ก.พาณิชย์ เผยผลศึกษาฟื้น FTA ไทย-อียู หนุน GDP-ส่งออกโต เตรียมเสนอ ครม.ต้นปี 2564

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ธ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 4437 ครั้ง

ก.พาณิชย์ เผยผลศึกษาฟื้น FTA ไทย-อียู หนุน GDP-ส่งออกโต เตรียมเสนอ ครม.ต้นปี 2564

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่ได้ว่าจ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาศึกษานั้นเสร็จแล้ว ระบุจะช่วยหนุนGDP-ส่งออกโต เตรียมเสนอ ครม.ต้นปี 2564

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ว่านางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ได้ว่าจ้างสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษานั้นได้ดำเนินการเสร็จแล้ว จากนี้กรมฯ จะนำผลการศึกษาดังกล่าว ผลการรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินมาแล้ว และผลจากการหารือกรอบการเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องมาสรุปและเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พิจารณา ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ไทยฟื้นการเจรจากับอียูต่อไป หลังจากเจรจากันมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 56-57 แต่ได้หยุดการเจรจาไป คาดว่า น่าจะเสนอ ครม.ได้ช่วงต้นปี 64

สำหรับผลการศึกษาของสถาบันอนาคตศึกษา พบว่า หากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีทำนำเข้าระหว่างกันหมดจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล ที่จะทำให้นักลงทุนจากอียูเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ในไทยมากขึ้นนั้น จะทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม และลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 801,000 ล้านบาท อีกทั้งการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้จำนวนคนจนลดลง 270,000 คน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

โดยมีประเด็นท้าทายสำคัญ เช่น การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้นนั้น ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มากนัก เนื่องจากโครงการที่เอสเอ็มอีเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่า มีผลกระทบกับไทยด้วย โดยเฉพาะในสินค้าน้ำตาล นม เป็นต้น แต่ในการเจรจา ไทยสามารถหาทางออกได้โดยไม่นำสินค้าอ่อนไหวมาลดภาษี หรือขอระยะเวลาในการปรับตัว เป็นต้น

"ประโยชน์และผลกระทบจากการศึกษาดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานเชิงวิชาการ ซึ่งในทางปฏิบัติ กรมฯ ยังจำเป็นต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดทำท่าทีการเจรจาแต่ละประเด็นมีความรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์ภาพรวมกับประเทศสูงสุด รวมทั้งการหาแนวทางรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น" นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2562 อียู (27 ประเทศ ไม่นับสหราชอาณาจักร) เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้ารวม 38,227.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: