามการให้บริการ โดยจะทำให้โรงพยาบาลมองเห็นต้นทุนและสามารถควบคุมได้ ลดการตรวจคนไข้ซ้ำซ้อน และยังพบว่าการลาออกของแพทย์ลดลงเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่น https://www.yang2020.com/policies/medicare-for-all/   โดยนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนายหยางจะให้เป็นทางเลือกของประชาชนว่าใครจะซื้อประกันสุขภาพของรัฐ ระหว่างนั้นเขาจะเจรจาให้ค่าบริการและค่ายาถูกลงจนประกันสุขภาพเอกชนไม่มีความสำคัญกับประชาชน 95% อีกต่อไป ด้วยการพูดถึงต้นทุนอย่างสมเหตุสมผล เมื่อถึงจุดนั้นการซื้อประกันสุขภาพของรัฐก็จะราคาถูกและคุณภาพดี อย่างไรก็ตาม หยางคาดว่ากระบวนการเจรจานี้ต้องใช้เวลา 5-10 ปี https://youtu.be/uPqmThOc5lI?t=157 , https://youtu.be/DbhwtgP4xF4?t=2105

 


ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Daily Beast 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: