ยึดคืนสวนปาล์มดัน 'กระบี่สมาร์ทซิตี้โมเดล'

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2590 ครั้ง

ยึดคืนสวนปาล์มดัน 'กระบี่สมาร์ทซิตี้โมเดล'

รมช.เกษตรฯ เป็นประธานโค่นต้นปาล์ม เคลียร์พื้นที่ ส.ป.ก. ยึดคืนที่ อ.เมืองกระบี่ เตรียมทำ 'กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม' พัฒนาระบบสาธารณูปโภค รองรับเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าทำกิน รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและจัดหาตลาดรองรับอย่างครบวงจร | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการโค่นสับและล้มต้นปาล์มน้ำมันและปรับพื้นที่ในพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 แปลงหมายเลข 601 ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยกล่าวว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีการถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายและยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ประมาณ 973 ไร่ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ยึดคืนจากบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) โดยคณะกรรมการจัดที่ดินให้ชุมชุนของจังหวัด (คปจ.กระบี่) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดจะพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรและผู้ยากไร้เข้าทำกินตามนโยบายรัฐบาล

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้ เมื่อ ส.ป.ก.ประกาศเป็นพื้นที่เป้าหมายยึดคืนแล้ว บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมีหนังสือแสดงเจตนาส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนให้แก่ ส.ป.ก. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 จากนั้นขนย้ายทรัพย์สิน รวมทั้งบริวารของบริษัทออกไป จึงจัดสรรงบประมาณในการปรับพื้นที่ล้มและสับต้นปาล์มน้ำมัน เพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณาดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล แต่บริเวณใกล้เคียงยังมีผู้บุกรุกครอบครองอีก 8 กลุ่ม มวลชนประมาณกว่า 900 ราย รวมพื้นที่ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ 682-3-51 ไร่ ปัจจุบันประกาศกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 แปลงหมายเลข 602 และอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเพื่อยึดคืนพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว

สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในแนวคิด “กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” แบ่งพื้นที่ดังนี้ ส่วนที่อยู่อาศัยจะจัดที่ดินให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 2 งาน โดยมีที่อยู่อาศัยและแปลงเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ส่วนแปลงเกษตรกรรมซึ่งจะเป็นแปลงใหญ่จะมีทั้งแปลงผลิตพืช ปศุสัตว์ และประมง รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นแหล่งพลังงานที่ได้จากธรรมชาติรอบตัวเราสามารถสร้างทดแทนได้ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล เป็นต้น ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมส่วนพื้นที่กลางจะจัดตั้งที่ทำการสหกรณ์และศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอาชีพ พร้อมทั้งจัดสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา ร้านค้าสหกรณ์ ตลาดชุมชน ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม แปลงเรียนรู้ สาธิตการเกษตรเชิงท่องเที่ยวและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจน ให้มีศูนย์กีฬา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการด้านสุขภาพ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่น การบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ การบริหารจัดการขยะ/ของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น

“ส.ป.ก.มุ่งหวังให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัย การผลิต รวมถึงการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เมื่อมีที่ดินแล้วต้องสามารถทำกินบนผืนดิน ส.ป.ก. ได้อย่างยั่งยืน” นายวิณะโรจน์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: