คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ หรือ National Commission on International Trade and Health Studies ( NCITHS) หารือ 6 ข้อกังวล 'CPTPP' เตรียมจัดเวทีสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ฟังเสียงสะท้อนทุกภาคส่วน เน้นหนักความมั่นคงทางอาหาร-ระบบสุขภาพ เปิดเวทีสาธารณะออนไลน์ 'เดือนละครั้ง'
5 มิ.ย. 2563 การประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ครั้งที่ 2/2563 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมาวาระการพูดคุยยังคงเป็นประเด็นร้อนอย่าง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP : Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership)
หลังจากการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 คณะกรรมการ NCITHS ได้ทิ้งท้ายด้วยการ “จัดลำดับความสำคัญ” ของประเด็นย่อยที่จำเป็นต้องรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านผ่านการจัดเวทีสาธารณะลงลึกรายประเด็น แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นประเด็นใดบ้าง
การประชุมครั้งนี้จึงเริ่มต้นที่ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการฯ กล่าวถึงการกำหนดกติกาและเน้นย้ำให้ที่ประชุมยึด “หลักฐานเชิงประจักษ์” เป็นสำคัญ ถัดจากนั้น ผศ.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้บอกเล่าถึงเสียงสะท้อนจากสภาวิชาชีพสุขภาพด้านต่างๆ น่าจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น เพราะอาจได้รับผลกระทบจากการเจรจาการค้าเช่นกัน
สำหรับการหารือเตรียมเปิดเวทีสาธารณะเรื่อง CPTPP เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันต่อข้อห่วงกังวลในทุกมุมมองนั้น จะจัดรูปแบบเป็นเสวนาออนไลน์ ที่มีกรอบการอภิปรายเพื่อมุ่งสู่บทสรุปที่ชัดเจน บนหลักฐานเชิงประจักษ์ และข้อมูลทางวิชาการเป็นสำคัญ ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ผลการศึกษาผลกระทบ CPTPP ที่มีการจัดทำไปแล้ว ข้อสมมติฐานเดิมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยหรือไม่ และผลของการค้าการลงทุนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยได้ลงนามแล้ว เป็นไปตามผลที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ 2. อนุสัญญา UPOV 1991 และความสอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรไทย และความมั่นคงทางอาหาร 3. ความมั่นคงทางสุขภาพ ระบบสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วย การเข้าถึงยา ยาชื่อสามัญ การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 5. กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) และ 6. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบโลกใหม่หลังจากสถานการณ์ COVID-19 การเข้าสู่ New Normal สถานการณ์แรงงาน เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ
ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดเวทีสาธารณะ พร้อมให้น้ำหนักในประเด็นที่ 2-3 ซึ่งจะมีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนหารือ ซึ่งต้องมีการนำผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมพูดคุยถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เพื่อหาบทสรุปและข้อเสนอแนะต่อไป โดยทั้ง 6 ประเด็นนี้ จะมีการจัดเวทีสาธารณะเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละประเด็น เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้เพียงพอ ครบถ้วนและชัดเจน
ความเห็นบางส่วนจากผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวย้ำความสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นในแต่ละประเด็น เช่น การศึกษาข้อตกลงการค้าที่ผ่านมาว่า ได้ประโยชน์จริงตามที่เคยวิจัยไว้หรือไม่ การเพิ่มการวิเคราะห์บริบทหลังโรคโควิด-19 ซึ่งทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศหันมามุ่งเน้นความเข้มแข็งภายในประเทศเอง
ขณะเดียวกัน บางส่วนได้แสดงถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ อาทิ การมุ่งเน้นหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งอาจยังมีความไม่ชัดเจนว่าอะไรเป็นหลักฐานได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือการเชิญภาคส่วนอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมแลกเปลี่ยน อาจต้องคำนึงถึงความสมดุลในด้านความคิดเห็นด้วย
บทสรุปของเวทีสาธารณะที่จะเกิดขึ้นนั้น เชื่อว่าแม้ในบางประเด็นอาจจะไม่สามารถหาข้อสรุป หรือเกิดข้อเสนอในเชิงนโยบายได้ แต่อย่างน้อยที่สุด จะเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์ที่รอบด้าน เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน เช่นเดียวกับการเปิดให้สังคมได้รับรู้ระหว่างสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง กับความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร
การดำเนินงานหลังจากนี้ของคณะกรรมการ NHCITS ทางฝ่ายเลขานุการจะเตรียมการก่อนจัดเวที โดยรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม มีองค์ประกอบของการพูดคุยในแต่ละประเด็นที่ชัดเจน ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการเวทีสาธารณะต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ