ส่องโครงสร้าง ‘ไข่ไก่ไทย’ ผลิตได้ 41 ล้านฟอง/วัน ห้ามส่งออกถึง 30 เม.ย.63 รับสถานการณ์ COVID-19

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 เม.ย. 2563 | อ่านแล้ว 9008 ครั้ง

โครงสร้างตลาดไข่ไก่ไทย ในสถานการณ์ปกติผลิตได้ 41 ล้านฟอง/วัน ส่งออกประมาณ 1 ล้านฟอง/วัน - ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมาพบว่าหลายพื้นที่ ‘ไข่ไก่’ ราคาสูงขึ้น จากเหตุยกระดับสถานการณ์ COVID-19 ในไทย การปิดสถานที่ของจังหวัดต่างๆ, การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รวมถึงกระแสข่าวลือการกักตุนเพื่อส่งออกไปสิงคโปร์ เกิด ‘ดีมานด์เทียม’ แห่ซื้อไปเก็บกักตุนกันไว้ 3-4 แผงต่อครัวเรือน จนต้องห้ามส่งออกจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2563 - ‘ผู้บริหาร CPF’ เผย การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ COVID-19 สินค้าขายดีร้าน CP Freshmart กว่า 350 สาขา คือ ‘ไข่’ และ ‘ข้าว’ - ต้น เม.ย. 2563 ‘พาณิชย์’ เผยสถานการณ์ไข่ไก่ขาดตลาด-ราคาแพง กลับสู่ภาวะปกติแล้ว | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

เดือน มี.ค. 2563 คนไทยเริ่ม 'Panic Shopping' ซื้อสินค้ากักตุน

สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ของไทยเริ่มยกระดับขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ทำให้มาตรการของรัฐเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประกาศการปิดสถานที่ของจังหวัดต่างๆ การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ส่งผลกระทบให้ประชาชนตื่นตระหนก และมีกระแสข่าวการกักตุนสินค้าหลายประเภทเป็นระยะๆ

เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุถึงกรณี Panic Shopping หรือประชาชนซื้อสินค้ากักตุนว่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจร้านค้าทั่วประเทศ พบว่าสินค้าหลายรายการมีการขาดช่วงบ้างเพราะความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมากพร้อมๆ กัน ทำให้พนักงานในห้างไม่สามารถจัดเรียงสินค้าได้ทัน ในขณะที่สต๊อกสินค้ายังคงมีอยู่อย่างเพียงพอและราคายังอยู่ในระดับปกติ [1]

อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์เผยมีการกักตุนไข่ส่งออกไปสิงคโปร์ – นำไปสู่การห้ามส่งออกไข่ชั่วคราว

ในวันที่ 22 มี.ค. 2563 นั้น เป็นวันแรกของการประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด โดยในช่วงนั้นนายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ลงเฟสบุ๊คระบุว่า “อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาไข่ไก่บนความทุกข์ของคนไทย ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มข้น ไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจนเกิดการขาดตลาด หรือฉวยโอกาสขึ้นราคาบนความทุกข์ของประชาชน ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ไข่ไก่เริ่มแพงขึ้น และมีสัญญาณที่จะขึ้นราคาอีก แผงละ 6 บาทในสัปดาห์หน้า เนื่องจากไข่ไก่ในประเทศเริ่มขาดตลาด เพราะมีการกักตุนส่งออกไปสิงคโปร์ หลังจากมีการปิดประเทศมาเลเซีย ทำให้ออเดอร์ไหลเข้ามาที่ผู้ประกอบการไทย ขอวิงวอนผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมไข่ไก่ให้เห็นแก่คนในประเทศก่อน อย่าคิดถึงแต่กำไรจนทำให้ไข่ไก่ขาดตลาด”

นายเชาว์ยังระบุอีกว่า “ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ควรออกคำสั่งห้ามส่งออกไข่ไก่อย่างน้อย 2 เดือน เพื่อให้พ้นภาวะวิกฤติไปก่อน เท่ากับยิ่งซ้ำเติมปัญหา ฝากถึงกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งเข้ามาบริหารจัดการ อย่าปล่อยให้ไข่ไก่ขาดตลาด หรือมีการกักตุนจนมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ซ้ำรอยหน้ากากอนามัย ถ้าเป็นเช่นนั้นคิดว่าประชนคงไม่ทนอีกต่อไป หวังว่าผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์จะทำงานเชิงรุก ก่อนปัญหาไข่ไก่ราคาแพงจะกลับมากัดกิน จนยากที่จะแก้ไข” [2]

ทั้งนี้ในช่วงการแห่กักตุนไข่นั้น นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่าไทยส่งออกไข่ไก่เพียงวันละ 1-2 ล้านฟองเท่านั้น ส่วนใหญ่ส่งออกฮ่องกง แต่ขณะนี้ฮ่องกงนำเข้าลดลงเพราะนำเข้าจากจีนแทนเนื่องจากราคาถูกกว่ามาก ส่วนสิงคโปร์หันมาซื้อไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้นแทนการสั่งจากมาเลเซียพบว่าเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 600,000 ฟองเท่านั้น สำหรับราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขาย หน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 ส่วนราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ที่ตลาดสด กทม.และปริมณฑล ฟองละ 3.00-3.10 บาท กรมติดตามราคาอย่างใกล้ชิดพบว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.60-2.70 บาท ตอนนี้ยอดการขายไข่ไก่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากที่ประชาชนหาซื้อไข่ไปสำรองเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้เลี้ยงและผู้ค้าจัดระบบส่งไข่ป้อนเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ยืนยันสามารถผลิตไข่ได้เพียงพอ จากการตรวจสอบพฤติกรรมผู้ค้ายังไม่พบพฤติกรรมการฉวยโอกาสปรับราคา [3]

ต่อมาในวันที่ 23 มี.ค. 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาดูแลประชาชนในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ว่าในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งชุดทีมเฉพาะกิจ ออกเป็น 2 ทีม ประกอบด้วย คณะทำงานระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินงาน เบื้องต้นขอบเขตงานจะคอยสอดส่องผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสการขึ้นราคาสินค้าและกักตุนสินค้าในส่วนกลาง และได้จัดตั้งทีมคณะทำงานระดับจังหวัด คอยสอดส่องกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยตามจังหวัดต่างๆ ผ่านการแต่งตั้งให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำเดินการ [4]

ในวันที่ 26 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฉบับที่ 12 พ.ศ. 2563 เรื่อง ห้ามส่งออกไข่ไก่สดไปนอกราชอาณาจักร ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 53 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 3 ก.ค. 2562 กำหนดให้ไข่ไก่เป็นสินค้าควบคุมไปแล้วนั้น โดยที่ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายและเป็นอันตรายอย่างมากต่อชีวิตของผู้รับเชื้อ

นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกเกรงว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่เพียงพอ ทำให้มีการจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนเพิ่มขึ้นเกินความจำเป็นต่อการบริโภคปกติโดยเฉพาะไข่ไก่สด ดังนั้นเพื่อให้ปริมาณไข่ไก่สดมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (2) มาตรา 25 (3) (4) และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้ 1. ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับในทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร เป็นระยะเวลาเจ็ดวัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป กรณีมีความจำเป็น คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการอาจขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามสถานการณ์ และ 2. ห้ามมิให้บุคคลใดส่งออกไข่ไก่สดไปนอกราชอาณาจักรทุกกรณี [5]

ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค.2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศขยายระยะเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ เพิ่มเติมอีก 30 วัน จากเดิมที่ห้ามส่งออกไข่ไก่ชั่วคราว 7 วัน ซึ่งจะหมดระยะเวลา มาตรการในวันที่ 31 มี.ค. 2563 โดยมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่ 30 วัน จะไปสิ้นสุดมาตรการช่วงสิ้นเดือน เม.ย.2563 แต่หากสถานการณ์ไข่ไก่ดีขึ้นมีเพียงพอ ต่อการบริโภคของประชาชนก็อาจจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกไข่ไก่ได้

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังได้ร่วมมือกรมปศุสัตว์ยืดเวลาการปลดแม่ไก่ยืนกรงจากเดิม 72 สัปดาห์ ออกไปเป็น 80 สัปดาห์ เพื่อไม่ให้ไข่ไก่ออกสู่ตลาดลดลง รวมทั้งยังได้ขอความร่วมมือกำหนดราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มให้ขายไม่เกิน 2.80 บาทต่อฟอง และเร่งรัดให้ฟาร์มต่างๆ ส่งไข่ไก่ เข้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าโดยเฉพาะห้างค้าปลีก และร้านค้าปลีกเพื่อให้ไข่ไก่กระจายถึงมือประชาชนในช่วงที่มีความต้องการมากกว่าปกติถึง 3 เท่าตัว อย่างไรก็ตามในส่วนของการกักตุนไข่ไก่ กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฎหมายหากพบว่ามีการกักตุนและค้ากำไรเกินควร [6]

สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ยืนยันราคาไข่ขึ้นลงตามกลไกตลาดไม่ขาดแคลน

นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคม ผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 ว่าระดับราคาไข่ไก่จะเป็นไปตามกลไกตลาดเสมอ โดยการผลิตไข่ไก่ของไทยนั้น เป็นการรองรับการบริโภคในประเทศ มีผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย หรือรวมตัวกันในรูปแบบชมรมและสหกรณ์ ส่วนการส่งออกไข่ไก่นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อจำเป็นต้องระบายผลผลิตส่วนเกินให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ภายในประเทศ โดยผู้ส่งออกไข่ไก่ของไทยต้องยอมส่งไข่ในราคาขาดทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับจีนและสหรัฐฯ จึงไม่มีใครอยากทำการส่งออกไข่ เพราะมันไม่ใช่การสร้างกำไร แต่เป็นการเสียสละเพื่อเกษตรกรและคนในอุตสาหกรรมเดียวกัน

"ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร ในปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยพุ่งไปถึง 2.69 บาทต่อฟอง เกษตรกรทั่วประเทศต่างพยายามแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบ เช่น การปลดแม่ไก่ยืนกรง และปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน การให้ผลผลิตของแม่ไก่จึงลดลง สวนทางกับการบริโภคที่มากขึ้นในช่วงที่หลายคนกักตัวอยู่บ้าน อาจทำให้ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าปริมาณไข่ไก่ในประเทศไม่มีทางขาดแคลน" นายสุเทพกล่าว   

เมื่อพิจารณาจากวัฏจักรไข่ไก่ที่ราคามีขึ้นมีลงตลอดทั้งปี ในแต่ละปีจะมีช่วงที่ราคาไข่ไก่สูงเพียง 4-5 เดือน ขณะที่ช่วงที่ราคาตกต่ำมีมากถึง 7-8 เดือน ยังมีปัจจัยด้านต้นทุนการผลิต ภาวะโรค ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ฯลฯ เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง โดยเฉพาะเดือนมีนาคมนี้ เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่การบริโภคของนักเรียนจะต่ำลง เมื่อผนวกกับเหตุการณ์ COVID-19 เข้ามาทำให้ปริมาณ นักท่องเที่ยวหายไป คนกินไข่หายไปจำนวนมาก ทำให้ปริมาณไข่เหลือล้นตลาด ราคาตกต่ำลงอีก เกษตรกรจึงวางแผนการผลิตด้วยการเข้าเลี้ยงแม่ไก่น้อยลง ทำให้ปริมาณไข่ไก่สมดุลขึ้น จึงเพิ่งเริ่มเห็นการขยับราคาขึ้นบ้าง ขอผู้บริโภคเข้าใจสถานการณ์

ทั้งนี้จากสถิติราคาไข่ไก่ปี 2557-2562 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด พบว่าปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เป็นปีเดียวที่มีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 บาทต่อฟอง เป็นที่มาของการร่วมกันสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ ‘เอ้กบอร์ด’ (Egg Board) เป็นผู้ผลักดันการเดินหน้ามาตรการต่างๆ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและเกษตรกรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ช่วยกันปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโดยไม่ใช้งบประมาณของภาครัฐ [7]

โครงสร้างตลาดไข่ไก่ไทย ผลิตได้ 41 ล้านฟอง/วัน ส่งออกประมาณ 1 ล้านฟอง/วัน

โครงสร้างตลาดไข่ไก่ไทย มีกำลังการผลิตไข่ไก่ 15,000 ล้านฟองต่อปี ซึ่งใช้บริโภคในประเทศ 98% สามารถผลิตได้วันละ 41 ล้านฟอง บริโภคในประเทศ 40 ล้านฟอง/วัน และส่งออก 1 ล้านฟอง/วัน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 สื่อได้อ้างรายงานจากกลุ่ม CP ว่าไทยสามารถผลิตไข่ไก่ได้ปีละ 15,000 ล้านฟอง/ปี ส่งเข้าตลาด 41 ล้านฟอง/วัน และส่งออกรวมๆ 600,000 ฟอง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้เกิด ‘ดีมานด์เทียม’ ขึ้น คือมีการซื้อไปเก็บกักตุนกันไว้ 3-4 แผงต่อครัวเรือน จึงทำให้มีการส่งสินค้าเข้าไปไม่ทัน [8]

ส่วนตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าไทยมีกำลังการผลิตไข่ไก่ 15,000 ล้านฟองต่อปี ซึ่งใช้บริโภคในประเทศ 98% สามารถผลิตได้วันละ 41 ล้านฟอง บริโภคในประเทศ 40 ล้านฟอง/วัน และส่งออก 1 ล้านฟอง/วัน ด้วยเช่นกัน [9] และตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าไทยผลิตไข่ไก่อยู่ที่ 40-41 ล้านฟองต่อวัน และบริโภคภายในประเทศในภาวะปกติ 39 ล้านฟองต่อวัน ที่เหลือส่งออก 100,000-1,000,000 ฟองต่อวัน [10]

‘ผู้บริหาร CPF’ เผยในสถานการณ์ COVID-19 สินค้าขายดีร้าน CP Freshmart กว่า 350 สาขา คือ ‘ไข่’ และ ‘ข้าว’ 

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร (CEO) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CFP) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สิทธิชัย หยุ่น ใน รายการ Suthichai Podcast ตอน 'บทบาทเอกชนในการสู้ Covid-19' ในประเด็นเกี่ยวกับไข่ไว้ดังนี้

ประสิทธิ์ ระบุว่าครั้งนี้ก็น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่ไข่ในไทยมีไม่เพียงพอในตลาด หรือมีความต้องการเหมือนกับจะไม่พอ ทั้งนี้ที่ผ่านมาในไทยนั้นจะมีแต่ปัญหาไข่ล้นตลาดมาตลอด ซึ่งการจัดการเรื่องไข่ล้นตลาดนี้เป็นประเด็นที่ต้องจัดการมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยในสภาวะปกติ (หลังการจัดระบบควบคุมปริมาณไข่แล้ว) ไทยเราจะผลิตไข่ไก่ได้ 41 ล้านฟองต่อวัน จะส่งออกไข่ประมาณสัก 2-3% หรือประมาณ 1 ล้านฟอง ที่เป็นปริมาณเหลือจากการบริโภคในประเทศ

“อันนี้เป็นลักษณะปกติของไข่ที่มีอยู่ทั่วไป จริงๆ แล้วเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อไม่ถึงสักปีที่ผ่านมาไข่ก็ล้น แล้วเอกชนต้องมาร่วมมือกันกับทางกระทรวงเกษตรในการช่วยบริหาร เพื่อไม่ให้เกษตรกรที่เลี้ยงไก่เสียหาย เราก็ต้องช่วยกันเอาไก่-ไข่ส่งออกไปต่างประเทศ ตอนนั้นเอาจริงๆ แล้วส่งไปฮ่องกง แล้วบริษัทเองก็ช่วยจัดการเรื่องโลจิสติกส์ในการส่งไปที่ฮ่องกงให้ ในรอบที่แล้วประมาณสักปีนิดๆ เองนะครับ ก็ไข่ก็มีเพียงพอมาตลอด” ประสิทธิ์ ระบุ

ไข่ (ขาดตลาดในประเทศ) นี่พึ่งจะมีครั้งแรกเลย สาเหตุหลักๆ คงเกิดจากนโยบายที่บอกว่ามีการปิดสถานที่บางส่วนในประเทศ คนน่าจะอยู่บ้านมากขึ้น และมันมี 2 ปัจจัยมาพร้อมๆ กันเลย  1.) คนอยู่บ้าน 2.) ความเป็นห่วงเรื่องรายได้ในอนาคต การทำอาหารที่ทำง่ายที่สุดคือไข่ พอเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นประชาชนก็เลยคิดว่าไปซื้อเลย ไปซื้อไข่กัน

เมื่อสุทธิชัย ตั้งคำถามว่าอาจเป็นการซื้อกักตุนด้วย เพราะตอนนั้นมีข่าวลือว่าอาจจะมีการห้ามออกจากบ้าน เคอร์ฟิวต่างๆ คนก็เลยไปแห่กันซื้อ โดย 3อย่างที่คนซื้อเยอะ คือ 1.กระดาษชำระ 2. อาหารกระป๋อง และ 3. ไข่ ประสิทธิ์ ตอบว่าที่ร้าน CP Freshmart ที่มีประมาณสัก 350 สาขา สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ ‘ไข่’ กับ ‘ข้าว’ แต่ข้าวเป็นอันที่ขายดีที่สุด ทั้งนี้คนเลือกซื้อไข่เพราะมันมีราคาถูกที่สุดฟองละประมาณ  3-4 บาท คนก็เลยเลือกรับประทานไข่มากขึ้น

“ผมเลยเชื่อว่าเป็น 1 ใน 2 ปัจจัย แล้วซื้อตุน ตอนที่มีข่าวแรกๆ ตอนนั้นเรายังไม่ควบคุม คนก็ซื้อทีละ 2-3 แผง เอากลับไปตุนที่บ้าน จนกระทั่งมันเริ่มมีข่าว ผมก็พยายามบอกว่าโอเคเราก็ประสานงานกับกระทรวงเกษตร แล้วก็กระทรวงพาณิชย์ เราก็ให้ความร่วมมือกันว่าร้านทั้งหมดเนี่ยของเราเนี่ยนะครับ เราให้ซื้อได้แค่คนละ 1 แผงเท่านั้น” ประสิทธิ์ กล่าว [11]

(อนึ่งในช่วงที่ประชาชนแห่กันกักตุนไข่นั้น CP Freshmart มีการจำกัดการซื้อ โดยลูกค้าสามารถซื้อไข่ได้คนละ 1 แพ็คเท่านั้น) [12]

ประสิทธิ์ ยังได้ระบุถึงลักษณะของไข่ไก่ในตลาดของไทยว่าถูกจัดออกเป็น 2 ประเภท ประเภทที่ 1 ที่รัฐควบคุมเรียกว่า ‘ไข่แผง’ แผงละ 30 ฟอง เป็นไข่มาตรฐานตามมาตรฐานปกติ ประเภทที่ 2 คือ ‘ไข่แพ็คติดแบรนด์บรรจุกล่องพลาสติก’ หรือ ‘ไข่คัดพิเศษ’ (หรือเรียกว่า ‘ไข่แบรนด์’) ซึ่งประเภทหลังนี้จะไม่มีการควบคุมราคา ทั้งนี้ไข่คัดพิเศษราคาก็จะเพิ่มขึ้นมา อย่างเช่น ไข่โอเมก้าอาจจะมีราคา 7 บาท หรือไข่เบอร์ 0 ซึ่งมีขนาดใหญ่ อาจจะมีประมาณ 6-7 บาท เป็นต้น

“ไข่ประเภทที่เป็นไข่แพ็คแบรนด์อยู่ในกล่องพลาสติก  10 ฟองบ้าง 4 ฟองบ้าง อันนี้เป็นไข่คัดพิเศษ อาจจะแพ็คแบรนด์ แบบแผงก็มี แบบ 30 ก็มี 10 ฟองก็มี เรียกว่าเป็น ‘ไข่คัดพิเศษ’ หรือบางทีพวกนี้มันอาจจะเป็น ‘ไข่โอเมก้า’ ‘ไข่ฟรีเร้นจ์’ พวกนี้จริงๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้ควบคุม” 

“ซึ่งบางทีเวลานักข่าวอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจไข่ ก็อาจจะนำเอาไข่เหล่านี้มาเปรียบเทียบราคากัน ราคามัน 5 บาท 6 บาท 7 บาท 10 บาท มันคนละแบบกันกับที่รัฐบาลควบคุม แล้วเวลาที่รัฐบาลพูดว่าควบคุมราคาเขาจะหมายถึงไข่เบอร์ 3 ไข่ ทั้งนี้มันจะมีตั้งแต่เบอร์ 0 เบอร์ เบอร์ 1เบอร์ 2 เบอร์ 3 เบอร์ 4” ประสิทธิ์ กล่าว

คาดไข่ราคาแพงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเพราะระบบ Supply chain

ประสิทธิ์ ยังได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ไข่ราคาแพงในช่วงที่ผ่านมาว่าอาจจะเป็นระบบ Supply Chain มีเรื่องของต้นทุนค่าขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในตลาดไข่ไก่ของไทยนั้น ไม่ได้ตั้งราคากำหนดไว้ว่าปลายทางราคาต้องเป็นเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นภาคใต้อาจจะแพงกว่าอยู่ภาคกลางเพราะค่าขนส่ง เป็นต้น

“ส่วนถ้าให้ผมคาดเดาว่าทำไมราคาที่หน้าแผงมันแพงผิดปกติ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของระบบ Supply Chain เช่น จากสมมติบอกว่า ไปถึงเจ๊คนนึงที่ตลาดอย่างนี้ใช่ไหมครับ รายย่อยอย่างนี้ มันตั้งแต่แบบจากหน้าฟาร์ม ซึ่งตอนนี้หน้าฟาร์ม ทุกคนก็อยู่ที่ 2 บาท 80 สตางค์ นะครับ ขนส่งไป ไปถึง อาจจะไปถึงยี่ปั๊วมาซื้อไป ยี่ปั๊วไปส่งซาปั๊ว ซาปั๊วไปส่งแม่ค้า อันนั้นผมคิดว่ามันมีเรื่องของต้นทุนค่าขนส่งเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อย่างของผมเอง ผมมีไข่จากฟาร์ม เข้าร้าน CP Freshmart แล้วเราก็ส่งตรงไปที่ลูกค้าเรา เช่น ตลาดสด ส่ง Makro ส่ง 7-11 ส่ง Tesco ส่ง Big C อย่างนี้ มันก็แล้วแต่ว่าส่งชนิดเป็นธรรมดาหรือชนิดพิเศษ”

“ภาคใต้เนี่ยค่าขนส่งจะแพงมาก อย่างเช่นปกติถ้าพูดถึงธุรกิจทั่วไปการขนส่งของมาขายใน กทม. ค่าขนส่งจะอยู่ประมาณ 5% ของราคาขาย พอไปภาคใต้เนี่ยมัน 11% เลย เพราะว่าถนนมันยาวมากและมันไกลมาก” ประสิทธิ์ ยกตัวอย่าง

ให้ไก่ไข่ยืนกรงได้นานกว่า 80 วัน รับความต้องการไข่มากขึ้น หากล้นตลาดต้องหาตลาดส่งออกอีกรอบหนึ่ง

ในสถานการณ์ปกติเพื่อป้องกันไข่ไก่ล้นตลาด ไทยจะอนุญาตให้ไก่ไข่ยืนกรงได้เพียง 80 วัน แต่ในช่วงไข่ราคาสูงขึ้นเมื่อเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในมาตรการแก้ปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดก็คือการอนุญาตให้ไก่ไข่ยืนกรงได้มากกว่า 80 วัน | ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

เมื่อสุทธิชัย ถามถึงประเด็นว่าท้ายสุดแล้ว การขึ้นราคาไข่นั้นใครเป็นคนกำหนด เริ่มจากจุดไหน ในช่วงวิกฤตเมื่อ 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา (ช่วงเดือน มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา) ซึ่งประสิทธิ์ ตอบว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้คุมราคาปลายทาง

“รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยคุมราคาปลายทาง คุยเจรจากันเฉพาะราคาค้าส่งเท่านั้น ซึ่งวันนี้มันยืนอยู่ที่ 2 บาท 80 สตางค์ พูดถึงไข่อย่างเดียวเลย ไม่รวมค่าขนส่ง พอรวมค่าขนส่งแล้วขึ้นอยู่กับว่าคุณส่งไกลขนาดไหน ราคาอยู่เท่าขนาดนี้”

“แต่ต้องเรียนว่าทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ นี่เขาก็ active มาก ติดตามตลอดเวลา ผมก็ได้มีโอกาสปรึกษากับท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ไก่ไข่นี่มันจะมีว่าให้ยืนกรงได้ 80 สัปดาห์ เพราะว่าไข่มันล้น ที่ผ่านมาเขาก็จะบังคับให้ทุกคน ไก่ไข่ยืนกรง 80 สัปดาห์ แปลว่าไข่เนี่ย 1 วัน มันออกประมาณ 1 ฟอง โดยประมาณนะครับ มา 1 ฟอง แล้วตอนนี้ดูมี demand เพิ่มขึ้น ตอนนี้ท่านอนุญาตให้สามารถให้ไก่ไข่ยืนกรงได้นานขึ้น ก็แปลว่าแม่ไก่ปกติที่ 80 วันต้องปลดออกแล้วก็เอามาขายเป็นไก่ตัว ตอนนี้ก็ยืนกรงได้ยาวขึ้น แล้วอนุญาตให้ถึงเฉพาะวันที่ 30 เม.ย. นี้ ก็ถือว่าท่าน active แล้วก็ respons ได้เร็วมาก แต่ผมก็คิดว่าเนี่ยกำลังกลัวว่าถัดอีกสัก 3 อาทิตย์ ไข่มันจะล้นรึเปล่า มันมีโอกาสมีโอกาสล้น ซึ่งวันนั้นอาจจะต้องมาหาตลาดส่งออกอีกรอบหนึ่ง” ประสิทธิ์ ระบุ (ทั้งนี้ CPF ไม่ได้ทำการส่งออกไข่ไก่ตั้งแต่มีห้ามส่งออกมาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563) [13]

ต้น เม.ย. 2563 พาณิชย์เผยสถานการณ์ไข่ไก่ขาดตลาด-ราคาแพง กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2563 นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการติดตามสถานการณ์ไข่ไก่ พบว่าขณะนี้การผลิตและการจำหน่ายในจังหวัดต่างๆ ดีขึ้น เป็นผลดีจากมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการ ทั้งการห้ามส่งออกไข่ไก่เป็นระยะเวลา 30 วัน การกำหนดราคาหน้าฟาร์มไม่ควรเกินฟองละ 2.80 บาท การร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในการชะลอการปลดแม่ไก่ยืนกรงออกไป และการขอความร่วมมือห้างค้าปลีกค้าส่ง ให้จำกัดการจำหน่ายไม่เกินคนละ 1-2 แผง  รวมถึงการออกมาตรการให้ผู้ครอบครองไข่ไก่ตั้งแต่ 1 แสนฟองต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณการผลิต การรับซื้อ การจำหน่าย และสตอก รวมทั้งสถานที่เก็บ ให้กับกระทรวงพาณิชย์ทราบทุกวันตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2563 เป็นต้นไป ทำให้สถานการณ์ไข่ไก่เข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับผลการปฏิบัติการดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ว่าเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กรณีจำหน่ายไข่ไก่เกินราคาจับกุมผู้กระทำความผิด 2 ราย ที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.สกลนคร ในข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาทำให้มียอดการดำเนินคดีสะสมรวม 26 ราย ทั้งในข้อหาค้ากำไรเกินควรและ ไม่ปิดป้ายแสดงราคา

ทั้งนี้โทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มาตรา 28 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ข้อหาขายแพงเกินสมควร (มาตรา 29) มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ [14]

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] พาณิชย์เดินสายตรวจสถานการณ์สินค้า! มั่นใจไม่ขาดแคลนแม้ช่วงแรกจะมีกักตุน [หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 19 มี.ค. 2563
[2] ตุนไข่ไก่ส่งสิงคโปร์ ประชาธิปัตย์โพสต์แฉ (ไทยรัฐออนไลน์, 22 มี.ค. 2563)
[3] ไข่ไก่แพง 20 สต. คน.-ซีพียันผลิตพอ [หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2563]
[4] ตั้งกก.เฉพาะกิจไล่จับตุนสินค้า/โขกราคา (หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2563)
[5] ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2563 เรื่อง ห้ามส่งออกไข่ไก่สดไปนอกราชอาณาจักร (เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา, 26 มี.ค. 2563)
[6] ก.พาณิชย์ ขยายเวลาห้ามส่งออก “ไข่ไก่” อีก 30 วัน (Thai PBS, 31 มี.ค. 2563)
[7] ยันราคาไข่ขึ้นลงตามกลไกตลาดไม่ขาดแคลน (แนวหน้า, ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 2563)
[8] พาณิชย์ยันไข่ไก่มีเพียงพอ สั่งเร่งกระจายสินค้า ผ่อนปรนเพิ่มช่วงเวลารถขนส่ง (หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น, ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 2563)
[9] ย้ำอย่ากักตุน!เกษตรแจงยิบมีผลิตผลพอเลี้ยงคนทั้งประเทศช่วงวิกฤตโควิด-19 (Posttoday.com, 26 มี.ค. 2563)
[10] ก.พาณิชย์ ขยายเวลาห้ามส่งออก “ไข่ไก่” อีก 30 วัน (Thai PBS, 31 มี.ค. 2563)
[11] 'บทบาทเอกชนในการสู้ Covid-19' (รายการ Suthichai Podcast, 31 มี.ค. 2563)
[12] พิษ พ.ร.ก. ประชาชนแห่ซื้อไข่ไก่จนขาดตลาด (Thai PBS, 25 มี.ค. 2563)
[13] 'บทบาทเอกชนในการสู้ Covid-19' (รายการ Suthichai Podcast, 31 มี.ค. 2563)
[14] ทราบหรือยัง...สถานการณ์ไข่ไก่กลับสู่ภาวะปกติ (สำนักข่าวไทย, 4 เม.ย. 2563)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Egg board เผยปี 2563 คาดคุมนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่ 440,000 ตัวเท่าเดิม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: