UNDP ชี้ไทยมีปัญหาเหลื่อมล้ำ ‘สภาพัฒน์’ เผยความก้าวหน้าด้านสำคัญถดถอย

ทีมข่าว TCIJ: 5 ม.ค. 2563 | อ่านแล้ว 8512 ครั้ง

รายงานการพัฒนามนุษย์ 2019 ของ UNDP ระบุไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้จะมีความก้าวหน้าใน ‘การวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนามนุษย์’ เสนอนโยบายให้เร่งแก้ไข  ส่วน'ดัชนีความก้าวหน้าของคนไทยปี 2562' ของ 'สภาพัฒน์' พบในภาพรวมคงที่จากปี 2558 แต่พบ 4 ด้านสำคัญถดถอย ‘สุขภาพ-รายได้-ชีวิตครอบครัวและชุมชน-การมีส่วนร่วม’ รวมทั้งปัญหา 'หนี้สินครัวเรือนสูง-สัดส่วนคนจนพุ่ง-ความไม่เสมอภาคของรายได้เพิ่มขึ้น' | ที่มาภาพประกอบ: ILO/Marcel Crozet (CC BY-NC-ND 2.0)

ข้อมูลจาก 'รายงานการพัฒนามนุษย์ 2019' (Human Development Report 2019) โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNPD) ที่เปิดเผยเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ระบุว่า จากรายงานพบว่าประเทศไทยมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index - HDI) 0.765 ในปี 2561 ซึ่งทำให้ประเทศถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง และเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกในการจัดอันดับ HDI ในช่วงปี  2556-2561 ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 77 ในการจัดอันดับโลก (จาก 189 ประเทศ) สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาของประเทศอย่างต่อเนื่องในเรื่องอายุขัยของประชากร การเข้าถึงการศึกษา และรายได้ประชากรต่อหัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศไทยลดลงร้อยละ 16.9 โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 0.635 ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการหยุดชะงักทางเทคโนโลยี ซึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวคือกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุด

รายงานได้วิเคราะห์ความไม่เท่าเทียมกันใน 3 ขั้นตอนได้แก่ประเด็น ‘มากกว่าเรื่องรายได้ มากกว่าเรื่องค่าเฉลี่ย มากกว่าแค่วันนี้’ ชี้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และรายงานได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาผ่านนโยบายดังนี้

มากกว่าเรื่องรายได้

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ปี 2019 และดัชนีที่เกี่ยวข้องกับดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่มุ่งเน้นอธิบายเรื่องความเหลื่อมล้ำ ระบุไว้ว่า ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีเป็นอุปสรรคต่อความ ก้าวหน้าในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ ร้อยละ 20 ของความก้าวหน้าในการพัฒนามนุษย์ได้สูญเสียไปทั่วโลก เหตุเพราะความไม่เท่าเทียมปี 2561 รายงานได้เสนอการแก้ไขปัญหาผ่านนโยบายดังนี้

การส่งเสริมการพัฒนาในวัยเด็กและตลอดอายุขัยของประชากร: ความเหลื่อมล้ำเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด และสามารถขยายไปถึงวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และการศึกษา นโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมจึงต้องเริ่มตั้งแต่ตั้งครรภ์หรือก่อนคลอด รวมถึงการส่งเสริมลงทุนในการเรียนรู้ของเด็กเล็ก การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และโภชนาการ

การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน: การลงทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินต่อไปตลอดชีวิตของประชากร ตั้งแต่ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานและหลังจากนั้น ประเทศที่มีแรงงานที่มีประสิทธิภาพมักเป็นประเทศที่มีมีดัชนีความเหลื่อมล้ำต่ำ ทั้งนี้ รายงานได้เสนอนโยบายที่สนับสนุนสหภาพแรงงาน การกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการส่งเสริมให้ผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากอำนาจการตลาดของนายจ้างส่งผลให้รายได้ของแรงงานลดลง ดังนั้นนโยบายการต่อต้านการผูกขาด และนโยบายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความไม่สมดุลของอำนาจการตลาด

การใช้จ่ายสาธารณะและการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม: รายงานระบุว่าการเก็บภาษีควรเป็นส่วนหนึ่งของระบบนโยบายรวมถึงการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขการศึกษาและทางเลือกอื่น ๆ นโยบายภายในประเทศถูกกำหนดโดยการอภิปรายภาษีนิติบุคคลระดับโลก โดยเน้นถึงความสำคัญของหลักการใหม่สำหรับการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ควรมีการตรวจสอบและยับยั้งการหลีกเลี่ยงภาษี

มากกว่าเรื่องค่าเฉลี่ย

รายงานของ UNDP ชี้ว่าในประเทศไทยความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ค่าเฉลี่ยการพัฒนามนุษย์ของผู้หญิงเท่ากับ 0.763 ส่วนของผู้ชายเท่ากับ 0.766 ทั้งนี้เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและรายได้ที่ต่ำของผู้หญิง | ที่มาภาพประกอบ: ILO/Marcel Crozet (CC BY-NC-ND 2.0)

ค่าเฉลี่ยมักจะซ่อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมและชี้ถึงแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขปัญหาความยากจนในหลายมิติจะต้องคำนึงถึง “คนที่อาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” เช่น คนพิการ ทั้งนี้ ควรมีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ความเท่าเทียมระหว่างเพศ: หากสถานการณ์เรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศยังไม่ได้รับแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน จะใช้เวลา 202 ปีในการแก้ไขปัญหานี้ ทั้งนี้ยังพบอคติต่อผู้หญิงในหลายภาคส่วน รายงานระบุไว้ว่าควรเร่งให้มีมาตรการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ภายในปี 2573 แต่ดัชนีความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศปี 2562 ของรายงานระบุว่าความคืบหน้าช้าลง

ดัชนีบรรทัดฐานทางสังคมตัวใหม่ในรายงานระบุว่า ยังพบอคติทางเพศในกว่าครึ่งของประเทศที่ถูกประเมินในรายงาน ประมาณร้อยละ 50 ของของผู้คนใน 77 ประเทศกล่าวว่าพวกเขาคิดว่าผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีกว่าผู้หญิง

ในประเทศไทย ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ค่าเฉลี่ยการพัฒนามนุษย์ของผู้หญิงเท่ากับ 0.763 ส่วนของผู้ชายเท่ากับ 0.766 ทั้งนี้เกิดจากโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและรายได้ที่ต่ำของผู้หญิง นอกจากนี้ อัตราที่นั่งของผู้หญิงในรัฐสภาไทยมีเพียงร้อยละ 5.3 ซึ่งต่ำกว่าเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่มีที่นั่งผู้หญิงในรัฐสภาเฉลี่ยร้อยละ 20.3

ดังนั้นนโยบายมุ่งเน้นแก้ไขอคติพื้นฐานและบรรทัดฐานทางสังคม และโครงสร้างอำนาจเป็นกุญแจสำคัญ ตัวอย่างเช่นนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลในการกระจายการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กเป็นสิ่งสำคัญ รายงานยังระบุอีกว่า เนื่องจากความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างชายและหญิงเกิดขึ้นก่อนอายุ 40

มากกว่าแค่วันนี้

บรรยากาศการเปิดตัวรายงานการพัฒนามนุษย์ 2019 (Human Development Report) ในธีม “มากกว่าเรื่องรายได้ มากกว่าเรื่องค่าเฉลี่ย มากกว่าแค่วันนี้: ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21” รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาความยากจน ความอดอยาก และรักษาโรคต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก | ที่มาภาพ: UNDP

เมื่อมองไปไกลกว่าแค่วันนี้ รายงานอธิบายว่าความเหลื่อมล้ำอาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลต่อความเป็นไปในศตวรรษที่ 22:

วิกฤตสภาพภูมิอากาศ: จากการประท้วงทั่วโลก แสดงให้เห็นว่านโยบายที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เช่น การวางราคาคาร์บอนอย่างถูกต้อง การเพิ่มการรับรู้เรื่องปัญหา และเข้าถึงคนยากจน เป็นต้น หากรายได้จากการกำหนดราคาคาร์บอนเป็น 'การนำกลับมาใช้ใหม่' เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสังคมที่กว้างขึ้น นโยบายดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี: เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น ด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนและและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีด้านการเงิน และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในอดีต การปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่เพียงแต่สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและผู้ที่พึ่งพาสินค้าหลัก แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

และไม่ใช่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ 'ความแตกต่างแบบสุดขั้ว' ซึ่งขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รายงานการพัฒนามนุษย์แนะนำนโยบายการคุ้มครองทางสังคมที่จะรับประกันการชดเชยอย่างยุติธรรมสำหรับ 'บุคลากร' การลงทุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อช่วยให้พนักงานปรับตัว หรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ และข้อตกลงสากลเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บภาษีดิจิทัล เพื่อการสร้างเศรษฐกิจยุคดิจิตัลแบบใหม่ที่มั่นคงและปลอดภัย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ใช่ความแตกต่าง

รายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า ทำไมความเหลื่อมล้ำจึงเป็นตัวทำลายสังคมของเราอย่างรุนแรง” Achim Steiner ผู้บริหารสูงสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติกล่าว “ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องการเปรียบเทียบรายได้ของคนคนหนึ่งกับเพื่อบ้านของเขา แต่ยังเป็นเรื่องของการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจที่ไม่เท่ากัน, บรรทัดฐานทางสังคม และระบบอำนาจทางการเมืองทำให้ผู้คนต้องประท้วงบนถนนแบบที่เห็นกันทุกวันนี้ และจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องมากยิ่งขึ้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต การตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ ขั้นตอนต่อไปคือการตัดสินใจของผู้นำ [1]

‘สภาพัฒน์’ เผยความก้าวหน้าคนไทยคงที่ - แต่พบด้านสำคัญถดถอย

ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index-HAI) ในปี 2562 ของ 'สภาพัฒน์' ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคนในภาพรวมของคนไทยค่อนข้างคงที่ แต่ด้านสำคัญที่มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน และด้านการมีส่วนร่วม | ที่มาภาพประกอบ: ILO/Marcel Crozet (CC BY-NC-ND 2.0)

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ย. 2562 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ 'สภาพัฒน์'  ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย พบว่าดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index-HAI) ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคนในภาพรวมของคนไทยค่อนข้างคงที่ โดยค่าดัชนีการพัฒนาคนในปี 2562 เท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และปี 2560 โดยดัชนีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น พบว่าอยู่ใน 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านคมนาคมและการสื่อสาร

สำหรับด้านที่มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้  ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน และด้านการมีส่วนร่วม โดยด้านรายได้พบว่าแม้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นเป็น 26,946 บาทต่อเดือน จาก 26,915 บาทต่อเดือนในปี 2558 แต่สัดส่วนคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.85 ของประชากร จากร้อยละ 7.21 ในปี 2558 อีกทั้งครัวเรือนที่มีหนี้สิน มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36.56 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.46 ในปี 2558 ทำให้ความก้าวหน้าด้านรายได้ลดลง และค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนเรื่องของสุขภาพนั้น แม้จะมีหลักประกันสุขภาพของประชากรครอบคลุมเกือบร้อยละ 100 แต่อัตราการเจ็บป่วยและสัดส่วนผู้พิการยังมีเพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุและการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยว ทำให้ความก้าวหน้าด้านชีวิตและครอบครัวและชุมชนลดลง ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมนั้น มีความก้าวหน้าลดลงมากที่สุด เนื่องจากใช้ตัวชี้วัดจากจำนวนประชากรที่ไปใช้สิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่มีเพียงร้อยละ 59.40 น้อยกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2554 ที่ร้อยละ 75.03 ส่วนความก้าวหน้าการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ พบว่า นนทบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต ระยอง มีความก้าวหน้าพัฒนาคนมากที่สุด ขณะที่นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีความก้าวหน้าพัฒนาคนน้อยที่สุด

สำหรับด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม มีดัชนีความก้าวหน้าของคนมากที่สุด แต่ยังต้องพิจารณาในเชิงคุณภาพของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และเป็นที่น่าสังเกตว่า กรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่น กลับมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยต่ำ เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้สภาพการอยู่อาศัยส่วนหนึ่งเป็นการเช่า และอีกส่วนเป็นผู้ซื้ออยู่ระหว่างการเช่าซื้อและผ่อนชำระ ส่วนด้านคมนาคมและการสื่อสาร มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นผลจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้คนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตทั่วถึงมากขึ้น แต่อุบัติเหตุบนท้องถนนต้องเร่งแก้ไข [2]

ดัชนีความก้าวหน้าของคนไทย (Human Achievement Index - HAI) ปี 2562

ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index - HAI) ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าค่าดัชนีเท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และ 2560 เมื่อพิจารณาพบว่า มีความก้าวหน้ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม และด้านคมนาคม และการสื่อสาร และ มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านรายได้ ด้าน ชีวิตครอบครัวและชุมชน และการมีส่วนร่วม โดยมีรายละเอียดในแต่ละด้านดังนี้

ด้านที่มีการพัฒนาเพิ่ม

  • การศึกษามีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่ต้องเร่งพัฒนาเชิงคุณภาพให้มากขึ้น โดยดัชนีย่อยด้านการศึกษาเท่ากับ 0.4743 เพิ่มขึ้น 0.0057 จากปี 2558 เนื่องจากนักเรียนอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น สะท้อนได้จากอัตราการเข้าศึกษาในระดับมัธยมปลายและ ปวช. ที่เพิ่มจากร้อยละ 78.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 78.8 ในปี 2561 และจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.63 ปี จาก 8.51 ปี ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นผลจากมาตรการสนับสนุนทางด้านการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการเรียนฟรี 15 ปี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การจัดการศึกษาสำหรับผู้อยู่นอกระบบโรงเรียน อย่างไรก็ตาม คุณภาพการศึกษาในภาพรวมยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สะท้อนให้เห็นจากคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net ระดับมัธยมปลายที่มีคะแนนเฉลี่ยคงที่
  • ด้านชีวิตการงานมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ยังมีประกันสังคมค่อนข้างต่ำ โดยค่าดัชนีย่อยด้านชีวิตการงานเท่ากับ 0.7237 เพิ่มขึ้น 0.0183 คะแนน จากปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งขยายความครอบคลุมการมีหลักประกันสังคม ทั้งในกลุ่มแรงงานในระบบ และนอกระบบทำให้แรงงานที่มีประกันสังคมเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 ผู้มีงานทำที่มีประกันสังคมมีร้อยละ 42.24 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.27 ขณะเดียวกันแรงงานที่ประสบอันตรายจากการทำงานลดลงเป็นร้อยละ 8.82 จากร้อยละ 10.25 ในปี 2558 ขณะที่การจ้างงานและการทำงานต่ำอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยในปี 2561 มีอัตราว่างงานที่ร้อยละ 1.05 และอัตราการทำงานต่ำระดับที่ 0.77 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2558 อย่างไรก็ตามในกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ยังมีประกันสังคมค่อนข้างต่ำซึ่งจะ ส่งผลถึงความมั่นคงในชีวิตการงาน รวมทั้งการขาดรายได้หลังเกษียณ
  • ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมีดัชนีความก้าวหน้าของคนมากที่สุด แต่ยังคงต้องพิจารณาในเชิงคุณภาพของที่อยู่อาศัยให้มีความเหมาะสม โดยค่าดัชนีย่อยด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม เท่ากับ 0.8595 เพิ่มขึ้น 0.0267 คะแนน จากปี 2558 เนื่องจากการลดลงของประชากรที่ประสบอุทกภัยและภัยแล้ง การลดลงของสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้านพลังงานที่มีค่าเฉลี่ย 2.09 ตันก๊าซเรือนกระจกต่อคน และครัวเรือนมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองในระดับค่อนข้างสูงคือกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การมีบ้านและที่ดินเป็นของตนเองมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยมี ร้อยละ 75 ในปี 2555 นอกจากนี้ การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอาจไม่สะท้อนในเชิงคุณภาพเนื่องจากไม่ได้สะท้อนสภาพของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเป็นที่น่าสังเกตว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นแต่กลับมีสัดส่วนของการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยค่อนข้างต่ำ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้สภาพการอยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นการเช่า และส่วนหนึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างการเช่าซื้อหรือผ่อนชำระ
  • การคมนาคมและการสื่อสารมีความก้าวหน้าของการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมีค่าดัชนีย่อยเท่ากับ 0.6774 เพิ่มขึ้น 0.1067 คะแนนจากปี 2558 เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ ทำให้มีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยพบว่า ร้อยละ 89.54 ของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป มีโทรศัพท์มือถือ เพิ่มจากร้อยละ 79.29 ในปี 2558 และ ร้อยละ 56.82 เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพิ่มจากร้อยละ 39.32 ในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังพบว่าหมู่บ้านที่ถนนสายหลักใช้การได้ตลอดปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 52.61 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 57.59 ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุบนท้องถนน ยังเป็นปัญหาสำคัญโดยมีจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นเป็น 155 รายต่อประชากรแสนคน จาก 108 รายต่อประชากรแสนคน ในปี 2558

ด้านที่มีการพัฒนาลดลง

  • ด้านสุขภาพแม้ว่าการพัฒนาสุขภาพได้มีการดำเนินงานอย่างมีคุณภาพ และมีความครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น แต่อัตราการเจ็บป่วยและสัดส่วนผู้พิการยังมีเพิ่มขึ้น โดยในปี 2562 ดัชนีย่อยด้านสุขภาพอยู่ที่ 0.5843 ลดลง 0.0252 คะแนน จาก ปี 2558 แม้ว่าการพัฒนาสุขภาพได้มีการดำเนินงานทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมทั้งการจัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากประชาชนมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดเพิ่มขึ้น การลดลงของอัตราทารกตายและมารดา รวมถึงการมีหลักประกันด้านสุขภาพของประชากรที่ครอบคลุมเกือบร้อยละ 100 อย่างไรก็ตาม ด้านการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนมีความก้าวหน้าลดลง สะท้อนจากอัตราทารกที่มี น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การเจ็บป่วยของผู้ป่วยใน และสัดส่วนผู้พิการที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมสูงอายุและวิถีชีวิตของคนในสังคมส่งผลให้แนวโน้มอัตราการเจ็บป่วยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น
  • ด้านรายได้ แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนคนจน หนี้ครัวเรือนและค่าสัมประสิทธิ ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) มีค่าเพิ่มขึ้น โดยค่าดัชนีย่อยด้านรายได้เท่ากับ 0.5689 ลดลง 0.0226 คะแนน จากปี 2558 แม้ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,946 บาทต่อเดือนจาก 26,915 บาทต่อเดือน แต่การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนคนจน หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภค และค่าสัมประสิทธิ์ ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) ยังมีค่าเพิ่มขึ้น ทำให้ความก้าวหน้า ด้านรายได้ลดลง โดยสัดส่วนคนยากจนเพิ่มเป็นร้อยละ 9.85 ของประชากร จากร้อยละ 7.21 ในปี 2558 ครัวเรือนที่มีหนี้สินมีสัดส่วนร้อยละ 36.56 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มจากร้อยละ 34.46 และค่าดัชนีความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) เพิ่มขึ้นเป็น 0.453 จาก 0.445 ในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยวทำให้ความก้าวหน้าด้านชีวิตครอบครัวและชุมชนลดลง โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 0.6470 ลดลง 0.0057 คะแนน จากปี 2558 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวเป็นร้อยละ 6.52 จากร้อยละ 6.03 ในปี 2558 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยว (หย่าและหม้าย) เป็นร้อยละ 23.50 จากร้อยละ 23.02 และการแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศ และการประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เพิ่มเป็น 105.46 รายต่อประชากรแสนคน จาก 101.35 รายต่อประชากรแสนคนในช่วงเวลาเดียวกัน ในทางกลับกัน การทำงานในเด็กอายุ 15-17 ปี มีสัดส่วนลดลงเหลือร้อยละ 9.71 จากร้อยละ 11.29 ในปี 2558 ทั้งนี้ ดัชนีได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิตที่คนมีการย้ายถิ่นในการทำงาน การอยู่เป็นโสดหรือหย่าร้างมากขึ้นรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนเดี่ยวส่งผลกระทบ ต่อความเข้มแข็งของครอบครัวที่เป็นหน่วยผลิตและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศรวมถึงการดูแลบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
  • ด้านการมีส่วนร่วม การใช้สิทธิ ในการเลือกตั้งสะท้อนถึงความก้าวหน้า ด้านการมีส่วนร่วมมีการพัฒนาลดลง โดยมีค่าดัชนี 0.5208 ลดลง 0.0852 คะแนน จากปี 2558 มีความก้าวหน้าลดลงมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ตัวชี้วัดประชากรที่ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 แทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 25548 โดยคะแนนผู้ไปใช้สิทธิลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 มีเพียงร้อยละ 59.40 น้อยกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2554 ที่มีร้อยละ 75.03 และการลดลงของครัวเรือนที่เป็นสมาชิกกลุ่มหรือองค์กรในท้องถิ่นโดยมีสัดส่วนร้อยละ 73.65 ลดลงจาก ร้อยละ 78.47 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของจำนวนองค์กรชุมชนและครัวเรือน มีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้านเพิ่มขึ้น [3]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข่าวประชาสัมพันธ์: รายงานการพัฒนามนุษย์ 2019 ชี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเรื้อรัง ย้ำต้องเร่งแก้ไข (UNDP, 20 ธ.ค. 2562)
[2] ปี 62 ความก้าวหน้าของคนไทยคงที่ แต่รายได้ลดฮวบหนี้สินท่วมหัวคนจนเพิ่ม (ไทยรัฐออนไลน์, 26 พ.ย. 2562)
[3] เปิดผล 2562 คนไทยมีอะไรพัฒนาบ้าง (กรุงเทพธุรกิจ, 20 ธ.ค. 2562)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: