คนไทยรู้ยัง: โรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านทั้งปี

ทีมข่าว TCIJ: 24 พ.ค. 2562 | อ่านแล้ว 13318 ครั้ง

‘โรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ’ ชุมชนนวัตกรรม คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ขนาด 4x8 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน  สามารถบรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้โรงเรือนละ 4,500 ก้อน ใส่ก้อนเห็ด 2 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว ชาวบ้านเพาะเห็ดและขายได้ตลอดทั้งปี

เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2562 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร (มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร) ได้เปิดเผยว่า บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม ลักษณะพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย เส้นทางสัญจรบางช่วงเป็นหินลูกรัง  ประชากรที่อาศัยอยู่บ้านพอกใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นชาวภูไท ชาวบ้านพอกใหญ่มีการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีผ่านวิถีชีวิต การแต่งกาย และภาษาพูด ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวภูไท ในด้านการประกอบอาชีพ 90 เปอร์เซนต์เป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกข้าว ปลูกแคนตาลูป แตงไทย พริก และเห็ด เพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดและจำหน่ายให้กับผู้ที่มารับซื้อถึงบ้าน

ดร.พรเทพ ปัญญาแก้ว รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร กล่าวว่า การจัดโครงการบริการวิชาการ เป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี โดยได้รับนโยบายจาก ผศ.ดร.สุริยา แก้วอาษา คณบดีคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่ท่านอยากให้การบริการวิชาการนั้นเกิดเป็นภาพที่ชัดเจน จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 200,000 บาท เป็นก้อนเดียว ซึ่งแต่เดิมคณะจะมีการแบ่งโครงการเป็นย่อยๆ ในจำนวน 200,000 บาทนี้ ซึ่งทำให้ภาพการบริการวิชาการไม่ชัดเจน คณะจึงมีมติที่ประชุมว่า ขอให้นำงบประมาณก้อนนี้มาสร้างประโยชน์กับ 1 หมู่บ้าน เพื่อที่จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะเป็นผู้ตั้งต้นให้แล้วให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดให้มีรายได้ทั้งปี  จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงเรือนเพาะเห็ด (ระบบอัตโนมัติ) 
ชุมชนนวัตกรรม คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ขนาด 4x8 เมตร จำนวน 2 โรงเรือน  สามารถบรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้โรงเรือนละ 4,500 ก้อน ใส่ก้อนเห็ด 2 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว เพื่อให้ชาวบ้านเพาะเห็ดและขายได้ตลอดทั้งปี ติดตั้งระบบให้น้ำอัตโนมัติ และระบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งชาวบ้านมีหน้าที่แค่มาดูแลว่าระบบยังทำงานตามหรือไม่ และสามารถเก็บเห็ดไปขายได้

และเมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว คณะฯ จะมีการต่อยอดทางด้านบริหารธุรกิจ โดยจะเข้ามาช่วยเรื่องการทำบัญชี รายรับ รายจ่าย การทำการตลาด เพื่อให้เขามีอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน ไม่อยากมาทำแล้วจากไปหรือปีหน้าไปหมู่บ้านใหม่เรื่อยๆ  และหลังจากนี้เราจะมีการติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานให้กับคณะกรรมการรับทราบทุก 3 เดือน เพื่อหาความเป็นไปได้ในการสานต่องานอื่นๆ ให้กับชาวบ้านต่อไป คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตั้งใจอยากให้หมู่บ้านพอกใหญ่นี้เป็นต้นแบบของการบริการวิชาการที่สร้างสรรค์และอยากให้คนในหมู่บ้านจริงจัง มีส่วนร่วม มีความสามัคคี ผู้นำต้องเข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี มีใจพัฒนา มีการใส่ใจ จะทำให้เป้าหมายที่วางไว้ยั่งยืนได้ และถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ คณะฯ จะมีสาขาศิลปศาสตรที่ทำด้านท่องเที่ยว และสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่สามารถทำเรื่องของการเพาะเชื้อเห็ดเองได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ชาวบ้านลดต้นทุนในการซื้อก้อนเห็ดได้

คณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ได้ทำโรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติร่วมกับชาวบ้าน พร้อมกับการนำนักศึกษา และคณาจารย์ จากสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิศวกรรมโยธา และสาขาบริหารธุรกิจ (โปรแกรมการบัญชี) มาช่วยเหลือชาวบ้านตามศาสตร์ที่เรียนมา ได้แก่ 1) บริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร 2) การผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ดปุ๋ยขนาดเล็ก 3) การบริการซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง ฯลฯ 4) บริการซ่อมบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด 5) การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการจดบันทึกและสรุปรายจ่าย รายได้ ผลกำไรที่เกิดขึ้น ซึ่งมีชาวบ้าน บ้านพอกใหญ่ หมู่ที่ 7 และ หมู่ที่ 10 เข้าร่วมกว่า 200 คน

นายเกียรติศักดิ์ บุตรแสง ผู้ใหญ่บ้าน บ้านพอกใหญ่ หมู่ที่ 7 กล่าวว่าแต่เดิมหมู่บ้านพอกใหญ่ หมู่ที่ 7 ได้งบประมาณจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งเป็นโครงการของสำนักงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 50,000 บาท ตนและชาวบ้านมีความตั้งใจอยากทำโรงเรือนเพาะเห็ด จึงใช้พื้นที่บริเวณคอกวัวทำโรงเรือนแบบง่ายๆ ชาวบ้านช่วยกันดูแลรดน้ำ พอได้ผลผลิตก็นำไปจำหน่าย แต่ด้วยภารกิจของแต่ละท่าน ที่ต้องทำมาหาเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลามาดุแลบ้าง ขาดการรดน้ำบ้าง ทำให้เห็ดเหี่ยวเฉา บ้างก็ไม่ออกดอกและเชื้อในก้อนเห็ดก็หมดลงในที่สุด สุดท้ายคือเราสามารถขายเป็นเงินรายได้รวมทั้งสิ้น 3 หมื่นบาท และจำเป็นต้องรื้อโรงเห็ดเดิมออกไป เพราะปลูกบนคอกวัวของชาวบ้าน เขาก็ต้องเลี้ยงวัวรุ่นใหม่ต่อไป ในช่วงเวลานั้น ก็ได้รับการติดต่อจากคณะอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ที่เข้ามาสำรวจความต้องการและความเป็นไปได้ในการทำงานบริการวิชาการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน จึงมีมติจากชาวบ้านว่าชาวบ้านพอกใหญ่ต้องการโรงเรือนเพาะเห็ดระบบอัตโนมัติ และนำเงินส่วนกลางของหมู่บ้านที่มีไปซื้อก้อนเห็ดเข้ามาช่วยอีกทาง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: