'ชุมชน' ป้อมปราการต้าน COVID-19: EP2 หวัง 'ตำบล' เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 9731 ครั้ง

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รุกเดินหน้าขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญประชาชนสู้ภัย COVID-19’ ทุกตำบล เน้นปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน ให้ ‘ตำบล’ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ให้ ‘หมู่บ้าน’ เป็นฐานปฏิบัติการ และให้ประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลางในการดูแล ทั้งในฐานะกลุ่มเสี่ยงเอาเชื้อไปแพร่กระจาย และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออย่างผู้สูงอายุกับเด็กในชุมชน โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากระดับชาติ จังหวัด อำเภอ หลายพื้นที่เริ่มร่วมพูดคุยจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่วางกติกาการอยู่ร่วมกัน

เริ่มแล้วปฏิบัติการ 'ชุมชน' เป็นฐานต้าน COVID-19 เล็ง ‘ตำบล’ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์

เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เข้าสู่จุดล่อแหลมที่ภาครัฐต้องเพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาด แต่เท่านี้คงยังไม่พอหากขาดการสานพลังจากทุกภาคส่วนที่จะหนุนเสริมกันและกัน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้จับมือกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดเวทีระดมความเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของแต่ละส่วนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนกับหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วน รวมถึงภาคีเครือข่าย เพื่อหามาตรการในระดับพื้นที่ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่าน เฟสบุ๊ค สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรับมือกับการระบาดนั้น มาตรการของรัฐอย่างเดียวอาจจะให้ผลในระดับหนึ่ง แต่จุดชี้ขาดสำคัญคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการของประชาชนในชุมชน ดังนั้น จึงมองเห็นร่วมกันว่าควรให้ ‘ตำบล’ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ให้ ‘หมู่บ้าน’ เป็นฐานปฏิบัติการ และให้ประชาชนทุกคนเป็นศูนย์กลางในการดูแล ทั้งในฐานะกลุ่มเสี่ยงเอาเชื้อไปแพร่กระจาย และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้ออย่างผู้สูงอายุกับเด็กในชุมชน โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนทั้งจากระดับชาติ จังหวัด อำเภอ

“ผลกระทบของเรื่องนี้จะตามมาอีกมหาศาล เช่น ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม ความตื่นตระหนก ตื่นกลัว ประชาชนที่ต้องกลับชนบท เพราะฉะนั้นหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ส่วนกลาง เช่น กระทรวงสาธารณสุข สสส. สปสช. หน่วยงานอื่นด้านสุขภาพ เครือข่ายหมออนามัย ต้องจับมือกับภาคีเครือข่ายด้านสังคม เช่น พอช. อปท. ไทยพีบีเอส และภาคประชาชนอื่น ๆ บูรณาการเครือข่าย เครื่องมือ เพื่อหนุนช่วย ทำงานร่วมกับภาคีขับเคลื่อนประชาชนในพื้นที่ มีประชาชนทุกครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ร่วมสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้และกำหนดมาตรการของภาคประชาชน โดยใช้ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการสู้กับ COVID-19” นพ.ประทีปกล่าว

ขณะที่ นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา ภาคประชาชนทั้ง 76 จังหวัด มีการพูดคุยผ่านกลไกต่าง ๆ ของ พอช. เป็นกองบัญชาการของภาคประชาชนที่ลงมือทำงานทันทีโดยใช้พลังในพื้นที่ ไม่รอคำสั่งหรืองบประมาณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุมชนพึ่งตัวเองได้และทำงานเคียงคู่กับรัฐ

“สิ่งที่ห่วงคือ คุณภาพชีวิตต่อจากนี้ จะเป็นอย่างไร สิ่งที่เราต้องทำคือ รวมพลังทุกภาคีในการเคลื่อนงานโดยใช้การสานพลังทางสังคม ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างมาตรการ ผ่านธรรมนูญชุมชน แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตำบลชุมชนท้องถิ่น สร้างแผนการทำงานเชิงรุก สร้างมาตรการของชุมชน แผนสร้างรายได้ โดยภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมสนับสนุน” นายปฏิภาณกล่าว

ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ สช. ได้เพิ่มเติมว่า ในระดับตำบลมีกลไก มีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และประชาชนทั่วไป จะสร้างวงพูดคุยให้ทั้งสามภาคส่วนนี้หาแนวทางการจัดการ การกำหนดบทบาท และสร้างมาตรการทางสังคม เช่น การเฝ้าระวังในระดับชุมชน ตำบล ครอบครัว บุคคล การรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจ การดูแลกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ซึ่งทาง สช. และภาคีเครือข่ายได้เตรียมสนับสนุนการทำงานของพี่น้องระดับตำบลไว้แล้ว โดยเฉพาะข้อมูลความรู้ การประสานงาน

อย่างไรก็ตาม ระดับตำบลไม่สามารถรับมือตามลำพังได้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกระดับจังหวัดและอำเภอ มาหนุนเสริม โดยจะมีสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นแกนประสานเพื่อจัดวงหารือว่าจะสร้างมาตรการหนุนเสริมและส่งต่อข้อมูลสนับสนุนพื้นที่อย่างไร

ขณะที่ นายธนชัย อาจหาญ หัวหน้าสำนักสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม กล่าวว่า หลังจากจัดวงพูดคุยและสร้างมาตรการทางสังคมได้แล้วก็จะนำไปสู่การปฏิบัติ เก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น ผู้ติดเชื้อ ผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง เป็นต้น นำมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าแต่ละกลุ่มอยู่ที่ไหน จะออกแบบการช่วยเหลืออย่างไร บทบาทของแต่ละคนเป็นอย่างไร พอช. โดยผ่านสภาองค์กรชุมชนจะทำศูนย์พักพิงดูแลผู้ป่วย แผนฟื้นฟูระยะยาว รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงตำบล และมีการสรุปผลกทุกเดือนเพื่อรายงานให้ระดับจังหวัดรับทราบ

ทั้งนี้ ในขณะนี้ สช. ได้จัดแนวทางการจัดกระบวนการปรึกษาหารือ 3 ระดับ ดังนี้

1.แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยCOVID-19 ระดับจังหวัด สำหรับสมัชชาสุขภาพจังหวัดใช้ในการดำเนินการ

2.แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยCOVID-19 ระดับอำเภอ สำหรับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ใช้ในการดำเนินการ

3.แนวทางการจัดวงปรึกษาหารือ รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยCOVID-19 ระดับตำบล สำหรับท้องถิ่น/ท้องที่/รพ.สต./สภาองค์กรชุมชน ใช้ในการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของแต่ละระดับ เพื่อให้เกิดการส่งต่อข้อมูล ความรู้ การสนับสนุนการทำงานระหว่างกัน รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานร่วมกัน เช่น ระดับอำเภอ มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำหน้าที่ในการกระตุ้น สนับสนุน และติดตามการจัดวงหารือระดับตำบล และเมื่อมีการสรุปผลจากแต่ละตำบลเป็นภาพรวมอำเภอแล้วจึงส่งต่อข้อมูลไปสู่ระดับจังหวัด ซึ่งอาจมีทั้งข้อเสนอนโยบาย การขอรับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ไปใช้ในการทำกิจกรรมในระดับตำบล โดยการดำเนินการทั้งหมดจะทำให้เกิดการสานพลังการทำงานแนวราบหรือพลังทางสังคมเข้าไปร่วมหนุนเสริมการทำงานแนวดิ่งหรือพลังกลไกรัฐ เพื่อเอาชนะไวรัสCOVID-19 [1]

บอร์ดสุขภาพฯ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนสู้ภัย COVID-19 ทุกตำบล

การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2563 | ที่มาภาพ: Hfocus

ต่อมาในวันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับแผนงาน ‘รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัย COVID-19’ ที่หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น สธ. สปสช. สสส. สวรส. สรพ. สพฉ. และด้านสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายหมออนามัย 7 องค์กร และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐสถาบันวิชาการธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จับมือประกาศจุดยืนสู้ภัยCOVID-19 สนับสนุนชุมชนคลอดธรรมนูญประชาชน เน้นปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน โดยมี สช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง

หลังประชุม นายอนุทินเปิดเผยว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้หารือและเห็นว่าการระบาดของโรค COVID-19 มีความรุนแรงมากขึ้นและขณะนี้กระจายเข้าสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ถือเป็นวิกฤตของประเทศที่ต้องการรวมพลังจากทุกภาคส่วนมาหนุนช่วยขณะที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ และมุ่งปกป้องชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้ได้อย่างจริงจริง

“ผมและกรรมการสุขภาพแห่งชาติทุกคนเห็นด้วยกับแผนงานที่ สช.เสนอ และได้มอบให้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไปดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ทำการขับเคลื่อนเตรียมพร้อมชาวบ้านในชุมชนจากความตื่นกลัวเป็นตื่นรู้และมีเวทีเรียนรู้ จัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัย COVID-19 ในทุกตำบลชุมชนหมู่บ้าน เพราะประชาชนเป็นพลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นหูเป็นตา ดูแลกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัส และปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็กที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ให้ป่วยหนักจนเป็นภาระกับโรงพยาบาล รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามข้อแนะนำของทางการ” นายอนุทิน กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า แม้ในโหมดของการรักษาทางกระทรวงสาธารณสุขจะค่อนข้างเตรียมความพร้อมได้ดีแล้วแต่หากมีการระบาดหนักก็ยังเป็นการยากที่จะรองรับไหว ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมาตรการ Social Distancing จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำอย่างไรให้เรื่องนี้อยู่ในความตระหนักของประชาชนทั้งสังคมอย่างแท้จริง เรื่องนี้มีงานศึกษาจากประเทศออสเตรเลียรองรับแล้วว่า ต้องทำมาตรการนี้ให้ได้ถึงร้อยละ 80 จึงจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ทำได้เพียงร้อยละ 70 ตัวเลขเหมือนจะดูห่างกันไม่มากแค่ร้อยละ 10 แต่ผลลัพธ์การแพร่กระจายกลับสูงแตกต่างกันอย่างมาก ผลการศึกษายังชี้อีกว่า หากทำมาตรการนี้ได้ถึงร้อยละ 90 ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะหยุดการแพร่กระจายได้ในเวลาไม่นาน การสร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนร่วมมือให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัย COVID-19” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการสนับสนุนให้ทุกตำบลจัดกระบวนการประชาคมของสภาองค์กรชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัย COVID-19ทุกตำบล ทุกชุมชนหมู่บ้าน ให้เต็มพื้นที่ภายในเดือน เม.ย. นี้

“ขณะนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้ในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบลสร้างนกทาว่าด้วยปฏิบัติการต้าน COVID-19 ธรรมนูญตำบลหนองหลวงว่าด้วยมาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจเกี่ยวกับ COVID-19 ธรรมนูญตำบลนาโพธิ์กลางว่าด้วยมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นต้น สำหรับในกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการนำล่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่เป็นตัวอย่างในบางชุมชนพื้นที่หรือบางเขต”

“ถ้าประชาชนในพื้นที่จับมือกันและหนุนช่วยมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ เราจะชนะโรค COVID-19 และประเทศไทยจะพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างแน่นอน”เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว [2]

ธรรมนูญสุขภาพตำบล’ มาตรการสังคม ช่วยชุมชนสู้ภัย COVID-19

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2563 ว่านพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 และคณบดีวิทยาลัยการแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ในรายการคลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ถึงสถานการณ์ในจังหวัดอุบลราชธานีว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ 14 ราย ซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขสามารถสอบสวนโรคได้เร็วและให้การดูแลอยู่ แต่มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีมาตรการทางสังคมหนุนช่วยด้วย เนื่องจากการระบาดครั้งนี้ถือเป็นวิกฤตของประเทศและของโลก การทำงานของหน่วยงานและเครือข่ายต่าง ๆ จำเป็นต้องหลอมรวมกัน และธรรมนูญสุขภาพตำบลถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการรับมือ

“ในสถานการณ์โควิด ยุทธศาสตร์คือต้องลดการระบาดให้ได้ ธรรมนูญตำบลเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสมัชชาสุขภาพจังหวัด เป็นเครื่องมือที่เป็นข้อตกลงในพื้นที่ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จนถึงหมู่บ้าน เมื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน คนก็จะให้ความร่วมมือ คนอพยพเข้ามา กลุ่มเสี่ยงเข้ามา ต้องตรวจสอบ คนที่ไม่รู้ว่าติดหรือไม่ก็มีมาตรการควบคุมตัวเอง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากาก งานบุญงานบวช งดหมด” นพ.นิรันดร์กล่าว

ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพ นับเป็นเครื่องมือหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำธรรมนูญระดับประเทศเพื่อกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพทั้งระบบ ขณะที่อีกด้าน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เผยแพร่แนวคิดและวิธีการใช้เครื่องมือนี้สำหรับหน่วยย่อยอย่าง ‘ชุมชน’ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้น ๆ ลุกขึ้นมาร่วมกันสำรวจปัญหาตามบริบทของตน และร่วมกันสร้างข้อตกลงในการแก้ปัญหาหรือสร้างแนวทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ในแต่ละพื้นที่จึงมีจุดเน้นและข้อตกลงความร่วมมือที่แตกต่างหลากหลายตามสถานการณ์ของตนเอง

“ผมไปอำเภอพิบูลมังสาหาร เกือบทุกฝ่ายกระตือรือร้นเรื่องนี้มาก ไม่อยากให้มีผู้ติดเชื้อ นายอำเภอมาเป็นประธาน มีกำนันจาก 14 ตำบล รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) สาธารณสุขอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน จะร่วมกันเอาร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลไปทำประชาพิจารณ์ในระดับหมู่บ้านว่าสอดคล้องกับบริบทที่เป็นอยู่ไหม นี่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงร่วมกัน” นพ.นิรันดร์กล่าว

จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วม 20 ปี นพ.นิรันดร์เห็นว่าการรับมือวิกฤตรอบนี้เครือข่ายต่าง ๆ ล้วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการกำหนดมาตรการทางสังคมร่วมกัน เช่น การยกเลิกการแข่งขันกีฬา งานพิธีกรรม ประเพณีต่าง ๆ เพื่อลดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ถ้ามีอะไรผิดปกติในชุมชนก็จะแจ้งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เข้าไปตรวจและเฝ้าดูอาการ [3]

ชาวพะเยา จัดกติกาชุมชนป้องกันภัย COVID-19

เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา สานพลังชุมชนในพื้นที่รับมือ COVID-19 วางกติกาการอยู่ร่วมกัน สร้างกิจกรรมให้คนที่ต้องกักตัวตระหนักในคุณค่าตนเอง แลกเปลี่ยนข้อมูล เฝ้าระวัง ใช้กองทุนสวัสดิการหรือธนาคารหมู่บ้านช่วยเหลือสมาชิก เน้นให้กำลังใจ แบ่งปันเกื้อกูล

นางมุกดา อินต๊ะสาร กรรมการสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานในพื้นที่ผ่านรายการคลื่นความคิด FM 96.5 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าเครือข่ายฯ มีเป้าหมายสำคัญคือ ประชาชนคนพะเยาอยู่เย็นเป็นสุข วาระหนึ่งคือเรื่องคุณภาพชีวิต สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง ทำงานผ่านพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รัฐและชาวบ้านมาร่วมคิดด้วยกันว่าจะทำให้พี่น้องระดับตำบลอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุข และอีกหลายภาคส่วนได้พูดคุยถึงสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง คอยส่งข่าวและช่วยกันดูแล มีการมอบหมายให้นายอำเภอทำงานร่วมกับภาคประชาชนลงไปถึงพื้นที่ตำบล ท้องถิ่น ชุมชน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือสมัชชาสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้ามาเสริม ทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมในการพูดคุย ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ยิ่งทำให้การดำเนินงานขยับได้ดีมากขึ้น

“ในชุมชนวางกติการ่วมกันว่า ถ้าใครไปไหน ไปต่างจังหวัดกลับมา ให้รายงานให้ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ และช่วยกันคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนที่พักอยู่มีกำลังใจ น้อง ๆ ที่กลับจากต่างจังหวัดมากักตัว เราก็ชวนทำไร่ ทำสวน ทำเศรษฐกิจพอเพียง ครอบครัวก็ไม่เครียด ได้ทักทายกัน แม้จะจัดระยะห่างแต่ก็มีสัมพันธภาพที่ดี ที่สำคัญคณะกรรมการตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน แต่ละที่ก็เชื่อมโยงและส่งต่อเรื่องราวให้กันและกัน” นางมุกดากล่าว

ด้านชีวิตความเป็นอยู่ นางมุกดากล่าวว่า ในชุมชนแต่ละพื้นที่จะมีกองทุนสวัสดิการตำบล ธนาคารหมู่บ้าน ฯลฯ หากใครมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก็จะมีการปรึกษาหารือกันเพื่อนำเงินส่วนนี้มาจัดสวัสดิการให้ก่อนโดยไม่ต้องรอคำสั่ง มีการไปเยี่ยมให้กำลังใจ เอาข้าวปลาไปช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งหมดนี้เป็นภาพของชุมชนเข้มแข็งที่เกิดจากการทำงานมาเกือบ 3 ทศวรรษ

“กลุ่มต่าง ๆ ในพะเยาทำงานกับชุมชนมาตลอด ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ตั้งแต่ปี 2531 เรามีภาคีสาธารณสุข เอ็นจีโอ ประชาชนมาระดมความคิดด้วยกัน เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับงานกองทุนต่าง ๆ ที่มีในพื้นที่ มหาวิทยาลัยพะเยาก็มาเรียนรู้ด้วย กองทุนสวัสดิการบางตำบลก็มานั่งวิเคราะห์จะช่วยกันอย่างไรตามภารกิจที่ตนเองมี หลังจากสถานการณ์เอดส์มาถึงปี 2540 ก็มีสวัสดิการผู้ยากลำบาก จนถึงตอนนี้ก็ยังจัดการกันอยู่ มีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มาช่วยทำกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง...”

“คนทุกคนมีคุณค่าสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันได้ อีกทั้งเรายังมีคำสอนของพุทธศาสนาให้มีสติ นำธรรมะมาใช้ แบ่งปันเกื้อกูลกัน และอย่าลืมว่าพลังที่สำคัญที่สุดก็คือใจของเราเอง จึงขอส่งกำลังใจให้พี่น้องทุกคนที่กำลังร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน” นางมุกดากล่าวทิ้งท้าย [4]

นครสวรรค์ 10 กว่าตำบล ร่วมพูดคุยจัดทำธรรมนูญสุขภาพในพื้นที่วางกติกาการอยู่ร่วมกัน

ขณะที่หน่วยงานส่วนกลางกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ประชาชนก็ให้ความร่วมมือด้วยการ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ในเวลาเดียวกันชุมชนต่าง ๆ ก็เข้ามาหนุนเสริมการทำงานภาครัฐอย่างแข็งขัน ดังตัวอย่างของพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์

นายวิสุทธิ บุญญะโสภิต รองผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงบทบาทของพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา COVID-19 ว่างานด้านสุขภาพเป็นสิ่งทำเพียงลำพังไม่ได้ แต่ต้องจับมือกับเครือข่ายอื่น ๆ โดยใช้เครื่องมือสำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คือ กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นการสานพลังของภาควิชาการ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมให้มาทำงานร่วมกัน

“ที่นครสวรรค์ เราทำงานร่วมกัน 5 หน่วยงานคือ สช. สปสช. สาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ลงไปถึงตำบล โดยมี รพ.สต. (โรงพยาบาลสุขภาพตำบล) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) เป็นกลไกขับเคลื่อน อีกส่วนคือ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ที่มีการจัดตั้งหน่วยจัดการ สสส. ระดับจังหวัด และยังมี พอช. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่มีกลไกในพื้นที่ 2 ส่วนคือ สภาองค์กรชุมชนกับกองทุนสวัสดิการชุมชน เข้ามาทำงานร่วมกันผ่านแนวคิดการสานพลังบูรณาการร่วมกัน ในระดับจังหวัดมี Think Tank คุยกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าจะเสริม สาน และสร้างอะไรต่อ ซึ่งจริง ๆ เราทำงานในลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว” นายวิสุทธิกล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยต้นทุนในพื้นที่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว การเชื่อมประสานให้เกิดการพูดคุยจึงเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว จนขณะนี้มีกว่า 10 ตำบลในจังหวัดนครสวรรค์ที่นำแนวคิด ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ไปใช้เพื่อวางกติกาของชุมชน ช่วยให้ชาวบ้าน แกนนำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น มีความเข้าใจตรงกันถึงแนวปฏิบัติในการรับมือ COVID-19 และในบางพื้นก็มีการร่างธรรมนูญสุขภาพลงไปถึงระดับหมู่บ้าน

นายวิสุทธิ ยกตัวอย่างตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ ที่มีการรวมตัวของคนในพื้นที่เพื่อตกลงกันเรื่องกติกาจนที่ประชุมเห็นชอบและประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพร่วมกัน

“ชาวบ้านหนองกรดจะมีระบบคือ ถ้ามีคนมาจากต่างถิ่นจะต้องทำการกักตัว มีคนไปเยี่ยม หาข้าวปลาอาหารไปให้ เพราะในบางพื้นที่อาจเกิดการรังเกียจกัน จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้คนมองร่วมกันให้ได้ว่าเขาเป็นคนหนึ่งในชุมชน กติกาที่สร้างขึ้นทำให้อยู่เป็นเพื่อน เป็นญาติกันได้ในงานศพก็จะมีกติกา เช่น คนไปร่วมงานต้องตรวจวัดอุณหภูมิทุกคน มีเจลล้างมือบริการ อาหารต้องเป็นอาหารจานเดียว จัดโต๊ะ เก้าอี้ให้มีระยะห่าง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน เวลาเผาก็ไม่ควรเปิดโลงศพ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านรับทราบร่วมกัน ผมถือว่าชาวบ้านตื่นตัว มีส่วนช่วยสังคม ลุกขึ้นมาทำด้วยตนเอง ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่เราเข้าไปหนุนเสริม” วิสุทธิกล่าว

นอกจากนี้ สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ยังวางแผนการจัดสมัชชาจังหวัด ในประเด็นการขับเคลื่อนให้ประชาชนตื่นรู้ภัย COVID-19 หลังสถานการณ์ทุเลาลง ทุกคนจะอยู่ในสังคมอย่างไร แม้ว่ามาตรการรัฐด้านสุขภาพจะมาถูกทางแล้ว แต่ในมิติเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนยังมีความวิตกกังวล

“เราผลักดันประเด็นอาหารปลอดภัย ที่ผ่านมาเราสร้างพื้นที่หลายแห่งให้ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากสารเคมีเป็นอินทรีย์หรือการใช้สารทดแทน เมื่อสถานการณ์ผ่านไป เราก็ต้องรื้อฟื้นกลับมาทำต่อ เพราะจะเป็นทุนสำคัญให้คนในชุมชนอยู่รอดได้ แม้เศรษฐกิจภายนอกจะแย่ แต่พื้นที่ยังต้องมีกิน” นายวิสุทธิกล่าว

ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ มองในเชิงบวกว่า หลังทุกอย่างคลี่คลาย พฤติกรรมด้านสุขภาพของคนไทยจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เขายังเชื่อมั่นอีกว่าประเทศไทยจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้และจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับรับมือวิกฤตในอนาคต “ผมคิดว่าผลลัพธ์สำคัญเกิดจากฐานชุมชนเข้มแข็ง พลังชุมชนที่ช่วยกันดูแลมันเกิดขึ้น ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ บทเรียนนี้สำคัญ ในอนาคตบทเรียนโควิดจะเป็นตัวแบบหนึ่งในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ” [5]

ปฏิบัติการ 'พลเมืองตื่นรู้-สู้โควิด' ครบ 1 เดือน เครือข่ายขยายกว้าง - วางทิศทางสู่ ‘New Normal’

นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนที่ภาคีเครือข่ายด้านสังคมและสุขภาพหลากหลายองค์กร ได้จับมือกันเพื่อขับเคลื่อนแผนงานสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างพลังให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสู้ศึกครั้งนี้

จากจุดเริ่มต้นสู่การดำเนินงานที่กระจายลงไปในทุกระดับ ทุกพื้นที่ มาจนถึงวันที่สิ่งต่างๆ ในสังคมกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal พบว่าความก้าวหน้ามีมากขึ้นตามลำดับ

เพื่อสรุปทิศทางและวางแผนการเดินหน้าที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะหน่วยงานสานพลัง จึงเชิญทุกส่วนเข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19” เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมี นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เริ่มต้นทบทวนเป้าหมายของการรวมพลังเครือข่ายด้านสังคมและสุขภาพ ซึ่งมีการระดมทรัพยากรและประสานการทำงานในแนวราบ เชื่อมร้อยให้แต่ละพื้นที่เกิดข้อตกลงร่วมหรือ “ธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่” อันเป็นฉันทามติที่ทุกคนยอมรับและร่วมกันปฏิบัติตาม

นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของภาคีเครือข่ายรวม 12 องค์กร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ปัจจุบันมีเครือข่ายหน่วยงานเพิ่มเข้ามาร่วมเป็น 26 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม เครือข่ายระดับพื้นที่ ไปจนถึงคณะสงฆ์ รวมถึงมีการประสานหน่วยงานระดับนโยบายที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดความร่วมมือในระดับต่างๆ

นพ.ปรีดา บอกว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ คือการจัดทำข้อตกลงหรือรูปแบบมาตรการร่วมของสังคมที่ถูกกระตุ้นและส่งต่อกระจายไปยังที่ต่างๆ นับเป็นปรากฏการณ์การตอบสนองที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ให้เป็นระบบในลักษณะเป็นจดหมายเหตุ เพื่อให้ทราบว่ากระบวนการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงกระเพื่อมและเกิดผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง

“หนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจมากมาย แม้จะมีข้อจำกัดของการประชุมแต่เครือข่ายต่างๆ สามารถปรับวิธีปรึกษาหารือจนเกิดรูปแบบใหม่ๆ สิ่งที่ต้องคิดต่อหลังจากนี้คือเมื่อพ้นจากระยะวิกฤติ และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะกลางหรือระยะฟื้นฟู เราจะมีรูปแบบวิธีเคลื่อนต่อไปอย่างไร มีการทำข้อตกลงต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนในระยะต่อไปอย่างไร” นพ.ปรีดา ให้ภาพ

จากนั้น หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันบอกเล่าถึงการดำเนินงานตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมองเห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ โดยมีภาพการทำงานที่สำคัญ อาทิ การใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนสุขภาพตำบล) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้าน COVID-19 ในพื้นที่กว่า 3,900 ตำบล เฉลี่ยตำบลละ 3 โครงการ เป็นงบรวม 650 ล้านบาท

รวมไปถึงการปรับแผนงบประมาณของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อต่อสู้กับ COVID-19 การสนับสนุนชุมชนพักชำระหนี้ การผลิตหน้ากากอนามัย ตลอดจนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหาร หรือแอปพลิเคชัน C-site ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) ที่เติบโตขึ้น 1,000% ด้วยการถูกใช้เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารของเครือข่ายชุมชนต่างๆ เป็นต้น

สำหรับประเด็นหารือกันในครั้งนี้ คือการดำเนินงานภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ระยะถัดไป ซึ่งจะเป็น “ระยะฟื้นฟู” และการเริ่มเข้าสู่ภาวะ New Normal ที่หลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ฉะนั้นรูปแบบการทำงานต้องปรับตัวไปในทิศทางที่สอดรับกัน

สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสำคัญหลังจากนี้ นอกจากในแง่การเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายมาตรการโดยที่ยังมีความต่อเนื่องของการป้องกัน เพื่อไม่ให้ “การ์ดตก” แล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมกันกับการสร้างระบบสุขภาพชุมชน การวางระบบบริการปฐมภูมิ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยแนวใหม่ ภายใต้ความตื่นตัวของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง

นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปฏิบัติการที่ผ่านมาเป็นพลังแนวราบที่ช่วยเสริมพลังแนวดิ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนให้ชนะโรค COVID-19 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พอช. ได้สนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการสำรวจข้อมูลคนชายขอบและกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ ตลอดจนการจัดตั้งครัวชุมชน และศูนย์พักคนไร้บ้าน

นายปฏิภาณ บอกอีกว่า นอกจากการปรับแผนงบประมาณของโครงการต่างๆ ให้มาขับเคลื่อนเรื่องของ COVID-19 แล้ว พอช. ยังจะใช้งบประมาณอีกส่วนเพื่อให้เกิดกระบวนการจ้างงานในชุมชนด้วย ซึ่งแผนระยะต่อไปหลังวิกฤต COVID-19 คือ การวางรากฐานฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น พัฒนาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งและสามารถจัดการตนเองได้ เช่น การสร้างความมั่นคงทางอาหาร พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน

ด้านนายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้วางแผนงานในการสื่อสารสังคมเป็นสำคัญ โดยเฟสแรกในช่วงเริ่มต้นของการระบาดได้เน้นไปที่เรื่องของการดูแลป้องกันตัวเอง ถัดมาในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 ซึ่งเข้าสู่เฟสที่สองที่เป็นช่วงเตรียมความพร้อมก่อนผ่อนคลายมาตรการ จึงขยับมาสื่อสารในแนวทางการปรับ Mindset สร้างความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมกับลดการตีตราทางสังคมไม่ให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ติดเชื้อ

นายประกาศิต กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 ซึ่งนับเป็นเฟสที่สามของการสื่อสารสังคม จะเน้นหนักไปที่การสื่อสารว่าเราจะเข้าสู่ New Normal อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโรงเรียนแล้วจะมีรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร สถานประกอบการจะเตรียมความพร้อมอย่างไร ซึ่งในส่วนชุมชนชนบทนั้นมีเครือข่ายเข้มแข็งที่สามารถสื่อสารได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ส่วนของชุมชนเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่นสูง ภายหลังการผ่อนผันอาจเกิดกรณีการระบาดอีกดั่งเช่นประเทศสิงคโปร์ได้

ท้ายที่สุด นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขมวดประเด็นการพูดคุย โดย ตอกย้ำว่า การรับมือ COVID-19 นั้น ยังเป็นงานที่ต่อเนื่องในระยะยาว โดยภาพรวมซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันสรุปถึงทิศทางในระยะถัดไป มีทั้งเรื่องการสื่อสารทางสังคมให้เห็นถึงปฏิบัติการที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน การยกระดับมาตรการทางสังคมหรือข้อตกลงชุมชนให้เกิดขึ้นต่อไปในระยะยาว ผูกโยงกับประเด็นปัญหาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกับการสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนของพื้นที่จัดการตนเอง การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้การเชื่อมโยงร่วมกับองค์กรชุมชนและผู้นำทางศาสนา รวมถึงการปรับระบบสุขภาพชุมชน ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสาธารณสุขมูลฐาน ที่สอดคล้องกับ New Normal ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ [6]

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
'ชุมชน' ป้อมปราการต้าน COVID-19​: EP1 เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์จัดการตนเอง

ข้อมูลอ้างอิง
[1] เริ่มแล้ว! ปฏิบัติการ ‘ชุมชน’ เป็นฐานต้านโควิด19 เล็งตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 26 มี.ค. 2563]
[2] บอร์ดสุขภาพฯ เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19 ทุกตำบล (Hfocus, 28 มี.ค. 2563)
[3] “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” มาตรการสังคม ช่วยชุมชนสู้ภัยโควิด19 [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 3 เม.ย. 2563]
[4] ชาวพะเยาสานพลัง จัดกติกาชุมชน ป้องกันภัยโควิด19 [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 9 เม.ย. 2563]
[5] ‘นครสวรรค์’ ดัน ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ สู้ภัยโควิด19 [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 16 เม.ย. 2563]
[6] ปฏิบัติการ 'พลเมืองตื่นรู้-สู้โควิด' ครบ 1 เดือน เครือข่ายขยายกว้าง - วางทิศทางสู่ ‘New Normal’ [สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 16 เม.ย. 2563]

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: