เรียกร้องสหภาพยุโรปให้กำหนดสิทธิแรงงาน เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการเจรจาการค้ากับไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 1 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 6219 ครั้ง

เรียกร้องสหภาพยุโรปให้กำหนดสิทธิแรงงาน เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการเจรจาการค้ากับไทย

กลุ่มสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงานและบริษัทต่าง ๆ เรียกร้องสหภาพยุโรปให้กำหนดสิทธิแรงงาน เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการเจรจาการค้ากับประเทศไทยอีกครั้ง | ที่มาภาพประกอบ: ILO Asia-Pacific

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 กลุ่มองค์กร 45 องค์กรซึ่งประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน บริษัทเอกชนและโครงการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ร่วมกันส่งแถลงการณ์ร่วมถึงมิสเตอร์วัลดิส โดมโบรฟสกิส (Valdis Dombrovkis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องให้สหภาพยุโรปกำหนดให้มีการปฏิรูปแรงงานในประเทศไทยในฐานะเงื่อนไขเบื้องต้นในการเริ่มต้นเจรจาการค้ากับรัฐบาลไทยอีกครั้ง

การเจรจาการค้าระหว่างสหภาพยุโรป - ประเทศไทยเริ่มขึ้นในปี 2556 แต่ถูกระงับไปจากการรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 ซึ่งการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอดีตผู้นำรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหลังจากนั้น สหภาพยุโรปพิจารณาว่า เป็นการสิ้นสุดของรัฐบาลทหารและเป็นโอกาสการเริ่มต้นเจรจาการค้ากับรัฐบาลไทยอีกครั้ง ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 สหภาพยุโรปและรัฐบาลไทยได้เตรียมการสำหรับโอกาสในการเจรจาการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป-ไทยครั้งใหม่ ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ให้คำมั่นที่จะให้การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจหลักของนโยบายการค้า หากเหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติในกรุงเทพ ในเดือนกันยายนและ ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา นำไปสู่ความกังวลหลายประการซึ่งสหภาพยุโรปจะต้องนำขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง

ผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ได้ย้ำเน้นว่า กฎหมายแรงงานที่อ่อนแอของไทยขาดมาตรฐานสากลอย่างยิ่ง อีกทั้งที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยังมีข้อจำกัดในการป้องกันและต่อต้านการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างมาก เช่น การบังคับแรงงาน การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและการละเมิดเสรีภาพในการสมาคม ความล้มเหลวดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงร้ายแรงสำหรับผู้ซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยซึ่งต้องการปฏิบัติตามความรับผิดชอบในการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของโลก

“บทบัญญัติของกฎหมายที่เลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้ง โดยห้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรองร่วมเนื่องจากพวกเขาไม่มีสัญชาติไทยนั้นถือเป็นระบบศักดินา กฎหมายที่ละเมิดสิทธิไม่ควรมีที่อยู่ที่ยืนในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เช่น ประเทศไทย” ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการเอเชีย องค์การ Human Rights Watch กล่าว “ก่อนจะมีข้อตกลงนั้น สหภาพยุโรปจำเป็นจะต้องช่วยประเทศไทยปฏิรูปภาคแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิแรงงานสากล”

แถลงการณ์ร่วมฉบับนี้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปกำหนดแผนงานที่สามารถบังคับใช้ได้จริงและมีกรอบเวลาชัดเจนเพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามก่อนเริ่มต้นเจรจาการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง และต้องมีการดำเนินการให้กฎหมายในประเทศสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองดังกล่าว

“เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์กรด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลไทยจากการที่ประเทศปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานต่อเสรีภาพในการสมาคม เจรจาต่อรองร่วมและเสรีภาพในการแสดงออกของแรงงาน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาหลายต่อหลายครั้งที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศและดำเนินการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหากยังไม่มีการปฏิรูปในภาคแรงงานใดๆ การเจรจาการค้าก็ไม่ควรเกิดขึ้น” เอสเมอรัลดา โลเปซ (Esmeralda Lopez) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบาย องค์การ Global Labor Justice-International Labour Rights Forum (GLJ-ILRF) กล่าว

“ในการดำเนินการตามหลักการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติในที่ต่างๆ ทั่วโลกนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การเสริมสร้างสิทธิของแรงงานและมาตรฐานที่เหมาะสมในการจ้างงานให้เป็นส่วนสำคัญของข้อตกลงทางการค้า สิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนจะต้องถูกผนึกแน่นในข้อตกลงการค้าเหล่านี้” อีริก ฮอลล์แมน (Erik Hollman) ผู้อำนวยการด้านการควบคุมความเสี่ยง/การรับประกันคุณภาพนานาชาติ บริษัท ALDI Nord หนึ่งในผู้ลงนามแถลงการณ์ร่วมกล่าว


______
แถลงการณ์ร่วมนี้ริเริ่มโดย Seafood Working Group (SWG) โดยความร่วมมือกับ Finnwatch SWG คือเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกระหว่างองค์กรแรงงาน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อยุติการบังคับแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งประสานงานหลักโดย Global Labor Justice – International Labor Rights Forum (GLJ-ILRF)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: