คุยกันหลังหนังจบ: HBO’s WATCHMEN บาดแผลไม่อาจเยียวยาได้ด้วยหน้ากาก

ธนเวศม์ สัญญานุจิต | 2 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 3782 ครั้ง


บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

 

Watchmen เกิดจากนิยายภาพของอลัน มัวร์ และ เดฟ กิบบอนส์ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าฮีโร่สวมหน้ากากบนแผ่นดินอเมริกาในยุคสงครามเย็น เรื่องราวที่นิยายภาพเรื่องนี้เล่า มิใช่ ยอดมนุษย์ผู้ผดุงคุณธรรม หรือผู้มีพลังวิเศษ (ยกเว้นมี 1 ในกลุ่ม Watchmen ที่เป็นยอดมนุษย์ของแท้ ในชื่อ ดร.แมนฮัตตัน) แต่เป็นเรื่องราวของ ‘มนุษย์’ ภายใต้หน้ากาก และทำตัวเป็นศาลเตี้ย

ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต และหลังอเมริกาออกกฎหมายขับไล่ไม่ให้มีกลุ่มฮีโร่สวมหน้ากากอีกต่อไป ก็เกิดการสมคบคิดครั้งใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ อดีตฮีโร่กลุ่ม Watchmen ชื่อ ‘โอซีแมนเดียส’ ได้แอบสร้างเอเลี่ยนปลาหมึกยักษ์พลังจิต แล้วเทเลพอร์ตมันเข้าไปกลางนครนิวยอร์ค เพื่อสังหารหมู่ประชาชนหลายแสนคนในคราเดียว (จากพลังจิตของปลาหมึกยักษ์) ทำให้มนุษยชาติล้มเลิกความคิดแตกแยกทางอุดมการณ์ และคิดไปว่า โลกอยู่ในภัยคุกคามร่วมกันคือภัยต่างดาว ต่างมิติ อเมริกากลายเป็นพันธมิตรกับโซเวียตเพื่อหาทางรับมือภัยเอเลี่ยนปลาหมึกที่ไม่มีจริง สงครามเย็นจบลงด้วยคำโกหกคำโต

หลายสิบปีต่อมา คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวแบบซีรีส์ฉายบน HBO

มันกลับพูดถึงโลกร่วมสมัยอีกแบบหนึ่ง ซึ่งอิงถึงประวัติศาสตร์จริง และอ้างอิงถึง ประวัติศาสตร์บาดแผลของแผ่นดินสหรัฐ คือ การเหยียดผิว (Racism) และ แนวคิดนิยมผิวขาว (White Supremacism) ที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน

 

 

ตลอดเรื่องราว 9 ตอนของซีรีส์ หากถอดประกอบโครงสร้างทั้งหมดออกมาหมดสิ้น ตัวละครอย่าง ‘วิล รีฟส์’ หรือ ‘ฮู้ด จัสติส’ ฮีโร่สวมหน้ากากคนแรกของจักรวาล Watchmen แท้จริงแล้วเป็นคนผิวดำ ที่นอกจากจะสวมหน้ากาก มีเชือกพันรอบคอคล้ายคนจะถูกแขวนคอนั้น ทุกครั้งที่ออกไปปราบอาชญากร เขาจะแต่งรอบดวงตาเป็นคนขาวสวมหน้ากาก เป็นหนึ่งในตัวแทนของความอยุติธรรมที่คนผิวดำถูกกระทำมายาวนานตลอดชีวิตของเขา และใช้เวลานับร้อยปี กว่าจะทวงคืนได้

อาจจะเรียกได้ว่า การเดินทางของตัวละครอย่างวิล คือ story arc ที่พูดถึง ความอยุติธรรมในสังคม

คิดแล้วน่าตลก ฮีโร่สวมหน้ากากคนแรก ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนธรรมดาต่างลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่น เพื่อความยุติธรรมในสังคม กลับถูกกดทับด้วยการเมืองสีผิวมาตลอดเวลา จนรามือจากวงการเป็นเพียงชายชรานั่งรถเข็น คนทั่วไปทั้งอเมริกาก็ไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว ฮู้ด จัสติส เป็นคนดำ วัยเด็กของวิล เขาก็เป็นเพียงผู้รอดชีวิตคนเดียวจากการจลาจลในเมืองทัลซ่า ซึ่งในประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นจริง คือกลุ่มคนผิวขาวก่อจลาจล สังหาร กลุ่มคนดำที่ร่ำรวยในเมืองทัลซ่าจำนวนมากนั่นเอง

ตลอดครึ่งชีวิตจากเด็กจนโต วิล ยังคงเชื่อฝังหัวว่า ขอให้เชื่อในกฎหมาย ดั่งชื่อหนังที่เคยดูวัยเด็ก ที่เห็นผู้พิทักษ์กฎหมายผิวดำผดุงคุณธรรม วิลจึงเป็นตำรวจ แต่ก็ต้องเจอกับความจริงที่ว่า ตำรวจนั้นถูกกัดกินโดยกลุ่มนิยมผิวขาวที่ชื่อ ‘ไซคลอปส์’

แม้จะไม่ได้ใช้ชื่อ KuKluxKlan แต่กลุ่มนิยมผิวขาวใน Watchmen ใช้ชื่อว่า ‘ไซคลอปส์’ และฝังตัวอยู่ตามที่ต่างๆ รวมถึงองค์กรอย่างตำรวจ คอยกดขี่คนดำมาตลอด และในยุคสมัยปัจจุบัน โลกหลังเหตุการณ์ปลาหมึกยักษ์ พวกเขาก็รวมตัวกันในเมืองทัลซ่าในชื่อของ ‘เซเวนธ์ คาวาลรี่’ เป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่เป็นศัตรูกับตำรวจเมืองทัลซ่า เคยก่อเหตุบุกสังหารตำรวจทั่วเมือง จนต้องออกกฎหมายให้ตำรวจสวมหน้ากากเพื่อปิดบังตัวตน และมีหน่วยพิเศษ แต่งกายเป็นฮีโร่สวมหน้ากากออกสืบคดีต่างๆ คล้ายฮีโร่ที่ทำงานให้ตำรวจนั่นเอง

วิล รีฟส์ หลังรามือไปจากการเป็นฮีโร่ ได้กลับมาเป็นพันธมิตรกับ ดร.แมนฮัตตันอีกครั้งอย่างลับๆ และร่วมมือกับ เลดี้ทรู ลูกสาวของ โอซีแมนเดียส เพื่อหาทางทวงแค้นกลุ่มนิยมผิวขาวเซเวนธ์ คาวาลรี่ในทัลซ่า ซึ่งวางแผนจะทำให้ วุฒิสมาชิกคนหนึ่ง มีพลังแบบดร.แมนฮัตตัน พลังแบบพระเจ้า

จะเรียกว่า คนขาวอยากเป็นพระเจ้า ก็คงไม่ผิดนัก และเขาจะใช้พลังเทียบเท่าพระเจ้าในการทำให้โลกนี้มีแต่คนขาว แต่ก็ถูกตลบหลังด้วยแผนของเลดี้ทรู ซึ่งวิลก็ช่วยเหลืออย่างลับๆ แม้จะไม่ได้ลงมือเอง แต่เขาก็ฝาก ‘จดหมาย’ ให้เลดี้ทรู อ่านให้เหล่าผู้นำของเซเวนธ์ คาวาลรี่ฟัง ก่อนจะลงมือสังหารให้หมดสิ้น

เหมือนความฝัน white supremacists ได้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินทัลซ่า แม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่ศักยภาพในการประหัตประหารของฝ่ายนิยมผิวขาวก็ได้หมดสิ้นไปจริงๆ โดยไม่ได้ใช้พลังของกฎหมาย (แต่เป็นพลังของดร.แมนฮัตตัน)

หลังการชำระแค้นจบลง วิลจึงไปนั่งในโรงหนังเก่า ที่เดิม ที่เขาเคยนั่งดูหนังเรื่องโปรดของเขากับพ่อแม่ในวัยเด็ก ก่อนทัลซ่าเกิดจลาจล เขาไปเพื่อดูแลลูกๆ ของ แองเจลา หลานสาวของเขา หนึ่งในตัวละครเอกของซีรีส์ และในการสนทนานั้น วิล จึงรู้ตัวว่า เขาไม่ได้สวมหน้ากากเป็นศาลเตี้ยเพราะความโกรธ แต่ด้วยความกลัว

“เธอเยียวยาแผลด้วยหน้ากากไม่ได้ แองเจลา... แผลต้องเปิดให้โดนลม”

หากในมุมของเนื้อเรื่อง วิลปิดบังตัวเองหลังหน้ากากมาตลอดเวลา กดทับ ปกปิดบาดแผลการกดขี่ทางสีผิวเอาไว้ตลอดมา และด้วยน้ำมือตัวเองที่ทาทับรอบดวงตาด้วย “สีขาว” เขาสวมหน้ากากนั่นแล้วใช้ความรุนแรงระบายความทนทุกข์ แต่บาดแผลในใจไม่เคยหายไป มันไม่เคยถูกเยียวยา เขาออกทวงความยุติธรรมในบั้นปลายชีวิต เพื่อหาทางเปิดแผลนั้นให้กับหลานสาวแองเจลา ผ่านยาความทรงจำที่เธอกินเข้าไปแล้วได้รับสืบทอดความทรงจำอันเจ็บปวดของปู่ของเธอเสมือนสวมร่างเขาในช่วงเวลานั้นที่ถูกความอยุติธรรมทำร้าย

หากฟังแบบอุปมาอุปมัย วิล รีฟส์กำลังบอกเราว่า ประวัติศาสตร์บาดแผล (ของการเหยียดผิว) ไม่อาจรักษาได้ด้วยการปิดบัง (mask) บาดแผลเหล่านั้นต้องถูกเปิดออกมาให้ทุกคนรับรู้ (เปิดให้ถูกลม) แม้จะเจ็บปวด แต่ก็ต้องทำ มิเช่นนั้นเราไม่อาจเยียวยาบาดแผลได้ ไม่ว่ามันจะเป็นบาดแผลทางเชื้อชาติ สีผิว หรือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ใดๆ ก็ตาม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: