หนุนหมู่บ้านนวัตวิถีไทยกว่า 3,000 แห่ง เข้าแพลตฟอร์ม Airbnb

กองบรรณาธิการ TCIJ 4 ก.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2461 ครั้ง

หนุนหมู่บ้านนวัตวิถีไทยกว่า 3,000 แห่ง เข้าแพลตฟอร์ม Airbnb

พช. จับมือ Airbnb เปิดหมู่บ้านนวัตวิถีไทย สู่ตลาดโลก ต่อยอดแคมเปญนอกเหนือจากเมืองใหญ่ Meet Thailand’s Villages a Beyond Big Cities initiative หนุนหมู่บ้านนวัตวิถีไทยกว่า 3,000 แห่ง เข้าแพลตฟอร์ม Airbnb | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 รายงานว่านายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ผ่านตลาดดิจิทัล ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน กับ บริษัท แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) โดยคุณ Anita Roth Head of Policy Research San Francisco

ผู้แทนจากบริษัท แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) เป็นการผนึกกำลังครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี สู่สายตาทั่วโลก นำร่องแคมเปญใน 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ เชียงใหม่ สมุทรสงคราม และเลย พร้อมแสดงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์บนแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก โดย Airbnb และกรมการพัฒนาชุมชนจะยังเฟ้นหาชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเพื่อให้ร่วมเป็นผู้จัดเอ็กซ์พีเรียนซ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญดังกล่าวต่อไปจนถึงสิ้นปี

ทั้งนี้ Airbnb เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับโลก ประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนำเสนอท่องเที่ยวชุมชนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จักผ่านแคมเปญ “เปิดหมู่บ้านนวัตวิถีไทยสู่ตลาดโลก ต่อยอดแคมเปญนอกเหนือจากเมืองใหญ่” หรือ “Meet My Village, Beyond Big Cities initiative” โดยความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้เดินตามรอยความสำเร็จของแคมเปญทางการตลาด “นอกเหนือจากเมืองใหญ่” ที่ Airbnb เปิดตัวในประเทศไทยในปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการโปรโมทจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ที่ชูโรงท่องเที่ยวชุมชนอย่างจังหวัดบุรีรัมย์และสระบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ Airbnb มาร่วมมือกับกรมกรมการพัฒนาชุมชน เป็นการดำเนินการที่สอดรับกับแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศของรัฐบาล ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-2019) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่มีคนถูกเลิกจ้าง ตกงานจำนวนมาก การร่วมลงนามในครั้งนี้เป็นไปตามแนวทางประชารัฐ ที่มีรูปแบบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน คือ “เอกชนนำ ประชาชนลงมือทำ และรัฐสนับสนุน” Airbnb ที่เป็นเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ให้บริการที่พักและกิจกรรมเชิงประสบการณ์ การประสานความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเชิงธุรกิจกับบริษัทนำเที่ยว และเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในส่วนของภาครัฐ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยตรงแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมประสานกำลังในพื้นที่ เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ทั้งความสะดวก สะอาด และความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว Air bnb นอกจากจะช่วยเรื่องเศรษฐกิจฐานรากแล้วยังช่วยให้คนในชุมชนมีความรู้ความสามารถในการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพราะ Air bnb จะช่วยเหลือฝึกอบรม ช่วยทำให้คนตื่นตัวดูแลบ้านเรือนให้สะอาด สวยงาม คนรวมตัวกันดูแลชุมชน มีกิจกรรมร่วมกันทำให้เกิดความรักความสามัคคี เด็กรุ่นใหม่รักและหวงแหนถิ่นกำเนิดไม่ต้องอพยพไปทำงานในเมืองใหญ่ ที่สำคัญที่สุดชาวโลกจะได้เห็นได้รู้จักสิ่งที่ดีมากมายของชุมชน ของเมืองไทยผ่านแพลตฟอร์มของ Air bnb

ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชน มี “พัฒนากร” บุคลากรที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือ ผู้ร่วมทำงานกับประชาชนในพื้นที่ ทำหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน สร้างกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ร่วมกันสร้างกลไกและระบบบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า “Airbnb เหมือนกามเทพที่จะทำให้คนทั่วโลกพบรักกับหมู่บ้านท่องเที่ยวOTOP นวัตวิถี ที่มีทั้งความสวยงามเป็นธรรมชาติ มีศิลปวัฒนธรรม มีประเพณี มีสินค้า OTOP สินค้าชุมชนไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม และในห้วงระยะเวลาต่อจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนจะจับมือกับ Airbnb หนุนหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถีที่มีมากกว่า 3,000 กว่าแห่ง ให้เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของ Airbnb ให้ครบมากที่สุดโดยเร็วต่อไป ในนามของกรมการพัฒนาชุมชนยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับ Airbnb ซึ่งเราจะยังเดินหน้าเสริมแกร่งชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทย เพื่อช่วยให้ทุกชุมชนได้รับประโยชน์จากภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ”

ด้านคุณ Anita Roth Head of Policy Research San Francisco ผู้อำนวยการด้านการวางแผนกลยุทธ์และนโยบาย Airbnb กล่าวว่า “Airbnb มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดทำแคมเปญนี้ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ชุมชนแต่ละท้องถิ่นได้นำเสนอวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ให้กับคนทั่วโลกผ่านเอ็กซ์พีเรียนซ์ออนไลน์ของ Airbnb โดยความร่วมมือในครั้งนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้การท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลกได้ถูกจำกัด แต่ Airbnb ยังคงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและชุมชนเพื่อสร้างสรรค์และร่วมกันหาทางออกเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศไทยและกระจายผลประโยชน์ไปยังชุมชนทั่วประเทศ”

ขับเคลื่อนผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปยังชุมชนท้องถิ่น
เฟสแรกของแคมเปญ “เปิดหมู่บ้านนวัตวิถีไทยสู่ตลาดโลก” จะเป็นการนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์โดยตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายของประเทศไทยผ่านทาง เอ็กซ์พีเรียนซ์ ออนไลน์ ของ Airbnb ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดตัวมา โดยเอ็กซ์พีเรียนซ์ ออนไลน์ เป็นช่องทางที่ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างรายได้จากการที่นักเดินทางนับล้านทั่วโลกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมผ่านออนไลน์ได้จากที่บ้านในช่วงที่สถานการณ์ของการท่องเที่ยวเดินทางยังไม่กลับเป็นปกติ

Airbnb ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อสรรหาชุมชนท้องถิ่นมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ โดยชุมชนท้องถิ่น 5 แห่งแรกที่จะนำร่องการนำเสนอท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีให้กับทุกคนทั่วโลก ได้แก่

• จากท้องทะเลสู่โต๊ะอาหาร ติดตามชีวิตชาวประมงแสนสนุก (บ้านปากมาบ สมุทรสงคราม)
• ท่องเที่ยวหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผา (บ้านเหมืองกุง เชียงใหม่)
• เยี่ยมชมถนนสายเครื่องเงินของภาคเหนือ (บ้านวัวลาย เชียงใหม่)
• หมู่บ้านลับในประเทศไทย (บ้านนาป่าหนาด เลย)
• วิถีชีวิตคนหมู่บ้านไหนหนัง (บ้านไหนหนัง กระบี่)

เอ็กซ์พีเรียนซ์ ออนไลน์ที่จัดโดยชุมชนนวัติวิถีไทยเหล่านี้จะเป็นรายการล่าสุดในเอ็กซ์พีเรียนซ์กว่า 700 รายการทั่วโลกหลังจากที่ Airbnb เปิดตัวเอ็กซ์พีเรียนซ์ ออนไลน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเสริมแกร่งชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกเหนือจากการโปรโมทการท่องเที่ยวในชุมชนแล้ว ความร่วมมือระหว่าง Airbnb และกรมการพัฒนาชุมชนยังรวมถึงการผลักดันและเสริมศักยภาพให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและต่อเนื่องจากการเปิดตัวแคมเปญใหม่นี้ Airbnb และกรมการพัฒนาชุมชนจะยังเดินหน้าคัดเลือกชุมชนที่สามารถได้รับประโยชน์จากการจัดเอ็กซ์พีเรียนซ์ ออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Airbnb ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยต่อไปภายในสิ้นปีนี้

ความร่วมมือระยะยาวนี้รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ (e-learning) ผ่านแหล่งข้อมูลออนไลน์ซึ่งจัดทำเป็นภาษาไทยเพื่อให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือแก่ผู้จัดเอ็กซ์พีเรียนซ์ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ นอกจากนั้น Airbnb จะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชนและนักการตลาดของกรมฯ ในแต่ละพื้นที่ซึ่งให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ต้องการโปรโมทและขายสินค้า OTOP บนช่องทางออนไลน์ และยังสามารถต่อยอดความรู้นำไปสร้างสรรค์กิจกรรมและพัฒนาชุมชนเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวต่อไปได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: