แถลงการณ์แอมเนสตี้ สหรัฐฯ กรณีการชุมนุมประท้วงจากการณีการเสียชีวิตของ 'จอร์จ ฟลอยด์'

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2064 ครั้ง

แถลงการณ์แอมเนสตี้ สหรัฐฯ กรณีการชุมนุมประท้วงจากการณีการเสียชีวิตของ 'จอร์จ ฟลอยด์'

จากกรณีเสียชีวิตของ 'จอร์จ ฟลอยด์' แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ แถลงต่อปฏิบัติการของตำรวจตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตำรวจสหรัฐฯ ทั่วประเทศต่างไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องเคารพและอำนวยให้มีการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น และทำให้ชีวิตของผู้ประท้วงตกอยู่ในอันตราย | ที่มาภาพ: Stephen Maturen (อ้างใน Amnesty International)

สืบเนื่องจาก วันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจมินนิอาโปลิส ได้เข้าทำการตรวจค้น จอร์จ ฟลอยด์ โดยในระหว่างการจับกุมได้ใช้เข่ากดทับที่คอนายฟลอยด์เป็นเวลาหลายนาที ทั้งที่นายฟลอยด์ถูกล็อคมือไขว้หลังไว้ด้วยกุญแจมือ และร้องบอกตำรวจว่า "หายใจไม่ออก" และร้องขอชีวิตแล้วก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับพลเมืองสหรัฐและนำไปสู่การชุมนุมประท้วงไปมากกว่า 30 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ

เรเชล วอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ ได้ออกมาแถลงต่อปฏิบัติการของตำรวจตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตำรวจสหรัฐฯ ทั่วประเทศต่างไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องเคารพและอำนวยให้มีการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น และทำให้ชีวิตของผู้ประท้วงตกอยู่ในอันตราย โดยในหลายเมืองมีปฏิบัติการที่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุ เราจึงเรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังของผู้รักษากฎหมายเช่นนี้โดยทันที เพื่อประกันและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในการชุมนุมประท้วง

“การใช้อุปกรณ์ปราบจลาจลขั้นวิกฤต อาวุธและอุปกรณ์ทางการทหาร เพื่อควบคุมผู้ชุมนุมประท้วงที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ การกระทำเช่นนี้อาจเป็นการข่มขู่ผู้ประท้วงที่ออกมาใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ ยุทธวิธีเช่นนี้ยังอาจเร่งให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น การที่เจ้าหน้าที่ติดอาวุธราวกับจะออกไปปฏิบัติการในสนามรบ อาจจะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่มีวิธีคิดว่าการเผชิญหน้าและสงครามความขัดแย้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตำรวจต้องมีส่วนร่วมในการลดความตึงเครียด ก่อนสถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยควรลดแนวปฏิบัติที่ก้าวร้าวแบบทหาร และเข้าร่วมการเจรจากับแกนนำผู้ประท้วง เพื่อลดความตึงเครียดและเพื่อป้องกันความรุนแรง หรือเพื่อยุติความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

“การใช้กำลังที่ไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุต้องยุติลงทันที และต้องมีการสอบสวนการใช้กำลังที่อาจไม่จำเป็นหรือเกินกว่าเหตุในทุกกรณีต่อผู้ประท้วง และเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว

“นอกจากนั้น เราเรียกร้องรัฐบาลกลาง และเมืองและรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ให้ดำเนินการโดยเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของการประท้วงเหล่านี้ และใช้มาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของตำรวจต่อคนผิวสีและคนอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ต้องถูกดำเนินคดี รัฐทุกแห่งในสหรัฐฯ ต้องออกกฎหมายเพื่อจำกัดการใช้กำลังรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยให้ใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อป้องกันภัยคุกคามที่กำลังจะทำให้เสียชีวิต และรัฐสภาควรผ่านร่างกฎหมาย PEACE Act เพื่อกำหนดมาตรฐานในส่วนกลางและกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูประดับรัฐ (PEACE Act ย่อมาจาก Police Exercising Absolute Care with Everyone เป็นร่างกฎหมายของรัฐบาลกลางซึ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขให้รัฐต่าง ๆ ต้องปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เพื่อให้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง)

“แนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติและแนวคิดที่เชิดชูคนผิวขาวต่างเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการสังหารเหล่านี้ และสนับสนุนปฏิบัติการของตำรวจต่อการประท้วง รัฐบาลกลางควรจัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับชาติเพื่อแก้ไขวิกฤติครั้งนี้อย่างรอบด้าน รวมทั้งกรณีการสังหารโดยตำรวจ สิทธิในการประท้วง และการยุติการเลือกปฏิบัติ ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องยุติการพูดจาและนโยบายที่สนับสนุนความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติ

“รัฐบาลสหรัฐฯ ในทุกระดับต้องรับประกันสิทธิในการชุมนุมประท้วง ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ” เรเชลกล่าว

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยและแถลงการณ์เพิ่มเติมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน สิทธิในการประท้วง และความคืบหน้าของเหตุการณ์ในกรุงมินนีแอโพลิสได้จากแหล่งข้อมูลด้านล่าง 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: