สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องยุติคดีผู้ชุมนุม และประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ส.ค. 2563 | อ่านแล้ว 2369 ครั้ง

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรียกร้องยุติคดีผู้ชุมนุม และประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมซึ่งใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยุติการใช้อำนาจและกระบวนการยุติธรรมข่มขู่คุกคามประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล และขอให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อให้ได้รับอิสรภาพและสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากเงื่อนไขที่กระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน | ที่มาภาพ: สำนักข่าวประชาไท

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมประชาธิปไตยจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก “รัฐต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ตามที่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับเข้าจับกุมตัวนายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และมีการออกหมายจับนักกิจกรรมประชาธิปไตยอีกหลายคน

โดยตามหมายจับระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 8 ข้อหา ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116), มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215), กีดขวางทางสาธารณะ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385), ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุม, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, กีดขวางทางจราจร (พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 114), ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 ซึ่งการออกหมายจับและเข้าจับกุมตัวดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรกฎหมายที่ทำงานปกป้องและส่งเสริมการรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย เห็นว่าการชุมนุมและแสดงออกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่มีข้อเรียกร้อง 3 ประการต่อรัฐบาลคือ 1.ประกาศยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน 3.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ และได้จัดขึ้นโดยสงบปราศจากอาวุธ ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ 44 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคีและมีหน้าที่ต้องเคารพให้ความคุ้มครอง

การที่รัฐโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีความผิดอาญาร้ายแรงหลายข้อหากับนักกิจกรรมประชาธิปไตยเช่นนี้ถือเป็นการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือปิดปากคุกคามประชาชนผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยชัดแจ้ง

นอกจากนี้แม้โทษสูงสุดของความผิดตามที่ระบุในหมายจับ คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จะเกินกว่า 3 ปี ซึ่งสามารถเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้โดยที่ไม่ต้องออกหมายเรียก แต่นายอานนท์ นำภา นายภานุพงศ์ จาดนอก และนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายจับมิได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และมีที่อยู่ชัดเจนที่สามารถติดต่อได้ กรณีนี้จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกหมายจับในทันที

ซึ่งการดำเนินคดีความผิดมาตรา 116 กรณีอื่นก็ปรากฏว่าตำรวจใช้วิธีการออกหมายเรียกก่อน กับทั้งการจัดกิจกรรมที่เป็นเหตุแห่งคดีก็ผ่านมานานกว่า 3 สัปดาห์โดยตำรวจมิได้เคยแจ้งให้ทราบถึงข้อหาความผิดมาก่อน แต่กลับพึ่งเร่งดำเนินการขอออกหมายจับเพื่อเข้าจับกุมและนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลฝากขังโดยทันที อันแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติและความเร่งรีบในการดำเนินคดีโดยไม่เคารพและคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา โดยเฉพาะในกรณีนี้ที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลให้แสดงออกซึ่งการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง โดยต้องให้การรับรองคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของประชาชนทุกกลุ่ม และยุติการใช้อำนาจและกระบวนการยุติธรรมข่มขู่คุกคามประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการจับกุมและการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมประชาธิปไตยทุกคนที่ถูกตั้งข้อหาความผิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยทันที และขอให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาที่จะได้รับการประกันตัวเพื่อให้ได้รับอิสรภาพและสามารถใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากเงื่อนไขที่กระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

7 ส.ค. 2563

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: