มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า แนะ 'การใช้ยาสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง' ก้าวสำคัญเพิ่อแก้ไขปัญหา 'เชื้อดื้อยา' พบในไทยเริ่มขับเคลื่อนแล้ว | ที่มาภาพประกอบ: Environmental Bid Network
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 ว่าองค์การอนามัยโลกพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ การสั่งใช้ยาไม่เป็นไปตามแนวทางรักษา ฯลฯ โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมกำลังสร้างความเสียหายทั้งในระดับโลกและระดับประเทศอย่างมหาศาล
ผศ.ดร.กำธร มาลาธรรม คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า มีการคาดการณ์โดยนักวิชาการของยุโรปว่า สถานการณ์ทั่วโลกในช่วงประมาณปี 2593 ในทุกๆ 3 วินาทีจะมีคนเสียชีวิตเพราะเชื้อดื้อยา 1 คน หรือประมาณ 10 ล้านคนต่อปี โดยครึ่งหนึ่งจะอยู่ในทวีปเอเชีย ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านล้านบาท
“ถ้าคิดเป็นอัตราการตายจากเชื้อดื้อยาต่อประชากร 1 แสนคน พบว่า อเมริกาตาย 5.3 ต่อประชากร 1 แสนคน ยุโรปตาย 5 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ไทยอยู่ที่ 28.3 ต่อประชากร 1 แสนคน มากกว่าอเมริกาและยุโรปประมาณ 6 เท่า” ผศ.ดร.กำธร กล่าว
จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 20,000-38,000 คน และมีผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติเพราะเชื้อดื้อยา ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจถึงปีละ 46,000 ล้านบาท
ด้าน ภญ.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ จาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า “30 ปีที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก มีคาร์บาพีเนมส์ (Carbapenems) ซึ่งเป็นยาสุดท้ายที่จะใช้ได้ผลในการรักษาโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงอย่างสูง แต่ปัจจุบันเราก็ยังมีคาร์บาพีเนมส์ตัวเดิมใช้อยู่ สรุปแล้ว 30 ปีที่ผ่านมาที่เชื้อดื้อยารุนแรงมากขึ้น แต่เราไม่มียาปฏิชีวนะชนิดใหม่ออกมาเลย แสดงให้เห็นถึงวิกฤต เหตุผลคือบริษัทยาบอกว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุนศึกษาวิจัยยาเหล่านี้ เพราะพอเชื้อดื้อยา ขายไม่ได้ เขาก็ทำกำไรไม่ได้ เขาก็หันไปลงทุนกับยาเบาหวาน ยาความดันแทน”
ในส่วน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ที่เกาะติดประเด็นนี้มานาน กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์การใช้ยาปฏิชีวนะมีความซับซ้อนขึ้น เพราะไม่ได้ใช้ในคนเท่านั้น แต่เกษตรกรยังนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในพืชและสัตว์ด้วย เช่น ส้ม กุ้ง ปลา หมู ไก่ เป็นต้น ทำให้การสื่อสารเรื่องนี้ยากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กพย. ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในการสั่งสมข้อมูลวิชาการ สร้างความเข้าใจ สร้างเครือข่าย สร้างการสื่อสารเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายกับกลุ่มคน คอยเฝ้าระวัง และชี้ปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
พื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จหนึ่ง เกศนีย์ คงสมบูรณ์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส สำนักงานสาธารณสุขอำเภอมวกเหล็ก กล่าวว่า ตนและทีมงานทำการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยทำงานร่วมกันทั้งระดับอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล อาสาสมัครสาธารณสุข พยาบาลวิชาชีพ และวิทยุชุมชน
“ปัจจัยความสำเร็จคือการเกาะติดความเข้าใจปัญหาเชื้อดื้อยาว่าร้ายแรงอย่างไร โดยในส่วนสาธารณสุขอำเภอมวกเหล็กมีนโยบายว่า โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล โดยเฉพาะใน 3 โรคพื้นๆ อย่างไข้หวัด ท้องเสีย และแผลสะอาด จะไม่มีการจ่ายยาปฏิชีวนะ” เกศนีย์ อธิบาย
หากเมื่อปัญหาเชื้อดื้อยากำลังเป็นภัยคุกคามทั้งในระดับประเทศและระดับโลก แม้การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่จะมีความสำคัญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยเองจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก โดยมีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติเป็นฝ่ายนโยบาย ทำการถ่ายทอดจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่ง ภญ.นิธิมา อธิบายเพิ่มเติมว่า
“เรามีการดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 ถือเป็นฐานสำคัญที่ช่วยสร้างกระแสและความเข้าใจปัญหาเชื้อดื้อยา แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติกับมติสมัชชาแห่งชาติ เราทำไปร่วมกันในเรื่องการสร้างความตระหนักและให้ความรู้กับประชาชน มีการเฝ้าระวังการจ่ายยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมายที่ อย. ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ยากลุ่มรักษาวัณโรค (Antituberculous drugs) ชนิดรับประทานและชนิดฉีดที่ใช้สำหรับมนุษย์ ตอนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นยาควบคุมพิเศษหมดแล้ว ต้องเป็นแพทย์จ่ายเท่านั้น นอกจากในคนแล้ว ยังมีการดำเนินการในยาของสัตว์ด้วย ต้องมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์ จะซื้อใช้เองไม่ได้”
อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถมองปัญหาเชื้อดื้อยาโดยแยกขาดจากปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลได้ เชื่อหรือไม่ว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยเติบโตประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่โตเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปีเท่านั้น มูลค่าการบริโภคยาของไทยจึงสูงถึงร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ ทั้งยังเกิดสถานการณ์ยาเหลือใช้ เกิดการครอบครองยาเกินความจำเป็น คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อคน
เหตุนี้ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. 2562 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะฯ จึงมีฉันทมติให้การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community-centered system management for becoming a Rational Drug Use country) เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ด้วยสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ-วิชาชีพ ภาคเอกชน ประชาสังคม และภาคประชาชนในการออกแบบระบบสุขภาพชุมชน มีระบบการเฝ้าระวัง เตือนภัย สร้างความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และมีความสามารถในการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วย
ทั้งยังต้องมีระบบสร้างความปลอดภัยในการใช้ยา ลดการรักษาและใช้ยาโดยไม่จำเป็นในระบบส่งต่อระหว่างสถานบริการสุขภาพ โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยทั้งการไปรับการรักษาที่ภาครัฐและเอกชน รวมถึงการสร้างตราสัญลักษณ์เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการได้รับยาและการรักษาอย่างสมเหตุผล มีกลไกกำกับดูแล และบุคลากรในหน่วยบริการแต่ละระดับต้องมีความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
หากประสบความสำเร็จ ไม่เพียงจะลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนก็จะดีขึ้น ปัญหาเชื้อดื้อยาก็จะบรรเทาเบาบางลง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ