สพฐ.เผย 'โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง' เพิ่มเป็น 400 แห่ง จากเดิม 290 แห่ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2080 ครั้ง

สพฐ.เผย 'โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง' เพิ่มเป็น 400 แห่ง จากเดิม 290 แห่ง

สพฐ.เผยภาพรวมการยกระดับมาตรฐานของ 'โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง' เพิ่มขึ้นเป็น 400 แห่ง จากเดิมมี 290 แห่ง เชื่อหากกระจายอำนาจให้อิสระ โรงเรียนจะสามารถเสริมสร้างศักยภาพได้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย

เว็บไซต์ไทยโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ว่านายอำนาจ วิชยานุวัตร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโรงเรียนมัธยมศึกษา ภาพรวมการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนดีขึ้น เห็นได้จากการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมาพบว่ามีโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง เพิ่มขึ้นเป็น 400 กว่าโรงเรียน จากเดิมที่มีเพียง 290 โรงเรียน นั้นแสดงให้เห็นว่าการกระจายคุณภาพในโรงเรียนของ สพฐ.มีมากขึ้น และหาก สพฐ.มีการกระจายอำนาจให้อิสระโรงเรียนในการบริหารจัดการโรงเรียนจะสามารถสร้างศักยภาพได้ด้วยตนเองตามกลไกการแข่งขัน และมองว่าการทำให้โรงเรียนมีความเป็นนิติบุคคลเป็นเรื่องที่จำเป็น และส่วนกลางควรที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสริมความเข้มแข็งของโรงเรียนในพัฒนาศักยภาพ

สำหรับ มาตรฐานโรงเรียน ปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มศักยภาพระดับสูง 2.กลุ่มศักยภาพระดับกลาง และ 3.กลุ่มศักยภาพระดับล่าง โดยในกลุ่มศักยภาพสูง ที่ผ่านมา สพฐ.มีการกำหนดมาตรฐานจากส่วนกลาง เพื่อจะใช้ในการกำกับโรงเรียน ส่งผลให้โรงเรียนมัธยมศึกษาทุกแห่งต้องมุ่งสู่มาตรฐานดังกล่าว และขณะเดียวกันกลุ่มโรงเรียนที่มีศักยภาพมากกว่ามาตรฐานกลางก็ต้องลดระดับให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ดังนั้น สพฐ.จึงจะเปลี่ยนจากการวัดมาตรฐาน เป็นวัดสมรรถนะและศักยภาพของโรงเรียน หากพบว่าโรงเรียนใดมีความสามารถในระดับใดก็สามารถต่อยอดไปได้เลย

ส่วนกลุ่มโรงเรียนศักยภาพระดับกลาง สพฐ.จะต้องศึกษาว่าโรงเรียนกลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยในเรื่องใด ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการสร้างศักยภาพ และดำเนินการสนับสนุนอย่างตรงจุด เพื่อช่วยให้โรงเรียนค้นหาตนเองได้และพัฒนาศักยภาพไปตามบริบทของตนเอง หรืออาจจะทำความร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนศักยภาพสูง เพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนาโรงเรียนให้มุ่งไปสู่กลุ่มศักยภาพระดับสูง ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มศักยภาพระดับล่างนั้น สพฐ.มองว่าควรที่มุ่งสนับสนุนในเรื่องการสร้างทักษะด้านอาชีพ หรือทักษะด้านกีฬาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นการสร้างโรงเรียนในตอบโจทย์ชุมชน ซึ่งจากนี้ สพฐ.จะใช้ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนและยกระดับกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: