ภาษีที่ดินฯ ไทยบิดเบือนจากหลักสากลตรงไหน

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย 4 ก.พ. 2563 | อ่านแล้ว 8479 ครั้ง


 

ตั้งแต่มีข่าวฮือฮาที่ดิน 20 ไร่แถวรัชดาภิเษก ห้วยขวาง มูลค่า 6,000 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีสักบาท แต่ชาวบ้านต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้ชาวบ้านฮือฮากันใหญ่ว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทย ช่วยเหลือคนรวย ในหลักสากล ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเขาทำกันอย่างไร

ผู้เขียนในฐานะที่เคยพารัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดูงานภาษีทรัพย์สินทั้งในแคนาดา นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอื่นๆ ได้เห็นกันชัดเจนว่าภาษีทรัพย์สินเขาจัดเก็บกันอย่างไร แต่หลังจากพาไปดูงานแทบทุกปีผ่านมาสิบปี นับสิบๆ หน กลับปรากฏว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทย กลับบิดเบือนผิดรูปไปจากหลักสากลทั่วไป  กลายเป็นการเอื้อคนรวย คนซวยคือประชาชน

อย่างกรณีที่ดินเปล่าที่ทิ้งรกร้างไว้แถวถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง ไม่เสียภาษีมาหลายสิบปี พอมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็เริ่มปลูกมะนาว คนร่างกฎหมาย ก็ร่างว่าถ้าทำการเกษตรก็เสียภาษีร้อยละ 0.01%-0.1% แต่ใน 3 ปีแรกไม่ต้องเสีย  ตกลงที่ดินราคา 6,000 ล้านบาท ไม่เสียภาษีแม้สักบาทเดียว  แต่ชาวบ้านที่มีบ้านหลังที่ 2 ต้องเสียภาษีล้านละ 200 บาท โดยในตอนแรกกำหนดให้บ้านหลังที่ 2 ที่ปล่อยเช่าต้องเสียภาษีในเชิงพาณิชย์ที่ 0.2% หรือล้านละ 2,000 บาท  ซึ่งไม่เป็นธรรมเป็นอย่างยิ่งในสังคม  พอผู้เขียนและหลายท่านช่วยกัน “โวย” ปลัดกระทรวงการคลังก็เลยออกมาประกาศใหม่ว่าบ้านหลังที่ 2 ที่ปล่อยเช่าก็เก็บในอัตราเดียวกัน

ในเมืองนอกเขาไม่ปล่อยให้มีการร่างกฎหมายเอาใจคนรวยแบบนี้  นี่ถ้าเป็นในยุคประชาธิปไตย มี ส.ส.มาร่าง ก็อาจโยนความผิดไปในเชิงว่า ส.ส.ทำเพื่อตัวเอง  แต่นี่กฎหมายนี้เกิดในยุคนี้ เราก็กลับทำเพื่อคนรวย  ผู้เขียนได้พบกับผู้ประเมินค่าทรัพย์สินชาวฝรั่งเศส ชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่า การเล่นเล่ห์ประเภทแสร้งปลูกต้นไม้เพื่อเลี่ยงภาษีนั้นทำไม่ได้ อย่างในอังกฤษ ชาวบ้านโวยว่าพระราชวังบักกิงแฮมกลับเสียภาษี Council Tax ต่ำกว่าชาวบ้านรอบข้าง

ตามหลักกฎหมายภาษีทรัพย์สินนั้น ผู้ที่มีทรัพย์สินราคาสูง ก็ต้องเสียภาษีสูง ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่าก็เสียภาษีน้อยกว่า  การเสียภาษีก็เพื่อนำมาดูแลบำรุงรักษาทรัพย์สินของเรา อันที่จริง เราก็มีการเก็บสิ่งที่คล้ายภาษีนี้เช่นการเก็บค่าส่วนกลาง เพื่อมาบำรุงรักษา ในชุมชนใดมีการดูแลรักษาดี มูลค่าทรัพย์สินก็เพิ่ม ในชุมชนใดดูแลไม่ดี มูลค่าทรัพย์สินก็ตกหรือไม่เพิ่มขึ้น  การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นความจำเป็นๆ อย่างยิ่ง

ในสหรัฐอเมริกาจัดเก็บภาษีในอัตราประมาณ 1-3% ของมูลค่าตามราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาด  แต่ของไทยจัดเก็บในอัตราที่ต่ำมากๆ  เราควรให้การศึกษากับประชาชนให้ชัดเจนว่าภาษีนี้ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” อย่าไปกลัวกับการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 0.5% เป็นอย่างสูง เพราะในแต่ละปี มูลค่าของทรัพย์สินของเราก็เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3-5% อยู่แล้ว  ยิ่งในหลายๆ ทำเลที่อยู่ในใจกลางเมือง หรือมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ราคาที่ดินก็อาจเพิ่มสูงถึง 10% ต่อปีเลยทีเดียว  การเสียภาษีแค่ 0.5% จึงไม่พึงเสียดาย ทุกวันนี้ผู้ที่มีจักรยานยนต์เก่าๆ สักคัน ก็เสียภาษีและค่าประกันต่างๆ รวมกันเกือบ 500 บาท หรือราว 1% ของมูลค่าจักรยานอยู่แล้ว

เรากลับพยายามหาช่องทางในการเลี่ยงภาษีกันอย่างสุดชีวิต  อาชีพนักกฎหมายภาษีทรัพย์สินก็เลย “รวย รวย รวย” กันใหญ่ เพราะเจ้าของทรัพย์แต่ละคนต่างถูกทำให้กลัวกันจนลนลาน พยายามที่จะหาช่องทางเลี่ยงกฎหมายอย่างสุดชีวิต  การแสร้งทำการเกษตรเป็นทางออกหนึ่ง  การให้ราชการใช้ที่ดินของเราเป็นที่จอดรถ สนามกีฬา สวนพักผ่อนในขณะที่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็เป็นการเลี่ยงกฎหมายขั้นเทพอีกทางหนึ่ง

การมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดี จะให้มีการใช้ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ  ไมใช่ปล่อยที่ดินไว้ใจกลางเมืองที่มีรถไฟฟ้า ทางด่วนผ่านเพียงรอวันยกให้ทายาทโดยไม่เสียภาษี แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านต้องเสีย ชาวคอนโดนต้องเสียค่าส่วนกลาง  อย่างนี้เป็นอาชญากรรมชัดๆ  ถ้ามีการเก็บภาษี พวกเจ้าของที่ดินก็จะคายที่ดินออกมาในราคาตลาด  เมืองก็จะมีการพัฒนาอย่างหนาแน่น (High Density) แต่ทุกวันนี้ที่ดินเปล่าใจกลางเมืองมีมาก ไม่ยอมขาย การพัฒนาที่ดินก็จำเป็นต้องใช้ที่ดิน จึงต้องพัฒนาออกไปนอกเมืองไปเรื่อยๆ ทำให้ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่นต้องตามออกไปไม่สิ้นสุด ทำให้ผลประโยชน์ของส่วนรวมเสียหาย

ปกติในประเทศไทย ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้เพียง10% ที่เหลือส่วนกลางอุดหนุนส่งมาให้ พอส่วนกลางส่งมา ชาวบ้านก็ไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ผู้บริหารท้องถิ่นก็อาจเกิดอาการ “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” แต่ถ้าภาษีท้องถิ่นเก็บได้มากตามหลักสากล ก็จะทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเจ้าของภาษี ทำให้คอย “จ้อง” ไม่ให้ใครโกง  ภาษีก็จะได้รับการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ  อีกอย่างหนึ่ง การที่ภาษีถูกส่งมาจากรัฐบาลส่วนกลาง ก็จะทำให้ส่วนกลางควบคุม สั่ง “ซ้ายหัน-ขวาหัน” ท้องถิ่นก็จะถูกครอบงำ ระบอบประชาธิปไตยก็จะไม่หยั่งรากลึก  ในสหรัฐอเมริกาเขาจัดเก็บภาษีได้ถึง 68% ของงบประมาณรายจ่ายของเทศบาล

เล่ห์กลอีกอย่างหนึ่งในประเทศไทยก็คือ การประเมินค่าทรัพย์สิน  อย่างราคาที่ดินที่แพงที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแถวสยาม ชิดลม เพลินจิต นานา มีราคาสูงถึง 3 ล้านบาทต่อตารางวา แต่ราคาประเมินราชการก็ยังประเมินแค่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา ทำให้มหาเศรษฐีในย่านนั้นเสียภาษีน้อยมาก เพราะราคาประเมินต่ำ  แต่ในนานาอารยประเทศ มีระบบการประเมินค่าทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถประเมินค่าให้ใกล้เคียงราคาตลาดและมีการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งต่างจากกรณีประเทศไทย

ต่อไปพอไทยเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อย ก็เป็นข้ออ้างในการขอขึ้นภาษี VAT ซึ่งชาวบ้านทุกคนคือผู้บริโภคที่ไปเบิกอะไรกับใครไม่ได้ ก็เดือดร้อนในขณะที่ผู้มีทรัพย์สินมากมายกลับเล็ดรอดไปได้เพราะ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จัดทำเพื่อเปิดช่องทาง (ไม่ใช่ช่องโหว่เพราะจงใจเปิดให้) ที่ถูกต้องตามกฎหมายให้สามารถ “ดราม่า” ปลูกมะนาวแล้วไม่เสียภาษีได้

เราควรมีองค์กรควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ใครอ้างว่าไม่มีปัญญาเสียภาษี ก็ต้องนำมาขายตามราคาตลาดแล้วนำเงินมาเสียภาษีและเก็บเงินที่ได้จาการขายไปใช้สอยทางอื่น รัฐก็จะได้ที่ดินมาขายต่อในภายหลังตามกลไกตลาด เป็นหนทางในการหาเงินเข้ารัฐได้อีกทางหนึ่ง ถือเป็นทางออกที่ win win ต่อทุกฝ่าย

เราควรจับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้มาลงโทษ

อ้างอิง

  1. รัฐควรขอโทษประชาชนเรื่องภาษีที่ดิน AREA แถลง ฉบับที่ 660/2562 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2562 https://bit.ly/2t7jlYb
  2. The Queen's £1,375 council tax bill (that's £400 cheaper than her neighbours in the next borough). The MailOnline. July 6, 2009. https://dailym.ai/37FUuK1
  3. ประเมินเพื่อการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอเมริกา แบบอย่าง อปท. ไทย. ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2548 หน้า 32 https://bit.ly/2rZNokr
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: