อัพเดทสถานการณ์ยาเสพติด ปีงบฯ 62 ไทยจับคดียาเสพติด 363,769 คดี

ทีมข่าว TCIJ | 1 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 27088 ครั้ง

ปี 2560 ทั่วโลกผู้ใช้ยาเสพติดทั่วโลกประมาณ 271 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรโลก ยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด คือ กัญชา 188 ล้านคน รองลงมาคือ ฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่น 53 ล้านคน แอมเฟตามีน 29 ล้านคน ส่วนสถานการณ์ในไทยปี 2562 พบมีการขายยาเสพติดออนไลน์ควบคู่กับการส่งทางพัสดุไปรษณีย์ - หมู่บ้าน/ชุมชน 3,440 แห่ง ยังมีปัญหายาเสพติดมาก - อายุ 15-24 ปี เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด - 'ยาบ้า' ยังเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาหลัก - ต.ค. 2561 - ก.ย. 2562 จับคดียาเสพติด 363,769 คดี | ที่มาภาพประกอบ: A_Different_Perspective (Pixabay License)

ข้อมูลจาก World Drug Report 2019 โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ประมาณการผู้ติดยาเสพติดทั้งโลกในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) มีผู้ใช้ยาเสพติดทั่วโลกประมาณ 271 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรโลก โดยยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด คือ กัญชา 188 ล้านคน รองลงมาคือ ฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่น 53 ล้านคน กลุ่มแอมเฟตามีน 29 ล้านคน เอ็กซ์ตาซี 21 ล้านคน และโคเคน 18 ล้านคน ยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ในกลุ่มแอมเฟตามีน โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ที่มีการจับกุมมากที่สุด ได้แก่ ทวีปเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปอเมริกาเหนือ ขณะที่การปลูกฝิ่นภาพรวมทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง โดยประเทศอัฟกานิสถาน มีพื้นที่ปลูกฝิ่นในปี ค.ศ. 2018 จำนวน 263,000 เฮกตาร์ ลดลงร้อยละ 20 และประเทศเมียนมา มีพื้นที่ปลูกฝิ่น 37,300 เฮกตาร์ ลดลงร้อยละ 12


ที่มาอินโฟกราฟฟิก: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยังเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญของโลก กลุ่มผู้ผลิตยังสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและไม่จำกัด ถึงแม้ภาพรวมการปลูกฝิ่นในประเทศเมียนมาจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเป็นพื้นที่แหล่งผลิตหลักในการผลิตฝิ่นและเฮโรอีนออกสู่ตลาดโลก ส่วนการผลิตยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเกิดภาวะการขยายตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2015-2018) โดยเฉพาะการผลิตเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้าและไอซ์)

จากรายงานของ UNODC พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตลาดเมทแอมเฟตามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปี ค.ศ.2018 มีการจับกุมและตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนได้สูงถึง 120 ตัน จากสถานการณ์การผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศนอกภูมิภาคต่างได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวและมีการจับกุมเพิ่มสูงขึ้น

สถานการณ์ยาเสพติดในไทยปี 2562

ข้อมูลจาก รายงานผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ระบุว่าปี 2562 ประเทศไทย ยังคงมีสถานะเป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดที่มาจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงผ่านของยาเสพติดที่ส่งไปในภูมิภาคต่าง ๆ โดยใช้เส้นทางทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งสถานการณ์การลักลอบนำเข้ายังคงรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือยังเป็นพื้นที่หลักของการนำเข้า ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก มีการลักลอบนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และปริมาณ อีกทั้งยังพบการลักลอบนำเข้าโคเคนของกลุ่มแอฟริกันตะวันตก ผ่านทางท่าอากาศยานนานาชาติต่าง ๆ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ฯลฯ) ซึ่งสั่งการและจ้างวานคนลำเลียงชาวแอฟริกา อเมริกาใต้และเอเชีย โดยเฉพาะหญิงไทยให้ลำเลียงแทน นักค้าบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปลงที่ท่าอากาศยานนานาชาติของประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น สนามบินนานาชาติหลวงพระบางท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต สปป.ลาว ก่อนที่จะลักลอบลำเลียงเข้าไทยทางชายแดนทางบก

ในรายงานผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2562 ป.ป.ส. ได้ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติดไว้ดังนี้

  • พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำยังคงเป็นแหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญ และมีผลโดยตรงต่อสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทย
  • ชายแดนภาคเหนือยังเป็นพื้นที่หลักในการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ในขณะที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก มีการลักลอบนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และปริมาณ
  • ขบวนการค้ายาเสพติดใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำการค้าและการทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น
  • เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มหลักที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

พบการขายยาเสพติดออนไลน์ควบคู่กับการส่งทางพัสดุไปรษณีย์


กลยุทธ์ของผู้ค้ายาเสพติดยุคใหม่ คือการขายยาเสพติดออนไลน์ควบคู่กับการส่งยาเสพติดทางพัสดุไปรษณีย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการตรวจสถานที่รับส่งพัสดุเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ยาเสพติดที่มีการลักลอบนำเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ประกอบกับราคายาเสพติดมีแนวโน้มลดลงในทุกระดับทั้งขายส่งและขายปลีก ส่งผลให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย รวมทั้งการขยายตัวของการค้า ยาเสพติดออนไลน์ควบคู่กับการส่งยาเสพติดทางพัสดุไปรษณีย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปัญหาการค้ายาเสพติดรายย่อยและการแพร่ระบาดยาเสพติดขยายวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

หมู่บ้าน/ชุมชน 3,440 แห่ง ยังมีปัญหายาเสพติดมาก

การแพร่ระบาดของยาเสพติด พบว่ามิติพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด จากการประเมินสถานะหมู่บ้าน/ชุมชนของกระทรวง มหาดไทย ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. สำรวจหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 82,127 แห่ง พบว่าร้อยละ 30 ยังมีปัญหายาเสพติด โดยหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 3,440 แห่ง ยังมีปัญหายาเสพติดมาก

อายุ 15-24 ปี เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด

กลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี โดยเป็นผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ร้อยละ 38 เป็นผู้กระทำผิดคดีเสพยาเสพติด ร้อยละ 35 และข้อมูลจากการประมาณการของเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด ในประชากรกลุ่มเสี่ยงอายุ 12-65 ปี จำนวน 50 กว่าล้านคนทั่วประเทศ พบว่าเป็นกลุ่มผู้เคยใช้สารเสพติดใน 1 ปี ประมาณ 1.96 ล้านคนเป็นกลุ่มผู้เคยใช้สารเสพติดใน 1 เดือน ประมาณ 1.13 ล้านคน และเป็นกลุ่มผู้ติด (ใช้สารเสพติด 20 วัน ใน 30 วัน) ประมาณ 4.5 แสนคน

'ยาบ้า' ยังเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาหลัก

ยาเสพติดที่เป็นปัญหาหลักคือยาบ้า มีผู้ต้องหาถูกจับกุมในคดียาบ้า ร้อยละ 69 และเป็นผู้เข้ารับการบำบัดรักษา ยาบ้า ร้อยละ 79 และยาเสพติดที่ต้องมีการเฝ้าระวัง ได้แก่ ไอซ์ เฮโรอีน คีตามีน และเอ็กซ์ตาซี ที่พบแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

ต.ค. 2561 - ก.ย. 2562 จับคดียาเสพติด 363,769 คดี


ที่มาอินโฟกราฟฟิก: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ข้อมูลจาก ป.ป.ส. ระบุว่าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษายาเสพติด ปี 2562 เพื่อการปราบปรามยาเสพติด มุ่งเน้นการทำลายโครงสร้างการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยการบูรณาการการสืบสวนปราบปรามเครือข่ายนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ นายทุน ผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกราย เครือข่ายข้ามชาติ และผู้ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ ตลอดจนนักค้ารายย่อยในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2561 - 30 ก.ย. 2562 มีผลการดำเนินงานดังนี้

จับกุมคดียาเสพติด 363,769 คดี แบ่งเป็นข้อหาเสพ 177,101 คดี ข้อหาครอบครอง 104,402 คดี 5 ข้อหาสำคัญ (ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง) 81,784 คดี

ผู้ต้องหา 385,771 คน แบ่งเป็นข้อหาเสพ 179,846 คน ข้อหาครอบครอง 109,882 คน 5 ข้อหาสำคัญ (ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครอง) 95,207 คน

ปริมาณของกลางยาเสพติด ยาบ้า 518,896,162 เม็ด ไอซ์ 16,284.52 กิโลกรัม กัญชา 14,342.71 กิโลกรัม เฮโรอีน 941.85 กิโลกรัม คีตามีน 734.82 กิโลกรัม โคเคน 27.90 กิโลกรัม

ดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดจำนวน 1,819 ราย รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 949.60 ล้านบาท

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ปีงบฯ 2562 ใช้งบป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด 5,105 ล้านบาท
อัพเดทสถานการณ์ยาเสพติดโลกและไทยปี 2561

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: