สสส. หนุนมติสหประชาชาติชูปี 2564 เป็นปีของผักและผลไม้สากล ส่งเสริมกินเพิ่มให้เพียงพอ - ลดกินเหลือทิ้ง ด้านสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เผยคนไทยยังกินผักผลไม้น้อย เพียงพอแค่ 4 ใน 10 คน กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ยังเสี่ยงต่อการกินผักผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่ากลุ่มอื่น
สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 ว่าในงานประชุมวิชาการเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ประจำปี 2563 ในหัวข้อ “ก้าวไปข้างหน้า สร้างระบบเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย” โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีแนวโน้มของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างและเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพของประชาชนทุกช่วงวัย รวมถึงพบสารพิษตกค้างในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งหากสะสมในร่างกายตั้งแต่ในครรภ์มารดา สู่ทารกแรกเกิดจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งในระยะยาว และโรคพาร์กินสันเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ โดยการจัดงานในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการกินผักและผลไม้ปลอดภัยให้เพียงพอเพิ่มขึ้น เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกคาดประมาณว่า การเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของประชากรโลกกว่า 5.2 ล้านคน เป็นผลมาจากการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ (WHO แนะนำให้กินผักและผลไม้วันละ 400 กรัมต่อวัน) โดยสหประชาชาติประกาศให้ปี 2564 เป็นปีส่งเสริมการกินผักและผลไม้สากล หรือ “International Year of Fruits and Vegetables, 2021” โดยเน้นการสร้างความตระหนัก และพัฒนานโยบายที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการและสุขภาพจากการกินผักและผลไม้ ลดปริมาณผักและผลไม้เหลือทิ้ง และการแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมการกินผักผลไม้ร่วมกัน ทั้งนี้ สสส. จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการกินผักและผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ พร้อมผลักดันเป็นเป้าหมายระดับชาติในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ปี 2565 เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“สสส. ส่งเสริมให้คนไทยกินผักผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้น ช่วยลดปัญหาการเจ็บป่วยและการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินอาหาร สนับสนุนให้เกิดการจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ประชาชนมีความรอบรู้ด้านการกินอาหารที่ดี ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนตลอดช่วงชีวิต เพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การกินผักและผลไม้ในประเทศไทย ปี 2562 พบว่ามีคนไทยเพียงร้อยละ 37.5 หรือประมาณ 4 ใน 10 คน กินผักผลไม้เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำในแต่ละวัน ขณะที่เด็กวัยเรียนเพียง 2-3 คน จาก 10 คนเท่านั้นที่กินผักและผลไม้เพียงพอ นอกจากนี้พบว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ กลุ่มคนโสด กลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่า พนักงานเอกชน และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ยังเสี่ยงต่อการกินผักผลไม้ไม่เพียงพอมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นหากทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันทำให้ผักผลไม้ปลอดภัยและเข้าถึงได้ จะช่วยให้คนไทยกินผักผลไม้ได้เพียงพอเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัย
สำหรับภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยกว่า 28 เรื่อง และเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบายการกินผักและผลไม้กับเป้าหมายระดับชาติ เพื่อความมั่นคงทางของประเทศ อีกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ