เม.ย. 63 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติ คาด นศ.จบใหม่ว่างงานกว่า 60%

ทีมข่าว TCIJ | 7 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 8356 ครั้ง

สถิติชี้ เม.ย. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม 215,652 คน ทำลายสถิติสูงสุดช่วงวิกฤตซับไพรม์เมื่อ มิ.ย. 2552 ที่ 188,986 คนแล้ว และ เม.ย. 2563 ผู้ประกันตนยังถูกเลิกจ้าง 47,236 คน สูงสุดในรอบหลายปีอีกด้วย พบผู้ประกันตนในกลุ่มที่พักแรม/ร้านอาหาร ถูกเลิกจ้างพุ่งสูงขึ้น 502.10% เมื่อเทียบกันกับปี 2562 ด้าน ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต คาดนักศึกษาจบใหม่ มิ.ย. 2563 นี้ประมาณ 2.8-3 แสนคน จะหางานไม่ได้กว่า 60% ส่วนสภาพัฒน์ฯ ชี้ COVID-19 ทำแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน | ที่มาภาพประกอบ: TNN

เดือน เม.ย. 2563 ผู้ประกันตนว่างงานทำลายสถิติปี 2552 แล้ว

จากข้อมูลรายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน เม.ย. 2563 ระบุว่า เม.ย. 2563 มีแรงงานในระบบประกันสังคมหรือผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,520,407 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 11,515,746 คน) และมีอัตราการหดตัวร้อยละ -1.79 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 11,730,351 คน) โดยการจ้างงานรายอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แก่ สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 5.19 สาขาขนส่ง ร้อยละ 4.34 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 3.32 และสาขาการค้า ร้อยละ 1.64 ขณะที่อุตสาหกรรมหลักที่หดตัว ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ -6.89 และสาขาการผลิต ร้อยละ -1.45

ประเภทกิจการที่มีการจ้างงานสูงสุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต 3.27 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 28.39 ของลูกจ้างทั้งหมด) โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ยางและพลาสติก คอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์ฯ ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ยานยนต์ฯ เครื่องจักรและเครื่องมือ เคมีภัณฑ์ฯ และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าตามลำดับ เป็นสำคัญ รองลงมา คือ การค้า 1.70 ล้านคน (ร้อยละ 14.73) การบริหารราชการฯ 1.06 ล้านคน (ร้อยละ 9.22) ก่อสร้าง 0.61 ล้านคน (ร้อยละ 5.28) และที่พักแรม/ร้านอาหาร 0.47 ล้านคน (ร้อยละ 4.04) ตามลำดับ

เดือน เม.ย. 2563 มีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมจำนวน 215,652 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 24.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 173,796 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 26.75 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 170,144 คน) โดยการว่างงานรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 92.92 สาขาขนส่ง ร้อยละ 43.21 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 21.67 สาขาการค้า ร้อยละ 19.85 สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 14.44 และสาขาการผลิต ร้อยละ 10.46

ประเภทกิจการที่มีการว่างงานสูงสุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต 52,561 คน (คิดเป็นร้อยละ 24.37 ของผู้ว่างงานทั้งหมด) โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร คอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์ฯ ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ฯ ยานยนต์ฯ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตามลำดับ เป็นสำคัญ รองลงมา คือ การค้า 34,067คน (ร้อยละ15.80) ที่พักแรม/ร้านอาหาร 17,164 คน (ร้อยละ7.96) กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน 10,564 คน (ร้อยละ 4.90) ก่อสร้าง 7,793 คน (ร้อยละ 4.58) และขนส่ง/สถานที่เก็บสินค้า 7,245 คน (ร้อยละ 4.26) ตามลำดับ เป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่าก่อนหน้านี้สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เคยสูงสุดในช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) เมื่อเดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ซึ่งสถิติ ณ เดือน เม.ย. 2563 ที่ 215,652 คน นี้ได้กลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่

ด้านการเลิกจ้าง ลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างเดือน เม.ย. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 47,236 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 0.41 พบว่าอัตราการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (จำนวน 27,741 คน) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.24 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ เดือนที่ผ่านมา (จำนวน 32,789 คน) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.28 โดยการเลิกจ้างรายอุตสาหกรรมหลักเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าขยายตัวทุกอุตสาหกรรม ได้แก่ สาขาที่พักแรม/ร้านอาหาร ร้อยละ 502.10 สาขาการค้า ร้อยละ 88.95 สาขาเกษตรกรรม ร้อยละ 80.40 สาขาขนส่ง ร้อยละ 68.56 สาขาก่อสร้าง ร้อยละ 34.18 และสาขาการผลิต ร้อยละ 31.74

ประเภทกิจการที่มีการเลิกจ้างสูงสุด คือ อุตสาหกรรมการผลิต 11,725 คน (คิดเป็นร้อยละ 24.82 ของผู้ถูกเลิกจ้างทั้งหมด) โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ยางและพลาสติก ผลิตภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และยานยนต์ฯ ตามลำดับ เป็นสำคัญ รองลงมา คือ การค้า 5,504 คน (ร้อยละ 11.65) ที่พักแรม/ร้านอาหาร 4,883 คน (ร้อยละ 10.34) ขนส่ง/สถานที่เก็บสินค้า 1,812 คน (ร้อยละ 3.84) ก่อสร้าง 1,645 คน (ร้อยละ 3.48) กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน 1,544 คน (ร้อยละ 3.27) ตามลำดับ เป็นสำคัญ [1]

อนึ่ง เมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่าตัวเลขอัตราการเลิกจ้างลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา สถิติ ณ เดือน เม.ย. 2563 ที่ 47,236 คน นี้ถือเป็นสถิติสูงสุด

คาดนักศึกษาจบใหม่ มิ.ย.นี้ 2.8-3 แสนคน จะหางานไม่ได้กว่า 60%

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยหลังการผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์เฟส 3 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. 2563 ช่วยทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 2 หดตัวหรือติดลบลดลงไม่ต่ำกว่า 1-2% โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ม.รังสิต คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะติดลบประมาณ 10-11% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ 12-13% จะทำเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมครึ่งปีแรกมีจีดีพีติดลบประมาณ -5.44 ถึง -5.93% ความเสียหายทางเศรษฐกิจขั้นต่ำจากวิฤกตการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกไม่นับรวมความเสียหายของโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมและการว่างงานรวมทั้งต้นทุนค่าเสียโอกาสอื่น ๆ อยู่ที่ระดับ 496,713-455,233 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการการคลังและมาตรการการเงินรวมเม็ดเงินสาธารณะประมาณ 1.9 ล้านล้านบาทนั้นไม่เพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจและการสร้างตำแหน่งงานจำนวนมาก เงิน 1.9 ล้านล้านบาทเพียงช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงกว่าเดิมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การทรุดตัวและติดลบทางเศรษฐกิจในเดือน มิ.ย. จะกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่จะไม่มีผลต่อการขยายตัวของการจ้างงานใหม่ ๆ ในตลาดแรงงานมากนัก โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่มีงานทำเป็นแรงงานที่มีประสบการณ์ จะมีนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีและระดับวิชาชีพในเดือน มิ.ย. นี้ประมาณ 280,000-300,000 คน โดยมากกว่า 60% ของแรงงานบัณฑิตใหม่เหล่านี้จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนข้างหน้า ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน แรงงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled labour) จะเข้ามาทดแทนแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนที่ไม่เคลื่อนย้ายกลับมาทำงานในไทย [2]

สภาพัฒน์ฯ คาด COVID-19 ทำแรงงานเสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน

สภาพัฒน์ฯ ประเมินการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบต่อแรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน | ที่มาภาพประกอบ: Thai PBS World

เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2563 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) หรือ 'สภาพัฒน์ฯ' เผยแพร่ 'รายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 1/2563' ระบุว่าการจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง

ไตรมาส 1/2563 ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562 ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังไม่แสดงผลกระทบในจำนวนการจ้างงานภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วงเดือน ม.ค.-ต้น มี.ค. การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ และผู้ประกอบการยังรอดูสถานการณ์ของผลกระทบ อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0 นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน 

ผู้ว่างงานมีจำนวน 394,520 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 มีจำนวน 170,144 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีผู้ว่างงานแฝงจำนวน 448,050 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานแฝงร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม

ปัจจัยที่กระทบต่อการจ้างงาน ปี 2563 คือ 1. การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อแรงงาน พบว่าแรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย (1) แรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่ง และการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับผลกระทบจากตั้งแต่ก่อน COVID-19 จากสงครามการค้า และต่อเนื่องมาจนถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม บางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม หรือของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และ (3) การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน

และ 2. ผลกระทบจากภัยแล้งต่อการจ้างงานภาคเกษตรกรรม ภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2562 และต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ส่งผลให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง และมีจำนวนแรงงานที่รอฤดูกาล 370,000 คน สูงที่สุดในรอบ 7 ปี โดย ณ เดือน เม.ย. ได้มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด และมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบประมาณ 3.9 ล้านคน และเกษตรกรในพื้นที่อื่นที่มีปริมาณน้ำน้อยและไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรก็ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 2.1 ล้านคน รวมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งสิ้น 6 ล้านคน

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อ COVID-19 และปัญหาภัยแล้งต่อการจ้างงาน การว่างงาน จะปรากฏผลชัดเจนเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สอง และชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะอยู่ในช่วงร้อยละ 3-4 หรือตลอดทั้งปีมีผู้ว่างงานไม่เกิน 2 ล้านคน เนื่องจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มควบคุมได้และในครึ่งหลังของเดือนพฤษภาคมเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น (2) รัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และ (3) ภาคเกษตรกรรมจะสามารถรองรับแรงงานที่ว่างงานได้บางส่วนแม้ว่าจะมีปัญหาภัยแล้ง

ประเด็นที่ต้องติดตาม 1.ความครอบคลุมของมาตรการช่วยเหลือ ทั้งแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยมีเป้าหมายทั้งสิ้น 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านราย กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ซึ่งต้องพิจารณาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว  2. การติดตามภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน แม้ว่าปัจจุบันมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น แรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก เช่น รถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศลดลง และการท่องเที่ยวยังเชื่อมโยงกับมาตรการของต่างประเทศด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง ขณะเดียวกันในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. คาดว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงาน และจ้างงานที่เพียงพอเพื่อรองรับผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะหางานทำไม่ได้

และ 3.การเตรียมความพร้อมของแรงงานเพื่อรองรับการฟื้นตัว ในช่วงหลังการระบาดของเชื้อ COVID-19 ผู้ประกอบการ/ธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน/ติดต่อสื่อสารมากขึ้น ทำให้การทำงานบางประเภทไม่ถูกจำกัดในเรื่องสถานที่ ซึ่งแรงงานจะต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ หรือการสร้างทักษะใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพหรือลักษณะการทำงาน [3]  

 

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแรงงาน เดือนเมษายน 2563 (กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 5 มิ.ย. 2563)
[2] ประเมิน นศ.จบใหม่ มิ.ย.นี้ 2.8-3 แสนคน จะหางานไม่ได้กว่า 60% (ประชาไท, 31 พ.ค. 2563)
[3] ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2563 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พ.ค. 2563)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: