กสศ.จัดเวทีสะท้อนเสียง โรงเรียนชายขอบกังวลไร้ 'ไฟฟ้า-สัญญาณเน็ต' ไม่พร้อมเรียนออนไลน์

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3423 ครั้ง

กสศ.จัดเวทีสะท้อนเสียง โรงเรียนชายขอบกังวลไร้ 'ไฟฟ้า-สัญญาณเน็ต' ไม่พร้อมเรียนออนไลน์

กสศ.จัดเวทีสะท้อนเสียงโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนห่างไกล บนเกาะ ภูเขาสูง กังวลไร้ไฟฟ้า สัญญาณเน็ต อาจไม่พร้อมต่อการเรียนผ่านระบบออนไลน์ แนะทำสื่อเรียนรู้แบบออฟไลน์ให้ครูสอนเด็กๆ ถึงหมู่บ้าน | ที่มาภาพประกอบ: ไทยรัฐออนไลน์

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2563 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดเสวนาผ่านเพจเฟซบุ๊ก กสศ. ในหัวข้อ “ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการศึกษาไทย ภาพรวมและเสียงสะท้อนจากโรงเรียนชายขอบ”​ โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ​ระบุว่า ​จากงานวิจัยของ OECD ที่ศึกษาผลกระทบของนักเรียนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า เด็กนักเรียนยากจนที่สุดมีเพียง 57% ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต อาจเพราะไม่มีเงินสำหรับสมัครสมาชิกหรืออยู่ในบริเวณห่างไกลกว่าที่จะมีสัญญาณเข้าถึง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงอาจเกิดการเสียเปรียบในการเข้าถึงการเรียนรู้ของนักเรียนยากจนที่สุดได้ โดยหลายประเทศใช้การจัดสรรอุปกรณ์ Wi-fi แบบพกพาให้กับนักเรียนที่บ้านไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ หรือจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ครัวเรือนยากจนมีเงินในการสมัครบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น หากต้องการเผยแพร่ข้อมูลทางการศึกษาแบบทางไกลในประเทศไทย สื่อเช่น โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์สมาร์ทโฟน อาจจะเป็นอีกช่องทางที่สามารถเข้าถึงเด็กจำนวนมากได้ เพราะมีต้นทุนที่ต่ำและยุ่งยากน้อย ประเทศส่วนใหญ่เด็กนักเรียนจะสามารถเข้าถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากที่สุด รวมถึงโทรทัศน์ที่มักจะต้องมีในทุกบ้าน แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบใดก็ตามในการเรียนการสอนช่วงวิกฤต COVID-19 สิ่งที่สำคัญคือ การเลือกให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุด

นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า นักเรียนของโรงเรียนส่วนหนึ่งเป็นชนเผ่าผู้ปกครองไม่สามารถอบรมบุตรหลานหรือสอนการบ้านได้ อีกทั้งการเรียนออนไลน์ยังมีปัญหาเพราะเด็กที่มีความพร้อมมีเพียงแค่ 20% ซึ่งเวลานี้สิ่งสำคัญ คือ การเตรียมการรับมือช่วงเปิดเทอมตั้งแต่ตอนนี้จะรอเดือน ก.ค.คงไม่ทันการณ์ ต้องออกแบบการสอนใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งจำแนกเด็กที่จะเรียนออนไลน์ ทีวีทางไกล โดยวิธีการควรยืดหยุ่น ซึ่งแต่ละโรงเรียนต้องวางแผนให้เหมาะกับบริบทของตัวเอง อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อาจจะเป็นโรงเรียนกึ่งกลาง คือ บางส่วนใช้ออนไลน์ได้ เรียนโทรทัศน์ทางไกลได้ แต่มีกลุ่มยากจนที่ต้องการสื่อการเรียนออฟไลน์ ซึ่งอาจจัดแบบคละชั้นเรียน เป็นกลุ่มหมู่บ้าน หรือในส่วนที่อยู่ใกล้โรงเรียนสามารถมาเรียนได้ 2-3 วัน โดยควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด เช่น การจำกัดจำนวนนักเรียน หรือจำกัดเวลา

นายสยาม เรืองสุกใสย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนล่องแพวิทยา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า โรงเรียนล่องแพวิทยามีบริบทพื้นที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นในประเทศไทยนักเรียนส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง​ จากนักเรียน 734 คน เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 500 คน เด็กเหล่านี้แตกต่างจากเด็กในพื้นที่ตัวเมืองเพราะไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าใช้ ผู้ปกครองไม่มีเงินซื้อสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ และเป็นเด็กชาติพันธุ์ ที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองที่สาม ทั้งหมดย่อมทำให้ได้รับผลกระทบจากการปิดภาคเรียนที่ยาวขึ้นมากกว่าเด็กในพื้นที่อื่น ดังนั้น นโยบายการจัดการศึกษาในลักษณะพื้นที่พิเศษจะมองแบบเรียนออนไลน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองแบบออฟไลน์ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: