เปิดแผน PDP 2018 หลังผู้ตรวจการฯ แนะ กฟผ. ต้องมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 51%

ทีมข่าว TCIJ: 14 ก.ค. 2562 | อ่านแล้ว 6396 ครั้ง

แผน PDP 2018 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ล่าสุดอาจสั่นคลอน เมื่อ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ส่งคำแนะนำถึง ก.พลังงาน ระบุการให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าส่งผลต่อสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของหน่วยงานรัฐอย่าง กฟผ. ลดลงต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญ พบปี 2560 สัดส่วนการผลิตของ กฟผ. ก็ต่ำกว่า 51% อยู่แล้วที่ 34.9% และในปี 2580 จะลดลงเหลือ 24% พบปี 2564-2567 'กลุ่มบริษัทกัลฟ์' ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้แล้ว 5,000 เมกะวัตต์ - ส่วนสถานการณ์พลังงานทางเลือกยิ่งน่าจับตาเมื่อมีการคาดว่า 'แผนพลังงานทดแทน' (แผน AEDP) ฉบับใหม่ จะไม่อุดหนุนค่าไฟพลังงาน ‘แสงอาทิตย์-ลม-ชีวมวล’ แล้ว ที่มาภาพประกอบ: Voice TV

แม้ 'แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580' หรือแผน PDP 2018 จะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อ วันที่ 30 เม.ย. 2562 โดยแผน PDP 2018 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นผ่านการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก และการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เป็นต้น โดยให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงาน (Security) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) โดยตั้งเป้าหมายให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จำนวน 77,211 เมกะวัตต์ [1]

ล่าสุดการนำแผน PDP 2018 นี้ไปใช้จริงก็อาจจะเกิดปัญหาเมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผน PDP 2018 ฉบับนี้

‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ระบุกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% ขัดรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2562 มีรายงานข่าวว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยตามข้อร้องเรียนของนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ที่มีความเห็นกรณีรัฐมิได้เป็นเจ้าของระบบการผลิตไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลต่อ ‘สัดส่วน’ การผลิตไฟฟ้าของรัฐที่ปัจจุบันมี ‘น้อยกว่า’ ร้อยละ 51 นั้น เป็นประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 56 (2) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุสาระสำคัญไว้ว่า รัฐต้องจัดการระบบสาธารณูปโภค (หมายรวมถึงระบบผลิตไฟฟ้า) โดยไม่ยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือรัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้ ทั้งนี้ตามแผน PDP 2018 ได้กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ช่วงปี 2561-2580 ที่ 56,431 เมกะวัตต์ โดยในปี 2580 กฟผ.จะมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าร้อยละ 24 เท่านั้น ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากเอกชนทั้งที่เป็นรายใหญ่รายเล็กรวมกันจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 56

นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ให้ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงพลังงานใน 2 ประเด็นคือ 1.ให้พิจารณาทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (2559-2563) กับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2018) เพื่อกำหนดแนวทางให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และ 2.ต้องดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับจากปี 2562 [2]

ชี้คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งผล 'ราช กรุ๊ป' ชะลอลงนามสัญญาโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์

Energy News Center ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของกระทรวงพลังงาน ได้รายงานอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 ที่เสนอแนะให้กระทรวงพลังงานปรับแผน PDP 2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 51 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 วรรค 2 โดยให้พิจารณาตามข้อเสนอแนะภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผล และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี นับจากปี 2562 นั้นถือว่าเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายแล้ว ดังนั้นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 ที่ให้ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ Raj Group (เดิมคือบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ที่ กฟผ.ถือหุ้นร้อยละ 45) สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2567 และปี 2568 โดยแบ่งเป็นโรงที่สร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัท ไตรเอนเนอจี้ จำกัด ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะปลดระวางออกจากระบบในปี 2563 โดยตามแผน PDP 2018 กำหนดให้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ส่วนโรงที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 700 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก ซึ่งกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2568

และมติ กบง. ที่ให้เจรจา บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 2569 และ 2570 อาจต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่คือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงานจะทำตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ เนื่องจากมติ กบง. ดังกล่าวมีผลให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ลดต่ำลงซึ่งขัดต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุด้วยว่าหากกระทรวงพลังงานไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในมาตรา56 ได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นสอดคล้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินกระทรวงพลังงานจะต้องยึดถือปฏิบัติตาม นอกจากนี้คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีผลให้ Raj Group และ NPS ไม่สามารถแบ่งสัดส่วนหุ้นให้เอกชนรายอื่นเข้ามาถือในภายหลังได้จนกว่าจะมีความชัดเจนจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากมีการลงนามในสัญญากันไปก่อนทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ลงนามจะถูกฟ้องเอาผิดในภายหลังได้ [3]

 

ปัจจุบันกำลังผลิต กฟผ. ก็ไม่ถึง 51% อยู่แล้ว

ข้อมูลจากแผน PDP 2018 ระบุว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2560 กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของระบบมี 46,090 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นกำลังการผลิตของ กฟผ. 16,071 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 34.9), เอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer : IPP) 14,949 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 32.4), เอกชนรายเล็ก (Small Power Producer : SPP) 7,536 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 16.4), เอกชนรายเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP)  3,656 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 7.9) และซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ 3,878 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 8.4)

มีโครงการที่มีข้อผูกพันและได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนไว้แล้ว

นอกจากนี้ในการดำเนินงานของโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) การรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ และการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) ที่มีข้อผูกพัน (Commit) และได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว รวมทั้งโครงการน าร่องการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าและโครงการตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ในช่วงปี 2561-2568 มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 15,834 เมกะวัตต์

แบ่งเป็นโครงการของ กฟผ. 16 โครงการ (ช่วงปี 2561-2566) รวมกำลังผลิต 3,867.2 เมกะวัตต์, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. แล้วจำนวน 4 โครงการ (ช่วงปี 2564-2567) รวมกำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) 85 โครงการ (ช่วงปี 2561-2568) รวมกำลังผลิต 3,665.46 เมกะวัตต์, ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) กำหนดให้มีการรับซื้อไฟฟ้ารวมกำลังผลิต 944.26 เมกะวัตต์ (ช่วงปี 2561-2565) และโครงการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ มีโครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. 4 โครงการ (ช่วงปี 2561-2565) รวมกำลังผลิต 2,357.3 เมกะวัตต์

ในแผน PDP 2018 ยังระบุว่าเมื่อพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าของระบบ พบว่าในปี 2560 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (Contract) รวมเท่ากับ 46,090 เมกะวัตต์ หากนำมาพิจารณาถึงกำลังผลิตที่เชื่อถือได้ (Reliable Capacity) จะอยู่ที่ประมาณ 34,538 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ในช่วงปี 2561-2580 จะมีโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันกับภาครัฐโครงการนำร่องการบริหารจัดการด้านพลังงานไฟฟ้าและโครงการตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐเข้าระบบอีก 15,834 เมกะวัตต์ และจะมีโรงไฟฟ้าถูกปลดออกจากระบบอีกประมาณ 25,310 เมกะวัตต์ ดังนั้นในปี 2580 มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (Contracted Capacity) รวมเท่ากับ 37,154 เมกะวัตต์ หากนำมาพิจารณาถึงกำลังผลิตที่เชื่อถือได้ (Reliable Capacity) จะอยู่ที่ประมาณ 27,229 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในปีเดียวกัน 53,997 เมกะวัตต์ อยู่ที่ประมาณ 26,768 เมกะวัตต์

'กลุ่มบริษัทกัลฟ์' ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไว้แล้ว 5,000 เมกะวัตต์

สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ. แล้ว 4 โครงการ (ปี 2564-2567) รวม 5,000 เมกะวัตต์ ที่ระบุไว้ในแผน PDP 2018 ได้แก่บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด และบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด ในเครือ 'กลุ่มบริษัทกัลฟ์' (GULF)

จากการสืบค้นเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 7 ก.ค. 2562) พบว่า บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105555025725 ที่ตั้ง 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ชั้น 11 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จดทะเบียนเมื่อ 16 ก.พ. 2555 ทุนจดทะเบียน 1,740,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ และพลังงานอื่นๆ ทุกชนิด วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตพลังงานไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ 1.นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ 2.นายบุญชัย ถิราติ และ 3.นายซุโยชิ ซาคาฮาชิ ปี 2561 มีรายได้รวม 188,453,134.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 4,543,918.00 บาท

บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด เลขทะเบียนนิติบุคคล 0105555074840 ที่ตั้ง 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ชั้น 11 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จดทะเบียนเมื่อ 24 พ.ค. 2555 ทุนจดทะเบียน 1,500,000,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และไอน้ำ และพลังงานอื่นๆ ทุกชนิด วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตพลังงานไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ 1.นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ 2.นายบุญชัย ถิราติ และ 3.นายซุโยชิ ซาคาฮาชิ ปี 2561 มีรายได้รวม 638,330 บาท ขาดทุนสุทธิ 147,706,274.00 บาท

ส่วนบริษัทแม่อย่าง บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) เลขทะเบียนนิติบุคคล : 0107560000231 ที่ตั้ง 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ชั้น 11 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ จดทะเบียนเมื่อ 25 พ.ค. 2560 ทุนจดทะเบียน 10,666,500,000.00 บาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า และ/หรือ ไอน้ำ และ/หรือน้ำ รวมทั้งการผลิต ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน สำรวจ พัฒนา จัดหา รับจ้าง แปรสภาพ วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด การผลิตพลังงานไฟฟ้า รายชื่อคณะกรรมการ 1.นายวิเศษ จูภิบาล 2.นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 3.นายวินิจ แตงน้อย 4.นายสันติ บุญประคับ 5.นางรวีพร คูหิรัญ 6.นายสารัชถ์ รัตนาวะดี 7.นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ 8.นายบุญชัย ถิราติ 9.นายสมหมาย ภาษี 10.นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ 11.นางโชติกุล สุขภิรมย์เกษม (ส่วนในเว็บไซต์ของบริษัทระบุถึงผู้บริหารไว้เช่น นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นต้น) ปี 2561 มีรายได้รวม 5,323,707,223.00 บาท กำไรสุทธิ 3,245,172,049.00 บาท

เว็บไซต์ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยังระบุด้วยว่าปัจจุบันบริษัทฯ บริหารและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 11,910 เมกะวัตต์  (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 7 ก.ค. 2562) [4] นอกจากนี้จากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes ในปี 2561 สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทกัลฟ์ ติดอันดับ 7 ในทำเนียบบุคคลที่รวยที่สุดของไทยปี 2561 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.063 แสนล้านบาท [5] และล่าสุดเมื่อต้นเดือน ก.ค. 2562 Bloomberg Billionaires Index ประเมินว่าสารัชถ์ ได้ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมทั้งหมด 6.51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.99 แสนล้านบาท) โดยปัจจัยหลักมาจากมูลค่าของหุ้น GULF ที่เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 28-30 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา [6]

 

นักวิชาการระบุถ้ายึดประเด็นความมั่นคงตาม รธน. การเปิดเสรีก็ไม่เกิด-ภาคเอกชนขาดความมั่นใจ

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน ได้ระบุว่าการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐนั้นเป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญ คงต้องให้ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาหรือไม่ มองว่าการที่ภาครัฐถือหุ้นกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าหรือน้อยกว่าภาคเอกชน มีผลทั้งบวกและลบ เนื่องจากการจะให้ภาครัฐมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 51 อาจจะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ในแง่ของนโยบายเปิดเสรีภาคกำลังการผลิตไฟฟ้าที่พยายามทำมาตลอด จะทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่ไว้ใจว่าทำไมนโยบายของภาครัฐถึงมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ภาคเอกชนลงทุนไปแล้วจะต้องได้รับผลกระทบ

ส่วนในประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานนั้นนายมนูญมองว่าความจริงแล้วความมั่นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐได้ทำสัญญากับผู้ประกอบการได้รัดกุมมากน้อยแค่ไหนมากกว่า ซึ่งปกติแล้วการทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีสัญญาที่ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้วว่า เมื่อผู้ประกอบการได้สัมปทานการผลิตไฟฟ้าไป จะต้องผูกมัดกี่ปีและจะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามที่ตกลงกันและในราคาที่ตกลงกันไว้ เพราะฉะนั้นจึงมีความมั่นคงอยู่แล้ว ไม่ได้จำเป็นว่าต้องให้ภาครัฐผลิตเองถึงจะมั่นคง หรือให้ภาคเอกชนผลิตในสัดส่วนที่น้อยกว่าถึงจะมั่นคง เพราะความมั่นคงจริงๆ อยู่ที่การทำสัญญาที่รัดกุมกับผู้ประกอบการ มีเนื้อหาชัดเจน มีมาตรฐานของการทำสัญญา [7]

แล้วแต่การตีความ เอกชนมองสัญญาโรงไฟฟ้าที่เอกชนบริหารเป็นของ กฟผ. อยู่แล้ว

เว็บไซต์ทันหุ้นได้รวบรวมความเห็นของภาคเอกชนต่อกรณีนี้ โดยนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่ากรณีที่ผู้ตรวจการณ์แผ่นดินเสนอให้กระทรวงพลังงานแก้แผน PDP 2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าร้อยละ 51 นั้น กระทรวงพลังงานสามารถโต้แย้งได้จากทั้งกรณีการที่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อย่างบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) นั้น มี กฟผ. เป็นผู้ควบคุมและมีอำนาจในการดำเนินการ รวมไปถึงในการผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นถือว่า กฟผ. เป็นผู้ผลิตอยู่แล้ว แต่เป็นการจ้างเอกชนผลิตซึ่งหลายบริษัทเวลาลงบัญชีก็บันทึกในทำนองดังกล่าว ดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะกระทบกับผู้ผลิตเอกชนมากนัก

ส่วนบทวิเคราะห์บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่าฝ่ายวิจัยได้ตีความว่าสัญญาโรงไฟฟ้า IPP ที่เอกชนบริหารเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 67 มาจากโครงการที่ กฟผ. บริหารจัดการเอง 16,000 เมกะวัตต์ + จ้างเอกชนบริหาร IPP 15,000 เมกะวัตต์ ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดและหากอิงแผน PDP2018 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 (42,000 เมกะวัตต์) ณ ปี 2580 โดยทาง กฟผ. ขาดกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 156 เมกะวัตต์ เท่านั้น เพื่อให้สัดส่วนการผลิตกลับขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 51 ทำให้ PDP แม้มีโอกาสถูกแก้ไขแต่การปรับสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนลงจะไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดีแต่หากประเมินภาพอีกกรณี หากการตีความว่าโรงไฟฟ้า IPP ที่บริหารโดยเอกชนไม่ใช่ของ กฟผ. โอกาสที่ PDP 2018 จะถูกปรับปรุงก็เป็นไปได้ ซึ่งหากเป็นมุมมองนี้จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันของ กฟผ. อยู่ที่ราวร้อยละ 35 และเหลือราวร้อยละ 28  ในปี 2580 ตามแผน PDP 2018 ส่งผลให้ กฟผ. ขาดกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 17,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้ากลับขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 51 ทำให้แผน PDP 2018 มีโอกาสถูกแก้ไขและปรับสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งนี้ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ในแผน PDP 2018 มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มราว 56,000 เมกะวัตต์ ฝ่ายวิจัยบริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่ามากพอที่จะไม่ทำให้โครงการที่ได้เซ็น PPA ไปแล้วถูกกระทบ โดยคาดโครงการที่มีโอกาสถูก กฟผ. ดึงกลับไปทำเองอิงตาม PDP2018 คือโรงไฟฟ้า IPP 8,300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะ Solar Rooftop ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเป็นเพียงโครงการนำร่องอยู่ [8]

คาด 'แผนพลังงานทดแทน' ฉบับใหม่ (AEDP 2018) ไม่อุดหนุนค่าไฟพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล

เมื่อต้นเดือน ก.ค. 2562 นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ที่ พพ. อยู่ในระหว่างการจัดทำให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) จะไม่มีการอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล ในรูปของส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าหรือ Adder หรือ Feed in Tariff – FiT เหมือนเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนการผลิตได้ปรับลดลงมามากแล้ว

โดยการส่งเสริมจะมีเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากขยะในปริมาณ 400 เมกะวัตต์ในรูปของ Feed in Tariff ที่อัตรา 3.66 บาทต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าจากขยะที่เป็น SPP (10-90 เมกะวัตต์) ส่วนโรงไฟฟ้าขยะขนาดเล็กมาก หรือ VSPP (ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์) จะรับซื้อ ราคา 5.08 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี บวกพรีเมี่ยมอีก 0.70 บาทต่อหน่วย ในระยะ 8 ปีแรกที่จ่ายไฟเข้าระบบซึ่งในรายละเอียดการเปิดรับซื้อจะเป็นอย่างไรนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้ดำเนินการ

นายยงยุทธ กล่าวว่าแผน AEDP 2018 จะมีการปรับเป้าหมายให้สูงขึ้นจากแผน AEDP 2015 ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ตามแผนเดิม ณ ปี 2579 จะติดตั้งให้ได้รวม 6,000 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,849 เมกะวัตต์ แต่ในแผนใหม่จะติดตั้งระหว่างปี 2561 – 2580 อีก 12,725 เมกะวัตต์ (โซล่าร์รู๊ฟท๊อปกับโซล่าร์แบบทุ่นลอยน้ำ) รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 15,574 เมกะวัตต์ พลังงานชีวมวล แผนเดิมอยู่ที่ 5,570 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 2,290 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 3,496 เมกะวัตต์รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 5,786 เมกะวัตต์ พลังงานลม แผนเดิมอยู่ที่ 3,002 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 1,504 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 1,485 เมกะวัตต์รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 2,989 เมกะวัตต์ และ ไฟฟ้าจากขยะชุมชน แผนเดิมอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ดำเนินการแล้ว 500 เมกะวัตต์ มีแผนจะติดตั้งระหว่างปี 2561-2580 อีก 400 เมกะวัตต์ รวมมีเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2580 อยู่ที่ 900 เมกะวัตต์

นายยงยุทธ กล่าวด้วยว่าแผน AEDP 2018 จะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็กและพลังน้ำขนาดใหญ่ของ กฟผ. เนื่องจากไม่มีพื้นที่ในการดำเนินการแล้ว รวมทั้งไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ที่แผนเดิมมีการบรรจุไว้จำนวน 680 เมกะวัตต์ เนื่องจากยังมีปัญหาด้านเทคนิคในการนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ในภาพรวมแผน AEDP 2018 มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวม 29,358 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมที่มีการผลิต 19,684 เมกะวัตต์หรือเพิ่มขึ้น 9,674 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 สำหรับขั้นตอนการจัดทำแผน AEDP 2018 นั้นทาง พพ. อยู่ระหว่างเตรียมพร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ คาดว่าในเดือน ส.ค. 2562 จะเริ่มดำเนินการได้ [9]

'ราช กรุ๊ป -กฟผ.' ลงนาม PPA โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 MW แล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2562 นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด (HKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม ที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 100% ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจนถึงวันครบกำหนด 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์

โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 และปี 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ราช กรุ๊ป ยังได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบว่า ราช กรุ๊ป ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด(HKH) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้นทั้งหมด และหลังจากนั้น HKH จะเตรียมจัดตั้งบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด (HKP) โดย HKH ถือหุ้นทั้งจำนวน ภายในเดือนพ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ราช กรุ๊ป ต่อไป ซึ่งบริษัทย่อยดังกล่าว มีทุนจดทะเบียน จำนวน 4 ล้านบาท

และก่อนหน้านี้ นายกิจจา ระบุว่าการลงทุนก่อสร้าง 2 โรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตกดังกล่าว คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโรงแรก มีกำหนด COD ปี 2567 จะเป็นการสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุลงเดือนก.ค ปี2563 และอีกโรงเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ กำหนดCOD ปี2568 ซึ่งทั้ง 2 โรงจะป้อนความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง จะเข้ามาช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของภาคตะวันตกและภาคใต้ ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะหมดอายุในปี 2563 และจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด (HKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 100% นั้นเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อเดือน พ.ค.2562 ที่มี นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น โดยอาศัยอำนาจตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2018) และให้ กบง.เป็นผู้พิจารณาจัดหาโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามแผนโดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความมั่นคงไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้

ทั้งนี้การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวใช้เวลาเจรจากันเพียง 2 เดือนเศษนับตั้งแต่ที่ กบง.มีมติ ซึ่งนับว่าเร็วกว่าปกติ และยังเป็นการลงนามโดยไม่รอสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) กับ ปตท.ที่ปกติจะเซ็นลงนามพร้อมกัน รวมทั้งยังไม่รอให้เรื่องคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินที่เสนอให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผน PDP2018 มีข้อยุติ และไม่รอให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พิจารณาก่อนตามธรรมเนียมที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา โดยประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์ ไม่ต้องประมูลแข่งขันราคาถือเป็นรื่องที่เกี่ยวที่สื่อและสังคมให้ความสนใจเพราะเป็นสัญญาผูกพันระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน [10]

 

อ้างอิง
[1] แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 (PDP 2018) (มติคณะรัฐมนตรี, 30 เม.ย. 2562)
[2] ป่วน! ดัน กฟผ.เพิ่มส่วนแบ่งไฟฟ้า โยน รมต.ใหม่ชี้ขาดรื้อแผน PDP (ประชาชาติธุรกิจ, 7 ก.ค. 2562)
[3] ชี้คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำให้ราช กรุ๊ป ชะลอลงนามสัญญาโรงไฟฟ้า 1,400 MW (Energy News Center, 11 ก.ค. 2562)
[4] ภาพรวมองค์กร (gulf.co.th, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 10 ก.ค. 2562)
[5] รู้จัก 'สารัชถ์ รัตนาวะดี' เจ้าของ 'GULF' เศรษฐีหน้าใหม่อันดับ 7 ในทำเนียบคนรวยที่สุดของไทย (พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล, forbesthailand.com, 3 พ.ค. 2561)
[6] “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีเบอร์ 2 ของไทย มีทรัพย์สินแซง “เจ้าสัวธนินท์” (Thongchai Cholsiripong, brandinside.asia, 2 ก.ค. 2562)
[7] นักวิชาการชี้สัดส่วนไร้ผล มีสัญญารัดกุม-กำหนดเวลาซื้อไฟ (มติชนออนไลน์, 8 ก.ค. 2562)
[8] ยัน PDP ไม่ขัดกฎหมายชู BGRIM-EA เปิดคู่ขา (ทันหุ้น, 8 ก.ค. 2562)
[9] ชี้แผนพลังงานทดแทนใหม่ (AEDP2018) ไม่อุดหนุนค่าไฟ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล (Energy News Center, 3 ก.ค. 2562)
[10] ราช กรุ๊ป -กฟผ.ไม่รอ “สนธิรัตน์” ลงนาม PPA โรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 MW แล้ว (Energy News Center, 15 ก.ค. 2562)

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 (แผน PDP 2018)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: