ที่ประชุมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ชี้ มติ ครม.เว้นทำ EIA สร้างปัญหาใหญ่ ส่งผลหน่วยงานรัฐเน้นแก้ด้วย 'โครงสร้างแข็ง' เผยค่าก่อสร้างตารางเมตรละแสน | ที่มาภาพประกอบ: กรมโยธาธิการและผังเมือง (อ้างในประชาไท)
ในการประชุมประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2563 มีการเสนอญัตติขอให้ตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางคลื่นทะเลซัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งมี ส.ส.จากพรรคก้าวไกลร่วมอภิปราย
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ขอเน้นไปที่โครงการของรัฐที่มักเอาคำว่า ‘กัดเซาะชายฝั่ง’ เป็นตัวตั้ง แล้วเอาโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมืองและกรมเจ้าท่า ไปสร้างโครงสร้างแข็งทำลายชายหาด ประเด็นนี้ได้ยกมาอภิปรายแล้วหลายครั้ง ซึ่งเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องซับซ้อนและมีความอ่อนไหว อย่างไรก็ตาม ได้มีกฎหมายออกมาเป็นการเฉพาะ การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องดีเพราะจะได้รู้ว่าหน่วยงานไหนยังละเลยกฎหมาย ก้าวล่วงหน่วยงานอื่นทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ และเอาภาษีไปผลาญชายฝั่งทะเล ชายหาด คือ ทรัพยากรระหว่างทะเลและแผ่นดินใหญ่ เป็นกลไกของธรรมชาติ แต่เมื่อโครงการของรัฐนำไปอ้างและทำสิ่งตรงข้าม สร้างโครงสร้างแข็งหรือถนนเลียบชายฝั่ง ก็เปรียบเสมือนสร้างกำแพงไม่ให้ทรายไหลเข้าออกได้ทำให้ชายหาดหายไป จึงขอให้รักษาชายหาดขาวสะอาดไว้ให้ลูกหลานเราได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
ทองแดง เบ็ญจะปักษ์ ส.ส.จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสมุทรสาครและใกล้เคียงในปากอ่าว ก.ไก่ เช่น ที่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ติดกับเขตบางขุนเทียน มีการนำกระสอบไส้กรอกทรายมาวาง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าทรายมาจากไหน มาจากกากอุตสาหกรรมหรือไม่ มีชาวบ้านได้มาร้องเรียนว่า กระสอบแบบนี้เมื่อนานไปจะแตกออกทรายที่ออกมาทำให้สัตว์น้ำชายเลนตาย จึงอยากถามกลับไปยังภาครัฐว่าได้ถามพื้นที่บ้างหรือไม่ หรือแค่มีโครงการ ได้ทำไปแล้วก็ปล่อยให้ประชาชนรับเคราะห์ที่เกิดขึ้น อีกประเด็นหนึ่งคือ การทำแนวไม้ไผ่กันคลื่นซึ่งทำเป็นแนวยาวมาก อยากให้จะให้มีการปลูกแซมไม้โกงกางหรืออื่นๆไว้ด้วย เพราะไม้ไผ่เมื่อผ่านเวลาไปก็จะพัง กลายเป็นขยะและเป็นอันตรายกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน การทำประมงพื้นบ้านทำมาหากินลำบาก แต่หากปลูกแซมไว้ เมื่อไผ่สลายไปแล้ว แสมโกงกางก็จะทดแทนไม้ไผ่ได้ จะสร้างอาหารและไม่เป็นอันตรายต่อพยูนและบรูด้าซึ่งหากินในบริเวณนั้น
กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่าประเทศไทยแบ่งการเซาะเป็น 3 ประเภทคือ รุนแรง ปานกลางและน้อย มีแนวทางการแก้ปัญหาแบ่งเป็นระดับต่างๆแยกไปตามปัญหา ประเด็นสำคัญคือ การดำเนินการด้วยวิธีสร้างกำแพงกันคลื่นนี้ ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาถูกดำเนินการอย่างมากมาย มีค่าดำเนินการ ตารางเมตรละ 1 แสนบาท เป็นผลมาจาก มติ ครม.ที่ให้ยกเลิกการทำ EIA ทั้งที่มาตรการนี้นักวิชาการและหลายหน่วยงานเห็นตรงกันว่าควรเป็นมาตรการสุดท้ายในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะมีผลกระทบสูง แต่กลับเป็นมาตรการเดียวที่ได้ยกเว้นการทำ EIA โดยเหตุผลที่อ้างคือ ประชาชนเดือดร้อนจึงต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่จะบอกว่าเร่งด่วนได้อย่างไร เพราะโครงการแบบนี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 2 ปี นอกจากนี้ยังเป็นคำถามว่า ทำไมมาตรการอื่นที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากลับต้องทำ EIA หลังทำกำแพงกันคลื่นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือชายหาดหายไป เต่าวางไข่ไม่ได้ การท่องเที่ยวจะไปทางไหน จะมีแต่ทางวิ่งทางจักรยานอย่างนั้นหรือ ประมงชายฝั่งยังได้รับผลกระทบเพราะการนำเรือออกทะเล ชาวบ้านจะใช้น้ำขึ้นลงบนชายหาดพาออกไป ไม่ใช่การทำทางลาดเอารถมาลากขึ้นลงซึ่งจะเป็นการสร้างภาระให้พวกเขา การแก้ปัญหานี้จึงผิดฝาผิดตัว เพราะปัญหามีหลายแบบเหมือนเด็กล้มเอายาทาก็ได้ แต่กลับไปผ่าตัดเปลี่ยนเข่าไทเทเนี่ยมเหมือนกันหมด แก้แบบนี้ไม่มีทางยั่งยืนได้
ต่อมาที่ประชุมจึงมีมติเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแนวทางการแก้ปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 25 คน มีสัดส่วนจากคณะรัฐมนตรี 5 คน พรรคเพื่อไทย 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 5 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน พรรคก้าวไกล 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน กำหนดกรอบเวลาการทำงาน 90 วัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย ... ยิ่งแก้-ยิ่งพัง?
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ