เปิดโครงการ 'ช่างผมอุ่นใจ' ช่วยร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็กทั่วประเทศ

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2876 ครั้ง

เปิดโครงการ 'ช่างผมอุ่นใจ' ช่วยร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็กทั่วประเทศ

พม. จับมือ UNDP และ 6 สมาคมช่างเสริมสวย เปิดโครงการ 'ช่างผมอุ่นใจ' ช่วยร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็ก (จำนวน 1-3 เก้าอี้) เรียนรู้การป้องกัน การใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย และรักษาสุขอนามัย รวมถึงเทคนิคการทำผม รับมอบประกาศนียบัตรและถุงอุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ร้านละ 1 ชุด/คน อุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ประกอบด้วย 1.เครื่องอบฆ่าเชื้อ UV Sterilizer อุปกรณ์ทำผม 2.เครื่องวัดอุณหภูมิ 3.หน้ากากผ้า 4.เจลแอลกอฮอล์ 5.หน้ากาก face shield 6.ถุงมือ และ 7.ถุงผ้าช่างผมอุ่นใจ สมัครได้ถึงวันที่ 2 ส.ค. 2563 | ที่มาภาพประกอบ: Mark Pegrum (CC BY 2.0)

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการแถลงข่าว “โครงการช่างผมอุ่นใจ” โดยมี นายเรอโน เมเเยร์ ผู้เเทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme หรือ UNDP) และ ดร.ณรงค์ ศรีเกรียงทอง ประธานสมาพันธ์เครือข่ายช่างผมเสริมสวยและความงามนานาชาติ ร่วมแถลงข่าว ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายจุติ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนได้รับความเดือดร้อนในวงกว้าง รวมทั้งสถานประกอบการจำนวนมากที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดกิจการลง และเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลง เราทุกคนยังคงต้องระมัดระวังพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมแบบใหม่หรือที่เรียกว่าพฤติกรรมในยุค New Normal คือ ปรากฏการณ์ “ความปรกติใหม่ ฐานวิถีชีวิตใหม่” ซึ่งทุกคนในสังคมจำเป็นต้องปรับตัว สำหรับภาคธุรกิจนั้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคจะส่งผลกระทบต่ออาชีพแบบดั้งเดิม จนกระทั่งทำให้ถูกลดทอน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในที่สุด ซึ่งธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คือ กิจการร้านเสริมสวย ที่ต้องปรับรูปแบบบริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมถึงการที่ต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบกิจการเพิ่มมากขึ้น

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าว จึงได้ดำเนิน “โครงการช่างผมอุ่นใจ” ร่วมกับ UNDP และสมาคมช่างผมเสริมสวย 6 สมาคม เพื่อช่วยเหลือเจ้าของร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็ก (จำนวน 1-3 เก้าอี้) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงที่สุด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 2563) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,000 ร้าน ให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างปลอดภัยตามมาตรการผ่อนปรนของรัฐบาล โดยปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยของร้านบาร์เบอร์และซาลอน

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ขอขอบคุณ UNDP และสมาคมช่างผมเสริมสวยทั้ง 6 สมาคม สำหรับ “โครงการช่างผมอุ่นใจ” ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของกระทรวง พม. ที่ขับเคลื่อนโครงการ “พม. เราไม่ทิ้งกัน” และด้วยความร่วมมือครั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการร้านเสริมสวยตัดผมขนาดเล็ก ยังจะได้รับโอกาสอบรมหลักสูตรที่จำเป็นในวิถีความปรกติใหม่สำหรับร้านเสริมสวย โดยวิทยากรจากสมาคมช่างผมเสริมสวย 6 สมาคม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านช่างผมที่มีชื่อเสียง และจะได้รับ “ถุงช่างผมอุ่นใจ” สนับสนุนโดย UNDP นับว่าเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งนี้ กระทรวง พม. ขอยืนยันว่าความช่วยเหลือนี้จะส่งไปถึงมือของประชาชนอย่างแน่นอน

นายเรอโน เมเเยร์ กล่าวว่า กิจการร้านเสริมสวยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และมาตรการปิดเมือง เนื่องจากร้านบาร์เบอร์และซาลอนต้องปิดทั้งหมด โดยเฉพาะร้านขนาดเล็กที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ภายหลังจากมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง ในการนี้ UNDP จึงได้ร่วมกับกระทรวง พม. และสมาคม ช่างผมและเสริมสวยมืออาชีพ ขับเคลื่อน “โครงการช่างผมอุ่นใจ” เพื่อช่วยเหลือช่างบาร์เบอร์และช่างซาลอนในร้านขนาดเล็กให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นในการรักษามาตรฐานสูงสุดด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย ทั้งสำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการร้าน

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “โครงการช่างผมอุ่นใจ” มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของร้านบาร์เบอร์และร้านซาลอนขนาดเล็ก (จำนวน 1-3 เก้าอี้) ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครผ่านช่องทาง การกรอกใบสมัครออนไลน์ หรือ แฟนเพจ facebook กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 2 ส.ค. 2563 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-6425055-6 โดยผู้สมัครทั้ง 1,000 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เข้าร่วม 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) เรียนรู้การป้องกัน การใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัย และรักษาสุขอนามัย รวมถึงเทคนิคการทำผม 2) ทำบททดสอบในแต่ละบทเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และ 3) รับมอบประกาศนียบัตรและถุงอุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ร้านละ 1 ชุด/คน (อุปกรณ์ช่างผมอุ่นใจ ประกอบด้วย 1) เครื่องอบฆ่าเชื้อ UV Sterilizer อุปกรณ์ทำผม 2) เครื่องวัดอุณหภูมิ 3) หน้ากากผ้า 4) เจลแอลกอฮอล์ 5) หน้ากาก face shield 6) ถุงมือ และ 7) ถุงผ้าช่างผมอุ่นใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ดังนี้ รุ่นที่ 1 รับสมัครจำนวน 100 คน/ร้านค้า (จากทั่วประเทศ) ผู้สมัครจะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างผมอุ่นใจกับอาจารย์ด้านช่างผมและเสริมสวย ในวันที่ 13 ส.ค. 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะมีพิธีมอบเกียรติบัตร พร้อมถุงช่างผมอุ่นใจ รุ่นที่ 2 รับสมัครจำนวน 680 คน/ร้าน (จากกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา และสมุทรปราการ) ผู้สมัครต้องเรียนรู้และทดสอบด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์ รุ่นที่ 3 รับสมัครจำนวน 220 คน/ร้าน (จากทุกจังหวัด ยกเว้น 5 จังหวัดในกลุ่มที่ 2) ผู้สมัครต้องเรียนรู้และทดสอบ ด้วยตนเองผ่านทางออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: