LGBT ในประเทศจีน

อรปวีณ์ วงค์สว่าง นักศึกษาปริญญาตรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | 7 พ.ค. 2563 | อ่านแล้ว 26860 ครั้ง


ในอดีตประเทศจีนเปิดเผยเรื่องเพศทางเลือกอย่างมาก  ในงานเขียนที่มีอายุ 600 ปีก่อนคริสตกาล มีการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชาย และพบรายละเอียดเกี่ยวกับคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันจำนวนมากในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาล เช่นจักรพรรดิไอ(Emperor Ai) ที่พยายามทำให้คู่รักที่เป็นเพศชายของเขาได้สืบทอดราชบัลลังก์ หรือเรื่อง Bisexuality ก็เป็นอีกเรื่องที่มีการเขียนถึง อย่างเช่นเรื่องของหัวกวาง (Huo Guang) ในช่วงปี 150 ที่เขียนถึงความโรแมนติกระหว่างเพศเดียวกัน

ในสมัยราชวงศ์หมิง (1300-1600) ได้ค้นพบงานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงความปกติของความรักระหว่างเพศเดียวกัน โรงเรียนสอนปรัชญา เช่น ลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า ก็ได้พูดถึงความถูกต้องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน แต่การต่อต้านเพศทางเลือกในอดีต ได้เริ่มต้นในราชวงศ์ชิง (1600-1900) ในช่วงนั้นราชการได้เข้ามาสอดส่องดูแลเรื่องความสัมพันธ์ต่างๆ และผลของการที่ประเทศตะวันตกเข้ามาในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เชื่อว่าทำให้เกิดเพศทางเลือกในประเทศจีน ทำให้ LGBT ในจีนเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและมองว่าเป็นโรคทางจิตเภท มาจนถึงในปี 1997 ที่ได้ยกเลิกเพศทางเลือกว่าเป็นโรคผิดปกติทางจิต และยกเลิกกฎหมายลดโทษความเป็นอาชญากรรมในกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในจีนอย่างเป็นทางการในปี 2001 และมีกฎหมายในการแก้ไขการเลือกปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงกลุ่ม LGBT ก็ยังถูกกดขี่จากอคติทางเพศอยู่ในสังคมของจีน

ในปัจจุบันพ่อแม่ชาวจีนคาดหวังให้ลูกแต่งงานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม ความคาดหวังในการแต่งงานของครอบครัวก็คือมีลูกไว้สืบสกุล รวมถึงการหาคู่ที่ดีให้กับลูกด้วย เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของจีน (One-child policy) ที่ประกาศใช้ครั้งแรกในปี 1979 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป และยังถูกรู้จักในฐานะเป็นนโยบายการวางแผนครอบครัว เมื่อมีลูกได้แค่ 1 คน ทำให้คนจีนพยามที่จะมีลูกชายมากกว่าผู้หญิง ส่งให้ผลให้เพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง

ท่วาพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้ลูกได้แต่งงาน ก็มีการเกิดตลาดนัดหาคู่ขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ที่จัดขึ้นในสวนสาธาราณะวันเสาร์อาทิตย์ พ่อแม่จะนำรูปและข้อมูลของลูกมาแขวนป้าย รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของลูกเขย-ลูกสะใภ้ที่อยากได้ ให้พ่อแม่ที่มาร่วมหาคู่ให้กับลูกของตนเอง แต่สาเหตุที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำแบบนี้เนื่องจากค่านิยมที่ถูกฝั่งมาตั้งแต่สมัยปรัชญาขงจื๊อ คือบทบาทของเพศชายควรเป็นผู้นำ บทบาทของเพศหญิงควรเป็นผู้สนับสนุน บทบาทของเพศชายและหญิงคือการเป็นสามีและภรรยาเพื่อสืบวงศ์ตระกูลและมีลูก

ในเมื่อ LGBT ไม่สามารถที่จะสืบวงศ์ตระกูลและมีลูกให้ได้ เพราะในขงจื๊อคำสอนที่บอกคือ ชายกับหญิงเท่านั้น ไม่ใช่ชาย-ชาย และหญิง-หญิง ดังนั้นคนจีนจึงมีความรู้สึกว่าการเป็นเพศทางเลือกเป็นสิ่งที่ผิด คนที่เปิดเผยตัวตนกับสังคมก็มักจะถูกเลือกปฏิบัติ จากทั้งในสังคมและในครอบครัว ถูกตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรม ถูกใส่ร้ายกลั่นแกล้ง เมื่ออยู่ในที่สาธารณะก็จะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด ต้องแสดงตนตามแบบแผนที่กำหนดไว้ บางคนกดดันตัวเองจนอาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงข้อห้ามของจีนเป็นที่โครงสร้างทางสังคม ที่อุดมการณ์รัฐและอุดมการณ์ครอบครัวปิดกั้นเรื่องรักร่วมเพศ อุดมการณ์สังคมนิยมก็คือการผลิตลูกเพื่อตอบสนองอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ผลิตคนออกมาทำงาน เรื่องรักร่วมเพศจึงเป็นเรื่องต้องห้ามในจีน 

เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกเป็นเพศทางเลือก หากเป็นครอบครัวที่เข้าใจก็จะยอมรับและช่วยลูกในการหาคู่ แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่ยอมรับไม่ได้และอับอาย ก็จะส่งลูกไปที่สถานบำบัดพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ทั้งๆที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในจีน แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะแจ้งความ เพราะกลัวจะถูกเปิดเผยเรื่องทางเพศของตัวเอง การบำบัดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนให้คนรักเพศเดียวกัน กลายเป็นคนรักเพศตรงข้ามเท่านั้น ด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ มีการบังคับขังเดี่ยว การทำร้ายร่างกาย การใช้กระเเสไฟฟ้าช็อต  การบังคับใช้ยาบำบัด การฉีดยา รวมไปถึงการใช้คำพูดที่รุนแรงในเชิงเหยียดยาม เช่น ถ้าคุณไม่เปลี่ยนแปลงตนเองคุณจะมีจุดจบด้วยโรคเอดส์ รวมไปถึง การบังคับให้กินยาที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ในขณะที่ต้องดูภาพเปลือยของคนรักเพศเดียวกัน เพื่อให้คนที่เข้ารับการบำบัดรู้สึกคลื่นไส้เวลาเกิดความรู้สึกทางเพศต่อคนเพศเดียวกัน จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มเพศทางเลือกในจีนหลายล้านคนเลือกที่จะปิดบังตัวตนและฝืนใจแต่งงานกับเพศตรงข้าม

ขณะที่กระแสภาพยนตร์และละคร Y ในประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาตลาดของซีรีส์ Y ในประเทศจีนได้เติบโตขึ้นมาก อย่างไรก็ตามจีนเองก็ยังคงเป็นประเทศที่มีกฎและข้อห้ามชัดเจนต่อซีรีส์แนวนี้ ทำให้ละครแนวรักร่วมเพศไม่สามารถออกฉายได้อย่างสาธารณะ และถึงแม้ว่าซีรีย์ Y จะทำเงินให้จีนได้มหาศาลก็ตาม  รัฐบาลจีนก็ยังคงออกกฎที่เข้มงวดต่อสื่อบันเทิงสามประการด้วยกันคือ 1. ห้ามมีเรื่องรักร่วมเพศ 2. ห้ามมีเรื่องผีหรือไสยศาสตร์ และ 3. ห้ามการกระทำผิดกฎหมายโดยเยาวชน ทั้งหมดนี้จะปรากฏอยู่ในทีวีสาธารณะไม่ได้ 

นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลจีนควบคุมการเล่นอินเตอร์เน็ตของประชากร รวมถึงกีดกันเว็บไซต์และโซเซีลมีเดียจากประเทศตะวันตก เว็บไซต์และแอปพลิเคชันหลายอย่างจึงถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับการใช้ในประเทศจีนโดยเฉพาะ เช่น 'Baidu' ที่ถูกขึ้นมาเพื่อใช้แทนการค้นหาข้อมูลอย่าง Google แต่ขณะเดียวกันก็ถูกใช้สอดส่องพฤติกรรมของประชาชนและเก็บเป็นข้อมูลของรัฐไปด้วย กลุ่ม LGBT ในจีน จึงมีวิธีการในการหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐบาล ด้วยการใช้ Application ในการหาคู่ อย่าง 'Blued' ที่มีคนใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน และสามารถที่จะหาแม่อุ้มบุญในต่างประเทศได้ด้วย  

รวมไปถึงแอปพลิเคชัน 'iHomo' หรือ 'Xinghun' ที่คนกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจำเป็นต้องแต่งงานกับเพศตรงข้าม เป็นการหาคนมาแต่งงานกับตน เพื่อความสบายใจของครอบครัว ซึ่งคนที่แต่งงานด้วยก็คือคนที่รักเพศเดียวกันเช่นกัน เช่น นางสาวเอเป็นเลสเบี้ยน แต่พ่อแม่ต้องการให้แต่งงาน ก็ใช้แอป iHomo ในการหาคนมาแต่งงานด้วยซึ่งเป็นนายบี ที่อาจมีสถานะเป็นเกย์ แต่มาจัดงานแต่งงานกันเพื่อความสบายใจของพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติทั้งนางสาวเอและนายบีก็แยกกันอยู่ และใช้ชีวิตกับคู่รักจริงๆ ของตนเอง และกลับไปร่วมกับครอบครัวในวันหยุดเพื่อยืนยันสถานะการเป็นคู่สามีภรรยานั่นเอง

อย่างไรก็ตามแม้กลุ่มประชากร LGBT จะมีแอปพลิเคชันไว้พูดคุย หรือหลีกเลี่ยงการสอดส่องของรัฐ แต่ข้อมูลทางสถิติก็ยังชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มี LGBT มากที่สุดในโลกคือจีนนั้นยังมีแค่ 5% ที่กล้าเปิดเผยตัวตนในสังคม และอีก 15% ที่กล้าเปิดเผยกับครอบครัวและเพื่อน

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาของชาว LGBT ในประเทศจีนด้วยการเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น เพื่อไปอยู่อาศัยในประเทศอื่นที่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางเพศและยอมรับความตัวตนทางเพศได้มากกว่าประเทศจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาที่ประเทศไทย ที่มีค่าครองชีพที่ต่ำ และมีแรงต้านจากสังคมน้อยกว่าที่จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาพใหญ่ของประเทศ

ในทุกวันนี้ประเทศจีนยังคงมีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การต่อต้าน LGBT ถึงแม้ว่าในอดีตประเทศจีนก็มีการเปิดเผยเรื่องเพศทางเลือก แต่เนื่องจากปรัชญาขงจื๊อที่สั่งสอนมาอย่างยาวนานทำให้การเป็นเพศทางเลือกถูกมองว่าไม่สามารถจะทำหน้าที่ได้ตามคำสอนของขงจื๊อ เมื่อรวมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งอัตราการเกิดที่มีน้อยลง การที่รัฐบาลจับตามองเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตและการสั่งแบนภาพยนตร์และละคร ทั้งหมดนี้สร้างความกดดันทางสังคมต่อกลุ่ม LGBT 

และเมื่อกลุ่ม LGBT ทยอยออกมาใช้ชีวิตนอกประเทศจีน ไม่มากก็น้อยทำให้เกิดปัญหาตามมาเรื่องแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อการผลิต จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนต้องค้นหาวิธีการในการทำให้กลุ่มเพศทางเลือกกลับมาทำงานในประเทศ ในแง่นี้กฎหมายการแต่งงานที่ถูกต้องในไต้หวัน อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย แม้จะมีการเปิดกว้างกว่าจีน แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีการเหยียดและทำให้เพศทางเลือกเป็นตัวตลก น่าสนใจว่าการบังคับใช้กฎหมายการแต่งงานกับเพศเดียวกันในประเทศไทยกับประเทศจีน ใครจะสามารถทำให้สำเร็จก่อนกัน

 

อ้างอิง

  • Pimchanok K. (2561). LGBTQ คืออะไร สำคัญอย่างไร มหาวิทยาลัยต่างประเทศจัดการกับประเด็นนี้อย่างไร. สืบค้น 28 มีนาคม 2563, จาก https://researchcafe.org/policies-for-birth-promotion-in-thailand/
  • ทักษิณา ข่ายแก้ว. (2560). "ฮิวแมน ไรท์ วอทช์" เร่งเร้าจีนสั่งห้ามการบำบัด "เพศที่สาม". สืบค้น 28 มีนาคม 2563, https://www.voathai.com/a/china-lgbt/html
  • Matt Baume. (2020). It Turns Out Homosexuality Is Quite Literally an ‘Ancient Chinese Secret,’ Dating Back to 600 BC. Retrieved March 29, 2020, from https://hornet.com/stories/homosexuality-in-china-secret/
  • (2562). LGBTความหลากหลายที่ทรงพลัง ตอนที่ 2: เหตุใด LGBT จีนจึงหนีมาซื้ออสังหาฯไทย. สืบค้น 28 มีนาคม 2563, https://www.terrabkk.com/articles/195019/lgbt
  • อาธิติยา จำปาจันทร์. (2562). Not your business : ทางเลือกในความรักของคนจีนรุ่นใหม่. สืบค้น 29 มีนาคม 2563, จาก https://themomentum.co/chinese-modern-relationship/
  • (2019). China’s parliament rules out allowing same-sex marriage. Retrieved March 29, 2020, from https://www.scmp.com/news/china/society/article/3023715/chinas-parliament-rules-out-allowing-same-sex-marriage
  • Karoonporn Chetpayark. (2562). ห้าม Y ห้ามฉายรักร่วมเพศ วัฒนธรรมการเสพซีรีส์ Y ในจีน ประเทศที่แบนเนื้อหาของเพศที่ สืบค้น 29 มีนาคม 2563, จาก https://thematter.co/social/gender/y-drama-china/91439
  • BBC News. (2560). แรงกดดันจากครอบครัวบีบเกย์จีนต้องเข้า 'บำบัดแก้เกย์'. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/international-42018766
  • BBC News. (2562). LGBT: สภาไต้หวันผ่านกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันครั้งแรกในเอเชีย. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จาก https://www.bbc.com/thai/international-48307052
  • Uma Pupphachai. (2562). ไต้หวันไม่ใช่ประเทศ!. สืบค้น 30 มีนาคม 2563, จาก https://medium.com/@umapupphachai/%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8-ede5c97dc5e4

 

ที่มาภาพประกอบหน้าแรก: The Hill

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

LGBT  LGBTQ  จีน  

Like this article:
Social share: