ปลัด พม. เผยรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ประจำปี 2563 (TIP Report 2020) จัดประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ว่านายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563 เวลาประมาณ 01.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report ประจำปี 2563 (TIP Report 2020) โดยจัดระดับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม 187 ประเทศ โดยได้จัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับปี 2561 และปี 2562 เนื่องจากรัฐบาลไทยยังคงเพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมต่อเนื่อง
นายปรเมธี กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยและทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีผลการดำเนินงานสำคัญในรายงานดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1) ด้านดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย โดยออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะความผิดและอัตราโทษฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การประชุมทวิภาคี เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล/รวบรวมพยานหลักฐานในคดีค้ามนุษย์ การยอมรับคำให้การล่วงหน้าและคำให้การทางวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐ NGOs และองค์กรภาคประชาสังคม
2) ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ โดยพัฒนาแบบคัดแยกสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ เปิดศูนย์คุ้มครองเด็กเพิ่ม รวมจำนวน 7 แห่ง เพื่อการจัดบริการที่เป็นมิตรสำหรับเด็ก เยียวยาผู้เสียหายจากเงินกองทุนฯ จำนวน 11.88 ล้านบาท และผู้เสียหายได้รับค่าสินไหมทดแทน ตามการพิพากษาของศาล จำนวน 3.33 ล้านบาท การพัฒนา Mobile Application “Protect-U” สำหรับผู้เสียหายและพยาน เพื่อขอรับการช่วยเหลือคุ้มครอง
และ 3) ด้านการป้องกัน สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ข้อบ่งชี้การค้ามนุษย์ ช่องทางแจ้งเบาะแส เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และบนเครื่องบิน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างภาครัฐ NGOs และองค์การระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง 5 แห่ง เพื่อช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU มีความรู้เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สิทธิ วัฒนธรรม การจัดทำสัญญาจ้างงาน และกลไกการร้องทุกข์ร้องเรียน และร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศป้องกันไม่ให้ผู้มีประวัติการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กเข้ามาในประเทศ
นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ มีข้อแนะนำที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทย เช่นพัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมาย ในการดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การสอบสวนและดำเนินคดีเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การดูแลผู้เสียหายโดยคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจทั้งในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน รวมถึงการช่วยเหลือทางกฎหมาย การเยียวยาจิตใจ การเพิ่มความสามารถของผู้เสียหายที่จะเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครองและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารได้โดยอิสระ พัฒนาการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดแยกผู้เสียหายประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มธุรกิจทางเพศ กลุ่มเด็กขอทานและขายของตามท้องถนน แรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรม จัดหาสำเนาเอกสารสัญญาจ้างงานแก่ลูกจ้างในภาษาที่ลูกจ้างเข้าใจ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรายงานอาชญากรรมค้ามนุษย์ โดยไม่หวาดกลัวที่จะถูกดำเนินคดีอาญา รวมถึงการฟ้องร้องโดยนายจ้าง บังคับให้มีการจ่ายค่าแรง และกำหนดให้นายจ้างจ่าย ค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้แรงงานต่างด้าว ให้สิทธิลูกจ้างครอบครองเอกสารประจำตัวและการเงินของตนเอง เป็นต้น
“พม.ในฐานะหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal point) จะบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยจะได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อพิจารณาและมอบ หมายเจ้าภาพหลักรับผิดชอบข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็น สำหรับติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานของประเทศไทย ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รับทราบและพิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานและเจ้าภาพหลักต่อไป” ปลัด พม.กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ