นักวิจัย มช. พบมีการใช้ 'ยาปฎิชีวนะคน' ฉีดป้องกันใน 'สวนส้ม' บางแห่งที่เชียงใหม่

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 9871 ครั้ง

นักวิจัย มช. พบมีการใช้ 'ยาปฎิชีวนะคน' ฉีดป้องกันใน 'สวนส้ม' บางแห่งที่เชียงใหม่

นักวิจัย มช.เปิดผลวิจัยสวนส้มบางแห่งใน จ.เชียงใหม่ ที่นำยา 'แอมพิชิลลิน' ยาปฎิชีวนะที่ใช้ในคนมาฉีดป้องกันในสวนส้ม สามารถตกค้างได้นานถึง 90 วัน โดยมีปริมาณตั้งแต่ 20-800 พีพีบี (ส่วนในพันล้านส่วน) พบมากในผลส้ม ไม่อันตรายในคน ต้องกินส้ม 100 กก.ถึงจะเกิน แต่ยังไม่ฟันธงว่าจะส่งผลต่อสุขภาพคน | ที่มาภาพประกอบ: Suanpa (Pixabay License)

ThaiPBS รายงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2562 ว่ารศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า หลังจากคณะเภสัชศาสตร์ได้ติดตามปัญหาเกษตรกรสวนส้มใช้สารปฏิชีวนะแอมพิซิลลิน ซึ่งเป็นยาปฎิชีวนะที่ใช้ในคน มาแก้ปัญหาโรครากโคนเน่าในสวนส้มเขียวหวาน มานานนับ 10 ปีแล้ว

ทีมวิจัยกังวลถึงผลกระทบต่อการตกค้างของยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินที่ฉีดเข้าลำต้นส้มเขียวหวาน จึงทดสอบในพื้นที่สวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่ายังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะศึกษาถึงการตกค้างในผลส้มตั้งแต่ระดับ 18-300 พีพีบี (ส่วนในพันล้านส่วน) โดยปริมาณดังกล่าวถือว่าน้อยมากหากเทียบกับกินยาปฏิชีวนะ 1 เม็ดในคนที่มีปริมาณสูงในระดับมิลลิกรัม

"ผลตรวจวิเคราะห์พบว่าหลังจาก 1 วันแรกที่ฉีดสารแอมพิซิลลิน จนถึง 1 สัปดาห์ พบว่ามียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อส้ม 18-300 พีพีบี (หนึ่งส่วนในพันล้านส่วน) แต่ขึ้นกับปริมาณการใช้ แต่หลังผ่านไป 90 วันจะลงลง 20 พีพีบี"

นักวิจัย กล่าวว่าสำหรับการใช้ยาแอมพิซิลลิน ส่วนใหญ่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาคนมาแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำประมาณ 30 แคปซูลต่อปริมาณน้ำ 15 ลิตร นำไปฉีดพ่นที่ต้นส้มเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งระหว่างการฉีดพ่นอาจจะมีตัวยาที่คนสูดละอองเข้าไป แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบแบบสารเคมีอันตรายอื่นๆ แต่ในกลุ่มที่แพ้ยาฆ่าเชื้อกลุ่มนี้ก็อาจจะเกิดผลในระยะยาว

นักวิจัย กล่าวว่า ผลการทดลองให้ผลไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นส้มที่ผ่านการให้ยาปฏิชีวนะมาแล้วมากกว่า 5 ครั้ง หรือต้นส้มที่เพิ่งให้ยาปฏิชีวนะในครั้งแรก ทั้งนี้เนื่องมาจากต้นส้มเขียวหวานไม่มีระบบเมแทบอลิซึมในการกำจัดสารปฏิชีวนะเหมือนร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือการฉีดสารปฏิชีวนะในครั้งต่อไปควรเว้นระยะให้นานกว่า 90 วัน

"แม้ว่าจะยังไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดว่าจะมีอันตรายหรือส่งผลให้เกิดการดื้อยาในคน งานวิจัยไม่ได้ต้องการให้คนตื่นตระหนกว่ามีสารปฎิชีวนะตกค้างในส้ม จนคนไม่กล้ากิน แต่ยังจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นให้เกษตรกรสวนส้ม"

รศ.ดร.ภญ.บุษบัน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมว่าสิ่งแวดล้อมในจุดที่พบยาปฎิชีวนะ เช่น แหล่งน้ำ เชื้อจุลินทรีย์ในดิน จะทำให้ศึกษาแบคทีเรียในดินที่อยู่รอบลำต้นส้มจากสวนส้มที่ผ่านการใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานาน และสวนที่เพิ่งใช้ยาปฏิชีวนะครั้งแรก พบว่าสวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูง

ขณะที่ ผศ.ดร.ภก.เฉลิมพงษ์ แสนจุ้ม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่อยากให้คนกังวลจนเลิกกินส้ม ยังยืนยันว่ากินส้มได้ปลอดภัย เพราะถ้าจะมีปริมาณยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินในระดับที่เกินมาตรฐานในผลิตภัณฑ์อาหาร ที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ดังนั้นเทียบได้ว่าอาจต้องกินส้มเป็น 100 กิโลกรัมในคราวเดียวกัน

"แต่ที่ห่วงคือเรื่องสิ่งแวดล้อมในสวนส้ม ที่เริ่มพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในน้ำ ดิน และต้นส้ม ซึ่งห่วงโซ่อาหารเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียที่อาจถ่ายทอดมาสู่คนได้ เพราะมีแบคทีเรียบางชนิดที่เข้าสู่ร่างกายคนผ่านระบบทางเดินอาหาร แต่ยังต้องมีการวิจัยเชิงลึกเพิ่มเติม"

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่าปริมาณผลผลิตส้มเขียวหวานในปี 2553 มีปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 อันเนื่องมาจากผลผลิตส้มของประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาส้มเขียวหวานตกลงมาก อีกหนึ่งปัจจัยคือการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าอย่างรุนแรงในประเทศไทย ทำให้เกษตรกรหันมาใช้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานวิจัยพบว่า ผลการทดสอบเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างน้ำส้มสดและน้ำส้มบรรจุกล่อง พบจุลินทรีย์จำนวน 4 สายพันธุ์ที่ดื้อยาปฏิชีวนะ โดยในประเทศจีนพบจุลินทรีย์ที่มียีนดื้อยาปฏิชีวินะตั้งแต่ปี 2557 ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา ตรวจพบในเดือน พ.ค.2559 ที่ผ่านมา

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: