‘ชุมชน’ ป้อมปราการต้าน COVID-19​: EP1 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์จัดการตนเอง

ทีมข่าว TCIJ | 3 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 6108 ครั้ง

นอกจากการเฝ้าจับตาการนำเสนอตัวเลขและมาตรการต่าง ๆ ในส่วนกลางแล้ว ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงรับดับหมู่บ้าน TCIJ ได้ค้นพบว่าก็มีความน่าสนใจไม่น้อยด้วยเช่นกัน ในตอนแรกนี้ขอนำเสนอความตื่นตัวของพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา | ที่มาภาพประกอบ: สวท.แม่สะเรียง

ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก จุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยที่สำคัญคือ หลังวันที่ 14 มี.ค. 2563 ที่ประเทศไทยมีผู้ป่วย COVID-19 แตะหลักร้อยราย (114 ราย) ต่อมาในวันที่ 21 มี.ค. กทม. และ 5 จังหวัดปริมณทล ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มี.ค. - 12 เม.ย. 2563 จากนั้นหลายจังหวัดในประเทศไทยก็เริ่มทยอยประกาศปิดสถานที่ต่าง ๆ ตามมา

สถานการณ์ยิ่งดูรุนแรงขึ้นในวันที่ 22 มี.ค. 2563 ที่เป็นครั้งแรกที่มีการยืนยันผู้ป่วยในวันเดียวเป็นหลักร้อย (188 รายในวันเดียว) เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผลวันที่ 26 มี.ค.-30 เม.ย. 2563 (ต่อมามีการยืดประกาศไปจนถึง 31 พ.ค. 2563) และการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา (ณ วันที่ 4 พ.ค. 2563 ยังคงมีการประกาศเคอร์ฟิวอยู่)

ทั้งนี้นอกจากการเฝ้าจับตาการนำเสนอตัวเลขและมาตรการต่าง ๆ ในส่วนกลางแล้ว ความเคลื่อนไหวในระดับภูมิภาค ท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงรับดับหมู่บ้าน TCIJ ได้ค้นพบว่าก็มีความน่าสนใจไม่น้อยด้วยเช่นกัน

โดยในตอนแรกนี้จะขอนำเสนอความตื่นตัวของพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา

กลางเดือน มี.ค. 2563 กลุ่มชาติพันธุ์บนดอย เริ่มประกาศปิดหมู่บ้าน

หมู่บ้านชนเผ่าชาติพันธุ์หลายหมู่บ้านในภาคเหนือ ทยอยปิดชุมชน ห้ามคนในออก-คนนอกเข้า ด้วยพิธีกรรมโบราณ 'เกราะหยี่' หรือ 'พิธีปิดหมู่บ้าน' เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ปัจจุบัน พบว่าหนุ่มสาวชาวชาติพันธุ์ได้เดินทางไปเรียนต่อและทำงานนอกหมู่บ้าน เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ขึ้น จึงพากันทยอยเดินทางกลับบ้าน ชาวบ้านกับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงจับมือทำงานร่วมกัน เพื่อสื่อสารเรื่องการกักตัวและวิธีรับมือต่าง ๆ [1]

รวมถึงการ ‘ปิดหมู่บ้าน’ เพื่อป้องกันการระบาดในชุมชน โดยตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. 2563 ก่อนที่หลายจังหวัดจะมีการประกาศปิดสถานที่ และก่อนที่จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network: IMN) รายงานว่าเกิดปรากฏการณ์ที่ชาวชาติพันธ์บนดอยหลายชุมชน เริ่มตื่นตัวทยอยปิดชุมชน ห้ามคนในออก-คนนอกเข้า ด้วยพิธีกรรมโบราณ ‘เกราะหยี่’ หรือ พิธีปิดหมู่บ้าน [2]

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอย่างชุมชนกระเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นประจำไม่ขาดสายในทุกฤดูกาล ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านทุก ๆ คน ชาวบ้านจึงได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้ปิดชุมชนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 เป็นต้นมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่มาจากกลุ่มเสี่ยงและเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรค COVID-19 เข้าสู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง [3]

การปิดหมู่บ้านในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.แม่ลาน้อย จ.มาฮ่องสอน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ต่อมาในวันที่ 26 มี.ค. 2563 มีรายงานว่าภายหลังจากที่เกิดข่าวการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ประกอบกับมีพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านและในพื้นที่ใกล้เคียง เดินทางกลับมาจากกรุงเทพ และต่างจังหวัด ทำให้เกิดความหวาดกลัว หมู่บ้านบนดอยกว่า 15 หมู่บ้าน ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย บางส่วนได้ทยอยปิดการเข้าออกหมู่บ้าน เช่นเดียวกับบ้านห้วยหนองหวาย หมู่ที่ 10 ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการประชุมและมีมติทำการปิดหมู่บ้าน จัดเวรยามตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามบุคคลภายนอกเข้า-ออก หมู่บ้าน เพื่อป้องกันโรคระบาด รวมทั้งหน่วยงานราชการทุกหน่วย และหากมีญาติมาจากต่างจังหวัด ให้กักตัวภายในบ้านห้ามออกจากบ้าน โดยเด็ดขาดภายใน 14 วัน นอกจากนี้ยังมีในพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมี 12 หมู่บ้านที่ทำการปิดไม่ให้บุคคลเข้าออก ซึ่งหลายหมู่บ้านใน จ.แม่ฮ่องสอน ปิดหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรคแล้วหลายแห่ง [4]

29 มี.ค. 2563 ชุมชนชาวลาหู่ หมู่บ้านส้มป่อย หมู่ที่ 5 หมู่ 8 บ้านห้วยปลาหลด และ หมู่ 4 บ้านพะกา (ชาวกะเหรี่ยง) ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ทำการปิดหมู่บ้านไม่ต้อนรับบุคคลภายนอก โดยชาวบ้านจะใช้ไม้ไผ่ตีเป็นแผงกั้นปิดทางเข้า- ออกของหมู่บ้านไม่ให้บุคคลภายนอกและบุคคลภายในเดินผ่านเข้าออกหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด พร้อมจัดเวรยามเฝ้าตลอดเวลา เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด COVID-19

ทั้งนี้ ชาวบ้านหมู่บ้านส้มป่อยและบ้านห้วยปลาหลด กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หมู่บ้านส้มป่อยและบ้านห้วยปลาหลดได้มีการประชุมหารือกันว่ากลัวไวรัสโควิด -19 เป็นอย่างมากเพราะมาใกล้ตัวแล้ว ซึ่งใน จ.ตาก มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 2 ราย แต่ชาวบ้านที่เป็นพ่อค้าและแม่ค้ายังไปขายของในเมืองกัน ฉะนั้นทางคณะกรรมการหมูบ้านจึงใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดคือปิดหมู่บ้านไปเลย คนไหนที่ยังไปขายของนอกหมู่บ้านจะไม่ให้เข้าในหมู่บ้านเลย คนไหนฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 5,000 บาทเพื่อป้องกันไม่ให้ COVID-19 แพร่ระบาด

สำหรับการปิดหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ใน ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก นอกจากหมู่บ้านส้มป่อยแล้วยังมีหมู่บ้านห้วยปลาหลด บ้านพะกา หมู่ 4 หมู่บ้านใหม่และยังมีหมู่บ้านลีซูอีกเผ่าที่อยู่ดอยมูเซอเหมือนกันปิดหมดทุกหมู่บ้านเพื่อป้องกันเชื้อ COVID-19 ไม่ให้มาแพร่ระบาดบนหมู่บ้านที่บนดอย [5]

ทั้งนี้เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ยังได้จัดทำแผนที่การปิดหมู่บ้านตามความเชื่อป้องกัน COVID-19 บางส่วน อัพเดทไว้ด้วย

‘เกราะหยี่’ พิธีกรรมปกป้องชุมชนของชาวกะเหรี่ยง

ภาพระหว่างการประกอบพิธีเกราะหยี่ | ที่มาภาพ: มานพ คีรีภูวดล (อ้างใน: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง)

เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า ดร. ประเสริฐ ตระการศุภกร นายกสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ วุฒิ  บุญเลิศ นักวิชาการชาวกะเหรี่ยง ได้อธิบายความหมายและที่มาของพิธีกรรม ‘เกราะหยี่’ นี้ว่า คำว่า ‘เกราะ’ แปลว่า ‘ปิด-กั้น-หรือปกป้อง’ ส่วนคำว่า ‘หยี่ หรือ หี่” แปลว่าหมู่บ้าน บางแห่งเรียก ‘เกราะแกล๊ะ’ หมายถึง ‘ปิดถนน’ เพราะส่วนใหญ่จะทำพิธีบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน การประกอบพิธีลักษณะนี้มีขึ้นใน 2 กรณี คือเป็นพิธีประจำปี เรียกอีกอย่างว่า ‘บัวหยี่ บัวฆอ’ เป็นการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน โดยกำหนดปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเป็นระยะเวลา 3 วัน 7 วัน หรือ 9 วัน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละชุมชน ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่บ้างที่ชุมชนกะเหรี่ยงทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน  ส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ ระหว่างที่ปิดหมู่บ้านหากมีคนนอกเผลอเข้าไป ก็จะต้องอยู่ในชุมชนจนกว่าจะครบกำหนด

ส่วนพิธีปิดหมู่บ้านที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นพิธีใหญ่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  มักใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันหลายคน เกิดโรคระบาดที่รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนก็จะทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กัน พบว่าเคยมีการประกอบพิธีเช่นนี้เมื่อประมาณ 70 ปี ที่แล้ว สมัยที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ระดับความตึงเครียดของพิธีปิดหมู่บ้านจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หากติดแค่ ‘ตะแหลว’ หรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยมยังไม่ถือว่าเหตุการณ์รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่กรณีที่มีหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลมประดับไว้ด้วย นั่นหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด เช่น การระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ [6]

 

จุดแข็งของชุมชน

ธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ที่ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพิ่งครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี ไปเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

แม้ชุมชนชุมชนกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ส่วนใหญ่อยู่บนดอย ทุรกันดาร และห่างไกลจากห้างสรรพสินค้าหรือตลาด ที่สำคัญอาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้ออาหารกักตุนไว้มากเท่าไหร่นัก แล้วพวกเขาจะอยู่กันอย่างไรเมื่อต้องปิดชุมชนนานหลายสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือน

ประเด็นนี้ ดร. ประเสริฐ ตระการศุภกร ยกกรณีตัวอย่างหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่บ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ยังมีระบบการผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร สามารถผลิตอาหารเลี้ยงชุมชนตนเองได้ตลอดทั้งปี กล่าวคือ มีไร่ข้าว มีพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล มีแหล่งน้ำบริโภค มีการใช้ฟืนเป็นพลังงาน แม้จะไม่มีไฟฟ้าใช้ก็สามารถอยู่ได้ เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารเก็บหาจากแปลงเพาะปลูก หรือจากป่าใช้สอยของชุมชน ไม่ต้องกลัวของเน่าเสีย เพราะป่าก็เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นหากสถานการณ์แย่ลงและต้องปิดชุมชนจริง ตนเชื่อว่าชาวบ้านแห่งนี้สามารถอยู่ได้เป็นปี อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ต้องพึ่งพาชุมชนข้างนอกบ้าง เช่น เกลือ เป็นต้น [7] [8]

นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่บนดอยอย่างบ้านป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนชาวลั๊วะ ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบของ ‘ธนาคารข้าว’ มาครบ 50 ปีแล้วอีกด้วย [9]

โดย 'ธนาคารข้าว' นั้นเป็นโครงการในเชิงการให้สวัสดิการสังคม เชิงกระจายรายได้ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ มีแหล่งข้าวกลางของหมู่บ้านที่สามารถกู้ยืมไปบริโภคหรือทำพันธุ์ โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตราซึ่งต้องเสียให้แก่พ่อค้าคนกลางเป็นอันมาก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการอดอยากขาดแคลน ช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ และระดับรายได้ของเกษตรกรที่ยากจน [10]

ปัจจุบัน มีธนาคารข้าวที่จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ มากกว่า 4,300 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 57 จังหวัด จำนวนข้าวหมุนเวียนในธนาคารข้าวมากกว่า 14.5 ล้านกิโลกรัม  ประชาชนมีแหล่งข้าวกลางของหมู่บ้านที่สามารถกู้ยืมไปบริโภคหรือทำพันธุ์ และเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตราที่ต้องเสียให้แก่พ่อค้าคนกลาง จากการดำเนินกิจกรรมธนาคารข้าว ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันใน จุดเล็ก ๆ ที่พร้อมจะเติบโตต่อไป [11]

 

นอกจากเรื่องอาหารในการดำรงชีวิตแล้ว เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ชุมชนยังมีฐานองค์ความรู้เดิมในการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ดร.ประเสริฐ เห็นว่าการติดตามข้อมูลข่าวสาร และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารยังมีความจำเป็นอย่างมาก และสิ่งที่น่าห่วงคือชุมชนหันไปพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ทำให้หลายแห่งสูญเสียศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง [12]

ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง ชุมชนชาติพันธุ์เองก็ได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตไม่ต่างกัน โดยนักวิชาการชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าหากสถานการณ์ COVID-19 นี้ยาวนาน วิกฤตอาจจะพลิกเป็นโอกาสน่ายินดีอย่างหนึ่ง ชุมชนจะหันมาฟื้นคืนการผลิตเพื่อบริโภคมากขึ้น

“ผมคุยกับผู้ใหญ่บ้าน งงกับสถานการณ์เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด เป็นเรื่องหนักใจสำหรับทุกคน หมู่บ้านที่ตัดสินใจปิดแล้วเพราะกลัวเรื่องโรค อาจจะค้าขายกับเมืองน้อยลง แต่หมู่บ้านประเภทผสมผสานและแบบสมัยใหม่อาจจะต้องเข้า ๆ ออก ๆ ทำมาหากินกับข้างนอก เราอาจจะต้องมีกระบวนการติดตามตรวจสอบคนเดินทางเข้าออกหมู่บ้าน จะปิดไปเลยก็คงยาก”

“กะเหรี่ยงมีคำพูดหนึ่งพูดว่า ‘เวลาเราทำงาน เราทำ เวลาเรากิน เรากินแบบราชา’ กินแบบราชาคือกินแบบเป็นเจ้าของ ผมนึกถึงคำของฝรั่ง Food Sovereignty อธิปไตยทางอาหาร เป็นกระบวนการที่เจ้าของชุมชนเป็นคนดูแลอาหารเอง” ดร. ประเสริฐ ตระการศุภกร นายกสมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 [13]

สู่การแบ่งปันพี่น้องในชุมชนเมือง

ทั้งนี้หลังการประกาศปิดสถานที่ในจังหวัดต่าง ๆ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จวบจนมาถึงการประกาศเคอร์ฟิวส์ เวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา พบว่าประชาชนโดยเฉพาะในชุมชนเมืองนั้นได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยเหลือของภาครัฐ เอกชน และประชาชนในเมืองด้วยกันแล้ว ยังพบว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ได้นำผลผลิตทางการเกษตรจากบนดอยลงมาช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือนร้อนในเมืองด้วย ตัวอย่างเช่น

พี่น้องชนเผ่าม้งนำกะหล่ำปลีบรรทุกท้ายรถกระบะ มาแจกฟรีให้กับพี่น้องประชาชนใน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ | ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์

16 เม.ย. 2563 ที่ริมถนนโชตนาหน้าสถานีวิทยุ ร.ด.หนองฮ่อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีพี่น้องชนเผ่าม้งนำกะหล่ำปลีบรรทุกท้ายรถกระบะ มาแจกฟรีให้กับพี่น้องประชาชน ที่สัญจรผ่านไปมาเพื่อนำไปปรุงอาหารรับประทาน สู้ภัยวิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19

นายสมคิด เลาหาง กำนัน ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าน้ำใจชาวสวนสู่ชาวเมือง พี่น้องในเมืองถือเป็นลูกค้าหลักของตลาดการเกษตร ตอนนี้พี่น้องต่างเดือดร้อนเรื่องอาหารการกินขัดสน กลุ่มผู้ปลูกผักบนดอย ต่างเห็นใจและผลผลิตก็ล้นดอยจะขนส่งไปขายไกล ๆ ก็ไม่คุ้มค่าเดินทางลำบากเสี่ยงต่อโรคภัย จึงได้นำของลงดอยมาจ่ายแจกแบ่งกันทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หวังว่าผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ โดยกะหล่ำปลีที่นำมาแจกในวันนี้เป็นการรวบรวมมาจากชาวสวนที่น้องชนเผ่าม้งเพื่อนำมาแจกให้ประชาชนฟรีหลายจุดในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 10 ตัน เพื่อกระจายให้ทั่วถึง [14]

พี่น้องชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้งและชาวกะเหรี่ยง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ นำพืชผลทางการเกษตรลงมาแจกในตัวเมือง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ | ที่มาภาพ: เชียงใหม่นิวส์

22 เม.ย. 2563 ที่บริเวณลานที่ว่าการ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ อบต.แม่วิน นำโดย นางเกศรินทร์ ตุ่นแก้ว นายก อบต.แม่วิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และพี่น้องชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้ง และชาวกะเหรี่ยง นำพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกบนยอดดอย ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำปลี ต้นหอม ผักกาดขาว แครอท มะเขือเทศ หัวไชเท้า และข้าวสารดอย พร้อมทั้งข้าวสารอาหารแห้ง ไข่ไก่ มาแจกพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาช่วง COVID-19 นี้ จำนวนกว่า 6 ลำรถ โดยมีชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงมารับของแจกดังกล่าว [15]

ผลผลิตทางการเกษตรจาก 'ธนาคารข้าว' ชุมชนป่าแป๋ ต.ป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

วันที่​ 28​ เม.ย.​ 2563​ นายอำเภอแม่สะเรียง​ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง​ พร้อมด้วยกรรมการสมาชิกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง​ รับมอบข้าวสาร 1,700 ลิตร ผักรวมน้ำหนัก 200 กว่ากิโลกรัม และผักปลอดสารพิษ จากชาวบ้าน ต.ป่าแป๋​ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ​ ในพื้นที่ตัวเมือง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้บ้านป่าแป๋เป็นที่ตั้งของธนาคารข้าวแห่งแรกของไทย จากเหตุที่ในช่วงปี 2499-2508 ชุมชนป่าแป๋ เกิดภาวะขาดแคลนข้าวอย่างหนัก ต้องหยิบต้องยืมเงินซื้อโดยเสียดอกเบี้ยสูงมากจนไม่มีทางจะชำระหนี้ได้หมด ธนาคารข้าวที่ตั้งขึ้นนี้คิดดอกเบี้ยต่ำขนาดชาวบ้านสามารถใช้คืนได้ในฤดูเก็บเกี่ยวครั้งต่อไป [16]

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] ไม่มีใครกังวลเรื่องกักตุนข้าว ส่องวิถีเกษตรหมู่บ้านกะเหรี่ยงในวันที่โควิดระบาด (ณิชา เวชพานิช, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, 27 มี.ค. 2563)
[2] ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ “เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน” สู้โควิด 19 (เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, 17 มี.ค. 2563)
[3] กระเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า ประกาศปิดชุมชนการท่องเที่ยวชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23-31 มี.ค.63 นี้ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 23 มี.ค. 2563)
[4] ปิดหมู่บ้าน 2 อำเภอแม่สะเรียง – แม่ลาน้อย หวั่นโควิด-19 ระบาด พร้อมจัดเวรยามห้ามบุคคลภายนอกเข้าหมู่บ้าน หลังพบผู้ป่วยรายแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 26 มี.ค. 2563)
[5] ชาวเขา"เผ่าลาหู่-ปากะญอ"ใช้กฎเหล็กปิดหมู่บ้านป้องกันโควิด-19 บุกดอย (โพสต์ทูเดย์, 3 พ.ค. 2563)
[6] ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ “เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน” สู้โควิด 19 (เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, 17 มี.ค. 2563)
[7] อ้างแล้ว
[8] ไม่มีใครกังวลเรื่องกักตุนข้าว ส่องวิถีเกษตรหมู่บ้านกะเหรี่ยงในวันที่โควิดระบาด (ณิชา เวชพานิช, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, 27 มี.ค. 2563)
[9] ครบ 50 ปี “ธนาคารข้าวพระราชทานแห่งแรกของไทย” ที่บ้านป่าแป๋ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 1 มี.ค. 2563)
[10] โครงการธนาคารข้าว (เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 3 พ.ค. 2563)
[11] น้ำใจยิ่งใหญ่จากชาวดอยป่าแป๋ รวมใจสู้ภัย โควิด-19 ส่งมอบผลผลิตจากธนาคารข้าวพระราชทาน พืชผักจากยอดดอย ส่งตรงสู่ชาวในเมือง “แม่” สำหรับบริโภคในครัวเรือน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28 เม.ย. 2563)
[12] ครั้งแรกในรอบ 70 ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ “เกราะหยี่ – ปิดหมู่บ้าน” สู้โควิด 19 (เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง, 17 มี.ค. 2563)
[13] ไม่มีใครกังวลเรื่องกักตุนข้าว ส่องวิถีเกษตรหมู่บ้านกะเหรี่ยงในวันที่โควิดระบาด (ณิชา เวชพานิช, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม, 27 มี.ค. 2563)
[14] ชาวม้งเชียงใหม่ ขนผักลงดอยแจกกะหล่ำปลีฟรี 1.4 ตัน ฝ่าวิกฤติฝ่าโควิด-19 (ไทยรัฐออนไลน์, 16 เม.ย. 2563)
[15] กลุ่มชาติพันธุ์แม่วิน นำพืชผักจากยอดดอย แจกจ่ายประชาชนช่วงโควิด-19 (เชียงใหม่นิวส์, 22 เม.ย. 2563)
[16] น้ำใจยิ่งใหญ่จากชาวดอยป่าแป๋ รวมใจสู้ภัย โควิด-19 ส่งมอบผลผลิตจากธนาคารข้าวพระราชทาน พืชผักจากยอดดอย ส่งตรงสู่ชาวในเมือง “แม่” สำหรับบริโภคในครัวเรือน (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 28 เม.ย. 2563)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: