แถลงการณ์ผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

กองบรรณาธิการ TCIJ: 4 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3492 ครั้ง

แถลงการณ์ผลกระทบโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกอย่างไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน แรงงานข้ามชาติในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มประชากรที่มีมีความเปราะบางมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ขาดความมั่นคงในการทำงานและความไม่มั่นคงของสถานะผู้เข้าเมือง ดังนั้นเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทางเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและส่งเสริมสวัสดิการแก่แรงงานข้ามชาติและครอบครัว

ภูมิหลัง

อนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเผชิญกับความท้าทายต่อการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสในปัจจุบัน เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติด้านเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีสภาพทางพรมแดนที่ผู้คนเข้าออกได้หลายช่องทาง  ประเทศไทยในฐานะที่ประเทศปลายทางระดับอนุภูมิภาคที่มีผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเมียนมา กัมพูชาและลาวมากกว่า 4 ล้านคนเข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน  ในสภาวะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รัฐบาลไทย เมียนมาและกัมพูชาขอความร่วมมือไม่ให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศดังกล่าวเดินทางกลับเข้าประเทศต้นทาง อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้ต้องกลับประเทศเพราะการอยู่ในประเทศไทยหมายถึงการรับความเสี่ยงที่จะไม่มีงานทำ ไม่มีเงินซื้ออาหารและกลายสภาพเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยไปในที่สุด ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการบังคับใช้มาตรการต่างๆ “เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น”[1]

ก่อนจะมีการประกาศประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็มีการปิดชายแดนทางบกทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 แต่ต่อมาได้มีการผ่อนปรนการเปิดด่านพรมแดนในหลายจุดเนื่องจากความต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศต้นทางของผู้ย้ายถิ่น มีการคาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติ 60,000 คนเดินทางออกจากประเทศไทย ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนตามบริเวณแนวชายแดน ทำให้เกิดความวิตกในหมู่แรงงานข้ามชาติท่ามกลางสภาวะการระบาดใหญ่และส่งผลให้มีผู้ย้ายถิ่นจำนวนมากพยายามใช้ช่องทางอื่นนอกเหนือการผ่านด่านพรมแดนกลับไปยังประเทศต้นทาง ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 มีมติจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ผ่อนผันการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมา กัมพูชาและลาว รวมไปถึงบุตรของแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานกำลังจะสิ้นสุดลง สามารถทำงานในประเทศไทยไปพลางได้ก่อนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ในวันเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนภายใต้กองทุนประกันสังคม

ขณะที่มาตรการต่างๆได้รับการขานรับจากหลายภาคส่วน แต่มาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่ต้องเผชิญภาวะวิกฤตจากการสูญเสียหนทางทำมาหากินจากระบาดใหญ่ของโควิด-19 อันหมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการดูแลและเยียวยาจากรัฐเพราะพวกเขาไม่มีเอกสารการทำงานในประเทศไทยที่ถูกต้องและไม่เข้าเกณฑ์เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาตินอกระบบ

การผ่อนผันการต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้แก่แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนในระบบ แต่ละเลยแรงงานข้ามชาตินอกระบบในภาวะวิกฤตแพร่ระบาดในปัจจุบัน ยิ่งทำให้พวกเขาต้องเผชิญการถูกดำเนินการภายใต้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง แม้แต่แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการจดทะเบียนอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยก็ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยและสถานทูตประเทศต้นทางก็เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่ล้นหลามและเกิดการสื่อสารข้อมูลที่ขัดแย้งกันให้แก่แรงงานข้ามชาติ

แรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางก็ต้องพบความท้าทายมากมาย รัฐบาลประเทศเมียนมา กัมพูชาและลาวมีการใช้มาตรการกักตัวเพื่อดูอาการแรงงานข้ามชาติ โดยมีการเริ่มให้แยกสังเกตอาการที่บ้าน ต่อมาให้มีการกักตัวในศูนย์ควบคุมโรคที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้หรือมีการให้กักตัวในศูนย์กักกันโรคในชุมชนของแรงงานข้ามชาติที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา แรงงานข้ามชาติมีข้อจำกัดในการที่จะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปฏิบัติและการจัดการด้านนโยบายการกักกันเพื่อสังเกตอาการ การจัดเตรียมการเดินทางสำหรับแรงงานข้ามชาติสู่ภูมิลำเนาก็เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ในบางชุมชนของแรงงานข้ามชาติบางแห่งมีการเตรียมรองรับแรงงานข้ามชาติที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาในวิธีที่แตกต่างกันไปโดยสมาชิกในชุมชนกันเอง หากวิธีการในทางปฏิบัติดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความหวาดกลัวและความระแวงภายในชุมชน ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการตราหน้าประณามต่อแรงงานข้ามชาติที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนา อีกทั้ง สมาชิกในชุมชนก็ขาดการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความกังวลเรื่องสถานบริการสาธารณสุขในชุมชนถึงความพร้อมของการรับมือภาวะระบาดใหญ่และสิ่งที่ต้องจัดหาไว้ให้เมื่อยามเจ็บป่วย 

แรงงานข้ามชาติที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมากย่อมมีผลกระทบต่อประเทศต้นทางทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค เนื่องจากแรงงานข้ามชาติหลายคนไม่มีเอกสารสำคัญประกอบจึงทำให้เกิดความยุ่งยากที่จะเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมในประเทศต้นทาง รวมไปถึงการบริการสุขภาพพื้นฐาน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาก็เป็นสาเหตุให้เกิดความยากลำบากในระดับครอบครัวเพราะสมาชิกครอบครัวต้องจัดหาอาหารและช่วยเหลือญาติที่กลับมาโดยมีระยะเวลาการเตรียมการอันสั้น อีกทั้ง การยืดเวลาการชัตดาวน์ในพื้นที่ต่างๆอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ฉุกเฉินของโควิด-19 ทำให้การส่งเงินกลับประเทศโดยแรงงานข้ามชาติต้องหยุดลงซึ่งจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศต้นทาง

 

ข้อเสนอแนะ

จากความท้าทายข้างต้น เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะ ดังนี้

  1. กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยประกาศให้แรงงานข้ามชาติและผู้ย้ายถิ่นทราบทั่วกันโดยไม่คำนึงถึงสถานะผู้เข้าเมืองว่าทุกคนก็สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพซึ่งได้ตระเตรียมไว้เพื่อรองรับความซับซ้อนของการระบาดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้ง การระบาดใหญ่ครั้งนี้เน้นย้ำว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะจัดสรรให้มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากทั้งมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและด้านสาธารณสุข
  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางทำงานร่วมกันเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลสาธารณะให้แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางโดยมีวัตถุประสงค์ให้แรงงานข้ามชาติทราบถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในภาษาของแรงงานข้ามชาติที่เหมาะสม ข้อมูลดังกล่ารวมไปถึง มาตรการป้องกันเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่ต้องทำและการติดต่อสถานบริการสาธารณสุขในกรณีเจ็บป่วย การปิดด่านพรมแดน การเว้นระยะห่างทางสังคมและการกักกันตัวเอง การกักตัวเพื่อดูอาการและมาตรการบรรเทาทุกข์สำหรับแรงงานข้ามชาติในกรณีสูญเสียรายได้หรือถูกเลิกจ้างกะทันหัน
  3. กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขออกคำแนะนำด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานในภาษาไทยและภาษาของแรงงานข้ามชาติสำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่ยังคงต้องทำงานต่อไปรวมไปถึงแรงงานที่ทำงานในบ้าน
  4. รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นกรณีเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารถูกต้อง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 2 การปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค[2] ดังนั้น สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและห้องควบคุมตัวควรได้รับการปิดในช่วงการระบาดใหญ่ สภาพสถานกักขังที่มีผู้ต้องขังอยู่อย่างแออัดเกินไปและการให้การดูแลสุขภาพที่ไม่ทั่วถึง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้การแพร่ระบาดของโควิด-19เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งไปกว่านั้น การคุมขังผู้ย้ายถิ่นกรณีเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารถูกต้องไม่ควรมีไว้เพื่อการลงโทษและควรให้ความชอบธรรมเป็นรายกรณีในการปล่อยตัวผู้ต้องขังหรือส่งกลับประเทศต้นทาง แต่เนื่องจากสถานการณ์การปิดพรมแดนและข้อจำกัดทางด้านการเดินทางระดับสากลทำให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปไม่ได้
  5. รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการบรรเทาทุกข์ที่เหมาะสมและตอบสนองกรณีการสูญเสียงานและรายได้ให้แก่แรงงานข้ามชาติทุกคน รวมไปถึงแรงงานข้ามชาตินอกระบบและแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารอนุญาตทำงานที่ครบถ้วน
  6. กระทรวงแรงงานและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประเทศไทยและประเทศต้นทางทำงานประสานด้านการส่งกลับผู้ย้ายถิ่นในเรื่องการคัดกรอง การกักตัวเพื่อดูอาการและจำนวนผู้ย้ายถิ่นที่จะเดินทางผ่านด่านพรมแดนได้ในแต่ละครั้ง
  7. ประเทศต้นทางรับรองมาตรฐานการคัดกรองแรงงานข้ามชาติกลับคืนสู่ภูมิลำเนาโดยมีการปฏิบัติการที่มีความละเอียดรอบคอบและโปร่งใส รวมไปถึงมีการจัดสรรข้อมูลที่ชัดเจนให้แก่แรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับการบริการด้านสุขภาพและกระบวนการกักตัวเพื่อดูอาการ อีกทั้ง ประเทศต้นทางต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณะและป้องกันไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติกลับคืนสู่ภูมิลำเนา
  8. ประเทศต้นทางอำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติที่ตกค้างอยู่ที่ด่านพรมแดนให้สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างปลอดภัย
  9. ประเทศต้นทางผ่อนปรนข้อกำหนดด้านเอกสารให้แก่แรงงานข้ามชาติกลับคืนสู่ภูมิลำเนา เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยไม่คำนึงถึงสถานะและสิทธิที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร
  10. ประเทศต้นทางมีมาตรการสนับสนุนครอบครัวของแรงงานข้ามชาติที่สูญเสียรายได้อันเนื่องมาจากการกลับคืนสู่ภูมิลำเนา มาตรการดังกล่าวอาจจะพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการบรรเทาทุกข์ของประเทศนั้นๆเพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานที่สูญเสียรายได้อันเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
  11. สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ต้องทำงานอย่างเป็นเอกภาพและประสานงานให้เกิดการตอบสนองต่อการเคลื่อนย้ายของผู้คนในวิธีที่จะลดการการแพร่กระจายของโควิด-19 ในขณะก็มีการรักษาศักดิ์ศรีและสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

 

วิกฤตการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องจัดสรรโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แก่กลุ่มคนที่เปราะบางที่สุด นั่นหมายถึงแรงงานข้ามชาติ เพราะโรคอุบัติใหม่นี้สามารถแพร่ระบาดข้ามพรมแดนสู่ผู้คนไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบใด เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเรียกร้องให้รัฐบาลในประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขงใช้หลักธรรมาภิบาลว่าด้วยการย้ายถิ่นแรงงานอันเป็นไปตามตามกรอบสิทธิมนุษยชน รัฐบาลต้องไม่ใช้ภาวะวิกฤตเพื่อการฉวยโอกาสที่จะทำให้การตรวจตราที่ล่วงล้ำถูกทำให้เป็นปกติและเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัดเมื่อวิกฤตการระบาดนี้จบลง การประกาศใช้อำนาจฉุกเฉินต้องมีการจำกัดระยะเวลาและความเหมาะสมภายใต้การพิจารณาของสาธารณชน ไม่ใช้เพื่อให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่บางกลุ่ม

 

เกี่ยวกับเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network – MMN)

เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  (Mekong Migration Network – MMN) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 สมาชิกในเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงปฏิบัติหน้าที่ทั้งในประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติและประเทศปลายที่แรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาทำงาน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำงานกับแรงงานข้ามชาติในระดับการทำงานภาคสนาม และทางเครือข่ายมีการจัดการหารือกับผู้มีส่วนได้เสียภาครัฐบาลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

กรุณาเยี่ยมชมหน้าเว็บของเรา www.mekongmigration.org โทรศัพท์  + 66 (53) 283259

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

Ms. Reiko Harima ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  อีเมลล์ reiko@mekongmigration.org (อังกฤษและญี่ปุ่น)

นางสาวญาณิน วงค์ใหม่ ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อีเมลล์ yanin@mekongmigration.org (อังกฤษและไทย)

Mr. Brahm Press ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ อีเมลล์ : brahm.press@gmail.com(อังกฤษและไทย)

Mr. Sokchar Mom ผู้อำนวยการ องค์กร Legal Support for Children and Women ประเทศกัมพูชา อีเมลล์ sokchar_mom@lscw.org (อังกฤษและเขมร)

Ms. Thet Thet Aung, ผู้อำนวยการ องค์กร Future Light Center, Myanmar อีเมลล์ thet2aung2012@gmail.com (พม่า)

 


 

[1] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 9, http://www.mfa.go.th/main/contents/files/news3-20200329-164122-910029.pdf

[2] เรื่องเดียวกัน ข้อ 2

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: