เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา
2 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา)
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพกำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ แก่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ….
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 รวม 4 ฉบับ
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาตสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธและการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. ....
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ - สังคม |
10. เรื่อง (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ
11. เรื่อง ข้อเสนอในการปรับปรุงการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัลและแนวปฏิบัติในการรับ – ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วน ราชการที่เป็นนิติบุคคล
12. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
13. เรื่อง ร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …)
14. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563
15. เรื่อง การเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
16. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2563 เรื่อง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาค ตะวันออก
17. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 3
18. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
19. เรื่อง รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563
20. เรื่อง การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี
ต่างประเทศ |
21. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 (The 23rd GMS Ministerial Conference) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
22. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วย
โรคโควิด-19
แต่งตั้ง |
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
25. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
27. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
กฎหมาย |
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
ขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถานศึกษาที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขอให้ กค. พิจารณาขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษาตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 681) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ออกไปอีก เพื่อให้เป็นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียขอให้พิจารณายกเว้นภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถาบันฯ โดยให้อยู่ในรายชื่อเดียวกับสถาบันการศึกษาอื่นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตราภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ National e-Payment จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาดังกล่าวซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้วตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 681) พ.ศ. 2562 และ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 691) พ.ศ. 2563 เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยรวบรวมมาตรการภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558 (พ.ศ. 2556), ฉบับที่ 616 (พ.ศ. 2559), ฉบับที่ 681 (พ.ศ. 2562), ฉบับที่ 654 (พ.ศ. 2561) และ ฉบับที่ 691 (พ.ศ. 2563)) ทั้งนี้ ภายใต้หลักการและแนวทางการปรับปรุงกฎหมาย ดังนี้
2.1 กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้สองเท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายสำหรับการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
2.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายในการจัดสร้างและบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชน หรือของราชการและรายจ่ายสำหรับการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาอื่น ๆ แล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 (ตรี) แห่งประมวลรัษฎากร
2.3 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.4 การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
3. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่าจะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีลดลง จำนวน 440 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ มีดังนี้
3.1 จูงใจภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตั้งแต่ด้านหลักสูตร ครูผู้สอน อุปกรณ์การเรียนการสอน และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพแบบครบวงจร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐอย่างต่อเนื่อง
3.2 ดำเนินมาตรการภาษีด้วยความต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นรากฐานการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ส่งผลต่อความยั่งยืนทางการศึกษาของประชาชน
3.3 ยกระดับสถาบันการศึกษาเฉพาะด้านเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญสู่ความเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้ในระดับโลก
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ แก่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ แก่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงาน ก.พ.ร. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ อว. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
อว. เสนอว่า โดยที่มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 บัญญัติให้การจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่มได้ ต้องกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการจัดกลุ่ม ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศให้สถาบันอุดมศึกษากลุ่มใดมีพันธกิจหลักที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษากลุ่มนั้นย่อมได้รับความสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ การจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม รวมทั้งการกำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาและการให้ความสนับสนุนเป็นพิเศษให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว อว. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และมาตรการส่งเสริมดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษามีความก้าวหน้าบนพื้นฐานของการสร้างศักยภาพต่าง ๆ ที่จำเป็น และมีมาตรฐานระดับสูงเป็นสากลและอยู่ในระดับชั้นนำ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญในทุก ๆ ด้าน
การจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มมีการเน้นยุทธศาสตร์ที่จะมุ่งไปแตกต่างกันอันจะทำให้สถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการจัดเข้ากลุ่มแต่ละกลุ่มที่มีความโดดเด่นเฉพาะทางตามจุดมุ่งหมาย พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และผลการดำเนินการที่ผ่านมาของแต่ละสถาบัน ส่งผลให้การส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และนำมาซึ่งประสิทธิผลในการสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษาของประเทศชาติ ทั้งนี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการกำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาให้มีพันธกิจหลักในการศึกษาอบรมทักษะที่มุ่งยุทธศาสตร์ และการให้ความสนับสนุนเป็นพิเศษ ดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า “ประเภทสถาบันอุดมศึกษา” “กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา” “ภารกิจ” “พันธกิจ” และ “พันธกิจหลัก”
2. กำหนดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และให้รัฐมนตรีประกาศกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดไว้เพื่อจัดสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มที่ประกาศนั้น โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมาย พันธกิจ ยุทธศาสตร์ ศักยภาพ และผลการดำเนินการที่ผ่านมาของสถาบันอุดมศึกษาที่จัดเข้าไว้ในแต่ละกลุ่มประกอบการพิจารณาในการกำหนดกลุ่มให้แก่สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐมนตรีจะประกาศทุกกลุ่มไปพร้อมกัน หรือจะประกาศแต่เพียงบางกลุ่มก่อนก็ได้
3. กำหนดหน้าที่และอำนาจในการดำเนินภารกิจ รวมทั้งพันธกิจหลักของแต่ละกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา
4. กำหนดให้คณะกรรมการอุดมศึกษาประกาศกำหนดตัววัดศักยภาพองค์กรและตัววัดผลการดำเนินงานตามแต่ละกลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้สถาบันอุดมศึกษาได้รับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการศึกษาและประเมินศักยภาพการดำเนินงาน
5. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงจัดทำสรุปข้อมูลและจัดทำแผนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาเสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อพิจารณาจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาจัดกลุ่มให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานปลัดกระทรวงได้เสนอข้อมูล และให้สำนักงานปลัดกระทรวงส่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษาไปยังสถาบันอุดมศึกษา หากสถาบันอุดมศึกษาโดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ให้มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับผลการพิจารณา การพิจารณาของคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็นที่สุด
6. ในกรณีที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดกลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลายกลุ่มให้มีพันธกิจหลักในการให้การศึกษาอบรมทักษะอาชีวะชั้นสูงเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้กลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์กลุ่มนั้นได้รับความสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
7. กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินนโยบายและมาตรฐานที่เหมาะสมตามศักยภาพของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และกำหนดให้การประเมินคุณภาพและกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา โดยสอดคล้องกับกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาแต่ละกลุ่ม
8. ให้รัฐมนตรีดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และการกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และการจัดสรรงบประมาณ แก่กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ทุก ๆ 5 ปี
9. การจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษานั้น ให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณตามกลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์และให้ความสนับสนุนเป็นพิเศษอื่นให้แก่สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ให้การศึกษาอบรมทักษะอาชีวะชั้นสูงและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่สามารถดำเนินงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยข้อเสนอของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และต้องดำเนินการโดยสอดคล้องกับผลการดำเนินงานและผลการประเมินตามกลุ่มที่มุ่งยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลขณะนั้นด้วย
10. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานและประเมินความสำเร็จของงาน ตามกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และรายงานให้รัฐมนตรีทราบผ่านคณะกรรมการการอุดมศึกษาทุกปีงบประมาณ
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 รวม 4 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของสถานพยาบาลและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
1.1 กำหนดให้แก้ไขบทนิยามคำว่า “โรงพยาบาลทั่วไป” “โรงพยาบาลเฉพาะประเภทผู้ป่วย” และเพิ่มบทนิยามคำว่า “โรงพยาบาลผู้สูงอายุ” “โรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ”
1.2 กำหนดลักษณะโดยทั่วไปของโรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ และกำหนดหน่วยบริการและระบบสนับสนุนการให้บริการของโรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ รวมทั้งกำหนดบทเฉพาะกาลรองรับโรงพยาบาลเฉพาะประเภทผู้ป่วยที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพตามลักษณะเฉพาะประเภทผู้สูงอายุ ซึ่งดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและจำนวนเครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์หรือยานพาหนะที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
กำหนดให้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ หรือยานพาหนะเฉพาะที่จำเป็นแต่ละหน่วยบริการและระบบสนับสนุนการให้บริการในจำนวนเหมาะสม และเพียงพอของโรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดชื่อสถานพยาบาล และการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น และสิทธิของผู้ป่วย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
3.1 กำหนดให้การแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาลประเภทโรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ ให้ใช้ตัวอักษรสีเขียว
3.2 กำหนดให้โรงพยาบาลเฉพาะประเภทผู้ป่วยที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพตามลักษณะเฉพาะประเภทผู้สูงอายุซึ่งได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ในวันก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการจัดให้มีชื่อสถานพยาบาล และการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น และสิทธิของผู้ป่วยตามกฎกระทรวงกำหนดชื่อสถานพยาบาล และการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น และสิทธิของผู้ป่วย พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพและจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
กำหนดให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานในโรงพยาบาลดังกล่าว โดยมีจำนวนขั้นต่ำตามจำนวนเตียงที่ขออนุญาตเปิดทำการตามที่กำหนดไว้ในตารางท้ายกฎกระทรวง รวมทั้งเพิ่มตารางท้ายกฎกระทรวง เพื่อกำหนดจำนวนผู้ประกอบวิชาชีพให้ครอบคลุมโรงพยาบาลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า โดยที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพยืนยาวและมีภาวะโรคเรื้อรัง บางรายเป็นผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด แต่กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลกำหนดให้โรงพยาบาลผู้สูงอายุเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของโรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วย และกำหนดให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้สูงอายุที่มีเฉพาะด้าน จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับโรงพยาบาลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาลส่งเสริมฟื้นฟูผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณาจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคมต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดนิยาม “สิ่งอำนวยความสะดวก” “พื้นที่หลบภัย” และ “มาตรฐาน”
2. กำหนดอาคารประเภทและลักษณะดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้
2.1 อาคารที่ให้บริการสาธารณะ เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม สถานศึกษา หอสมุด อาคารประกอบของสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬาในร่ม
2.2 สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธาณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
2.3 อาคารที่ทำการของราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ฯลฯ
ทั้งนี้ กรณีที่อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย (Area of Refuge) ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรฐาน หากระดับพื้นภายในอาคาร หรือระดับพื้นภายในอาคารกับภายนอกอาคาร หรือระดับพื้นทางเดินภายนอกอาคาร มีความต่างระดับกันเกิน 1.3 เซนติเมตร ให้มีทางลาดระหว่างพื้นที่ต่างระดับกัน แต่ถ้ามีความต่างระดับกันตั้งแต่ 6.4 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 1.3 เซนติเมตร ต้องปาดมุมพื้นที่ส่วนที่ต่างระดับกันให้มีอัตราส่วนความชัน 1 : 2
กรณีที่มีบันได พื้นผิวของบันไดต้องใช้วัสดุที่ไม่ลื่น มีราวมือจับบันไดทั้งสองข้าง ในกรณีที่พื้นมีความต่างระดับกันตั้งแต่ 60 เซนติเมตร ขึ้นไป โดยให้ราวมือจับและขั้นบันไดแต่ละช่วงมีลักษณะตามที่กำหนด
กำหนดให้อาคารดังกล่าวต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ดังนี้
ที่จอดรถยนต์ทั้งหมด (จำนวน/คัน) | ที่จอดรถยนต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ (จำนวน/คัน) |
ไม่เกิน 25 | ไม่น้อยกว่า 1 |
ตั้งแต่ 26 แต่ไม่เกิน 50 | ไม่น้อยกว่า 2 |
ตั้งแต่ 51 แต่ไม่เกิน 75 | ไม่น้อยกว่า 3 |
ตั้งแต่ 76 แต่ไม่เกิน 100 | ไม่น้อยกว่า 4 |
ตั้งแต่ 101 แต่ไม่เกิน 150 | ไม่น้อยกว่า 5 |
ตั้งแต่ 151 แต่ไม่เกิน 200 | ไม่น้อยกว่า 6 |
3. กำหนดให้ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายสัญลักษณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายหรือเครื่องหมายแสดงทิศทางไปสู่สิ่งอำนวยความสะดวก ต้องมองเห็น สัมผัส รับรู้ มีความชัดเจน อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้สับสน และเป็นไปตามมาตรฐาน
4. กำหนดลักษณะทางลาด ดังนี้
4.1 ให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ในกรณีเป็นทางลาดแบบ 2 ทางสวนกันให้มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
4.2 ต้องมีความลาดชันไม่เกิน 1:12 และมีความยาวช่วงละไม่เกิน 9 เมตร ในกรณีที่ทางลาดยาวเกิน 9 เมตร ต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วงของทางลาด
4.3 ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และต้องมีราวมือจับและราวกันตกตามมาตรฐาน
4.4 ทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 1.80 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวมือจับทั้งสองด้าน และทางลาดที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ต้องมีราวจับมือห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร โดยราวมือจับให้มีลักษณะทำด้วยวัสดุเรียบ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับ มีลักษณะกลม โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร หรือมีลักษณะอื่นตามมาตรฐาน สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 75 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 90 เซนติเมตร ราวมือจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร มีความสูงจากจุดยึดไม่ น้อยกว่า 10 เซนติเมตร และผนังบริเวณราวมือจับต้องเป็นผนังเรียบหรือเป็นไปตามมาตรฐานราวมือจับต้องยาวต่อเนื่องกันหรือให้มีระยะห่างไม่เกิน 5 เซนติเมตร และส่วนที่ยึดติดกับผนังจะต้องไม่กีดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ของคนพิการทางการเห็น และปลายของราวมือจับให้เป็นไปตามที่กำหนด
5. กำหนดลักษณะห้องลิฟต์สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.35 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 1.40 เมตร และสูงไม่น้อยกว่า 2.30 เมตร มีระบบชุดไฟฟ้าสำรองเพื่อป้องกันกรณีกระแสไฟฟ้าปกติดับ มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและระบบพัดลมระบายอากาศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ในกรณีไฟฟ้าปกติดับ
6. กำหนดให้สถานีบริการน้ำมันและเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงต้อง จัดให้มีห้องส้วมสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าใช้ได้ตลอดเวลาทำการอย่างน้อย 1 ห้อง มีโถส้วมชนิดนั่งราบ สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร และที่ปล่อยน้ำเป็นชนิดคันโยกหรือปุ่มกดขนาดใหญ่หรือชนิดอื่นที่สามารถใช้ได้อย่างสะดวก
7. กำหนดให้โรงมหรสพหรือหอประชุมต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับวีลแชร์ (wheelchair) อย่างน้อยจำนวน 2 ที่นั่ง ต่อจำนวนที่นั่งไม่เกิน 100 ที่นั่ง และเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง ต่อจำนวน 50 ที่นั่ง เป็นพื้นที่ราบอยู่ในตำแหน่งที่เข้าออกได้สะดวก
8. กำหนดให้โรงแรมต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง สำหรับโรงแรมที่มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่น้อยกว่า 1 ห้องต่อจำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง และเพิ่มขึ้นอีก 1 ห้อง ต่อจำนวนห้องพักทุก 10 ห้อง โดยห้องพักดังกล่าวต้องอยู่ใกล้บันไดหรือบันไดหนีไฟหรือลิฟต์ดับเพลิง ต้องจัดให้มีสัญญาณบอกเหตุหรือเตือนภัยทั้งสัญญาณที่เป็นเสียงและ แสงและระบบสั่นสะเทือน
9. กำหนดให้อาคารอยู่อาศัยรวม หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพักหรืออาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด จัดสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่ส่วนกลางตลอดจนพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร สำหรับศาสนสถานหรือฌาปนสถานอย่างน้อยต้องมีทางลาดหรือลิฟต์หรืออุปกรณ์ขึ้นลงทางดิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใช้ได้
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กห. เสนอว่า
1. ปัจจุบันยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และนโยบายของรัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการที่จะปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอื่นของรัฐและระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
2. โดยที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 พ.ศ. 2554 กำหนดให้การขายหรือจำหน่ายอาวุธนั้น ให้ขายหรือจำหน่ายได้เฉพาะส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้ซื้อ มี ใช้ ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใดๆ ซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน หรือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีได้ซึ่งยุทธภัณฑ์ ตามกฎหมายว่าด้วยยุทธภัณฑ์ ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงการขายหรือจำหน่ายอาวุธระหว่างกันของผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานทำอาวุธ กิจการโรงงานประกอบอาวุธ กิจการโรงงานซ่อมแซมอาวุธ และกิจการโรงงานเปลี่ยนลักษณะอาวุธ
3. ในการขายหรือจำหน่ายซึ่งอาวุธตามข้อ 2. ดังกล่าว ซึ่งเป็นการขายหรือจำหน่ายในราชอาณาจักรนั้น ในกรณีที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ซื้อ มี ใช้ ค้า หรือจำหน่ายด้วยประการใด ๆ ซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน หรือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีได้ซึ่งยุทธภัณฑ์ ตามกฎหมายว่าด้วยยุทธภัณฑ์ กฎกระทรวงตามข้อ 2. ได้กำหนดให้ต้องขายหรือจำหน่ายอาวุธให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต
4. นอกจากนี้ ในการขายหรือจำหน่ายซึ่งอาวุธให้แก่บุคคลตามข้อ 3.นั้น กฎกระทรวงตามข้อ 2. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งประสงค์จะขายหรือจำหน่ายอาวุธ หรือการแจ้งการส่งมอบภายหลังที่ได้ขายหรือจำหน่ายอาวุธ ต้องยื่นคำขออนุญาตพร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอ ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการพลังงานทหาร
5. กห. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวไม่สามารถขายหรือจำหน่ายอาวุธระหว่างกันได้ ทำให้ไม่สามารถนำวัตถุดิบภายในประเทศไปใช้ได้ ไม่ก่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ เช่น ผู้รับใบอนุญาตบางรายสามารถผลิตปลอกกระสุนได้ แต่ก็ไม่สามารถขายปลอกกระสุนให้กับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นได้ จึงต้องสั่งปลอกกระสุนจากต่างประเทศ และการกำหนดระยะเวลาการขายหรือจำหน่ายอาวุธตามข้อ 3. ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืน ตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งกำหนดให้มีอายุหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามข้อ 2. เพื่อให้มีการขายหรือจำหน่ายอาวุธผู้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานทำอาวุธ กิจการโรงงานประกอบอาวุธ กิจการโรงงานซ่อมแซมอาวุธ และกิจการโรงงานเปลี่ยนลักษณะอาวุธ ระหว่างกันได้ และเห็นสมควรขยายระยะเวลาการขายหรือจำหน่ายอาวุธ จากเดิม ให้เสร็จสิ้นภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต เป็น ให้เสร็จสิ้นไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่รัฐมนตรีอนุญาต
6. สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว
7. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 พ.ศ. 2554 ดังนี้
1. กำหนดให้เพิ่มการขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 โดยให้ขายหรือจำหน่ายให้แก่ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 ได้
2. กำหนดให้เพิ่มวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการยื่นคำขออนุญาตขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7
3. กำหนดระยะเวลาขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 ให้เสร็จสิ้นไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต
4. กำหนดให้เพิ่มวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการแจ้งการส่งมอบอาวุธที่ขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่น นอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการยื่นคำขอและการแจ้งเรื่องดังกล่าว
5. แก้ไขแบบหนังสืออนุญาตให้ขายหรือจำหน่ายอาวุธให้แก่บุคคลอื่นนอกจากหน่วยงานตามมาตรา 7 ในราชอาณาจักร (แบบ อ.17) ให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กห. เสนอว่า
1. ปัจจุบันยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และนโยบายของรัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอื่นของรัฐและระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
2. โดยที่กฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2555 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ ผู้ใดประสงค์จะขอยื่นคำขอรับใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาตดังกล่าว ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด พร้อมด้วยเอกสารหรือหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอนั้น โดยไม่ได้กำหนดสถานที่และวิธีการยื่นคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เห็นสมควรกำหนดการปฏิบัติในการยื่นขออนุญาตทางระบบอินเทอร์เน็ต สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตติดต่อสื่อสาร และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นไปตามที่กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ประกาศกำหนด
3. กห. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจ ลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามข้อ 2. โดยยื่นคำขอ ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
4. สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว
5. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต สั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2555 โดยกำหนดสถานที่และวิธีการยื่นคำขอรับใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอรับใบแทนใบอนุญาตสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต หรือมีซึ่งยุทธภัณฑ์ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐาน โดยให้ยื่นคำขอ ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กห. หรือโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธและการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธและการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงกลาโหมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กห. เสนอว่า
1. ปัจจุบันยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และนโยบายของรัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอื่นของรัฐและระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
2. โดยที่กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธและการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น พ.ศ. 2554 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติโรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้การขออนุญาตสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธ การแจ้งการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธ การยื่นคำขออนุญาตขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้นออกจากโรงงานหรือสถานที่เก็บและการแจ้งการส่งมอบวัตถุหรืออาวุธนั้น ผู้ขออนุญาตดังกล่าวต้องยื่นคำขออนุญาต ณ กรมการอุตสาหกรรมทหาร ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามข้อ 1.
นอกจากนี้ การขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้นออกจากโรงงานและสถานที่เก็บนั้น กฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดระยะเวลาไว้เก้าสิบวัน ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการกำหนดระยะเวลาใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่กำหนดให้มีอายุหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต กำหนดระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวจึงอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินการของผู้ขออนุญาต
3. กห. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการปฏิบัติภารกิจ ลดขั้นตอนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงตามข้อ 2. โดยให้เพิ่มการยื่นคำขออนุญาตสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธดังกล่าวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นอีกวิธีหนึ่ง และขยายกำหนดระยะเวลาการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธดังกล่าว จากเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต เป็น ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต
4. สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้แล้ว
5. นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธและการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้น (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดให้การยื่นคำขออนุญาตสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธ หรือเป็นตัวอย่างหรือเพื่อวิจัยเกี่ยวกับการผลิตอาวุธสำหรับส่วนราชการของ กห. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการอื่นหรือรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ในการมีและใช้ ตามที่กฎหมายกำหนด วิธีการแจ้งการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งวัตถุหรืออาวุธ การแจ้งการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธหรืออาวุธที่ผลิตขึ้นออกจากโรงงานหรือสถานที่เก็บ รวมทั้งการแจ้งการส่งมอบวัตถุหรืออาวุธสามารถยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย นอกจากนี้ ได้กำหนดสถานที่เก็บวัตถุหรืออาวุธภายในโรงงานหรือสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในหนังสืออนุญาต
2. ขยายกำหนดระยะเวลาการขนย้ายวัตถุหรืออาวุธที่ใช้ในการผลิตอาวุธ หรืออาวุธที่ผลิตขึ้นออกจากโรงงานหรือสถานที่เก็บ ต้องขนย้ายภายในราชอาณาจักรหรือโดยส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เสร็จสิ้นจากเก้าสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตเป็นไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาต
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
อว. เสนอว่า
1. อว. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ดังนี้
1.1 ได้ประชุมร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาประเด็นตามข้อเสนอของทันตแพทยสภา ซึ่งไม่ขัดข้องในการกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
1.2 สำหรับทันตแพทยสภานั้น ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 โดยทันตแพทยสภาไม่คัดค้านการยกเว้นการควบคุมเครื่องกำเนิดตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าว แต่มีข้อเสนอให้พิจารณาหลักเกณฑ์การยกเว้น (exemption) ตามที่กำหนดใน General Safety Requirements Part 3 ในข้ออื่นๆ ที่ระบุไว้ และให้พิจารณาประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้กฎกระทรวงอย่างน้อยต้องระบุรายชื่อเครื่องกำเนิดรังสี ระดับกัมมันตภาพหรือลักษณะ การใช้งานด้วย
2. อว. โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้พิจารณาข้อเสนอของทันตแพทยสภาตามข้อ 1.2 แล้ว เห็นว่าตาม GSR Part 3 ได้กำหนดเกณฑ์ยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมไว้ 2 ลักษณะ คือ
2.1 เครื่องกำเนิดรังสีในสภาพการใช้งานปกติ ไม่ทำให้มีปริมาณรังสีโดยรอบหรือที่ได้รับโดยตรงเกิน 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 0.1 เมตร จากพื้นผิวที่สามารถเข้าถึงได้ หรือ
2.2 พลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้น ต้องไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ จากเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น จึงได้กำหนดว่าเครื่องกำเนิดรังสีที่ก่อให้เกิดรังสีที่มีพลังงานต่ำกว่า 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ จะได้รับการยกเว้นโดยอัตโนมัติ การที่ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กำหนดยกเว้นให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ เป็นไปตามเกณฑ์ข้อ 2.1
สำหรับเกณฑ์ตาม GSR Part 3 นั้น ประเทศสมาชิกสามารถเลือกมาปรับใช้เป็นกฎหมายภายในของประเทศตนได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศตน แต่สำหรับในกรณีนำเกณฑ์ที่กำหนดให้พลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นต้องไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์มาเป็นเกณฑ์ยกเว้นการกำกับดูแลเครื่องกำเนิดรังสี จะเป็นการเพิ่มภาระผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องกำเนิดรังสีในการพิสูจน์ว่า การใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีนั้นจะไม่ทำให้มีปริมาณรังสีโดยรอบหรือที่ได้รับโดยตรงเกิน 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่ระยะ 0.1 เมตร จากพื้นผิวที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการพิสูจน์นั้นอาจต้องใช้เอกสารหลักฐานที่เป็นใบรับรองจากประเทศผู้ผลิต และหากการใช้งานเครื่องกำเนิดรังสีผิดไปจากที่ระบุไว้ในใบรับรอง ก็จะไม่อาจพิสูจน์ทราบได้เลยว่า เครื่องกำเนิดรังสีที่ได้รับยกเว้นนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
2.3 การกำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลายประเทศ เช่น COUNCIL DIRECTIVE 2013/59/EURATOM ของสหภาพยุโรปที่ออกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 2013 ในเรื่อง basic safety standards for protection against the dangers arising from exposure to ionizing radiation ซึ่ง Directive ฉบับดังกล่าวบังคับใช้กับ 28 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในด้านใด ๆ หากเครื่องกำเนิดรังสีมีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายทางรังสีจะน้อยมากจนสามารถกำหนดยกเว้นจากการกำกับดูแลได้ จึงไม่จำเป็นต้องระบุรายชื่อเครื่องกำเนิดรังสี รวมทั้งเทคโนโลยีและการใช้งาน เครื่องกำเนิดรังสีมีหลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การกำหนดเฉพาะเจาะจงลงไปในกฎกระทรวงอาจไม่ยืดหยุ่นและเป็นเหตุให้ต้องแก้ไขกฎกระทรวงบ่อยครั้ง
3. คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ได้พิจารณาประเด็นเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นว่า เกณฑ์ในการยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีเป็นไปตามมาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ Radiation Protection and Safety of Radiation Sources: International Basic Safety Standards (GSR Part 3) แล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีที่มีพลังงานสูงสุดของรังสีที่เกิดขึ้นไม่เกิน 5 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ หรือเครื่องกำเนิดรังสีที่อุปกรณ์กำเนิดรังสีภายในทำงานที่ความต่างศักย์ไม่เกิน 5 กิโลโวลต์ เป็นเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559
9. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563
2. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ) ที่กำหนดให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นไปตามนัยข้อ 5. 1) ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีเฉพาะในปีภาษี พ.ศ. 2563
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. หลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ สรุปได้ ดังนี้
1) เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง จึงสมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม
2) ให้บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
3) ให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามมาตรา 42 หรือมาตรา 95 แล้วแต่กรณี (หรือสำหรับการจัดเก็บภาษี พ.ศ. 2563) สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
(2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
(3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) และ (2)
(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
4) การลดภาษีข้างต้นไม่กระทบสิทธิในการบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ
5) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
2. ข้อเท็จจริง
1) พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้มีการประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 และได้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ แล้ว โดยได้ทำการสำรวจ จัดทำบัญชีและประเมินภาษีตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ อปท. มีเวลาดำเนินการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น มท. จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ขยายระยะเวลาดำเนินการของ อปท. เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลา 4 เดือนสำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี พ.ศ. 2563 จากเดิมที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม
2) กฎหมายลำดับรองจำนวน 18 ฉบับตามที่ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้จัดทำนั้น กค. และ มท. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 18 ฉบับ โดยในจำนวนนี้เป็นพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาษีเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่มีภาระภาษีเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นที่เกิดจากการนำหลักการภาษีทรัพย์สินมาใช้
3) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบแก่ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ ดังนั้น กค. และ มท. จึงได้มีการประชุมหารือและเห็นควรกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบโดยการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และในการประชุมที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) จัดให้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติเห็นควรเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 55 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ที่กำหนดให้ลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภทเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่
4) ประมาณการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 คาดว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 39,420 ล้านบาท และเมื่อมีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ อปท. ทั่วประเทศที่จะนำไปดำเนินภารกิจในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท. จะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ดำเนินการไปแล้ว
5) การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ โดยการคำนวณการลดภาษีข้างต้นเป็นไปตามตัวอย่าง ดังนี้
(1) กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563 – 2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีแต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 10 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ร้อยละ 0.01 คิดเป็นภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
(2) กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย ร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
(3) กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 4 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น ร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 12,000 บาท แต่เมื่อลดภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ ที่เสนอแล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,200 บาท เป็นต้น
ร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ เป็นการลดภาษีซึ่งจะต้องดำเนินการตามนัยบทบัญญัติมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประมาณการรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 จำนวน 39,420 ล้านบาท และในการเสนอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ 2 กรณี จะสูญเสียรายได้ ดังนี้
1. กรณีที่ 1 กำหนดลดภาษีเฉพาะในปีภาษี พ.ศ. 2563 จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี พ.ศ. 2563 ลดลงประมาณ 35,450 ล้านบาท
2. กรณีที่ 2 ไม่กำหนดระยะเวลาในการลดภาษี จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลงปีละประมาณ 35,450 ล้านบาท จนกว่าจะมีการออกกฎหมายยกเลิกร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ
ทั้งนี้ การลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่าง พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะช่วยบรรเทาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่ขาดรายได้ เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย
กค. พิจารณาแล้ว เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา กค. ได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น มาตรการเลื่อนเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ นำส่ง และชำระภาษี มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีรายได้ดังเช่นปกติ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความสามารถในการชำระภาษีในปีถัดไป ตลอดจนไม่เป็นการส่งผลกระทบต่อฐานะการคลังของ อปท. ในระยะยาวจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาดังกล่าว
เศรษฐกิจ - สังคม |
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ
2. มอบหมายให้ อว. โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายอวกาศและหน่วยงานที่ดูแลการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. ประเทศไทยยังไม่ได้ร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1975 และไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่ดูแลเรื่องวัตถุอวกาศอย่างเป็นระบบ แต่ประเทศไทยมีดาวเทียมที่ใช้งานในปัจจุบันและที่หมดอายุการใช้งานแล้วไม่น้อยกว่า 11 ดวง และมีแผนที่จะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในช่วงระยะเวลา 3-5 ปีต่อจากนี้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ดาวเทียม Royal Thai Air Force 1 – 2 (RTAF sat) ดาวเทียมของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (BCC Sat) และดาวเทียมในโครงการ THEOS - 2 จำนวน 2 ดวง รวมถึงดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการอวกาศให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักสากลและสอดคล้องกับมติประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติที่ร้องขอให้รัฐที่ปล่อยวัตถุขึ้นสู่อวกาศนำส่งข้อมูลของวัตถุนั้นโดยทันทีให้แก่ COPUOS ผ่านสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs: UNOOSA) ประเทศไทยจึงต้องมีแนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความรับผิดชอบและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการดำเนินกิจการอวกาศต่อไป ในการนี้ สทอภ. ในฐานะหน่วยประสานงานกับ COPUOS จึงได้จัดทำ (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีแนวปฏิบัติในการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศสำหรับใช้ไปพลางก่อนในระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องดังกล่าว
2. (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศได้รับความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 และคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 แล้ว โดยคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายอวกาศ ได้มีข้อคิดเห็นสรุปได้ ดังนี้
2.1 ให้เสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นชอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอมติจากคณะรัฐมนตรีในประเด็น (1) ในขณะที่ยังไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านการจดทะเบียนวัตถุอวกาศ ให้ สทอภ. ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศไปพลางก่อนตามแนวปฏิบัติของ UN ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติแม้รัฐเจ้าของโครงการดาวเทียมจะมิได้เป็นผู้จดทะเบียนแต่ให้รัฐต่างประเทศผู้ส่งดาวเทียมเป็นผู้จดทะเบียน แต่รัฐผู้ส่งก็สามารถกำหนดเงื่อนไขให้รัฐเจ้าของโครงการอวกาศต้องรับภาระเรื่องการจัดทำประกันภัยเพื่อจัดการปัญหาเรื่องความรับผิดของรัฐผู้ส่งวัตถุอวกาศ และ (2) อนุญาตให้ใช้แนวปฏิบัตินี้เป็นกฎเกณฑ์เพื่อปรับใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ้งแม้ไม่สามารถบังคับใช้โดยตรงกับภาคเอกชน แต่ในทางปฏิบัติภาคเอกชนต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอยู่แล้วในการดำเนินโครงการและยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและเพื่อประโยชน์ของประเทศ
2.2 สำนักงานพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหมไม่มีข้อขัดข้อง ยกเว้นในส่วนของขอบเขตการบังคับใช้ ที่ควรยกเว้นกิจการอวกาศที่อยู่ในราชการทหารเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ
2.3 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เห็นว่า โดยรวมแล้วไม่ขัดข้องและเห็นชอบตามที่กำหนดให้มีการดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ และแจ้งไปยัง กต. เพื่อให้ กต. ประสานงานไปยัง UN เพื่อจดทะเบียนวัตถุอวกาศ
2.4 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) โดยรวมแล้วไม่ขัดข้อง แต่ในแง่ของการบังคับใช้ มีความเห็นว่าแนวปฏิบัตินี้มีลักษณะเป็นแนวปฏิบัติโดยความสมัครใจ เนื่องจากไม่มีบทลงโทษในกรณีละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้
2.5 สทอภ. ได้ปรับปรุง (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศตามมติที่ประชุมดังกล่าวก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศให้ความเห็นชอบและมีความเห็นเพิ่มเติมว่าแนวปฏิบัตินี้ไม่ใช่แนวปฏิบัติตามหลักความสมัครใจ เนื่องจากสามารถใช้บังคับกับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศของเอกชน เพราะกิจกรรมด้านอวกาศเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากระบวนการบังคับใช้ให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
3. (ร่าง) แนวปฏิบัติการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 ขอบเขต แนวปฏิบัตินี้ให้ใช้แก่การจดแจ้งวัตถุอวกาศซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจการอวกาศ ดังต่อไปนี้ (1) การดำเนินกิจการอวกาศในราชอาณาจักร (2) การดำเนินกิจการอวกาศนอกราชอาณาจักรหรือในอวกาศโดยบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยหรือได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย และ (3) การดำเนินกิจการอวกาศนอกราชอาณาจักรโดยใช้พื้นที่ที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือโดยใช้เรือ อากาศยาน หรือวัตถุอวกาศซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศไทย
เว้นแต่กิจการอวกาศที่อยู่ในราชการทหารเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐ ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนด (ตามความเห็นของสำนักงานพระธรรมนูญทหาร กระทรวงกลาโหม)
3.2 แนวปฏิบัติการจดแจ้งวัตถุอวกาศ ได้แก่ (1) ดำเนินการจดแจ้งวัตถุอวกาศหลังจากที่ได้ปล่อยวัตถุอวกาศขึ้นสู่อวกาศแล้ว โดยส่งข้อมูลในรูปแบบที่ UNOOSA กำหนด (2) สทอภ. ดำเนินการรับจดแจ้งวัตถุอวกาศ และแจ้งไปยัง กต. เพื่อให้ กต. ประสานงานไปยังสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อจดทะเบียนวัตถุอวกาศ และ (3) UN แจ้งผลการจดทะเบียนวัตถุอวกาศหรือการรับจดทะเบียนวัตถุอวกาศผ่านช่องทางการทูต
3.3 ประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อเกิดปัญหารัฐสามารถอ้างสิทธิไล่เบี้ยในกรณีวัตถุอวกาศตกหล่นการช่วยเหลือและส่งคืนวัตถุอวกาศ ในขณะเดียวกันยังก่อให้เกิดความรับผิดชอบของรัฐตามมาในฐานะรัฐผู้ส่งกระสวยให้กับประเทศไทย (Launching State) หากวัตถุอวกาศของไทยไปก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศอื่น
11. เรื่อง ข้อเสนอในการปรับปรุงการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล และแนวปฏิบัติในการรับ – ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอในการปรับปรุงการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล และแนวปฏิบัติในการรับ – ส่งหนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ดังนี้
ข้อเสนอ | รายละเอียด |
1. การปรับปรุงเพื่อการพัฒนาระบบการออกเอกสารหลักฐานของทางราชการผ่านระบบดิจิทัล เนื่องจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระบบราชการ (Government Certification Authority) มีค่าใช้จ่ายสูง | 1.1 เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่าย ดังนี้ การดำเนินการในระยะเร่งด่วน : ให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเอกสารที่ออกให้ของทางราชการผ่านระบบดิจิทัลโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เงินกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาดำเนินการตามแนวทางที่เสนอในกรณีมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น การดำเนินการในระยะต่อไป : ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สพร. และ สพธอ. ศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุมัติ อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมศูนย์ โดยให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาตเพียงคนเดียว 1.2 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวมประเด็นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการและการออกเอกสารหลักฐานในรูปแบบดิจิทัลของหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานนำร่อง [ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) และหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ (เช่น โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยขอนแก่น)] และแจ้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) รวมทั้งแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่จำเป็นต้องแก้ไขดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 1.3 ให้ สพร. เร่งรัดพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อให้หน่วยงานสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้โดยเร็ว โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหากหน่วยงานใดดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ให้สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบด้วย |
2. แนวปฏิบัติในการรับ – ส่ง หนังสือราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล | ให้ส่วนราชการภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เฉพาะส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคลให้มีการรับ – ส่งหนังสือระหว่างส่วนราชการในรูปแบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่รวมถึงกรณีหนังสือที่ต้องสงวนเป็นความลับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ที่ยังคงให้ทำเป็นหนังสือราชการ และจัดส่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะการจัดการระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์และการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐของ สพธอ. โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ |
12. เรื่อง การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) รวมทั้งสิ้น 138 อัตรา ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. เสนอ ดังนี้
1. กษ. (กรมฝนหลวงและการบินเกษตร) จำนวน 44 อัตรา
2. นร. [สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)] จำนวน 94 อัตรา
สำหรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของส่วนราชการดังกล่าวให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนด
13. เรื่อง ร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาต่อไป
คค. เสนอว่า
1. สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (23 กรกฎาคม 2539) เห็นชอบมาตรการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและแนวทางการโอนเงินกองทุนบำเหน็จตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยให้เร่งรัดดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2540
2. ต่อมา กค. ได้เสนอเรื่อง การแก้ไขระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐวิสาหกิจ ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไท (รฟท.) และธนาคารออมสิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (18 พฤษภาคม 2547) เห็นชอบในหลักการการแก้ไขระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐวิสาหกิจตามที่ กค. เสนอ
3. การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติตามข้อ 2. รฟท. จึงต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว แต่ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 19 เมษายน 2528 ยังมีผลบังคับใช้กับผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ที่บรรจุก่อนวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงทำให้ รฟท. ต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับผู้ปฏิบัติงานตามกองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ดังกล่าว
4. รฟท. เห็นว่า เพื่อไม่ให้การจ่ายเงินสงเคราะห์ตามข้อ 3. เกิดความซ้ำซ้อนกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ที่บรรจุก่อนวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานใน รฟท. นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเพื่อให้ผลของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบังคับใช้เฉพาะกับผู้ปฏิบัติงานที่จะบรรจุใหม่ของ รฟท. เท่านั้น จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว โดยกำหนดไม่ให้นำข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวกับการจ่ายเงินสงเคราะห์สำหรับผู้ปฏิบัติงาน รฟท. มาใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน รฟท. นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ รฟท. และให้การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท. เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
5. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รฟท. จะบรรจุพนักงานใหม่ จำนวน 1,330 อัตรา เพื่อทดแทนผู้เกษียณอายุ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) ภายในเดือนมิถุนายน 2563
6. คณะกรรมการ รฟท. ในคราวประชุมครั้งที่ 22/2562 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เห็นชอบแผนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและแผนรับพนักงานใหม่ จำนวน 1,330 อัตรา โดยให้ดำเนินการคู่ขนานตามที่ได้หารือร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. และเห็นชอบร่างข้อบังคับในเรื่องนี้
จึงได้เสนอร่างข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ …) มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างข้อบังคับ
เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 34/1 แห่งข้อบังคับ รฟท. ฉบับที่ 4.9 กองทุนผู้ปฏิบัติงานของ รฟท. ลงวันที่ 19 เมษายน 2528
“ข้อบังคับนี้ไม่ให้ใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานใน รฟท. นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท.
ในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รฟท. ให้ รฟท. ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง”
14. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563
2. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง ของกรมการปกครอง หรือ สพร. โดยเร็ว
3. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติ เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เน้นเปิดเผยชุดข้อมูลที่ยกระดับอันดับการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย (Open Data Ranking)
4. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ สพร. ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐในการนำประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ ไปปฏิบัติและดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐตามประกาศฯ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สพร. รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบและเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1. (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565
มติที่ประชุม เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 และให้ สพร. เสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้ความเห็นตามแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 ก่อนที่จะมีการเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป
2. มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ
มติที่ประชุม 1) เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562
2) เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง/กรม นำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะไปปฏิบัติเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ (data.go.th) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เน้นเปิดเผยชุดข้อมูลที่ยกระดับอันดับการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทย (Open Data Ranking)
3) เห็นชอบและให้ ดศ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ สพร. ให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานภาครัฐในการนำ (ร่าง) ประกาศฯ ไปปฏิบัติและดำเนินการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล เปิดภาครัฐตามประกาศฯ ต่อไป
3. โครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจฐานราก
มติที่ประชุม ให้ สพร. ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่เสนอแนวทางดำเนินโครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจฐานราก โดยให้หารือกับเจ้าของแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย พร้อมกำหนดนโยบายและมาตรฐานการใช้ข้อมูลเช่าพื้นที่และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานสำคัญ เช่น สศช. ธ.ก.ส. ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน อสม. เพื่อให้รัฐบาลสามารถวิเคราะห์ข้อมูลแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น ไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. ความก้าวหน้าการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
มติที่ประชุม รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และให้ สพร. เสนอความก้าวหน้าการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
15. เรื่อง การเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอ ดังนี้
1. รับทราบ แนวทางการนับเวลาเรียน การสอนชดเชย และการอนุมัติการจบการศึกษา/การออกเอกสารหลักฐานการศึกษา การจัดการเรียนการสอนทางไกล การวัดประเมินผล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
2. รับทราบการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คือ ให้สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น วัสดุผลิตสื่อการเรียนการสอน ใบงาน แบบฝึกหัด และค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนทางไกลให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
3. รับทราบแนวทางการบริหารจัดการสำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ กรณียังไม่สามารถเปิดให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตามปกติ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และ โรงเรียนเฉพาะความพิการ กรณีจัดการเรียน การสอนทางไกล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เรื่องเดิม
1. มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
1.1 คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ได้มีมติรับทราบการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะปรับวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับการศึกษา ของปีการศึกษา 2563
1.2 คณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ได้มีมติรับทราบ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รายงานการเตรียมความพร้อม ในเรื่องปฏิทินการรับนักเรียน และเรื่องการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกลและอุปกรณ์ทางการสื่อสาร ออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563) ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563) ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม – 30 เมษายน 2564) และระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2564) และเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับครู
2. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางไกล ในระยะที่ 1 เตรียมความพร้อมสำหรับครูในด้านการจัดทำคู่มือและให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคนิคและวิธีการ เสร็จสิ้นแล้วในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 และได้เริ่มระยะที่ 2 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น การตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563
เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในกรณีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลายหลังเปิดภาคเรียน กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงเตรียมการจัดการเรียนการสอนทางไกล พร้อมทั้งกำหนด แนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจากการตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนทางไกล ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของการดำเนินการการจัดการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 พบว่า สาธารณชนให้ความสนใจในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้เร่งดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินการข้างต้นให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเห็นควรนำเรียนคณะรัฐมนตรีทราบถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถขับเคลื่อนได้ทันการณ์ ก่อนการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
สาระสำคัญ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นสมควรกำหนดแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
1.1 การนับเวลาเรียน ให้เริ่มนับเวลาเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป และนับรวมเวลาเรียนที่สถานศึกษาบริหารจัดการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน ก่อนเริ่มเรียนตามตารางสอนทางไกลในแต่ละวัน ให้มีการรายงานตัวว่ามีความพร้อมที่จะเรียนในแต่ละวิชา ตามวิธีการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งต้องมีการชี้แจงและนัดหมายผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้าใจ และการนับจำนวนเวลาเรียนของแต่ละวิชา ให้นับจำนวนชั่วโมงที่เรียนจริงตามตารางสอนและกิจกรรมหรืองานใด ๆ หากจะนับเป็นเวลาเรียน ต้องกำหนดในตารางสอน หรือเอกสารอื่นที่ระบุไว้อย่างชัดเจน
1.2 การสอนชดเชย การจัดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะต้องมีการสอนชดเชยสืบเนื่องจากการเลื่อนการเปิดภาคเรียน สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการได้ตามบริบท และความเหมาะสม หรืออาจจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น หากจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน อาจเพิ่มจำนวนเวลาเรียนในแต่ละวัน และหรือเพิ่มการเรียนในวันหยุด หากจัดการเรียนการสอนทางไกล ต้องกำหนดตารางสอนให้ชัดเจน เพื่อนำมานับชั่วโมงการเรียนได้ และเลือกมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่สามารถวัดและประเมินผลได้จริง คำนึงถึงบริบทของนักเรียนที่บ้านและความพร้อมของผู้ปกครอง หรือเป็นการจัดการเรียนการสอนแบบผสมที่ผสมผสานหลายช่องทาง หรือหลากหลายวิธีสอน จะต้องกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ สอดคล้องกับเวลาในตารางสอน เช่น มอบหมายให้นักเรียนทำโครงงาน หรือแก้โจทย์ปัญหาที่ท้าทาย แล้วส่งไฟล์งานทางออนไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆ ที่สะดวก การจัดการเรียนการสอน โดยครูกำหนดประเด็นหรือหัวข้อให้นักเรียนไปศึกษาล่วงหน้า พร้อมทั้ง ให้แหล่งข้อมูล จากนั้น นัดหมายเวลามาอภิปราย ถกแถลง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อาจจะมาพบกันที่โรงเรียนหรือผ่านออนไลน์ตามช่องทางที่สะดวก นอกจากนี้ สามารถนำการเรียนการสอน ในช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มาใช้เป็นแหล่งข้อมูลได้
1.3 การอนุมัติการจบการศึกษา/การออกเอกสารหลักฐานการศึกษา เมื่อสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนครบตามโครงสร้างเวลาเรียน และเกณฑ์การจบแต่ละระดับ ให้อนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 9 เมษายน 2564 กรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) ให้สถานศึกษาสอนซ่อมเสริม และดำเนินการวัดและประเมินผลให้เสร็จสิ้น และอนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564
2. การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็น 4 ระยะ ขณะนี้ได้ดำเนินการระยะที่ 1 เตรียมความพร้อมเสร็จสิ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 และได้เริ่มการดำเนินการระยะที่ 2 การตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะนำผลที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทางไกลต่อไป โดยในระยะที่ 2 นี้ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลใน 2 รูปแบบ คือ เรียนผ่านทีวี (On-Air) และเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชัน (Online) โดยมีการเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกลจากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงพัฒนาเพื่อการดำเนินการในระยะที่ 3 (1 กรกฎาคม – 30 เมษายน 2564) สำหรับ 2 สถานการณ์ ดังนี้
สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 15 ช่อง ซึ่งสามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และ Youtube ช่อง DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ และเว็บไซต์ OBEC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อีกช่องทางหนึ่ง
สถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
3. การวัดผลและประเมินผล กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่คลี่คลาย การวัดและประเมินผลในชั้นเรียน ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
3.1 การวัดและประเมินผลในระดับปฐมวัย ใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรมการพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดทำแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการจัดส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินพัฒนาการหรือพฤติกรรมของผู้เรียนย้อนกลับให้ครูผู้สอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ และสามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อประเมินและตรวจสอบพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย
3.2 การวัดและประเมินผลในระดับประถมศึกษา ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น ครูผู้สอนจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผล ให้ผู้เรียน เป็นผู้ส่งข้อมูลสารสนเทศ ผลการประเมินย้อนกลับให้ครูผู้สอน ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของผู้เรียน มีการจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผล การทำกิจกรรมร่วมกัน มีการใช้แบบทดสอบรูปแบบต่าง ๆ ในการวัดและประเมินผู้เรียนตามความเหมาะสม ในแต่ละระดับชั้น
3.3 การวัดและประเมินผลในระดับมัธยมศึกษา ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติการประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ อาจมีทั้งการทดสอบโดยใช้ข้อสอบและกระดาษคำตอบ การทดสอบโดยใช้ระบบการสอบออนไลน์ การทดสอบโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการทดสอบและประเมินผู้เรียน ดังนั้นในการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนสามารถจัดระบบให้ผู้เรียนสามารถส่งข้อมูลสารสนเทศ ผลการประเมินย้อนกลับได้ด้วยตนเองไปให้ครูผู้สอน โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน จัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน
4. แนวทางการดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้กับสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ในรายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้แก่นักเรียน ประกอบด้วย 1) กิจกรรมวิชาการ 2) กิจกรรมคุณธรรม จริยธรรม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ 3) กิจกรรมทัศนศึกษา และ 4) กิจกรรมการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้นักเรียนได้เรียนรู้พัฒนาความรู้ ความสามารถตามหลักสูตร จึงเห็นควรปรับแนวทางการดำเนินงานและบริหารงบประมาณการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการ ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้เพิ่มเติมแนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน(เพิ่มเติม) คือ ให้สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น วัสดุผลิตสื่อการเรียนการสอน ใบงาน แบบฝึกหัดและค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียนที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น
5. การบริหารจัดการสำหรับนักเรียนพิการและเด็กด้อยโอกาส
5.1 นักเรียนพิการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียน ประจำ นักเรียนไป-กลับ ซึ่งระบุรายการในเอกสารงบประมาณว่าเป็น งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียนประจำ นักเรียนไป-กลับ โดยจัดสรรให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดอาหารสำหรับเด็กพิการที่มารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ 77 แห่ง ใน 77 จังหวัด แบบประจำ และไป-กลับ และหน่วยบริการ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ ไม่สามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพนักเรียนตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ และที่หน่วยบริการได้ จึงไม่สามารถจัดอาหารให้แก่นักเรียนประจำ และนักเรียนไป-กลับของศูนย์การศึกษาพิเศษได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ กรณียังไม่สามารถเปิดให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตามปกติ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1) ให้ศูนย์การศึกษาพิเศษ ตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง โดยมีหลักฐานคือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง (ผู้รับเงิน) 2) กรณีนักเรียนประจำ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เมื่อครู บุคลากรทางการศึกษา ออกไปติดตาม ประเมินผล และเยี่ยมบ้านนักเรียน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง 3) กรณีนักเรียนไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน เมื่อครู บุคลากรทางการศึกษา ออกไปติดตาม ประเมินผล และเยี่ยมบ้านนักเรียน อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
5.2 นักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดสรรงบประมาณ ค่าจัดการเรียนการสอน (ค่าอาหารนักเรียน) ซึ่งระบุรายการในเอกสารงบประมาณว่าเป็น งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าจัดการเรียนการสอน โดยจัดสรรให้กับโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จำนวน 51 โรง และ โรงเรียนเฉพาะความพิการ จำนวน 48 โรง เพื่อจัดอาหารสำหรับนักเรียนพิการ และด้อยโอกาสที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา แบบประจำ และไป-กลับ เงินอุดหนุนค่าอาหารนักเรียน มื้อละ 30 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีการจัดการเรียน การสอนที่บ้านแบบผสมผสานใน 3 รูปแบบ คือ เรียนรู้หลักผ่าน TV ทุกระบบ (On-Air Education) เรียนรู้เสริมผ่านดิจิทัล (Online Education) และ เรียนรู้เสริมแบบโต้ตอบ (Interactive Education) โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และตามบริบทพื้นที่ของสถานศึกษา จึงไม่สามารถจัดอาหารให้แก่นักเรียนประจำ และนักเรียนไป-กลับ ที่โรงเรียนได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจึงกำหนดแนวทางการบริหารจัดการสำหรับโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนเฉพาะความพิการ กรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้ปฏิบัติดังนี้ 1) ให้สถานศึกษาตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง โดยมีหลักฐานคือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประชาชนของผู้ปกครอง (ผู้รับเงิน) 2) กรณีนักเรียนประจำ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครองนักเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 3) กรณีนักเรียน ไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ผลกระทบ
การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลเชิงบวกให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องพัฒนาตนเองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอน และการวัดประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย โดยมีผลกระทบต่อผู้ปกครองที่จะต้องเพิ่มบทบาทและมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
16. เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2/2563 เรื่อง โครงการ
พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
คณะมีมติรับทราบอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เรื่อง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหรือเห็นชอบตามมติ กพอ.
2. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้เป็นไปตามมติ กพอ. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563
3. อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อนระหว่างรอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะยังลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือกไม่ได้จนกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
4. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงิน 390,000,000 บาท (สามร้อยเก้าสิบล้านบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ สำหรับโครงการพัฒนาการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ดำเนินการปี พ.ศ. 2564-2566 โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
5. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2563 กรอบวงเงิน 31,200,000 บาท (สามสิบเอ็ดล้านสองแสนบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการรื้อย้ายระบบสายไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
6. รับทราบการขอรับการจัดสรรงบประมาณ กรอบวงเงินไม่เกิน 468,000,000 บาท (สี่ร้อยหกสิบแปดล้านบาทถ้วน) ของกองทัพเรือ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก
สาระสำคัญ
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 เวลา 9.30 - 11.30 น. ณ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีมติที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน
ภาคตะวันออก ดังนี้
1. ผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุน
1.1 การดำเนินงาน
1) คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีคำสั่งที่ 1/2561 สั่ง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ตามข้อ 12 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ)
2) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 5/2561 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ได้เห็นชอบร่างประกาศเชิญชวน เอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งมีเนื้อหาครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ และ ทร. ได้ดำเนินการประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 และขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2561 โดยมีผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือกฯ จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย จาก 8 ประเทศ
3) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้กำหนดวันเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอ
ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.00 - 15.00 น. ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ได้มีมติขยายระยะเวลาการยื่นข้อเสนอเป็นวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 9.00 - 15.00 น. เนื่องจากมีเอกชนจำนวนมากขอให้มีการพิจารณาขยายการยื่นข้อเสนอ เพื่อให้เอกชนได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการจัดทำข้อเสนอให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐมากที่สุด
4) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอโครงการฯ ในวันที่ 21 มีนาคม 2562 เวลา 09.00 น. ถึง 15.00 น. โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่
- กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
- กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้
เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด โดยเสนอ GMR Airport Limited (GAL) เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน - กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ) ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (Lead Firm) บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด โดยเสนอ Fraport AG เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการประชุมทั้งสิ้น 17 ครั้ง เพื่อประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติทั่วไป ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคาของเอกชนทั้ง 3 ราย ตามขั้นตอนของประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ สรุปผลดังนี้
การประเมินข้อเสนอ | คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเมื่อ | ผลการประเมิน | ||
---|---|---|---|---|
(1) กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส | (2) กลุ่ม Grand Consortium | (3) กลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ | ||
ข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติทั่วไป |
ประชุมครั้งที่ 11/2562 วันที่ 2 ก.ค. 2562 | ผ่านการประเมิน | ผ่านการประเมิน | ผ่านการประเมิน |
ข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค |
ประชุมครั้งที่ 16/2562 วันที่ 9 ต.ค. 2562 และประชุมครั้งที่ 1/2563 วันที่ 14 ม.ค. 2563 | ผ่านการประเมิน | ผ่านการประเมิน | ผ่านการประเมิน |
ข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา |
ประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 30 ม.ค. 2563 | เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 1 |
เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ ดีเป็นอันดับที่ 3 |
เสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำให้แก่รัฐ ดีเป็นอันดับที่ 2 |
ข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ |
ประชุมครั้งที่ 6/2563 วันที่ 13 เม.ย. 2563 | รับทราบและไม่นำมาพิจารณา | ไม่เปิดซอง 4 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินซอง 3 | ไม่เปิดซอง 4 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินซอง 3 |
ข้อเสนอจำนวนเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ
รายปี ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส มีรายละเอียดดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 1* | ปีที่ 2* | ปีที่ 3* | ปีที่ 4 | ปีที่ 5 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 100 | 100 | 100 | 1,300 | 1,400 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 6 | ปีที่ 7 | ปีที่ 8 | ปีที่ 9 | ปีที่ 10 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 1,600 | 1,900 | 2,000 | 2,100 | 2,300 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 11 | ปีที่ 12 | ปีที่ 13 | ปีที่ 14 | ปีที่ 15 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 2,600 | 2,800 | 3,000 | 3,400 | 3,500 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 16 | ปีที่ 17 | ปีที่ 18 | ปีที่ 19 | ปีที่ 20 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 3,800 | 3,800 | 4,000 | 4,300 | 4,700 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 21 | ปีที่ 22 | ปีที่ 23 | ปีที่ 24 | ปีที่ 25 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 4,900 | 5,300 | 5,500 | 5,700 | 19,700 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 26 | ปีที่ 27 | ปีที่ 28 | ปีที่ 29 | ปีที่ 30 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 23,000 | 24,300 | 25,200 | 22,500 | 24,800 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 31 | ปีที่ 32 | ปีที่ 33 | ปีที่ 34 | ปีที่ 35 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 29,900 | 27,200 | 29,200 | 30,900 | 41,100 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 36 | ปีที่ 37 | ปีที่ 38 | ปีที่ 39 | ปีที่ 40 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 42,400 | 45,700 | 48,900 | 53,000 | 55,700 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 41 | ปีที่ 42 | ปีที่ 43 | ปีที่ 44 | ปีที่ 45 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 63,800 | 65,400 | 66,700 | 66,700 | 69,400 |
ปีการร่วมลงทุน | ปีที่ 46 | ปีที่ 47 | ปีที่ 48 | ปีที่ 49 | ปีที่ 50 |
เงินประกันขั้นต่ำรายปี | 71,000 | 72,500 | 74,600 | 78,200 | 84,000 |
1.3 ผลการเจรจาร่างสัญญาร่วมลงทุนกับผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมิน
- คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติให้ สกพอ. แต่งตั้งคณะทำงานเจรจา 2 ชุด เพื่อสนับสนุน ให้การดำเนินการช่วงเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินเป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ประกอบด้วย (1) คณะทำงานเจรจารายละเอียดด้านเทคนิค และ (2) คณะทำงานเจรจาเงื่อนไขร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคณะทำงานเจรจาฯ ทั้ง 2 คณะ ได้มีการประชุมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส รวมทั้งสิ้น 19 ครั้ง ภายใต้กรอบของเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ หลักการโครงการที่ กพอ. ได้เห็นชอบไว้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งแล้วเสร็จ และได้นำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการเจรจาตามลำดับ
- คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุม ครั้งที่ 5/2563 วันที่ 9 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส โดยมอบหมายให้
ที่ปรึกษากฎหมายไปปรับแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนตามผลการเจรจา และได้มีมติให้เปิดข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนอ อื่น ๆ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งได้มีการเปิดข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสในวันที่ 10 เมษายน 2563 - คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 วันที่ 13 เมษายน 2563 ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ซึ่งมีข้อเสนอจำนวน 11 ข้อ โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขในการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงมีมติรับทราบข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนออื่นๆ) และไม่นำข้อเสนอซอง 4 (ข้อเสนออื่นๆ) มาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาร่วมลงทุน
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้ได้ดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โดยตลอดกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการเชิญผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการคัดเลือกในทุกกระบวนการ ตามโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
1.4 การพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของสำนักงานอัยการสูงสุด
- ทร. ได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กห 0509/1105 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563
ถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้พิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ แล้ว โดยตามประกาศคณะกรรมการนโยบายฯ สำนักงานอัยการสูงสุดต้องแจ้งผลการตรวจพิจารณาให้หน่วยงานเจ้าของโครงการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งร่างสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าวประกอบไปด้วยหลักการของโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตาม RFP โดยมีหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้
- คำนิยาม การตีความ และลำดับความสำคัญ
- โครงการฯ (ความเป็นมา วัตถุประสงค์และขอบเขตของโครงการฯ รูปแบบการร่วมลงทุน ข้อตกลงร่วมลงทุน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ ระยะเวลาโครงการฯ แหล่งเงินทุนและการลงทุนในโครงการฯ มาตรการสนับสนุนโครงการฯ และการบริหารและการตรวจสอบโครงการฯ)
- ขอบข่ายของงาน และสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย
- เงื่อนไขบังคับก่อน สำหรับการเริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการฯ
- คำรับรองและคำรับประกัน
- ที่ปรึกษา
- การดำเนินโครงการฯ ในส่วนหน่วยงานของรัฐ
- หน้าที่และข้อผูกพันของเอกชนคู่สัญญา
- การดำเนินโครงการฯ ในงานส่วนของเอกชนคู่สัญญาที่โครงการฯ (การพัฒนาและการให้บริการและบำรุงรักษาในงานหลักและงานสนับสนุนของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา)
- การให้สิทธิช่วง การให้เช่าพื้นที่โครงการฯ การเช่าช่วง และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์
- รายได้ของรัฐ และรายได้ของเอกชนคู่สัญญา
- การทำประกันภัย
- เหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน
- เหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญและการเลิกสัญญา
- การโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการฯ
- การเปลี่ยนแปลงงาน
- การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ
- การเข้าทำและการสิ้นสุดสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน
- ข้อตกลงกระทำการ
- ข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหาย
- การระงับข้อพิพาท
- การว่าจ้าง การเปลี่ยนการว่าจ้าง และการยกเลิกสัญญาจ้าง
- ข้อกำหนดทั่วไป
- สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ อส 0005/7760 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 แจ้งผลการพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ มายัง ทร. โดยมีข้อสังเกตต่อร่างสัญญา ดังนี้
- สกพอ. จะลงนามเป็นคู่สัญญากับเอกชนผู้ผ่านการคัดเลือกในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ สกพอ. ชอบที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้
สกพอ. เป็นคู่สัญญาในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ด้วย - สกพอ. จะต้องมีเอกสารยินยอมให้ใช้พื้นที่จาก ทร. ก่อนลงนามในสัญญา เนื่องจาก สกพอ. ต้องมีหน้าที่ส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของ ทร. เพื่อให้การปฏิบัติตามสัญญาเป็นไปตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มาตรา 53
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เกี่ยวข้องกับโครงการอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน สกพอ. จึงควรมีมาตรการร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกองทัพเรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง ในกรณีการดำเนินการใดที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ จะต้องมีการหารือร่วมกันกับ สกพอ. ก่อนที่จะดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อมิให้ สกพอ. ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ นี้
- โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ มีความเกี่ยวข้องกับการเดินอากาศของประเทศตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ดังนั้น สกพอ. จึงควรมีมาตรการที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชนคู่สัญญา ให้ความร่วมมือระหว่างกันในการบริหารจัดการสนามบิน
อู่ตะเภาทั้งหมดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศอย่างถูกต้องและเคร่งครัด - มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เกี่ยวกับเรื่องยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การส่งมอบสินค้าปลอดอากรผ่านจุดส่งมอบสินค้า สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า ประเด็นการเจรจาเรื่องการยกเลิกหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การส่งมอบสินค้าปลอดอากรผ่านจุดส่งมอบสินค้า (Pick Up Counter) นั้น เป็นประเด็นทางธุรกิจซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะต้องเป็นผู้พิจารณาว่า สมควรกำหนดเป็นเหตุผ่อนผันหรือไม่ โดยหากคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่าเป็นเหตุผ่อนผัน ก็ชอบที่จะระบุในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ให้ชัดเจนตามผลการเจรจาซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดไม่มีข้อขัดข้อง
- เนื่องจากโครงการฯ ประกอบด้วยทางวิ่งที่สอง ซึ่งกองทัพเรือมีหน้าที่ต้องออกแบบและก่อสร้างและเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการและเนื่องจากอายุข้อเสนอจะสิ้นสุดลงในวันที่ 21 กันยายน 2563 ดังนั้น หาก สกพอ. จำเป็นที่จะต้องให้มีการลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และ ร่างสัญญาร่วมลงทุนแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้หลักประกันซองของผู้ยื่นข้อเสนอสำหรับการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ สิ้นสุดสภาพบังคับทางกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น การที่ สกพอ. จะกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ผูกพันที่จะให้สิทธิร่วมลงทุนแก่เอกชนคู่สัญญาจนกว่ารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนของทางวิ่งที่สองจะได้รับอนุมัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้มีการลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ได้ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนดังกล่าว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีข้อขัดข้อง
- การกำหนดเลขข้อ การอ้างอิงเลขข้อ หรือการใช้คำนิยาม (ข้อความตัวหนา) ในที่ต่าง ๆ ขอให้ตรวจสอบให้ถูกต้องด้วย เนื่องจากมีข้อความบางแห่งที่อ้างอิงเลขข้อ หรือระบุคำนิยามไว้ไม่ถูกต้องตรงกัน รวมทั้งให้ตรวจสอบคำศัพท์ภาษาอังกฤษและศัพท์ทางเทคนิคอื่นๆ ที่ใช้อ้างอิงให้มีความถูกต้องด้วย
- สกพอ. ต้องตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมในประเด็นทางด้านเทคนิค ด้านการเงินและทางธุรกิจ ในร่างสัญญาและในเอกสารแนบท้ายสัญญาต่างๆ รวมทั้งควรพิจารณาตรวจสอบเงื่อนไขในร่างสัญญาและเอกสารแนบท้ายสัญญา มิให้ขัดหรือแย้งกับมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการฯ หรือที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ และเอกสารข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอในสาระสำคัญด้วย
- คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ได้เชิญกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดที่มีต่อร่างสัญญาร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ก่อนลงนามในร่างสัญญาร่วมลงทุน เป็นไปอย่างรอบคอบและครบถ้วน ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ตกลงยอมรับร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและเจรจาเพิ่มเติมแล้ว และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
- ทร. มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ กห 0509/1369 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
นำส่งผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดต่อ สกพอ. เพื่อเสนอต่อ กพอ.
1) สกพอ. ได้ส่งร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อให้กรรมการ กพอ. พิจารณาให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการประชุม กพอ. มีกรรมการตอบมาทั้งหมด 18 ท่าน โดยประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ขอไม่รับเอกสารและไม่พิจารณาร่างสัญญาฯ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งนี้ มีกรรมการให้ความเห็นเพิ่มเติม 8 ท่าน ซึ่ง สกพอ. ร่วมกับที่ปรึกษาด้านกฎหมายได้จัดทำคำชี้แจงความเห็นเพิ่มเติมดังกล่าวทุกข้อแล้ว
2) กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้ สกพอ.
นำความเห็นของกรรมการต่อร่างสัญญาและความเห็นในที่ประชุมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาไปดำเนินการปรับปรุงร่างสัญญา พร้อมทั้งดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 และเห็นชอบให้ สกพอ. ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ตามที่นำเสนอในข้อ 2 โดยให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป
3) สกพอ. ได้นำความเห็นของกรรมการ กพอ. ต่อร่างสัญญาและความเห็นในที่ประชุม กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาไปดำเนินการปรับปรุงร่างสัญญาแล้ว (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3)
2. ภารกิจของฝ่ายรัฐที่จะต้องดำเนินการตามหลักการโครงการฯ
2.1 มติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตามมติของ กพอ. และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้
2.2 สกพอ. ทร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องแผนงานและการจัดเตรียมงบประมาณ สำหรับโครงการและกิจกรรมสำคัญ 9 เรื่อง ได้แก่ (1) การก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และการจัดทำรายงาน EHIA (2) การก่อสร้างทางเชื่อมโครงข่ายทางถนนสุขุมวิทและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (3) การดำเนินการด้านอุตุนิยมวิทยาการบิน (4) การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุเขตส่งเสริมเมืองการบินฯ (5) การทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดร่วมกัน (JUA) (6) การก่อสร้างหอบังคับการบินแห่งใหม่ (7) การจัดหาผู้ประกอบการสาธารณูปโภค (8) การรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทย และ (9) การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ/อนุญาต ซึ่ง กพอ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติดังนี้
- เห็นชอบให้กองทัพเรือดำเนินกระบวนการคัดเลือกผู้รับจ้างเพื่อมาก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับไปพลางก่อนระหว่างรอผลการพิจารณารายงาน EHIA แต่จะยังไม่ลงนามในสัญญาว่าจ้างกับผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือก จนกว่ารายงาน EHIA จะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อ กพอ. เห็นชอบแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป และให้กองทัพเรือร่วมกับ สกพอ. เร่งจัดทำรายงาน EHIA เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา
- เห็นชอบให้กรมทางหลวง เร่งดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมถนนสุขุมวิทกับอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ และให้กรมทางหลวงดำเนินการศึกษา วางแผนงานและวางแผนกรอบงบประมาณสำหรับการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมโยงอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่โดยตรงกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ให้แล้วเสร็จภายใต้กรอบระยะเวลาที่คณะทำงานบูรณาการการก่อสร้างกำหนด และให้กองทัพเรือสนับสนุนในเรื่องพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง
- เห็นชอบให้กองทัพเรือเป็นผู้ให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินประจำสนามบินอู่ตะเภา เพื่อนำเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในกรอบวงเงินไม่เกิน 390 ล้านบาท สำหรับดำเนินการปี 2564-2566 โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
- เห็นชอบให้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมจัดประโยชน์การเช่าที่ราชพัสดุเขตส่งเสริม : เมืองการบินภาคตะวันออก กรณีระยะเวลาการเช่าที่ดินมากกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี โดยให้แบ่งชำระเป็นงวดทุก 10 ปี โดยงวดที่ 1 ชำระในปีที่เริ่มการเช่า ในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สิน คูณ 10 ปี งวดถัดๆ ไปให้คิดเพิ่มร้อยละ 3 ต่อปี จากค่าธรรมเนียมที่ชำระในงวดที่ 1
- รับทราบการทำข้อตกลงการใช้ประโยชน์สนามบินอู่ตะเภาทั้งหมดร่วมกัน (Joint Use Agreement: JUA) ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกองทัพเรือ
- รับทราบการก่อสร้างหอบังคับการบินแห่งใหม่ โดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด
- รับทราบการจัดหาผู้ประกอบการสาธารณูปโภค โดยกองทัพเรือ ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ประกอบการระบบสาธารณูปโภคดังกล่าวถือเป็นการเช่าตาม มาตรา 53 วรรค 4 แห่ง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดย ทร. ไม่ถือว่าเป็นการร่วมลงทุน โดยผู้ประกอบการเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างตลอดระยะเวลาสัญญาเช่า และ สกพอ. จะเป็นผู้ให้เช่าที่ดินที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมฯ แก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้แก่ ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น และระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสีย ตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
- รับทราบการรื้อย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย โดยบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่ง สกพอ. อยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานกับการบินไทยเพื่อจัดทำแผนการ
รื้อย้ายศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาและย้ายอากาศยานปลดระวางที่จอดอยู่ในพื้นที่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ สกพอ. และ ทร. จะสนับสนุนการดำเนินงานในระหว่างการรื้อย้ายแก่การบินไทยตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป - รับทราบการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานอนุมัติ อนุญาตต่างๆ เช่น การอนุมัติเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม โดย สผ. การอนุมัติเกี่ยวกับใบรับรองต่างๆ ตามกฎหมายการเดินอากาศ ทั้งนี้ สกพอ. จะเป็นผู้ประสานงาน ติดตาม กำกับดูแล เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ สำเร็จตามเป้าหมายและกำหนดเวลา
เนื่องจากโครงการพัฒนาสนามบินฯ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเชิงพื้นที่และกระทบต่อความเป็นอยู่เดิมของประชาชนและกำลังพลของ ทร. ดังนั้นเพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาไปได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติดังนี้
3. รับทราบแผนการดำเนินงานสำรวจและเยียวยาประชาชนในพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาที่ได้รับผลกระทบตามแนวเส้นเสียงของโครงการฯ เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนในพื้นที่ โดย สกพอ. อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อสำรวจประชาชนในพื้นที่ รวมถึงแนวทางเยียวยา และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
4. รับทราบวัตถุประสงค์การบริหารกองทุนสวัสดิการกองทัพเรือ ดังนี้(1) เพื่อช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเมือง
การบินภาคตะวันออก
(2) เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่บุคคลในครอบครัวกองทัพเรือมีความรู้
เพียงพอที่จะประกอบอาชีพในพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออก
(3) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกองทัพเรือ
(4) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจกรรมด้านสุขภาพ สุขอนามัย และสวัสดิการ ให้แก่กำลังพลของกองทัพเรือและครอบครัว
(5) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์และการกุศล
(6) เพื่อบริหารจัดการโครงการและงานตามข้อ (1) – (5) ที่ดำเนินการโดยใช้เงินส่วนแบ่งรายได้ที่กองทัพเรือได้รับ
ทั้งนี้ การบริหารกองทุนสวัสดิการจะมีระเบียบกองทุน และข้อกำหนดในการใช้เงินส่วนแบ่งรายได้นี้ให้มีความถูกต้องตามวัตถุประสงค์ โดยมีหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ โดยมีผู้บัญชาการกองทัพเรือเป็นประธานกองทุน เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายในการบริหารเงินกองทุนได้อย่างเหมาะสม
4. การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานสำหรับการบริหารจัดการช่วงการก่อสร้าง เพื่อบูรณาการการดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ให้สอดคล้อง เชื่อมโยง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงต้องมีการประสานโครงการและบริหารสัญญาให้สอดคล้องกัน กพอ. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จึงมีมติดังนี้
1) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยให้ทำงานภายใต้กำกับของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และให้รายงานผลต่อ กบอ. เพื่อทราบเป็นระยะ และให้ กบอ. รายงานต่อ กพอ. เพื่อพิจารณาต่อไป
2) รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการการก่อสร้างภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ และการจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการก่อสร้างฯ ของ สกพอ. โดยความร่วมมือกับกองทัพเรือ มีหน้าที่ในการรับผิดชอบประสานงานบริหารโครงการก่อสร้างกับฝ่ายต่างๆ ภายใน ทร. และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอแนะและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับปัญหาด้านเทคนิค ควบคุมระยะเวลาให้สอดคล้องกันทุกโครงการ และจัดทำแผนการก่อสร้างแบบบูรณาการ
17. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 3 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งการรายงานในครั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ในการรายงานข้อมูลเพิ่มเติม จำนวน 5 ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการกองทัพไทย รวมจำนวนส่วนราชการทั้งหมดในระบบรายงาน 147 ส่วนราชการ โดยในครั้งนี้ มีส่วนราชการที่รายงาน 145 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 98 ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
ส่วนราชการร้อยละ 100 (145 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนราชการที่มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 20 (29 ส่วนราชการ) และส่วนราชการที่มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการได้ร้อยละ 50 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 57 (83 ส่วนราชการ) โดยมีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีส่วนราชการที่กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป เพิ่มขึ้น 7 ส่วนราชการ (เดิม 76 ส่วนราชการ)
2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 55 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ 7.30 – 15.30 น.เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น.
2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานรับ – ส่งเอกสารราชการ งานจัดเก็บภาษี และบางตำแหน่ง เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น
3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 57 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 64 Microsoft Team ร้อยละ 32 Cisco Webex ร้อยละ 25 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่นเดียวกับข้อมูลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีและ Application ในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ ควรจัดให้มีอุปกรณ์รองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
18. เรื่อง รายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
รัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีจำนวน 56 แห่ง โดยผลสัมฤทธิ์ฯ ของรัฐวิสาหกิจในสัปดาห์ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ (ปฏิบัติงานที่บ้านหรือที่พักหรือสถานที่ตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนด)
รัฐวิสาหกิจ 51 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งและมีรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และองค์การสุรา กรมสรรพสามิต ที่ให้พนักงานกลับมาปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามปกติแล้ว เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤษภาคม 2563) ทั้งนี้ จากจำนวนพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดจำนวน 300,174 คน มีพนักงานและลูกจ้างปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งจำนวน 77,212 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 26
2. การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของรัฐวิสาหกิจ
รัฐวิสาหกิจ 33 แห่ง ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานเหลื่อมเวลา โดยมีช่วงเวลาเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 6.00 น. – 10.30 น. เช่นเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า (ช่วงระหว่างวันที่ 11 – 15 พฤษภาคม 2563)
3. แนวทางการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ยังคงดำเนินนโยบายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง รัฐวิสาหกิจมีการติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานซึ่งรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีการกำกับ ติดตาม และบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นรายวันผ่านแอปพลิเคชัน Line ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบการติดตามงานและการลงเวลาปฏิบัติงานที่องค์กรพัฒนาขึ้นเอง โดยรัฐวิสาหกิจยังคงใช้แอปพลิเคชัน Line มาสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งว่า ควรเตรียมอุปกรณ์และระบบเพื่อรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เพียงพอ และควรพัฒนาระบบการปฏิบัติงานขององค์กรให้สามารถรองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ ซึ่งรวมถึงมีการจัดเก็บข้อมูลหรือเอกสารให้อยู่ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ควรพิจารณาลักษณะงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งเท่านั้น เช่น การให้บริการประชาชน และสำหรับงานอื่นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ควรพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งแทน
19. เรื่อง รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริงในรอบหกเดือนที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) ยังคงอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ กำหนด โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีดังนี้
กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมตรา 50 | กรอบที่กำหนด | สัดส่วนหนี้ ที่เกิดขึ้นจริง |
(1) สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ | ไม่เกินร้อยละ 60 | 41.69 |
(2) สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ | ไม่เกินร้อยละ 35 | 28.26 |
(3) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด | ไม่เกินร้อยละ 10 | 2.73 |
(4) สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ | ไม่เกินร้อยละ 5 | 0.18 |
20. เรื่อง การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนด ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศ ดังนี้
1.1 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่.. พ.ศ. .... เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
1.2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายระยะเวลาการยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่.. พ.ศ. .... เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดนที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
2. กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนด
การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่...... เพื่อผ่อนผันให้คนต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
3. หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สาระสำคัญ
1. เนื่องจากการผ่อนผันให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงาน ที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แต่มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่ามาตรการดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อเนื่องไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 เห็นชอบให้การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโรคเป็นวาระแห่งชาติดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่และภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคสิ้นสุดลง ซึ่งจะต้องฟื้นฟูประเทศในมิติต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนด้วย โดยจะต้องบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ให้ครอบคลุมทุกองคาพยพของประเทศ
2. กระทรวงแรงงานได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สรุปผลการประชุม กล่าวคือ ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในการขยายระยะเวลาผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ออกไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และร่วมกันพิจารณายกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยและร่างประกาศกระทรวงแรงงานประกอบการเสนอคณะรัฐมนตรี
3. กระทรวงแรงงานพิจารณาแล้วเห็นควรมีแนวทางการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี มีดังนี้
3.1 กลุ่มเป้าหมาย : เป็นคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ
1) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งถือหนังสือเดินทาง
หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่วาระการจ้างงานครบสี่ปี และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อน หรือในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
2) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดน ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางออก นอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
3.2 ลักษณะการดำเนินการ : เป็นการขยายระยะเวลาการผ่อนปรนให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ต่อไป
3.3 ระยะเวลา : อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
3.4 หลังสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง
ผลกระทบ
1. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศ
คู่ภาคี เป็นการลดความเสี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ใหม่ จากแรงงานที่เดินทางเข้ามาใหม่ และเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 คลี่คลายลง
2. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี เป็นการลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากวาระการจ้างงานครบกำหนดแต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เป็นการลดสภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการนายจ้าง ที่ยังคงมีความต้องการและมีความประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวเหล่านั้นต่อไปแต่ไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการปกติได้ในสถานการณ์ที่มีภัยคุกคาม
3. การขยายระยะเวลาการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว
และการทำงานให้กับคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี เป็นมาตรการเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน เป็นการลดความวิตกกังวลและความตื่นตระหนกในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมถึงยังเป็นไปตามพื้นฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการดำเนินการชั่วคราวตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19
ทั้งนี้ คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงแรงงาน ที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ดังนี้
1. คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานจะครบ 4 ปี ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประมาณ 44,222 คน (กัมพูชา 19,199 คน ลาว 4,541 คน เมียนมา 20,482 คน)
2. คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป – กลับ หรือแบบตามฤดูกาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งครบวาระการจ้างงานหรือการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุดในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 ประมาณ 64,364 คน (กัมพูชา 36,738 คน เมียนมา 27,626 คน)
คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานจะครบ 4 ปี ในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ประมาณ 39,800 คน (กัมพูชา 12,965 คน ลาว 3,868 คน เมียนมา 22,967) และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป – กลับ หรือแบบตามฤดูกาล ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งวาระการจ้างงานหรือการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลงในช่วงเดือนมิถุนายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ประมาณ 28,208 คน (กัมพูชา 16,336 คน เมียนมา 11,872 คน)
ต่างประเทศ |
คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และรับทราบข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินแผนงาน GMS และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โดยประสานกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายถาวร เสนเนียม) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ภายใต้หัวข้อหลักคือ “เพื่อการบูรณาการที่ขยายเพิ่ม มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค GMS” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. สาระสำคัญของการประชุมรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและรับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้
เห็นชอบ
1. แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS
2. ร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนงาน GMS ในระยะปี 2573 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ คือ “เป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง และมุ่งกระจายผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม”
3. แผนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนร่างกรอบยุทธศาสตร์ใหม่ฯ โดยเน้น 3 หัวข้อหลัก คือ (1) การผลิตเชิงอุตสาหกรรม และบทบาทของ GMS ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (2) บทบาทของเมืองในภูมิภาคเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน GMS และ (3) การพัฒนาเชิงพื้นที่ และนัยต่อการพัฒนา GMS ในอนาคต
4. รายงานความก้าวหน้าและการปรับปรุงครั้งที่ 2 กรอบการลงทุนของภูมิภาค ปี 2565 ประกอบด้วยแผนงาน/โครงการลงทุนในอนุภูมิภาค GMS จำนวน 255 โครงการ มูลค่ากว่า 92.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.87 ล้านล้านบาท) โดยของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 89 โครงการ มูลค่ารวม 22.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.95 แสนล้านบาท) เช่น โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ในประเทศ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
5. รับทราบยุทธศาสตร์สาขาความร่วมมือด้านสุขภาพปี 2562-2566 โดยเสนอให้จัดตั้งสาขาความร่วมมือใหม่ในแผนงาน GMS ด้านสาธารณสุขเพื่อมุ่งเคลื่อนย้ายทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับการพัฒนาในด้านสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น
รับทราบ
1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น การเริ่มออกใบอนุญาตขนส่งสินค้าจำนวน 500 คัน ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) การเสริมสร้างความเข้มแข็งความมั่นคงทางอาหาร การมุ่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการมุ่งสร้างเสริมระบบสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ
2. รายงานของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย
2.1 รายงานของภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดย (1) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ ผ่านการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบใหม่ (2) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างปลอดภัย (3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลและการค้าออนไลน์ และ (4) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่การดำเนินโครงการต่างๆ
2.2 รายงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยประเด็นที่มีพลวัตมากที่สุด คือ เร่งส่งเสริมการขนส่งข้ามพรมแดน และมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความเท่าเทียมกัน (2) การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ และ (3) การส่งเสริมมาตรฐานการขนส่งในกลุ่มประเทศ GMS
3. การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 24 และเวทีหารือการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 11 จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
2. ข้อเสนอแผนการดำเนินงานในระยะเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการดำเนินแผนงาน GMS ได้แก่
การดำเนินงาน
- เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในทุกรูปแบบ พัฒนาด่านพรมแดนโครงสร้างพื้นฐานพลังงาน และเร่งพัฒนาเนื้อหาและแพลตฟอร์มที่ทันสมัยเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- เร่งรัดดำเนินงานในระยะแรกเริ่มภายใต้ความตกลง CBTA รวมทั้งเร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการเพิ่มจำนวนเส้นทางจุดผ่านเข้าออกของคนและสินค้าภายใต้ความตกลง CBTA
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง
- เตรียมความพร้อมเพื่อเชื่อมโยงและขยายฐานการผลิตร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และมุ่งกระจายผลประโยชน์เนื่องมาจากการพัฒนาพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
- จัดการผลกระทบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ และร่วมหารือในเรื่องการป้องกันการค้ามนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงานผิดกฎหมาย
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน
- ขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รวมทั้งประสานและผลักดันการพัฒนาเมืองตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงมหาดไทย
- ขับเคลื่อนคณะทำงานสาขาความร่วมมือด้านสุขภาพ เช่น เร่งหารือร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ ร่วมพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อเชื้อโรคอุบัติใหม่
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงสาธารณสุข
- ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานของไทยในการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
หน่วยงานที่รับผิดชอบ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
22. เรื่อง การขอความเห็นชอบต่อร่างเอกสารในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโรคโควิด-19
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 และ ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงพาณิชย์ขอเสนอเอกสารจำนวน 2 ฉบับ ที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษและการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ดังนี้
1. ร่างแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตาม “ปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19)” ออกโดยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 มอบหมายให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน โดยแผนปฏิบัติการฮานอยฯ ประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วน ได้แก่ (1) ขอบเขตความร่วมมือ - ดำเนินความร่วมมือเพื่อให้มั่นใจว่าการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น รวมทั้ง อาหาร ยา เครื่องมือทางการแพทย์ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้รับมือการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นไปอย่างราบรื่น และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับมาตรการด้านการค้าในสินค้าและอุปกรณ์ดังกล่าวระหว่างกัน (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็ง - สร้างความมั่นใจว่าการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแต่การดำเนินการระยะสั้น แต่รวมถึงความพยายามที่จะมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้เข้มแข็งในระยะยาว (3) กลไกเชิงสถาบัน – แต่งตั้งผู้ติดต่อประสานงานระดับประเทศเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการฮานอยฯ
2. ร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการนำถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ เรื่อง โควิด-19 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 มาหาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งร่างถ้อยแถลงฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง และสร้างความเชื่อมั่นว่ามาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคกับการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทาน จะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โปร่งใส ชั่วคราว สอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลกและไม่ก่อให้เกิดข้อจำกัดทางการค้าในภูมิภาคโดยไม่จำเป็นหรือส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็นในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการแสวงหามาตรการอำนวยความสะดวกที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตนี้ สนับสนุนภาคธุรกิจให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการค้าดิจิทัล และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกันภายในภูมิภาค
แต่งตั้ง |
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นางอังคณา วงษ์ประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กลุ่มที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จำนวน 5 คน ตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562) ดังนี้ 1. นายอนุชิต อนุชิตากูล 2. นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร 3. นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม 4. นายอภิชาติ ชินวรรโณ 5. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายเทวัญ ลิปตพัลลภ) ในฐานะประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร จำนวน 39 คน ตามมติคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบวาระสามปี ดังนี้
1. สาขาการแพทย์และสาธารณสุข
1.1 ศาสตราจารย์เฉลิม หาญพาณิชย์
1.2 ศาสตราจารย์บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ
1.3 พลโท ศาสตราจารย์คลินิกภานุวิชญ์ พุ่มหิรัญ
1.4 ศาสตราจารย์ยง ภู่วรวรรณ
1.5 ร้อยตำรวจเอก รุ่งเรือง กิจผาติ
2. สาขาต่างประเทศ ความมั่นคง และการเมือง
2.1 นายดนัย มู่สา
2.2 นายบรรสาน บุนนาค
2.3 พลเอก วิทยา จินตนานุรัตน์
2.4 พลโท สุขสันต์ สิงหเดช
3. สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตร
3.1 นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช
3.2 นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี
3.3 นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม
3.4 ศาสตราจารย์สมชาติ โสภณรณฤทธิ์
3.5 นายอดิทัต วะสีนนท์
4. สาขาเศรษฐกิจและการคลัง
4.1 นายเกริกพงษ์ เกสรทอง
4.2 นางชลิดา พันธ์กระวี
4.3 นางดวงตา ตันโช
4.4 นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ
4.5 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ
5. สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย
5.1 พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์
5.2 นางสาวจันทจิรา เอี่ยมมยุรา
5.3 นายเชิดศักดิ์ เจนวรากุล
5.4 นายณอคุณ สิทธิพงศ์
5.5 ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
5.6 นายนที ทับมณี
5.7 นายนิรวัชช์ ปุณณกันต์
5.8 นายนนทิกร กาญจนะจิตรา
5.9 นายธนกฤต วรธนัชชากุล
5.10 พลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์
5.11 นายพิรุฬ เพียรล้ำเลิศ
5.12 นายพีระศักดิ์ ศรีรุ่งสุขจินดา
5.13 นายมานะ วีระอาชากุล
5.14 ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณภา ติระสังขะ
5.15 พลตำรวจโท วราวุธ ทวีชัยการ
5.16 นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส
5.17 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์
5.18 ผู้ช่วยศาสตราจารย์อดิศร เนาวนนท์
5.19 ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์
5.20 นางอัจฉรา อุณหเลขกะ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นายเจริญ แซ่เต็ง และ นายสมพงษ์ ปู่เพ็ง ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายพิชิต อัคราทิตย์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป
..........................................
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ