'พระพุทธเจ้าไม่ใช่หมอ' ว่าด้วยมุมมองทางสังคมวิทยาต่อการอนุญาตให้ภิกษุดื่มฉี่และกินขี้

สมคิด แสงจันทร์ | 10 ก.ย. 2562 | อ่านแล้ว 13239 ครั้ง


สัปดาห์ที่แล้วก่อนที่เรื่องพระพุทธรูปอุลตร้าแมนจะกลายเป็นประเด็นทางสังคมในขณะนี้ ได้มีประเด็นเล็ก ๆ ที่เกี่ยวกับการตีความพุทธศาสนาในประเด็นเรื่องการกินฉี่รักษาโรคของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นการแพทย์วิถีธรรม จนเป็นที่มาของรายการ “ต่างคนต่างคิด” ชื่อตอนว่า รวมพลคนกินฉี่ สุขภาพดี หรืออุปาทาน? ออกอากาศวันที่ 26 สิงหาคม ที่ทางรายการได้เชิญหมอเขียวกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็นแพทย์ทางเลือกหรือกลุ่มการแพทย์วิถีธรรม และนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงหลวงพี่ไพรวัลย์พระนักวิชาการรุ่นใหม่ มานั่งพูดคุยและถกประเด็นกันเรื่องการกินฉี่ รักษาโรค

หากมองจากตัวผู้ร่วมรายการก็น่าสนใจมาก เพราะเราสามารถมองได้ว่าทั้งสามฝ่ายเป็นตัวแทนของกลุ่มสามความคิด อุดมการณ์ที่มีมุมมองเรื่องของสุขภาพแตกต่างกัน นักวิทยาศาสตร์เป็นตัวแทนของความรู้สมัยใหม่ หลวงพี่ไพรวัลย์ในทัศนะผมเป็นตัวแทนของวิธีคิดแบบพุทธเชิงสถาบัน ขณะที่กลุ่มที่รณรงค์เรื่องกินฉี่เป็นตัวแทนของพุทธแบบชุมชน

ผมต้องออกตัวก่อนว่าไม่มีความรู้ทางการแพทย์พอจะไปยืนยันได้ว่ากินฉี่แล้วจะช่วยรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และนั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะถกเถียงในบทความนี้ แต่ผมสนใจวิวาทะระหว่างหลวงพี่ไพรวัลย์ กับหมอเขียว เกี่ยวกับการ “เลือก” ตีความวินัยตามสอนของพุทธเจ้าที่แตกต่างกัน

พุทธเจ้าคนละองค์ ? 

ผมขออนุญาตถอดความของสองความคิดเรื่องกินฉี่กับการตีความพุทธศาสนามาให้อ่านกันก่อนเพื่อปูความเข้าใจก่อนจะนำเสนอประเด็นสำคัญของบทความนี้ต่อไป  ในรายการ หมอเขียวอ้างว่าการกินฉี่เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าเคยอนุญาตไว้ว่าเป็นยาที่สามารถรักษาโรคได้ และพระสายปฏิบัติครูบาอาจารย์ในไทยก็ปฏิบัติกันมานาน แต่หลวงพี่ไพรวัลย์แย้งว่า จากการศึกษาของหลวงพี่ไม่พบว่า “ไม่มีตรงไหนเลยในพระไตรปิฎกให้กินฉี่..มันอยู่ที่ว่าคุณเข้าใจศัพท์ในพระไตรปิฎกถูกต้องหรือเปล่า หรือตีความศัพท์ตามความเข้าใจของตัวคุณเอง..น้ำฉี่ของมนุษย์ก็ตาม ของสัตว์ก็ตาม ตัวน้ำฉี่เองไม่มีสรรพคุณทางยา คือพระพุทธเจ้าไม่ได้รับรองว่าตัวฉี่มีสรรพคุณเป็นเภสัช แค่เอาน้ำฉี่วัวมาดองยาบางอย่างเช่นสมอ”

ส่วนหมอเขียวพยายามบอกว่าเป็นการตีความจากพุทธเจ้าคนละองค์ (ความรู้) “พระพุทธเจ้าท่านสอนแบบนั้น แต่คุณไปตีความ พระพุทธเจ้าของท่านสอนแบบนั้น แต่พระพุทธเจ้าของเราสอนแบบนี้..ยืนยันว่าพระไตรปิฎกอันเดียวกัน แต่ว่าแปลคนละความหมาย พระพุทธเจ้าของท่านอื่นอธิบายไปแบบนั้น แต่พระพุทธเจ้าแบบที่เราเข้าใจหมายความว่าแบบนี้ใครเข้าใจแบบไหน จะตัดสินยังไงว่าใครเข้าใจถูกเข้าใจผิด”

หลวงพี่ไพรวัลย์ตอบว่า “เพราะว่าเป็นแบบนี้แหละพระพุทธเจ้าถึงบอกว่าเวลาที่จะสอบสวนความอะไรในพระไตรปิฎก หรือแม้แต่พุทธพจน์ของท่าน มันก็ต้องมีวิธีการในการสอบสวนว่า มีสุตตะ สุตานุโลม มีการอธิบายขยายความ ถ้าทุกคนตีความโดยอัติโนมัติ (ความคิดเห็นของตน) อย่างที่อาจารย์หมอกำลังทำก็คือใช้วิธีการอัตโนมติ”

สำหรับหมอเขียวยืนยันว่า “เป็นมุมมองคนละแบบ พระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าตีความคนละแบบ ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องให้นานาสังวาส ต่างคนต่างพิสูจน์ไป เป็นพุทธเหมือนกัน แต่ว่าต่างคนต่างพิสูจน์ไป แล้วดูว่าผลที่มันออกมานะ ใครพ้นทุกข์”

หลวงพี่ไพรวัลย์ตอบว่า “อาจารย์หมอมีสิทธิ์ที่จะตีความ แต่ว่าถ้าคำพวกนี้มันเป็นศัพท์ภาษาบาลี ถ้าเราไม่ฟังคนที่ท่านแตกฉานภาษาบาลี แล้วเราจะไปฟังใคร ถ้าเราไม่ฟังคนที่มีความฉลาดในนิรุกติ แล้วจะไปฟังใคร เหมือนเราจะอ่านงานภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเราไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษเราก็แปลไม่ได้หรือเข้าใจเนื้อความภาษาอังกฤษนั้น”

หมอเขียวตอบโต้ว่า “การตีความแบบนั้นแล้วพ้นทุกข์ไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเชื่อเพราะเขาน่าเชื่อถือ อย่าเชื่อผู้นั้นผู้นี้ แต่ท่านบอกให้รวมหมู่พุทธบริษัทที่เห็นว่ามันควรจะเป็นอย่างไร แล้วท่านให้พิสูจน์”  

หลวงพี่ไพรวัลย์โต้แย้งว่า “พิสูจน์หรือไม่พิสูจน์ไม่เกี่ยว ในเมื่อคุณไปตีความตามคำสอนพระพุทธเจ้าอย่างนั้น แล้วเผยแผ่ออกไป มันทำให้คนเข้าใจวัตถุประสงค์ของพระพุทธเจ้าผิด เข้าใจพุทธพจน์และพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้าผิด อันนี้เป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งทุกวันนี้คนก็บริภาษพุทธเจ้าใหญ่เลยว่า นี่ไงศาสนาพุทธสอนให้คนกินฉี่ ซึ่งมันไม่ใช่ มันจำเป็นที่อาตมาต้องออกมาพูดว่า ไอ้ตัวจริง ๆ ความหมายจริง ๆ ของปูติมุตตเภสัชนั้น มันคืออะไร แล้วยาของพระพุทธเจ้ามันมีเหตุมีผล เช่นสมอดอง ที่เป็นผลไม้ ที่เป็นมะขามป้อม ซึ่งถ้าอธิบายแบบนี้มันก็เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์ ที่จะรองรับได้” นี่คือประเด็นหลัก ๆ ของการถกเถียงในวันนั้น

พระพุทธเจ้าอนุญาตให้กินฉี่ได้หรือไม่  

ผมไม่แน่ใจว่าหลวงพี่ไพรวัลย์ดูพระไตรปิฎกครบถ้วนหรือไม่ หรือว่าท่านมีธงในใจก่อนแล้วว่าจะพูดหรือไม่พูดตรงไหน การบอกว่าไม่มีตรงไหนที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ฉันฉี่ตัวเองหรือฉี่มนุษย์เลย และจงใจพูดถึงเฉพาะศัพท์ว่า “ปูติมุตตเภสัช” ที่หลายถึงยาดองด้วยฉี่โค ผมต้องเห็นแย้งและยืนยันว่า พระพุทธเจ้าอนุญาตเรื่องการกินฉี่มนุษย์ไว้จริง ๆ ไม่ใช่แค่ฉี่ แต่ได้อนุญาตแม้กระทั่งขี้ด้วย และการอนุญาตนั้นคือการอนุญาตภายใต้กรอบคิดว่าทั้งสองสิ่งนั้นมีสรรพคุณทางยาแน่นอน ที่สำคัญพระพุทธเจ้าเคยเล่าไว้เองว่าตัวท่านเองสมัยยังทำทุกกรกิริยาก็เคยกินทั้งฉี่และขี้ของตัวเอง

การอนุญาตเรื่องยาสำหรับภิกษุในพระไตรปิฎกนั้นถูกรวบรวมไว้ในหมวดว่าด้วยยา(เภสัชชขันธกะ)  การอนุญาตให้ภิกษุฉันฉี่ได้นั้นปรากฏในเรื่องยามหาวิกัฏ (หมายถึง อาหารที่สกปรก, ไม่สะอาด คือผิดปกติอย่างมาก) ตอนหนึ่งว่า “สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด ภิกษุทั้งหลายจึงไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตอบว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ใช้ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง คือ คูถ (อุจจาระ) มูตร (ฉี่) เถ้า (ขี้เถ้า) ดิน” ซึ่งภิกษุยังสงสัยด้วยว่า “ยามหาวิกัฏไม่ต้องรับประเคน หรือต้องรับประเคน” เพราะปกติอาหารและยาต้องรับประเคนทุกครั้ง พอภิกษุนำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็อนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนเมื่อมีกัปปิยการก (คนวัด โยมอุปัฎฐาก) ถ้าไม่มีกัปปิยการก ให้หยิบเองได้”

เช่นเดียวกับการอนุญาตให้ฉันขี้ตัวเองได้ในเรื่องถัดมา ที่ว่า ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาพิษเข้าไป จึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูล พระพุทธเจ้า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ” สมัยนั้น ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า “คูถไม่ต้องรับประเคน หรือจะ ต้องรับประเคน” พระพุทธเจ้าอนุญาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตคูถที่ภิกษุหยิบไว้ขณะกำลังถ่ายนั่นแหละ เป็นอันประเคนแล้ว จึงไม่ต้องรับประเคนอีก” เรื่องนี้ในอรรถกถาอธิบายไว้ชัดเจนว่า ชี้ที่ตกพื้นต้องรับประเคนใหม่ แต่ขี้ที่หยิบมาเลยไม่ตกพื้นไม่ต้องประเคน

ส่วนเรื่องที่พระพุทธเจ้าเคยฉันฉี่และขี้ตัวเองท่านเคยพูดกับพระสารีบุตรไว้ในมหาสีหนาทสูตรตอนว่าด้วยพรหมจรรย์ในโภชนมหาวิกัฏของพุทธเจ้าว่า “ดูกรสารีบุตร เรานั้นแลเคยคลานเข้าไปในคอกที่เหล่าโคออกไปแล้ว และปราศจากคนเลี้ยงโค กินโคมัย (ขี้วัว) ของลูกโคอ่อนที่ยังไม่ทิ้งแม่ มูตรและกรีสของเรายังไม่หมดสิ้นไปเพียงไร เราก็กินมูตรและกรีสของตนเองเป็นอาหาร ดูกรสารีบุตร นี้แหละเป็นวัตรในโภชนะมหาวิกัฏของเรา”

ฉะนั้นหลักฐานทางพระไตรปิฎกเหล่านี้แย้งกับที่หลวงพี่ไพรวัลย์พูดว่า ไม่มีปรากฏ, พระพุทธเจ้าไม่เคยกิน, หรือไม่มีสรรพคุณทางยา เพราะหลักฐานเรื่องกินฉี่และขี้ก็อยู่ในขันธกะเดียวกันกับเรื่องยาดองฉี่โค คือพูดถึงเรื่องยารักษาอาการอาพาธต่าง ๆ ดังนั้นฉี่และขี้ในพระไตรปิฎกจึงมีสรรพคุณทางยาแน่นอน ที่สำคัญตามลำดับเรื่องในพระไตรปิฎก เรื่องกินฉี่และกินขี้ มาก่อนเรื่องยาดองฉี่โคเสียอีก ดังนั้นจึงน่าแปลกใจว่าหลวงพี่ไพรวัลย์ที่ค้นดูพระไตรปิฎกแล้วจะไม่เห็นเรื่องนี้ได้อย่างไร?

พระพุทธเจ้าไม่ใช่หมอว่าด้วยมุมมองทางสังคมวิทยาต่อการอนุญาตให้ภิกษุดื่มฉี่และกินขี้ตัวเอง

หากเราศึกษาจากวิวาทะการตีความพุทธเจ้าของทั้งหลวงพี่ไพรวัลย์และหมอเขียวแล้ว เราจะพบว่ามีการตีความจากฐานคิดคนละอย่างกัน หลวงพี่ไพรวัลย์ในทัศนะผมเป็นตัวแทนของวิธีคิดแบบพุทธเชิงสถาบัน ที่ต้องการให้การตีความคำสอนของพุทธเจ้าทุกอย่างมีเหตุผล มีหลักการรองรับและไม่แตกแยกผิดแปลกกับความรู้สูงสุดที่มนุษย์ทุกวันนี้ยอมรับคือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นลักษณะของการเชิดชู ในเชิงตรรกะ ในทางปรัชญา ศีลธรรม

ส่วนในมุมมองของหมอเขียวนั้นเป็นการมองพุทธศาสนาในเชิงของ “ชุมชนปฏิบัติ” (Community of Practice) เน้นเรื่องการปฏิบัติตามกันแบบชุมชนมากกว่าการไล่เรียงตามคัมภีร์ ดังนั้นปัญหาของเรื่องกินฉี่จึงไม่ได้อยู่ที่กลุ่มหมอเขียวอ่านพระไตรปิฎกหรือตีความคำในพระไตรปิฎกผิดหรือไม่ เพราะเขาให้ความสำคัญกับวิถีปฏิบัติของชุมชนและครูบาอาจารย์มากกว่า 

ฉะนั้นในประเด็นเรื่องการอนุญาตให้กินฉี่นั้น มันยอมรับได้ยากอยู่แล้วในทางการแพทย์ใหม่ สิ่งที่พุทธเชิงสถาบันกังวลคือ หากมีการตีความคำสอนหรือวินัยของพระพุทธเจ้าแบบผิดไปจากข้อพิสูจน์ทางหลักวิทยาศาสตร์จะทำให้องค์ความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นด้อยค่า อย่างที่หลวงพี่ไพรวัลย์ย้ำเสมอว่า กลัวคนจะบริภาษพุทธเจ้าใหญ่ว่า นี่ไงศาสนาพุทธสอนให้คนกินฉี่ ดังนั้นหน้าที่ของพุทธเชิงสถาบันเช่นนี้คือต้องออกมาโต้แย้งและพิสูจน์ให้ได้ว่า “ยา” ของพระพุทธเจ้ามันมีเหตุมีผล เช่นสมอดอง ที่เป็นผลไม้ ที่เป็นมะขามป้อม ซึ่งถ้าอธิบายแบบนี้มันก็เป็นเหตุเป็นผลเป็นวิทยาศาสตร์ ที่จะรองรับได้”

แต่ประเด็นที่ไม่มีใครถามในรายการก็คือ หากอ้างว่าไม่ได้กินฉี่คน แค่กินยาที่ดองฉี่โค คำถามคือ ฉี่โคที่เอามาดองจะไม่ปนเปื้อนกับสมอหรือ การอ้างว่าฉี่ไม่ได้มีสรรพคุณทางยา แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า ถ้าไม่มีจริง แล้วฉี่โคไม่อันตรายสำหรับมนุษย์หรือ หากคิดเอาตามการแพทย์ปัจจุบัน อย่างไรเสียก็มีผลเสียมากกว่าผลดี คำถามคือ พระพุทธเจ้าไม่รู้หรือว่า สิ่งของเหล่านี้สกปรกและไม่มีสรรพคุณทางยา ? หากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกอย่างจริง เหตุใดจึงไม่ตรัสห้ามหรือหาสิ่งที่หาง่ายกว่า เช่น ใบไม้ใบหญ้า หรือหากมูตรโคเป็นของหาง่ายเอามาดองยาได้ เหตุใดจึงไม่มีที่ไหนอนุญาตขี้วัวมาทำเป็นยาบ้างเหล่า ทั้งที่เป็นของหาง่ายกว่าฉี่มากนัก

พระพุทธเจ้าเป็นสัตว์สังคม

ผมมองว่า ปัญหาคือชาวพุทธพยายามจะทำให้พุทธเจ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้ได้ ทั้งเรื่องดาราศาสตร์ ฟิสิก เคมี กายภาพ และกระทั่งเป็นแพทย์ หากจะว่ากันตามจริงพระพุทธเจ้าไม่เคยอ้างว่าตัวเองเป็นเช่นนี้เลย ปัญหามันจึงเกิดขึ้นเมื่อมีคนบางกลุ่มตีความพุทธแบบไม่เป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมา มันก็ขัดแย้งกัน ความกลัวว่าคำสอนของพุทธเจ้าจะขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์หรือศาสตร์ปัจจุบันจึงเป็นความกลัวของพุทธเชิงสถาบันมากกว่า พวกเขาจึงต้องพยายามตีความให้ไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ เช่นเราจะเห็นหนังสือประเภท ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าตอบ ฯ

แต่สิ่งที่ผมคิดว่าไม่ค่อยมีการอธิบายหรือพูดถึงคือ การพูดถึงพระพุทธเจ้าในฐานะสัตว์สังคม หรือในเชิงสังคมศาสตร์ ในกรณีการใช้ยาของภิกษุในเชิงสังคมวัฒนธรรม เราจะเห็นว่าด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีการแพทย์ ความหมายของยา ความรู้เรื่องยา จึงเป็นเรื่องของสังคม มากกว่าเรื่องของพุทธิปัญญา ช่องว่างเหล่านี้ ชาวพุทธไม่กล้าพูดกันตรงๆ ว่า ยังเป็นความรู้ที่จำกัดของพุทธเจ้าและของคนในยุคนั้น วิถีปฏิบัติในส่วนอื่นยังเป็นความเชื่อ ค่านิยม ในสมัยนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับปัญญาญาณเรื่องการพ้นทุกข์ หรือคำสอนที่ค้นพบ

ผมขอยกเรื่องอุจาระมาให้เห็นชัด ๆ ว่า การอนุญาตให้พระกินยาหรือทำอะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน การเข้าสังคมในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องของอกาลิโก ที่พระพุทธเจ้าทำอะไรในตอนนั้นจะต้องเป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของสัจจะธรรมและถูกต้องไปเสียทุกส่วน ทุกเวลา แต่เป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะหรือบริบทของวัฒนธรรมในสมัยนั้น กรณีเรื่องการดื่มฉี่หรือกินขี้ตัวเองนี้ หากแยกจากเรื่องคำสอนดับทุกข์และมองมันเป็นพลวัตรทางสังคมวัฒนธรรม เราจะกล้าพูดได้ว่า “เป็นเรื่องของวัฒนธรรมและองค์ความรู้ที่จำกัดในยุคนั้น”

ขอยกตัวอย่างว่า ขั้นตอนอนุญาตการรักษาหรือกินยานั้น ส่วนมากพระพุทธเจ้าจะไม่ได้วินิจฉัยสรรพคุณของมัน แต่เป็นการอนุมัติตามที่ภิกษุขอมาเป็นส่วนใหญ่ เช่น ในกรณีที่ภิกษุเป็นฝี ในเภสัชขันธกะจะเป็นการรักษาตามคำขอของภิกษุที่ขอมา เช่น ภิกษุบอกว่า ต้องการผ่าตัด พระพุทธเจ้าก็อนุญาต เมื่อแผลไม่หายต้องการให้รมควันก็อนุญาต โดยไม่วินิยฉัยเลยว่า การทำเช่นนั้นหายหรือไม่ หรือมีวิธีการรักษาที่ดีกว่านั้นหรือไม่อย่างไร (ซึ่งหากมีความรู้ทางการแพทย์ บวกกับที่รู้ทุกอย่างในโลกจริง ต้องบอกวิธีที่รักษาได้ดีกว่าความรู้ที่มีในขณะนั้น)

ความจริง ปัญหาเรื่องข้อห้ามชีวิตประจำวันยังจะเป็นปัญหาโลกแตกของชาวพุทธในไทยอีกมาก มีการหาเหตุผลไม่ว่าทางใดทางหนึ่งมาแก้ต่าง สนับสนุนไปหมด เช่นเรื่องน้ำปานะ 8 ประการ ก็ต้องเป็น 8 อย่างนี้เท่านั้น เช่น ผมเคยถามพระวินัยธรบางรูปว่า ทำไมถึงไม่อนุญาตน้ำแตงโม น้ำมะพร้าว ท่านอธิบายว่า เพราะเป็นผลไม้ลูกใหญ่ หายาก พระต้องปีนต้นมะพร้าว พกพายาก จึงไม่อนุญาต แต่ผลไม้อื่น ๆ เช่น องุ่น ลูกเล็ก และหาง่ายกว่า นีท่านกำลังใช้มุมมองเชิงสังคมมาอธิบาย แต่เมื่อผมถามว่า แต่ในปัจจุบันในประเทศไทย องุ่นหายากกว่า และแตงโมกับมะพร้าวก็หาง่ายมาก พระไม่จำเป็นต้องปีนเอง เหตุใดจึงไม่อนุญาต ท่านก็ตอบว่า เพราะภิกษุไม่ควรเพิ่มหรือปรับวินัยเอง (แม้จะเคยอนุญาตว่าหากเป็นสิกขาเล็กน้อยก็อนุญาตให้ปรับได้)

ทำไมบางอย่างถึงใช้เรื่องของการหากง่ายหายากมาอธิบาย บางอย่างกับอธิบายว่าคล้ายข้าว ทำไมใช้กล้วยดิบไม่ได้ ต้องต้มก่อน นี่เป็นปัญหาของพระวินัยธร เพียงแต่เราไม่บอกว่าทุกคนต้องทำตามเปะ ๆ แต่ก็ไม่ควรปิดโอกาสในการปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ แต่ภิกษุกลับลืมไปว่าแก่นของการมีวินัยคือเพื่ออนุเคราะห์การอยู่กินของภิกษุให้ง่ายขึ้น พระพุทธเจ้าเองจึงปรับวินัย มีข้อยกเว้น ข้อพิเศษสำหรับบางกรณีเสมอ เช่น ในภูมิประเทศที่แห้งแล้ง หาน้ำยาก อนุญาตให้ไม่อาบน้ำนานได้ถึง 15 วัน

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของการตีความพุทธศาสนา

หากมองให้ไกลออกไป วิวาทะนี้ไม่ได้แสดงแค่ว่าใครตีความเรื่องกินฉี่ถูกหรือผิด แต่ยังแสดงให้เห็นตำแหน่งแห่งหนของพุทธในสังคมบ้านเราด้วย การผูกขาด การโอบรัด การผลักไส การดึงรวบ ความเป็นการเมือง มันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการฉวยใช้และตีความคำสอนของพุทธเจ้าไว้กับบางกลุ่ม ในชนชั้นสูง การเมืองการปกครอง

วิถีทางที่พุทธเชิงสถาบันพยายามผลักหรือเบียดขับ ดันให้คนอื่นไม่ใช่พุทธ ผมกลับมองว่าข้อเสนอเรื่องนานาสังวาสของหมดเขียวกลับเป็นข้อเสนอที่แหลมคมมากกว่าและเปิดกว้างมากกว่าข้อเสนอเรื่องนิรุกติศาสตร์ของหลวงพี่ไพรวัลย์ เราจะเห็นว่ากรณีนี้ก็เช่นเดียวกับกรณีของดราม่าเรื่องพุทธรูปอุลตร้าแมน ที่พุทธเชิงสถาบันพยายามช่วงชิงอำนาจในการตีความพุทธศาสนาให้เป็นแบบทางการเท่านั้น

ข้อเสนอแนะของผมคือ การศึกษาพุทธศาสนาจำเป็นอย่างมากต้องศึกษาผ่านมุมมองของสังคมศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา การมองสังคมของสงฆ์และวินัยเหล่านั้นอย่างไม่แยกขาดจากบริบทและข้อจำกัดต่าง ๆ ในสังคมแต่ละสังคม และละช่วงเวลาจะช่วยให้เราเข้าในพุทธศาสนาอย่างที่มันเป็นและเป็นการเปิดกว้างให้พุทธแบบต่าง ๆ มีที่ทาง มีชุมชน มีพลวัตรทางความคิดเป็นของตัวเอง


 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: Dhammawija

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: