ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) สนับสนุนการเรียนการสอนรายวิชา สตูดิโอวางผังชุมชนเมือง ผลักดันนิสิตผังเมืองจุฬาฯ ออกแบบภาพอนาคตและผังยุทธศาสตร์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านเก่ากรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา รองรับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงในอนาคตปี 2030 ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 22 โครงการ ภายใต้วิสัยทัศน์ “กะดีจีน-คลองสาน ผสานพหุวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยภาคีธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย”
เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 ที่ผ่านมาศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หนึ่งในศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีสนับสนุน จัดกิจกรรม “การนำเสนอสาธารณะร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน” ณ ห้องสุราลัยฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน เพื่อนำเสนอผลลัพธ์จากการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชนเมืองของนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2563 ได้รับความสนใจจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ประธานชุมชน ชาวย่าน ผู้ประกอบการท้องถิ่น นักวิชาการหลากหลายศาสตร์ นิสิต-นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ร่วมรับฟังจำนวนมาก
คุณสุนทรี เจริญสุขสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและฟื้นฟูเมือง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นย่านพหุวัฒนธรรม “3 ศาสนา 4 ความเชื่อ” ริมน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน ปัจจุบันยังคงปรากฎมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ากว่า 121 แห่ง ทั้งยังเป็นที่ตั้งชุมชนเก่าแก่ 10 ชุมชน ที่มีความรักสามัคคีและหวงแหนเอกลักษณ์ของตน อย่างไรก็ตาม จากกระแสการพัฒนาเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงผ่านมา “ย่านกะดีจีน-คลองสาน” ก็ต้องเผชิญความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ ชุมชนและย่านอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุนชม ตลอดจนอัตลักษณ์ความเป็นย่านพหุวัฒนธรรม ได้รับผลกระทบอยู่เป็นระยะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าสตูดิโอวางผังชุมชนเมือง กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือ 12 ปีที่หลายหน่วยงานได้ร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างต่อเนื่อง โอกาสการพัฒนาในย่านกะดีจีน-คลองสาน จึงเป็นที่มาของความ ร่วมมือระหว่าง UddC-CEUS และ ภาคผังเมืองจุฬาฯ จัดการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชน โดยเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนวิธีแบบใหม่ คือ การใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight technique) และ เทคนิคการวางแผนกลยุทธ์ (stretegic planing) บนฐานข้อมูลเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
“โจทย์สำคัญของการออกแบบวางผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน คือ ผังยุทธศาสตร์จำเป็นต้องตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต จึงนับเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ภาคีพัฒนาเมืองหลายฝ่ายร่วมกับชาวย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้ริเริ่มไว้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เมื่อปี 2561 หรือกว่า 12 ปีก่อน”
วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยนิสิตผังเมืองจุฬาฯ คือ “กะดีจีน-คลองสาน ผสานพหุวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนวัตกรรมการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยภาคีธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย” พร้อมยุทธศาสตร์การพัฒนา 5 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย (Livability) ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ (Economy) ยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (Learning) ยุทธศาสตร์ด้านการเชื่อมต่อ (Mobility) และ ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ (Urban Form) กับ 22 โครงการพัฒนา ที่ตอบเป้าหมายย่านกะดีจีน-คลองสาน สู่ย่านที่มีความสมดุลระหว่างแหล่งงานและที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย เป็นย่านที่สามารถเดินทางได้หลากหลายรูปแบบ มีความเชื่อมต่อและปลอดภัย เป็นย่านที่มีพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงในทุกระดับและสามารถรองรับกิจกรรมสำหรับชีวิตประจำวัน เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระจายรายได้สู่ย่านริมน้ำ ธุรกิจท้องถิ่นและผู้ลงทุนรายใหม่ ภายใต้รูปแบบการค้าที่มีความหลากหลายรองรับกลุ่มคนทั้งในและนอกพื้นที่
รองศาสตราจารย์ ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาพอนาคตและร่างผังยุทธศาสตร์ย่านกะดีจีน-คลองสาน ถือเป็นความสำเร็จของการเรียนการสอน ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยวิจัยที่มีประสบการณ์อย่าง UddC-CEUS ร่วมกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้จาก “พื้นที่จริง โจทย์จริง ลูกค้าจริง” และเรียนรู้กระบวนการประสานความร่วมมือกับภาคีที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนา เปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและก้าวทันกับสถานการณ์การพัฒนาเมืองของโลกในปัจจุบัน
การนำเสนอร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาการวางผังและออกแบบชุมชน โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ อ.ธนิชา นิยมวัน อ.ว่าน ฉันทวิลาศวงศ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ/ ไอคอนสยาม / กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สอวช. / กลุ่ม บพท. / มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ประเทศไทย / สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย / มูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน / The Urbanis
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ