จับตา: 'การเลิกเรียนกลางคัน' ความเสี่ยงของอนาคตเยาวชนไทย

กองบรรณาธิการ TCIJ 3 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 6650 ครั้ง


การออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมากมีสาเหตุหลักจากความยากจน ซึ่งส่งผลต่อทักษะและรายได้ของเด็กในอนาคตเกิดเป็นวัฏจักรความยากจนในระยะยาว และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพของประเทศ ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปี 2562 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยด้อยโอกาสอยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 670,000 คน | ที่มาภาพประกอบ: ข่าวชาวบ้าน - Thai TV Social

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) หรือ 'สภาพัฒน์ฯ' เผยแพร่ 'รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2563' ระบุว่าระบบการศึกษาไทยยังพบว่ามีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยมีสาเหตุที่สำคัญมาจากปัญหาความยากจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรีก็ตาม โดยผลกระทบของปัญหาการต้องออกจากโรงเรียนกลางคันของเด็กและเยาวชนจะส่งต่อทักษะและรายได้ที่ต่ำตามมา เกิดเป็นวัฏจักรความยากจนในระยะยาว และจะเป็นอุปสรรคในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) รวมทั้งทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

สถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยพบว่านักเรียนที่เข้าศึกษาประถมศึกษาปีที่ 1 ในระหว่างปีการศึกษา 2546–2548 (ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นในปีระหว่างปีการศึกษา 2548-2560) มีนักเรียนกว่าร้อยละ 20 ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.ต้น) และมีนักเรียนกว่าร้อยละ 31 หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และร้อยละ 38 หลุดออกจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

ความยากจนถือเป็นสาเหตุที่ส าคัญในการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในปี 2562 พบว่าเด็กและเยาวชนไทยด้อยโอกาสอยู่นอกระบบการศึกษาประมาณ 670,000 คน สาเหตุการหลุดออกจากระบบการศึกษามาจากความยากจนและเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ขณะที่สาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ ปัญหาภายในครอบครัว ปัญหาแม่วัยใส (การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร) ปัญหานักเรียนต้องคดี การที่เด็กต้องดูแลคนป่วยคนพิการที่อยู่ในบ้าน ปัญหาการเจ็บป่วย รวมถึงการย้ายภูมิลำเนาตามผู้ปกครอง ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในระบบการศึกษา

การหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเยาวชนยังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด (ครัวเรือนที่รวยสุด 10%) ได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย/ปวช. ร้อยละ 80.3 และได้เรียนต่อในระดับ ปวส./อุดมศึกษา ร้อยละ 63.1 ขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจน (ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10%) ได้เรียนต่อระดับ ม.ปลาย/ปวช. เพียงร้อยละ 40.5 และได้เรียนต่อในระดับ ปวส./อุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2 แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะมีนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับม.ปลาย/ปวช. แต่เนื่องจากยังคงมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ การเดินทาง ค่าเครื่องแบบ ค่าอุปกรณ์ และปัญหาความยากจนของครัวเรือน จึงส่งผลให้กลุ่มเด็กดังกล่าวเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและออกไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมากที่ไม่ได้มีสถานะอยู่ในการจ้างงานการศึกษาหรือการฝึกอบรม หรืออาจกล่าวว่าไม่ได้อยู่ในกิจกรรมสะสมทุนมนุษย์ (Not in Education, Employment or Training : NEETs) และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2562 มีอยู่ร้อยละ 12.87 ของเยาวชนไทยในช่วงอายุ 15 ถึง 24 ปีหรือประมาณ 1,200,000 คน

ผลกระทบที่สำคัญของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนก่อนวัยอันควรคือ เด็กและเยาวชนมีระดับทักษะต่ำทำให้ได้รับค่าจ้างที่ต่ำเช่นกันซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อย่างชัดเจนของระดับการศึกษากับรายได้ โดยค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในกลุ่มที่จบปริญญาตรีขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้สูงเฉลี่ยประมาณ 33,000 บาท ระดับ ปวส./ปวช. เฉลี่ยประมาณ 18,000 บาท ระดับ ม.ปลายเฉลี่ยประมาณ 16,000 บาท และลดลงตามระดับการศึกษาที่ต่ำลง ซึ่งการหลุดออกนอกระบบการศึกษาโดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนจะส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มเด็กดังกล่าวในระยะยาวจนก่อให้เกิดวัฎจักรความจน และหากปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่ม NEETs ยังคงมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในระยะยาวเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว (Demographic Change) โดยมีแนวโน้มอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ รวมถึงปัญหากลุ่ม NEETs ซึ่งศักยภาพของเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวเผชิญความเสี่ยงในการทำงานจากทักษะที่มีอาจล้าสมัย (Skills Obsolete) และไม่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน

เมื่อเวลาผ่านนานไป จะส่งผลให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของอุปสงค์และอุปทานแรงงาน และจะเป็นอุปสรรคในการเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต (Productivity) และการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดึงและลดจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาผ่านกลไกและความร่วมมือกันในการด าเนินงานอย่างจริงจังเพื่อช่วยสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มเด็กดังกล่าว ไม่เพียงสร้างโอกาสในอนาคตให้เด็ก แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและทรัพยากรมนุษย์ และการเพิ่มผลิตภาพในการพั นาประเทศต่อไป

ดังนั้น ควรมีแนวทางการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านการดำเนินการ ดังนี้ (1) การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคีในพื้นที่ในการน าเด็กและเยาวชนให้กลับสู่ระบบการศึกษาหรือการพั นาทักษะอาชีพ และมุ่งเน้นวางแผนการช่วยเหลือเป็นรายกรณี เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีปัญหาที่ต่างกัน (2) การจัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีรายละเอียดและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะติดตามช่วยเหลือดูแลเด็กและเยาวชนได้ทั้งในด้านการเรียน และครอบครัว และสร้างเครือข่ายทั้งภาคการศึกษาและนอกการศึกษา (3) การปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ด้วย โดยให้มีการพั นาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีระบบสะสมหน่วยกิตที่ผู้เรียนสามารถโอนหน่วยกิตหรือเทียบวุฒิการศึกษา และเข้าศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายและตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของผู้เรียน เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำและ (4) การศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาผ่านกลไกของรัฐ อาทิ การใช้กลไกภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด การใช้กลไกกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยการพัฒนาระบบคัดกรองกลุ่มนักเรียนที่จะเข้าถึงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงเงื่อนไขการให้เงินกู้ยืมให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับกลุ่มเด็กแต่ละกลุ่มที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: