เชิญชวนชาวกรุงเทพฯ ใช้ระบบ BKK COVID-19 คัดกรองตนเอง

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 1738 ครั้ง

เชิญชวนชาวกรุงเทพฯ ใช้ระบบ BKK COVID-19 คัดกรองตนเอง

โฆษก กทม. เชิญชวนชาวกรุงเทพฯ เข้าเว็บไซต์ใช้ระบบ BKK COVID-19 คัดกรองตนเองและช่องทางการขอรับความช่วยเหลือในเบื้องต้น

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ว่า ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้คิดค้นระบบ BKK COVID-19 เพื่อช่วยคัดกรอง ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ การรักษาและช่วยเหลือประชาชนอย่างถูกวิธีและทันท่วงที โดยประชาชนสามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://bkkcovid19.bangkok.go.th/ ซึ่งใช้แบบประเมินตามเกณฑ์ PUI เช่นเดียวกันกับที่แพทย์ใช้ในการสอบถามอาการเบื้องต้นเพื่อคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19

โดยมีรายละเอียดการประเมินคือ ประเมินประวัติเสี่ยง ได้แก่ เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง สัมผัสใกล้ชิดบุคคลที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาด สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่เข้าข่ายหรือได้รับการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงภายในประเทศ ประเมินอุณหภูมิหรือประวัติว่ามีไข้ และประเมินอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบาก เมื่อทำแบบประเมินแล้วเสร็จ ระบบจะว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด พร้อมให้ความรู้ในการปฏิบัติตนตามระดับความเสี่ยงนั้นๆ

โดยกลุ่มที่ 1 กลุ่มไม่พบประวัติเสี่ยง (สีเขียว) จะได้รับข้อแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการล้างมือบ่อยๆ ทานร้อน ช้อนส่วนตัว สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ กลุ่มที่ 2 กลุ่มเฝ้าระวัง (สีเหลือง) อาจเป็นโรคอื่น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ให้สังเกตอาการใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์และจะได้รับข้อแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้นเช่นเดียวกับกลุ่มสีเขียว แต่เพิ่มในเรื่องของการหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือสถานที่แออัด กลุ่มที่ 3 กลุ่มเสี่ยง (สีส้ม) จะได้รับคำแนะนำสำหรับตนเองและบุคคลใกล้ชิด และสามารถบันทึกข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบได้

โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นเวลา 14 วัน คือ ให้หยุดเรียน/ทำงาน/ กิจกรรมต่างๆ แยกห้องนอน ทานอาหาร ห้องน้ำ (ถ้าเป็นไปได้) สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ห้ามใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ปิดปาก/จมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอ หรือจาม หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ที่พัก ของใช้ ทิ้งขยะหน้ากากอนามัย ทิชชูโดยใส่ถุงที่มิดชิด พร้อมสังเกตอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หากมีอุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป และมีอาการหอบเหนื่อย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ โดยระบบจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำความรู้และประเมินอาการทุกวัน เป็นเวลา 14 วัน สำหรับผู้ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ผู้อาศัยร่วมบ้านทุกคนให้ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดและควรนอนแยกกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้สวมใส่หน้ากากอนามัยและมีระยะห่าง 1-2 เมตร หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่นๆ ด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา ทำความสะอาดที่พักด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70% และป้องกันด้วยถุงมือ หน้ากาก แว่นตาขนาดใหญ่ พร้อมสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนเอง 14 วัน หลังสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ 4 กลุ่มเข้าเกณฑ์สงสัย (สีแดง) ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย กักตัวเองในบ้านทันที และควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยบันทึกข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในระบบ หรือติดต่อทางโทรศัพท์ ได้แก่ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โทร.1646 หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร.1669 หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่าอยู่ในกลุ่มที่จะต้องเข้ารับการตรวจโดยด่วน ทางระบบจะจัดรถพยาบาลจากศูนย์เอราวัณของกรุงเทพมหานครเพื่อเข้าไปรับมายังโรงพยาบาลและทำการตรวจเชื้อหาโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

จากนั้นระบบจะรวบรวมข้อมูล และบันทึกสถิติเป็น Open Data เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงสถานการณ์ โดยสามารถดูรายละเอียดในแต่ละเขตว่ามีผู้ป่วยในเกณฑ์เสี่ยงจำนวนเท่าใด และมีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังจำนวนเท่าใด เพื่อให้ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการออกนโยบายในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถออกนโยบายที่สอดคล้อง ถูกจุด และถูกพื้นที่ ซึ่งระบบ BKK COVID-19 นี้ จะสงวนสิทธิ์ในการติดตามและประเมินอาการผู้ป่วยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ สามารถเข้าทำแบบทดสอบเพื่อคัดกรองเบื้องต้น และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวในระยะต่างๆ ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: