ประสบการณ์การเป็นผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในไต้หวัน

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข | 2 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2667 ครั้ง


หลายๆคนนั้นเข้าใจ และมีภาพจำจากข่าวที่ว่าไต้หวันนั้นคือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับไวรัส COVID-19 อย่างทันท่วงที มีการใช้เทคโนโลยี และข้อมูลในการจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่สังคม โดยรัฐมนตรี Audrey Tang จนทำให้การควบคุมโรคระบาด และการรักษาคนไข้เป็นไปได้ด้วยดีตลอด ไม่เคยพลาดจนเป็นเรื่องราวใหญ่โตแบบที่จีน อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกาเลย หลายๆประเทศก็เลยพากันยกย่องไต้หวันให้เป็นมหาอำนาจด้านการสาธารณสุขรายใหม่ของโลก ทว่า สิ่งหนึ่งที่คนมักไม่ค่อยออกมาเล่า หรือไม่ได้บอกผ่านสื่อเกี่ยวกับความจริงอีกด้านหนึ่งของสังคมไต้หวัน ต่อประเด็นไวรัส COVID-19 นั้น คือ ประเด็นเรื่องที่สังคมไต้หวันเองก็มีการเหยียด และปั่นกระแสความเกลียดชังที่มีต่อผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 ไปอย่างต่อเนื่องไม่น้อยหน้าไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสังคมสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี หรือฝรั่งเศสเลย 

โดยผมเองนั้นมีเพื่อนเป็นคนรุ่นลุงชาวไต้หวันอยู่คนหนึ่ง (ขอเรียกเป็นชื่อเล่นๆว่า ‘ลุง Ming’ เพราะเขาอายุอานามปาเข้าไป 50 กว่าปีแล้ว) ซึ่งเพิ่งโทรศัพท์มาเล่าให้ผมฟังเมื่อเดือนที่ผ่านมาหลังสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกเริ่มทยอยคลี่คลายลงนี้เอง ว่า ช่วงก่อนหน้านี้ ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เขาและลูกสาวได้รับการตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อไวรัส COVID-19 มาจากประเทศตุรกี (ก็เลยถูกพาไปกักตัวที่สถานพยาบาลของรัฐบาล) ก่อนจะได้พบกับประสบการณ์ทางสังคมอันเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตที่กระโดดเข้ามาพร้อมกับไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้ชาวบ้านภายในละแวกเกือบทั้งหมด พากันเบือนหน้าหนี ถอยห่างออกจากเขาและครอบครัวกันไปจนหมดด้วยท่าทีรังเกียจ ขนาดที่ไม่เหลือแม้แต่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เรือนเคียงให้เอนเข้าไปหา จนทำให้ลุง Ming และคนในครอบครัวทั้งหมดต้องเกือบกลายไปเป็นคนที่เสียสติกันไปเลยในทีเดียว 

เรื่องมันมีอยู่ว่าลุง Ming และครอบครัวนั้นได้บินออกไปเที่ยวในประเทศตุรกีเมื่อช่วงก่อนหน้านั้น แล้วบังเอิญประจวบเหมาะกับที่สถานการณ์ไวรัส COVID-19 แพร่ระบาดนั้นกำลังลุกลามไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วโลก ทำให้พวกเขาต้องรีบบินกลับไต้หวันอย่างเร่งด่วน บวกกับช่วงขณะนั้นสถานการณ์ด้านโรคระบาดภายในไต้หวันยังคงอยู่ในระยะปลอดภัย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรายวันยังมีไม่เกินเพดาน 40-50 คน ทำให้พวกเขาสามารถผ่าน ต.ม. สนามบินไปได้ไม่ยากนัก แค่กรอกแบบฟอร์มฉบับเล็กๆไม่กี่แผ่นแล้วระบุว่าพวกตนเองไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยใดๆก็สามารถกลับเข้าประเทศ และบ้านพักของตนเองได้อย่างสบายใจ ทว่าประเทศตุรกีในขณะนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากไวรัส COVID-19 ควบคู่ไปกับอิหร่าน ทำให้ฝ่ายสาธารณสุขของไต้หวันได้เรียกตัวพวกเขากลับไปตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความแน่ใจ ก็เลยแจ็คพ็อตแตก ปรากฏขึ้นมาว่าลุง Ming และลูกสาวนั้นมีเชื้อ COVID-19 อยู่ในร่างกายทั้งสองคนเลยถูกกักตัวอยู่ที่สถานพยาบาลของรัฐบาลไต้หวันเป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า

20 วัน เพื่อรอดูอาการ แล้วทำการตรวจสอบรายวันอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยแพทย์อีกครั้งก่อน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆภายในครอบครัวนั้นได้รับสิทธิให้สามารถกักตัวเองอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วันได้ พอทุกคนรักษาโรค และได้รับการยืนยันจากสถานพยาบาลของรัฐว่าปลอดโรคกันครบหมดแล้ว ก็ถึงเวลาที่ทั้งหมดจะได้กลับไปอาศัยอยู่ในบ้านเดิมของตนเองอย่างสบายใจ ก็เกิดเหตุที่ไม่คาดคิดครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เพราะเมื่อลุง Ming และครอบครัวได้เริ่มทยอยกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติที่บ้านตนเองนั้น ไม่กี่วันถัดมา พอชาวบ้าน และเพื่อนบ้านภายในละแวกกลับมีพฤติกรรม ทัศนคติต่อครอบครัวเขาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเพื่อนบ้านที่หลังติดกัน หรือเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ห่างกันออกไปกว่า 5 หลัง ซึ่งเคยมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันมาตลอด ตั้งแต่ที่ลุง Ming สร้างบ้านหลังนั้นขึ้นมาเกือบ 100% ของคนในชุมชน และหมู่บ้านเริ่มที่จะถอยห่างออกจากครอบครัวลุง Ming มากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในทางกายภาพ

และทางความสัมพันธ์ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆ กิจวัตรใดๆเกิดขึ้น ทุกๆบ้านจะเงียบใส่ครอบครัวของลุง Ming ไม่มีการทักทาย ไม่มีการยิ้มให้ ไม่มีการเดินมาพูดคุย ชวนคุย หรือแม้แต่ติดต่อเข้าไปถามไถ่ถึงอาการป่วยของลุง Ming และลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของเขา เรียกได้ว่าทุกๆคนเปลี่ยนไป ประหนึ่งว่าคนเหล่านั้นไม่เคยมีความสัมพันธ์ หรือสายใยใดๆต่อลุง Ming และครอบครัวมาก่อนเลย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ทุกๆบ้านรักใคร่ชอบพอกับลุง Ming มาก ใครเดินผ่านไปผ่านมาที่บ้านลุง Ming ทีไรก็จะแวะเข้ามาสวัสดี ทักทายลุง Ming ตลอดไม่ขาดสาย เวลามีเทศกาลสำคัญๆใดๆก็มักจะมีของมาให้ อย่างปีใหม่จีน หรือวันครอบครัวครั้งต่างๆก็มักจะเข้ามาแสดงความเคารพต่อลุง Ming (หลายๆบ้านในชุมชนดังกล่าวนั้นเป็นเครือญาติของลุง Ming)แต่พอทุกคนรู้ว่าลุง Ming เคยมีประวัติติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ทัศนคติ และพฤติกรรมของพวกเขาก็

เปลี่ยนไป เวลาลุง Ming เดินผ่านบ้าน หรือคนเหล่านั้น พวกที่กำลังคุยๆ หรือยืนสนทนากันอยู่ริมถนน หรือหน้าบ้าน พวกเขาก็จะหรี่เสียงลง หรือไม่ก็พยายามเลี่ยงๆเดินหนีลุง Ming แล้วหลบเข้าบ้านไปซะอย่างนั้น ลุง Ming เล่าว่าที่พวกชาวบ้าน และคนในชุมชน ไม่เว้นแม้แต่คนที่มีสถานะเป็นเครือญาติของเขาปฏิบัติตนต่อเขาและครอบครัวเช่นนั้น เป็นเพราะคนเหล่านั้นมองว่าลุง Ming เป็นพาหะนำเชื้อโรค เป็นตัวไวรัสที่น่ากลัว และมีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะนำเอาไวรัสเหล่านั้นมาเผยแพร่ให้คนในชุมชนได้ทุกโอกาส พวกเขาจึงเลือกที่จะถอยห่างออกจากลุง Ming ไปเสียดื้อๆ เพื่อป้องกันตนเอง และในเวลาเดียวกัน ก็แพร่ข่าวเกี่ยวกับลุง Ming แบบเสียๆหายๆไปให้แก่คนในชุมชนว่าให้ระวังลุง Ming เอาไว้อย่าเข้าไปใกล้ คนในชุมชนนั้นที่ปกติก็เป็นแค่ชาวบ้านไร้การศึกษา ไม่ค่อยได้มีความรู้เท่าทันสถานการณ์บ้านเมืองอยู่แล้ว พอมาเจอเรื่องแบบนี้เป่าหูเข้าก็เลยพลอยเกลียดกลัวลุง Ming ไปโดยอัตโนมัติสถานการณ์ของลุง Ming และครอบครัวก็เลยแย่ลงเรื่อยๆ แค่ระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนที่พวกเขาย้ายกลับมาอยู่บ้านของตัวเองด้วยร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

เหมือนเดิม แต่สุขภาพจิตของพวกเขากลับย่ำแย่ และเลวร้ายลงไปอย่างสวนทางกัน ทีละน้อยๆ คนที่ดูท่าจะรับความเสียหาย (ทางสภาพจิตใจ) หนักสุด เห็นจะเป็นลูกสาวของลุง Ming ที่ชื่อว่า Iris (ขณะนี้อายุประมาณ 20 ต้นๆ) ซึ่งเคยเป็นเหมือนดั่งเด็กสาว หลานสาวคนโปรดของเหล่าผู้หลักผู้ใหญ่ภายในชุมชนคนหนึ่ง ไปไหนมาไหนในชุมชนก็มีแต่คนเรียกหา ทักทาย ยิ้มแย้มให้ เพราะเห็นกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออด แต่ ณ วันนี้กลับไม่มีใครเห็นหัว Iris และไม่มีใครสนใจถามไถ่ถึง Iris อีกเลย ไม่ว่า Iris จะเป็นฝ่ายทักก่อนก็ไม่มีเสียงตอบรับ แต่ละคนก็พากันหลบหน้าหลบตา ทำให้ Iris นั้นอยู่ในสภาวะเครียดมากๆ ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก และเพิ่งเคยเจอสถานการณ์อะไรแบบนี้เป็นครั้งแรก ก็เลยเก็บตัวอยู่ในห้อง ร้องไห้ทุกวัน

ทางลุง Ming บอกว่าอาจจะเป็นซึมเศร้าหน่อยๆด้วย ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรถ้าหากเจอแบบนี้แล้วเด็กอายุน้อยๆอย่าง Iris จะมีอาการซึมเศร้า เพราะก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่า คนที่เคยเป็นคนโปรดมาตลอด ได้รับการรักใคร่ ดูแลจากผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่มาตั้งแต่เด็ก ไปไหนใครๆก็เอ็นดู อยู่ๆแค่กลับมาจากตุรกีได้ไม่กี่วัน สถานการณ์และความสัมพันธ์ที่ตนเองมีต่อผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่มีต่อตนเองดันกลับเปลี่ยนสภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือไปอย่างง่ายดาย เพราะไวรัส COVID-19 มิหนำซ้ำยังมาเจอทัศนคติของชาวบ้านพวกนั้นที่คอยค่อนขอดครอบครัวลุง Ming อยู่ตลอดเวลาด้วยถ้อยคำเสียดสีอย่างรุนแรงอย่างเช่น “รวยซะเปล่า ไม่มีสมองกันสักคน” หรือไม่บางทีก็จะเจอประโยคจิกกัดแบบเจ็บๆอย่างประโยคที่ว่า “พวกคนรวยพวกนี้มักสนแต่ความสุขสบายของตนเอง ปกติทำมาหากินก็เอาเปรียบคนจนกันอยู่แล้ว ทำธุรกิจจนรวยล้นฟ้า พอมามีสถานการณ์แบบนี้พวกคนรวยก็ยังเห็นแก่ตัว ออกไปเที่ยวแล้วเอาไวรัสกลับเข้ามาในบ้านตัวเองอีก” (โดยเหตุการณ์ที่ลุงเขาคิดว่าแย่ที่สุดเห็นจะเป็นเมื่อครั้งที่เพื่อนบ้านกลุ่มหนึ่งเดินผ่านมายังบ้านของลุง Ming ในตอนกลางคืนแล้วตะโกนคำว่า ‘ไวรัส’ เป็นภาษาจีนใส่บ้านของลุง Ming ในช่วงกลางดึกหลังจากที่ทุกคนเข้านอนกันหมดแล้ว)

เป็นใครเจอแบบนี้เข้าไปก็คงจะสะอึกอย่างรุนแรงกันทั้งนั้น ขนาดเมียลุง Ming (ป้า Sandy) เองก็ยังแทบไม่กล้าออกจากบ้านเลย เพราะรับสภาพความจริงไม่ได้ที่เกือบทุกคนภายในชุมชนแสดงท่าทีเกลียดชังตนเองและครอบครัวมากแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คนที่ยังพอจะกล้าพูด กล้าคุยกับคนบ้านลุง Ming ก็มีแต่คุยกันแบบถามคำตอบคำอย่างเย็นชา ไม่ได้มีท่าทีแสดงเยื่อใยใดๆหลงเหลืออยู่ให้เห็น ตอนท้ายๆของการคุยโทรศัพท์นั้นลุง Ming เปรยๆเอาไว้ว่าเขาค่อนข้างเสียใจ และเสียความรู้สึกมากๆกับคนในชุมชน และเพื่อนบ้านเหล่านั้น เนื่องจากเขาเคยมีไมตรีจิต และความหวังดีให้แก่คนพวกนั้นมาตลอดไม่เคยขาดสาย ไปเที่ยวไหนมาลุง Ming ก็มักจะซื้อขนม ซื้อของมาฝากคนในละแวกบ้าน ปีใหม่ก็ซื้อของขวัญแจก มีงานบุญอะไรก็ชวนกันมากินข้าว วันดีคืนดีลุง Ming ไปกินข้าวที่ร้านไหนมาเห็นว่าอร่อยดีก็ซื้อเป็นแพ็คใส่ถุงกลับมาให้เพื่อนบ้านได้ลิ้มลองชิมกันเป็นบุญปาก บุญประสาทสัมผัส ไม่เคยคิดร้ายต่อใคร

แต่ยอมรับว่าครั้งนี้เขาค่อนข้างเสียใจ ที่ต้องเจอกับอะไรแบบนี้ ใจหนึ่งก็อยากโทษตัวเอง แต่อีกใจหนึ่ง ก็ผิดหวังที่ชาวบ้านมีทัศนคติต่อเขาและครอบครัวไปในทิศทางดังกล่าวนี้ ทั้งๆที่หลายคนก็มีเลือดเนื้อเชื้อไข เป็นเครือญาติ ทั้งญาติสายตรง ญาติห่างๆกับลุง Ming ทั้งนั้น บางคนถึงขั้นเป็นพี่น้องท้องเดียวกันด้วยซ้ำ ยังแสดงท่าทีรังเกียจลุง Ming ได้ขนาดนี้ ขนาดตอนนี้ผ่านมาก็ไตรมาสที่ 3 ของปีแล้ว รัฐบาลไต้หวัน ประกาศชัยชนะต่อไวรัส COVID-19 ไปนานแล้ว และกำลังวางแผนกันว่าจะเปิดประเทศให้คนต่างชาติบินเข้ามาในประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ ความสัมพันธ์ของลุง Ming และเพื่อนบ้าน ทั้งบ้านใกล้เรือนเคียง และบ้านที่อยู่ห่างออกไปยังปลายสุดของหมู่บ้าน ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นคืนกลับขึ้นมาเหมือนเมื่อครั้งก่อนยุค COVID-19 เลย 3 เดือนที่แล้วเป็นอย่างไร ในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่เช่นเดิม คือ ไม่มีการติดต่อสื่อสารกัน ไม่มีการพูดคุยอะไรกัน ไม่ไปมาหาสู่กัน และก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างไรส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวปัจจัยเร่งตัวสำคัญที่ทำให้กระแสเกลียดชังต่อครอบครัวของลุง

Ming นั้นค่อนข้างรุนแรงอาจจะด้วยสถานะทางสังคม และสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ลุง Ming มีสูงกว่าคนเหล่านั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทุกคนในหมู่บ้านตามปกติก็ใช้ชีวิตอยู่ใต้เงาบุญ เงาเงินของลุง Ming มีอะไรก็รอรับการเกื้อกูลจากลุง Ming อยู่ตลอด ถึงแม้สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นโซ่ที่คอยคล้องความสัมพันธ์ระหว่างลุง Ming และชุมชนเข้าด้วยกัน แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่าคนเหล่านี้จะไม่มีความอิจฉาริษยาอะไรลุง Ming อยู่เลย จะสังเกตได้จากประเด็นคำพูดที่ส่อออกมา อย่างการพูดเสียดสีเรื่องคนรวย ความรวยความจน และการสร้างปัญหาเอาเชื้อไวรัสมาติดซะส่วนใหญ่ จึงเป็นไปได้สูงว่าประเด็นเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจน่าจะมีผลกับท่าทีที่ออกมาเหล่านี้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะเท่าที่ฟังลุง Ming เล่ามา ประโยคแนวนี้มีหลุดมาจากปากชาวบ้านในละแวกดังกล่าวค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่แค่ที่ถูกกล่าวถึงในข้างต้นเพียงเท่านั้นแถมยังมีประโยคประเภทตัดพ้อทำนองว่าคนรวยนั้นชอบทำอะไรไม่ค่อยระวังตัว

เพราะเห็นว่าตัวเองล้มบนฟูกได้ เลยไม่ค่อยสนใจ ไม่เห็นหัว เห็นประโยชน์ส่วนรวม หรือทำอะไรที่นึกถึงส่วนรวมเท่าที่ควรนัก แถมเวลาป่วยก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากมายอะไร อยากเข้าโรงพยาบาลก็เข้าได้ตลอด แต่สำหรับคนจนในไต้หวันนั้น ถึงแม้จะมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สามารถรับบริการที่มีคุณภาพ รวดเร็วได้ไม่น้อยไปกว่าคนที่รวยกว่า แต่ถ้าเกิดป่วยขึ้นมา คนจนที่หาเช้ากินค่ำ ทำงานเป็นแรงงานกินค่าจ้าง กินเงินรายได้รายวันก็จะสูญเสียรายได้ของตนเองไป เพราะจะต้องโดนกักตัว และไม่สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติ คำพูดประเภท ‘ป่วยเมื่อไรก็แค่เดินไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ให้ดูคนจนสิ เขาไม่มีตาข่าย หรือฟูกนุ่มๆเอาไว้รองรับเวลาล้มหรอกนะ’ จึงมักออกมาค่อนแคะค่อนขอดลุง Ming อยู่บ่อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็มีชุดเหตุผลที่ฟังขึ้นได้อยู่ ถ้าหากมองจากในทัศนะของคนที่จนกว่า อยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ทางเลือกน้อยกว่าเนื่องจากพวกเขาล้มไม่ได้ และไม่สามารถหยุดงานได้ ต้อง

ออกไปทำงาน ไม่ทำงานก็ไม่มีเงินมาซื้อข้าวกินก็เลยมีการผลิตสร้างแนวคิดลักษณะนี้ให้หลุดออกมา เรื่องนี้จึงมีคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดผ่านตัวคำบอกเล่าของลุง Ming ก็คือ เหตุผลที่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ และปากท้องนั้นค่อนข้างมีผลอย่างมาก ต่อทัศนคติของประชาชนที่มีต่อผู้ป่วยไวรัส COVID-19 เพราะมันจะทำให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในจุดที่ต้องสูญเสียรายได้ ยิ่งโดยเฉพาะหากเขาเป็นพวกที่มีสถานะยากจน ไม่มีทรัพย์สิน หรือสินทรัพย์สำรองเอาไว้ใช้ในยามวิกฤติ ก็เลยเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาต้องมีท่าที ทัศนคติแบบลบๆ ออกไปหาผู้ที่ติดเชื้อฯ เรื่องเล่าของลุง Ming นี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญตัวหนึ่ง ว่า เชื้อชาติ ชาติพันธุ์นั้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้คนได้รับการปฏิบัติแบบแย่ๆจากคนในสังคมเสมอไป เพราะเรื่องราวของลุง Ming และครอบครัวไม่ได้เกิดขึ้นภายในสถานที่ห่างไกล อย่างในต่างประเทศ

แต่กลับเกิดขึ้นภายในละแวกบ้าน ละแวกชุมชน และภายในหมู่เครือญาติของเขาเอง ขนาดป้า Sandy ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อแบบลุง Ming หรือน้อง Iris ก็ยังโดนลูกหลง โดนคลื่นความเกลียดชังทำร้ายไปด้วยเป็นลูกโซ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความกลัวที่จะตกงาน หรือความหวาดผวาจากความรู้สึกไม่ปลอดภัยเวลาที่ภัยกำลังจะคืบคลานเข้ามาถึงปากประตูหน้าบ้านตัวเอง (sense of insecurity) อย่างเรื่องเงินนั้นมีผลค่อนข้างมากในทางตรงต่อตัวทัศนคติ และเป็นองค์ประกอบที่ไม่ควรละเลยไปเลย หากจะพิจารณาปรากฏการณ์การเหยียด หรือท่าทีรังเกียจของผู้คนภายในชุมชนที่มีต่อผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ในสถานการณ์ที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดเช่นนี้ เพราะแค่ความกลัวว่าตนเองหรือคนที่ตนเองรักจะต้องเจอกับการตกงาน หรือแค่ความกลัวว่าจะติดโรคนี้ก็ทำให้คนในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดแทบจะตัดสัมพันธ์ออกไปจากลุง Ming และครอบครัวอย่างไม่ใยดีแล้ว

 

หมายเหตุ ชื่อของบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในบทความนี้ได้รับการปรับแต่งจากชื่อของบุคคลจริงๆ เพื่อปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ที่มาภาพ: Teletrader

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: