สื่อเผย 'แอลกอฮอล์' ขาดแคลนราคาตลาดเพิ่มขึ้น 3 เท่า-สรรพสามิตยืนยันแอลกอฮอล์ในระบบไม่ขาดช่วง มีมากถึง 6.911 ล้านลิตร

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3923 ครั้ง

สื่อเผย 'แอลกอฮอล์' ขาดแคลนราคาตลาดเพิ่มขึ้น 3 เท่า-สรรพสามิตยืนยันแอลกอฮอล์ในระบบไม่ขาดช่วง มีมากถึง 6.911 ล้านลิตร

รายงานพิเศษจากสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' แอลกอฮอล์ขาดแคลน ราคาตลาดเพิ่มขึ้น 3 เท่า โรงงานเอทานอลขอ ก.คลัง ผ่อนคลายระเบียบ พ.ร.บ.สุรา เปิดทางขาย 'เอทานอล' ประชาชนโดยตรง 'มิตรผล' วอนสรรพสามิตปลดล็อกส่งเอทานอลล้านลิตร/วัน กรมสรรพสามิตยืนยันแอลกอฮอล์ในระบบไม่ขาดช่วง มีมากถึง 6.911 ล้านลิตร

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2563 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ “แอลกอฮอล์สำหรับใช้ในการฆ่าเชื้อ” กับ “แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยา” เพิ่มขึ้น อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จนก่อให้เกิดการขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น 2-3 เท่า ล่าสุดทางกลุ่มผู้ผลิตยาได้ทำการประสานไปยังกลุ่มโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเอทานอล ให้กระจายเอทานอลสู่ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศมาใช้ได้ เบื้องต้นหลังการประสานงานพบปัญหาติดกฎระเบียบของกรมสรรพสามิต ทำให้ไม่สามารถนำเอทานอลมาใช้ได้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ (TSMC) และประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีโรงงานน้ำตาล 57 โรง ในจำนวนนี้มีโรงงานเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล หรือโมลาส และแป้ง 28 แห่ง แต่ในส่วนของการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในทางการแพทย์ มีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถผลิตได้ ส่งผลให้ต้องนำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ประกอบกับตัวโรงงานเอทานอลในประเทศเองต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ พ.ร.บ.สุรา กรมสรรพสามิต

ปัจจุบันจึงมีโรงงานผลิตเอทานอลแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เอทานอลที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง หรือประเภทแอนไฮดรัส 99.8% ไม่สามารถนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ กับเอทานอลที่ใช้ทางการแพทย์ประเภทแอลกอฮอล์ 75% หรือกลุ่มสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในอาหารที่สามารถใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ รวมถึงนำไปใช้เพื่อการฆ่าเชื้อ หรือเป็นส่วนผสมในการผลิตเจลล้างมือ

“ผู้ผลิตเอทานอลที่ประสงค์จะขายในประเทศกำหนดว่า จะต้องเป็นฟู้ดเกรดและใช้เพื่อการสุราเท่านั้น ยกเว้นหากจะนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ทางโรงงานเอทานอลจะต้องซื้อ-ขายกันผ่านองค์การสุรา หรือเจรจาซื้อขายกับโรงงานเอทานอลเองโดยตรง จากนั้นจะต้องนำผลิตภัณฑ์ไปขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เช่น แอลกอฮอล์ล้างมือจะต้องเป็นสีฟ้า”

“ถามว่าปริมาณเอทานอลสำหรับผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อมีเพียงพอหรือไม่ในตอนนี้ บอกได้ยาก เพราะถ้านำไปฉีดฆ่าเชื้อก็คงหมด จะซื้อจากต่างประเทศก็ไม่ได้ เนื่องจากประเทศอื่นก็ต้องการเหมือนกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องมีการผ่อนคลายกฎหมายลงในช่วงนี้บ้าง เพื่อบรรเทาอุปสรรคและต้องควบคุมปริมาณวัตถุดิบไม่ให้มีการขาดแคลน” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ภาพรวมการผลิตเอทานอลของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านลิตร/วัน ในส่วนของโรงงานเอทานอลของกลุ่มมิตรผล (บริษัทมิตรผล ไบโอฟูเอล) ทั้ง 3 โรงมีกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านลิตร และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแอลกอฮอล์ โดยเบื้องต้นได้เข้าไปหารือกับกรมสรรพสามิต ถึงแนวทางในการผ่อนปรนกฎระเบียบการจำหน่ายเอทานอล ซึ่งในปัจจุบันมีระเบียบกระทรวงการคลังกำหนดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายต้องมี “ใบอนุญาต” ทางภาคเอกชนเสนอว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความต้องการแอลกอฮอลล์เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยาฆ่าเชื้อ” ภาครัฐควรผ่อนปรน “ปลดล็อก” ให้สามารถนำเอทานอลไปจำหน่ายโดยตรงให้ประชาชนก่อน หลังจากนี้ทางเอกชนจะพิจารณาถึงโอกาสขยายการลงทุนในระยะยาว หากความต้องการใช้เพิ่ม โรงงานผลิตเอทานอลกลุ่มนี้จะต้องลงทุนโรงกลั่นที่มีความบริสุทธิ์สูง

“ประเทศไทยผลิตเอทานอลได้ 2 ประเภท คือ กลุ่มสำหรับผลิตอาหาร/เครื่องดื่ม เป็นส่วนผสมในยาหรือสุราสามทับ ซึ่งกลั่นผ่านกระบวนการซับซ้อนและมีค่าความบริสุทธิ์สูง และกลุ่มที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเราไม่มีใบอนุญาตให้ทำอย่างแรก เพราะเราผลิตเอทานอลเป็นพลังงาน แต่ทางกระทรวงพลังงานได้หารือกับกระทรวงการคลังอนุมัติให้สามารถนำเอทานอลนี้ไปผลิตเจลล้างมือได้ แต่ประเด็นก็คือ ปริมาณความต้องการใช้เจลล้างมือไม่ได้มากเท่ากับความต้องการยาฆ่าเชื้อสำหรับใช้ในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ซึ่งกำลังประสบปัญหาจำนวนไม่เพียงพอ แต่เดิมทางบริษัทจะขายโดยตรงให้กับองค์กรภาครัฐ แต่ไม่สามารถจะขายตรงถึงประชาชนหรือโรงงานเอกชนได้ เพราะกลัวคุณภาพจะไม่ถึงสำหรับนำไปผลิตเกรดอาหาร กลัวชาวบ้านจะนำไปใช้ผิดประเภท เราก็เลยต้องขอให้กรมผ่อนปรนกำลังหาทางออกกันอยู่ แต่ทางกรมสรรพสามิตอยากดึงให้เอกชนไปทำเป็นความร่วมมือร่วมกัน แต่เราต้องการความคล่องตัวในการทำงาน” นายอิสระกล่าว

ทั้งนี้ การจำหน่ายเอทานอลของโรงงานน้ำตาลปัจจุบันมี 2 ส่วน คือ เอทานอลหรือแอลกอฮอล์สำหรับใช้ผลิตพลังงาน ความบริสุทธิ์ 95% ที่จำหน่ายให้ผู้ผลิตพลังงานในปริมาณคราวละมากๆ กับเอทานอลหรือแอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ผลิตยาฆ่าเชื้อ ซึ่งทางโรงงานจต้องเจือจางให้มีความบริสุทธิ์ประมาณ 70-75% โดยนำเอทานอลแบบ 95% มาเจือจางลง กลุ่มนี้จำหน่ายปลีกเป็นลอตเล็กๆ ประมาณ 2,000 ลิตร ให้ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยจะมีราคาหน้าโรงงานที่ลิตรละ 35 บาท

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ให้ข้อมูลโรงงานผลิตเอทานอลในประเทศมีทั้งหมด 28 โรงงาน กำลังการผลิตรวมประมาณ 6.4 ล้านลิตร/วัน ส่วนปริมาณแอลกอฮอล์ที่เข้าสู่ระบบจากการรายงานของกรมสรรพสามิต ณ วันที่ 16-29 มี.ค. รวม 6.911 ล้านลิตร แบ่งเป็น 1) แอลกอฮอล์ที่ไม่ได้ทำเพื่อจำหน่ายรวม 767,379 ลิตร ซึ่งในจำนวนนี้มาจากโรงงานเอทานอล 766,179 ลิตร ที่เหลือมาจากองค์การสุรา 1,200 ลิตร กับ 2) แอลกอฮอล์ที่ทำเพื่อจำหน่าย 6.144 ล้านลิตร ซึ่งในจำนวนนี้มาจากโรงงานเอทานอล 5.105 ล้านลิตร ที่เหลือมาจากองค์การสุรา 819,369 ลิตร และจากโรงสุราสามทับ 220,000 ลิตร

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงประเด็นที่ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลขอให้มีการปลดล็อกในการจำหน่ายเอทานอลก็คือ อยากให้เขียน “นิยาม” การใช้แอลกอฮอล์สำหรับพ่นฆ่าเชื้อให้ชัดเจน แต่เรื่องดังกล่าวอยู่เกินกว่าอำนาจของกฎหมายสรรพสามิต เพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งก็คงต้องยึดตามนิยามดังกล่าว แต่ก็ได้หารือกันว่า ในทางปฏิบัติอาจจะมีการประยุกต์ให้สามารถนำไปใช้พ่นฆ่าเชื้อได้ “ปัจจุบันแอลกอฮอล์ไม่ขาดตลาดแน่นอน โดยมีโรงงานส่งคำขออนุมัตินำแอลกอฮอล์ไปแปลงสภาพเป็นเจลหรือสเปรย์เข้ามาแล้วถึง 36 ล้านลิตร และมีที่แปลงสภาพแล้วรอส่งเข้าระบบมีกว่า 10 ล้านลิตร และเบิกออกไปแล้ว 6 ล้านลิตร” นายพชรกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมทางไกลขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 ให้ช่วยนำแอลกอฮอล์มาจำหน่ายให้กับประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น ล่าสุดในวันที่ 4 เม.ย. 2563 ทางพีทีที สเตชั่น ได้จัดหาแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% จากบริษัทผู้ผลิตที่มีสูตรผลิตและได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาจำหน่ายตรงให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-3 พ.ค. 2563 จำนวน 100,000 ขวด บรรจุขวดละ 1 ลิตร (1,000 มิลลิลิตร) ราคาขวดละ 110 บาท ให้ประชาชนคนละ 1 ขวด ขณะที่ทางสถานีบริการน้ำมันบางจาก ได้เริ่มจำหน่ายมาแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2563 โดยร่วมกับทางบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) โดยจำหน่ายต่อเนื่อง 6 เดือน ถึง 30 ก.ย. 2563

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: