20 ราชภัฏส่อไม่มีจ่ายเงินเดือนพนักงาน-ล่าสุดสำนักงบฯ เตรียมขอ ครม. นำงบกลางมาช่วยเหลือ

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ส.ค. 2562 | อ่านแล้ว 53431 ครั้ง

20 ราชภัฏส่อไม่มีจ่ายเงินเดือนพนักงาน-ล่าสุดสำนักงบฯ เตรียมขอ ครม. นำงบกลางมาช่วยเหลือ

เผยที่ประชุมอธิการบดี มรภ.ทำหนังสือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนของ มรภ.ทั่วประเทศ ถึง รมว.อุดมศึกษาฯ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบปี 2562 ค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยให้กับ มรภ. 20 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัย ยังขาดอีก 406.69 ล้านบาท ส่งผลไม่พอจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2562 นี้ ล่าสุด (13 ส.ค. 2562) สำนักงบฯ เตรียมขอ ครม. นำงบกลางมาช่วยเหลือ

หลังจากที่ มติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2562 ว่านายอดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมอธิการบดี มรภ.ทำหนังสือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนของ มรภ.ทั่วประเทศ ถึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหา กรณีได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบปี 2562 ค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยให้กับ มรภ. 20 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอกับจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัย ยังขาดอีก 406.69 ล้านบาท ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับความเดือดร้อน ไม่มีงบพอที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2562 นี้

นายอดิศรกล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ทำให้ได้รับการจัดสรรงบต่ำกว่ารายจ่ายจริง มาจากการคำนวณเพื่อนำมาจัดสรรเงินเดือนให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาเปลี่ยนไป โดยใช้ข้อมูลเบิกจ่ายเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 เป็นฐานการคิดงบ 2562 ซึ่งขณะนั้นมหาวิทยาลัยยังทำข้อมูลการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยไม่แล้วเสร็จ และเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยเบิกเฉพาะเงินเดือนที่มีคนครอง โดยยังไม่ได้เบิกส่วนที่เป็นสวัสดิการ จึงทำให้ได้ข้อมูลในการคำนวณเพื่อใช้จัดสรรงบต่ำกว่าความเป็นจริง โดยในส่วนของ มรภ.นครราชสีมา ขาดไปกว่า 34 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยได้พยายามขอรับจัดสรรเพิ่มมาตลอด แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

"ที่ผ่านมา มรภ. 20 แห่ง มีพนักงานมหาวิทยาลัยรวมกันประมาณ 10,000 คน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ โดยบางแห่งได้รับคำตอบให้ใช้เงินรายได้ แต่เงินรายได้เกือบ 50% จ่ายเป็นเงินเดือนพนักงาน และลูกจ้างชั่วคราว รวมถึง ให้ส่งรายละเอียดเพิ่มเติม แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานข้อมูลจากสำนักงบประมาณ โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มรภ.บางแห่งต้องนำเงินรายได้ที่มีรายการใช้จ่ายอยู่แล้ว จ่ายเงินเดือนพนักงานไปก่อน หากเดือนสิงหาคมยังไม่ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติม มรภ.หลายแห่งอาจมีปัญหา โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการ อว.เร่งหาทางแก้ไขให้ได้ภายในวันที่ 20 ส.ค. นี้ ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาการจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย" นายอดิศร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารายชื่อ มรภ.ที่ได้งบเงินเดือนไม่ครบ มีดังนี้

1. มรภ.กาญจนบุรี 11.94 ล้านบาท
2. มรภ.กำแพงเพชร 26.28 ล้านบาท
3. มรภ.ธนบุรี 4.50 ล้านบาท
4. มรภ.นครราชสีมา 34.31 ล้านบาท
5. มรภ.นครสวรรค์ 19.62 ล้านบาท
6. มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา 8.61 ล้านบาท
7. มรภ.พระนครศรีอยุธยา 20.76 ล้านบาท
8. มรภ.พิบูลสงคราม 41.74 ล้านบาท
9. มรภ.เพชรบุรี 37.59 ล้านบาท
10. มรภ.เพชรบูรณ์ 6.15 ล้านบาท
11. มรภ.ยะลา 23.29 ล้านบาท
12. มรภ.ราชนครินทร์ 2.21 ล้านบาท
13. มรภ.ร้อยเอ็ด 3.25 ล้านบาท
14. มรภ.รำไพพรรณี 31.21 ล้านบาท
15. มรภ.เลย 15.73 ล้านบาท
16. มรภ.ลำปาง 38.28 ล้านบาท
17. มรภ.สกลนคร 42.26 ล้านบาท
18. มรภ.สุรินทร์ 7.89 ล้านบาท
19. มรภ.อุตรดิตถ์ 18.56 ล้านบาท
20. มรภ.อุบลราชธานี 12.69 ล้านบาท

ต่อมาในวันที่ 13 ส.ค. 2562 มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ และประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า กรณีมรภ. 20 แห่ง ทำหนังสือแจ้งปัญหาความเดือดร้อนของ มรภ.ทั่วประเทศ ถึงนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหา กรณีได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป ค่าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ เนื่องจากสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบปี 2562 ไม่เพียงพอกับจำนวนพนักงานมหาวิทยาลัย ยังขาดอีก 406.69 ล้านบาท ส่งผลให้มหาวิทยาลัยได้รับความเดือดร้อน ไม่มีงบพอที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2562 นั้น ล่าสุดทางสำนักงบประมาณ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบกลางเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะนายสุวิทย์เองทราบเรื่องแล้ว แต่หากมีปัญหา คงต้องหารือสำนักงบประมาณกรณีมหาวิทยาลัยต้องใช้งบจากโครงการอื่นสำรองจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย จะต้องจัดสรรงบในโครงการดังกล่าวคืนให้มหาวิทยาลัยด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง

“ครั้งนี้มีปัญหาสำนักงบประมาณอนุมัติงบไม่เพียงพอจ่ายเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัย ขาดไปกว่า 400 ล้านบาท เกิดจากความเข้าใจผิด เชื่อว่า ปีงบประมาณ 2563 จะไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ยอมรับว่า มหาวิทยาลัยเองค่อนข้างกังวลใจ เพราะเป็นงบจำนวนมาก โดยในส่วนของมรภ. อุตรดิตถ์ ขาดไปกว่า 18 ล้านบาท แต่พยายามแก้ปัญหาบริหารจัดการให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับบุคลากร” นายเรื่องเดชกล่าว

นายเรืองเดช กล่าวต่อว่านอกจากนี้ทปอ.มรภ. จะหารือกับนายสุวิทย์ ว่าหลังจากย้ายมาอยู่ในอว. มรภ.ควรจะดำเนินการไปในทิศทางใด โดยอยากขอให้รัฐมนตรีว่าการ อว. กำหนดนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่มมรภ.ให้ชัดเจน โดยเฉพาะงบวิจัย ซึ่งกลุ่มมรภ.จะเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อที่มหาวิทยาลัยต่างๆ จะได้ทำงานได้ตรงจุด เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: