สั่ง กฟผ.หาทางลดสำรองไฟฟ้าเจรจาเอกชนเร่งปลดระวาง

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 พ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 4972 ครั้ง

สั่ง กฟผ.หาทางลดสำรองไฟฟ้าเจรจาเอกชนเร่งปลดระวาง

ก.พลังงานมั่นใจ​สำรองไฟฟ้าลด หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวใน 2 ปีข้างหน้า​ สั่ง​ กฟผ.หาทางลดสำรองไฟฟ้าเจรจาเอกชนเร่งปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 ว่านายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หาแนวทางลดสำรองไฟฟ้าของประเทศที่ขณะนี้สูงเกือบร้อยละ 50 ​โดยดูว่าจะปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ขณะนี้ไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า​ แต่ยังอยู่ในสัญญาซื้อขายและจะหมดสัญญาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า​ โดยให้ปลดเร็วกว่าสัญญา​ได้หรือไม่​ ซึ่งกรณีวงเงินที่ใช้​ที่ กฟผ.ระบุเบื้องต้นว่าอาจเป็นหมื่นล้านบาท​ แต่ก็เป็นเงินจ่ายต่ำกว่าการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายจนหมดสัญญา จะใช้เงินส่วนไหนมาจ่ายก็คงจะพิจารณา​ต่อไป​ ในส่วนนี้เป็นโรงไฟฟ้าของทั้ง กฟผ.และเอกชน​ รวมทั้งเร่งวางแนวทางการเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

นายสุพัฒนพงษ์​ กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าของไทยแม้สูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากสำรองที่สูงนั้น หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้วไทยเองมีอัตราค่าไฟฟ้าที่ไม่ได้แพงกว่าแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาไฟสำรองสูงเป็นเรื่องที่ทั่วโลกก็เป็น เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกรณีที่กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) มีข้อเสนอเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชน​ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง​ แต่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เช่น​ โรงไฟฟ้าหินกอง​ รวมทั้งชะลอแผนก่อสร้าง​ แผนรับซื้อ​โรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด​ ทางกระทรวงฯ ก็รับฟัง​ โดยลดแผนรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนจาก​ 700 MW เหลือ​ 150 MW เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ​คาดว่าสำรองไฟฟ้าที่สูงจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว​ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นตัว ​ประกอบการสร้างระบบขนส่งมวลชน​ รถไฟฟ้าหลายเส้นทาง​ ยานยนต์​ไฟฟ้าหรืออีวี​ ก็กำลังมาและทำให้การใช้ไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้​ ประเทศไทยก็ต้องเตรียมพร้อมในส่วนนี้​ จึงไม่อยากให้กังวลจนเกินไป​ ขณะที่ที่โรงไฟฟ้าใหม่จะก่อสร้างเสร็จอีกหลายปี​ และกรณีโรงไฟฟ้าหินกองลงนามสัญญาซื้อขายไปแล้ว​ การยกเลิกคงทำได้ยาก

ก่อนหน้านี้ ​กฟผ.​ ระบุว่าโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณปี 2564-2568 เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของโรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าบางส่วนของกัลฟ์, บางยูนิตของโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น​ แต่เอกชนไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: