ครม. เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ชุดที่ 1

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1921 ครั้ง

ครม. เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 ชุดที่ 1

ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบหลักการมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ-ประชาชนจากสถานการณ์ COVID-19 ประกอบด้วย 4 มาตรการการเงิน 4 มาตรการภาษีสำหรับผู้ประกอบการ-สนับสนุนเงินสำหรับการใช้จ่ายแก่ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา

เว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม. เศรษฐกิจ) ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากและยังไม่ถึงจุดสูงสุด ขณะนี้ส่งผลกระทบรุนแรงทั่วโลก ในทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ยังกระทบไปถึงภาคการผลิตและบริการ ซึ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันและติดตามสถานการณ์นี้โดยตลอด โดยคิดว่าถึงเวลาที่ควรจะมีมาตรการออกมาเป็นชุดที่หนึ่งออกมา แล้วจะมีการประเมินว่ายังขาดตรงไหน ตรงไหนมีประสิทธิผลมากกว่า และจะมีมาตรการตามออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งจะมีการใช้เงินอย่างระมัดระวัง และให้ครอบคลุมหลาย ๆ ส่วน สิ่งที่สำคัญมากในขณะนี้คือผู้ประกอบการทั้งหลายกำลังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากโดยเฉพาะ SME เมื่อภาคการผลิตและการบริการได้รับผลกระทบ ก็ส่งผลถึงการจ้างงานถึงประชาชนทั่วไป ฉะนั้น ครม.เศรษฐกิจในวันนี้จึงได้พิจารณาในหลักการของมาตรการชุดที่หนึ่ง โดยการให้เงินช่วยเหลือเป็นแค่เพียงเสี้ยวเดียว ภาวะยามนี้เป็นภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหา วันนี้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน วาระที่เข้า ครม.เศรษฐกิจวันนี้ผ่านการกลั่นกรองเรียบร้อยแล้ว และไม่ใช่ว่าออกมาแล้วจบ เป็นเพียงชุดที่หนึ่งในช่วงเวลานี้ วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นยังไม่สามารถยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโลก ฉะนั้นพวกเราต้องช่วยกัน ทั้งนี้ สถานการณ์โลกขณะนี้ เราทำนายไม่ได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมากไปกว่านี้อีก เพื่อความรอบคอบ กระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ ดูระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ช่วยเหลือผ่อนคลายภาระต่าง ๆ ที่จำเป็นในอนาคต เช่น กรณีมีคนตกงาน จะต้องมีการฝึกฝน อบรมเพื่อให้เขาสามารถอยู่รอดต่อไปได้ เป็นต้น

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงว่า มาตรการที่นำเสนอวันนี้ เพื่อดูแลและเยียวยาให้ครอบคลุมที่สุด โดยร่วมกันคิดมาตรการที่ทันการณ์ ตรงเป้าหมาย มีน้ำหนัก โดยมาตรการชุดแรกเป็นมาตรการชั่วคราวเท่าที่จำเป็น ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ประชาชน ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือนเมษายน 2563 โดยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจะมีมาตรการ 2 ด้าน คือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1. สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนาและที่เกี่ยวเนื่อง โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้นำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% 2. มาตรการพักเงินต้น และพิจารณาการผ่อนภาระดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สถาบันการเงินของรัฐ 3. การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และลูกหนี้ที่เริ่มเป็นเอ็นพีแอล หรือได้รับผลกระทบ โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้ธุรกิจรายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล โดยในส่วนเรื่องบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10% และสามารถแปลงหนี้ที่มีการหมุนโดยต่อเนื่องให้เป็นหนี้ระยะยาวได้ 4. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน

ส่วนมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1. มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2. มาตรการภาษีเพื่อลดดอกเบี้ยจ่ายให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เขาร่วมโครงการสินเชื่อพิเศษซอฟท์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้มาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 3. มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำรายจ่ายค่าจ้างลูกจ้าง มาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เมษายน - 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อดูแลพนักงานลูกจ้าง และ 4. กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น หากยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จะได้รับคืนภายใน 15 วัน ส่วนผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติจะได้คืนภายในไม่เกิน 45 วัน

พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่ารัฐบาลยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย 1. ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียม ค่าเช่า และค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่เก็บจากภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2. ให้มีการบรรเทาภาระค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานจะพิจารณารายละเอียดการดำเนินการที่เหมาะสม 3. ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะพิจารณาการดำเนินการตามความเหมาะสม 4. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยกระทรวงคลังจะปรับปรุงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้เร็วขึ้น และ 5. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายในมิถุนายน 2563 และ SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนได้มากกว่า 65% ระยะเวลาถือครอง 10 ปี นอกจากนี้ มีมาตรการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนเงินให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 1,000 บาท/ราย เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยใช้ระบบ e-Payment ที่มีการเตรียมพร้อมไว้แล้ว

นอกจากนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 63 เติบโตได้ต่ำกว่าปกติในหลายด้าน ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออกที่ยังติดลบ ส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/63 เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 63 ทั้งนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ขยายความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมประเมินว่าจะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน แต่จากการประเมินใหม่คาดว่าสถานการณ์จะจบได้ภายใน 6 เดือน และกว่าจะสร้างความมั่นใจต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3/63 ถึงต้นไตรมาส 4/63 แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

“วันนี้ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ไตรมาสที่ 1 มีผลกระทบงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ใจผมคิดว่า ไตรมาส 1 คงออกมาต่ำคงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 เมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขเบื้องต้นเดือนมกราคมจะต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 อยากให้ทุกคนทำใจ รัฐบาลก็ทำใจ ตัวเลขไตรมาสที่ 1 ปีนี้ไม่ดี หลังจากนั้นก็หวังว่าไตรมาส 2 ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐจะกลับคืนมา แต่ว่าท่องเที่ยวเราคิดว่าจะแย่ต่อเนื่องระยะเวลาหนึ่ง วันนี้ตัวเลขท่องเที่ยวหายไป 50%” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมได้มีการหารือมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินต่าง ๆ ทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่ายสายการบิน เช่น การปรับลดค่าบริการสนามบิน มาตรการลดค่าบริการการเดินอากาศ การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน ที่อยากจะขอเพิ่มถึงกลางปีนี้ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: