เปิด 4 มาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้พื้นที่ ‘EEC’ มีใช้เพียงพอจนหมดช่วงฤดูแล้ง - มี.ค. นี้เริ่มสำรองน้ำจาก ‘ลุ่มน้ำคลองวังโตนด-ประแสร์’ - นักวิจัยเร่งศึกษาสมดุลน้ำ จัดหาแหล่งน้ำรองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 15% | ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวไทย
ผันน้ำ ‘ลุ่มน้ำคลองวังโตนด-ประแสร์’ ให้พื้นที่ EEC ใช้เพียงพอถึง 30 มิ.ย. 2563
เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ระบุว่านายกรัฐมนตรีห่วงใยปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรีซึ่งมีการใช้น้ำหลายภาคส่วนทั้งอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยวจึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการให้มีน้ำเพียงพอใช้อย่างต่อเนื่อง โดยนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน รายงานว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ภาคตะวันออกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติรอบ 30 ปี ทำให้น้ำต้นทุนมีน้อย ขณะนี้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำระยะเร่งด่วน ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ 'East Water' สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลดการใช้น้ำลง 10% ทำให้แผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้จะมีน้ำเพียงพอถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563 แต่ยังคงเกรงว่าหากฝนทิ้งช่วงปีที่แล้วอาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้น เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ จึงสั่งการให้หาน้ำมาสำรองเพิ่มอีก
นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่ากรมชลประทานลงนามข้อตกลง (MOU) กับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เพื่อขอปันน้ำเฉพาะกิจ โดยการสูบผันน้ำลงสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ. ระยอง โดยจะสูบผันน้ำระหว่างวันที่ 1-31 มี.ค. 2563 เพื่อสำรองไว้ในเขต EEC [1]
ล็อบบี้คณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด MOU ผันน้ำจากจันทบุรีไป EEC เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2563 สื่อประชาชาติธุรกิจรายงานว่าที่ศาลากลาง จ.จันทบุรี ได้มีเชิญหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาเข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์, นายมาโนชย์ ประทุมพิทักษ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง, นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์ เลขาธิการหอการค้าฯ, นายสุริยน วันเพ็ญ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ระยอง และนายทวีวัช เอี่ยมิสุวรรณ์ บมจ.ดับบลิวเอช ระยองที่ดินอุตสาหกรรม โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันทางคณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนดยืนยันหนักแน่นว่า ถ้ากรมชลประทานไม่ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 3 แห่ง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2552 ให้ครบ 3 อ่าง คืออ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ทางลุ่มน้ำวังโตนดไม่สามารถดำเนินการผันน้ำไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยองได้ จากการรายงานของประชาชาติธุรกิจ ยังระบุว่า ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออก และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องการแบ่งปันน้ำจากจ.จันทบุรี มาให้ จ.ระยองที่ศาลากลาง จ.จันทบุรี ว่าคาดการณ์ปริมาณฝนเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2563 อาจมีปริมาณน้อย และมาล่าช้ากว่าปกติ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นพื้นที่สำคัญมีความต้องการใช้น้ำ จึงร่วมประชุมกับกรมชลประทาน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี ที่มีอยู่ 49.62 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีน้ำเพียงพอใช้ประโยชน์ถึงปลายเดือน พ.ค. 2563 ให้แบ่งปันผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง เพื่อเป็นน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่ 3 จังหวัด ได้ตลอดฤดูแล้งนี้ เนื่องจากคาดว่าในเดือน เม.ย.นี้ อ่างเก็บน้ำประแสร์จะเหลือต่ำกว่าปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead Storage) และไม่สามารถหาน้ำจากแหล่งอื่นมาเพิ่มได้อีก ผศ.เจริญ ปิยารมย์ ประธานลุ่มแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี เปิดเผยว่าข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างกรมชลประทานกับคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำวังโตนด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ EEC ใช้ระบบสูบน้ำสถานีสูบน้ำคลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์เฉพาะกิจ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปริมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตรเป็นการแบ่งปันทรัพยากรน้ำร่วมกัน โดยไม่มีผลกระทบต่อการใช้น้ำพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาวังโตนด หากเกิดผลกระทบจะหยุดผันน้ำทันทีน่าจะช่วยเหลือกันได้ เพราะปี 2562 อ่างเก็บน้ำประแกดเก็บน้ำได้ 44 ล้าน ลบ.ม. จันทบุรีใช้น้ำ 20 ล้าน ลบ.ม. ยังมีน้ำก้นอ่างเหลือ 24 ล้าน ลบ.ม. ปี 2563 เก็บกักน้ำได้ 60.2 ล้าน ลบ.ม. ถ้าใช้เต็มที่ 35 ล้าน.ลบ.ม. ยังเหลือน้ำใช้ และปริมาณน้ำเก็บกักต่ำสุด (Dead Storage) 25 ล้าน ลบ.ม. จึงสามารถเอาไปช่วยอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ ถึงอย่างไรจันทบุรีไม่มีความพร้อมเรื่องการกระจายน้ำในพื้นที่ ขณะนี้หากเกิดภาวะแห้งแล้งจันทบุรียังไม่สามารถใช้น้ำอ่างประแกดในระบบกระจายน้ำตามท่อ ที่ปล่อยมาตามลุ่มแม่น้ำวังโตนดได้ เพราะสถานีสูบน้ำ ฝายระบบที่กระจายน้ำยังไม่มี นอกจากใช้รถบรรทุกไปดูดน้ำ ทางด้าน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานจะเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำให้ครบ 4 อ่าง อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมวจะเสร็จปี 2564 ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดที่ยังไม่ผ่าน EHIA และยังติดขั้นตอนบางอย่าง รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดกระบวนการให้ผ่านทุกขั้นตอน พร้อมที่จะสร้างในปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งสถานีสูบน้ำระบบการกระจายน้ำก่อนที่จันทบุรีจะส่งน้ำไปช่วยที่อื่น [2] |
ยืนยัน EEC จะไม่ทำให้ จ.จันทบุรี ขาดแคลนน้ำแน่นอน
ลุ่มน้ำคลองวังโตนด พื้นที่ที่จะถูกดึงน้ำไปให้กับ EEC (ภาพจากพื้นที่บางส่วนเมื่อปี 2559) ซึ่งรองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า จ.จันทบุรี จะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน | ที่มาภาพ: ไทยรัฐออนไลน์
ทั้งนี้ ระบบผันน้ำจากลุ่มน้ำคลองวังโตนด-ประแสร์ตั้งอยู่บริเวณคลองวังโตนด บ้านกังประดู่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ความยาวท่อ 45.69 กิโลเมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.625 ลบ.ม.ต่อวินาที รวม 5 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือวันละประมาณ 432,000 ลบ.ม. ซึ่งจะได้น้ำสำรองเพิ่มอีก 10 ล้าน ลบ.ม. สำหรับระบบผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำในเขต EEC ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำบางพระ และกลุ่มอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา ความจุรวม 894 ล้าน ลบ.ม. โดยมีระบบท่อผันน้ำเป็นตัวเชื่อมโยงถึงกันเพื่อเชื่อมโยงปริมาณน้ำจากจังหวัดระยองไปยังจังหวัดชลบุรี EEC หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2563 น้ำที่ผันมานี้จะทำให้เขต EEC มีน้ำเพียงพอทุกภาคส่วนจนสิ้นสุดฤดูฝน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่าการผันน้ำลุ่มน้ำวังโตนดไปเสริมเขต EEC จะไม่ทำให้ จ.จันทบุรี ขาดแคลนน้ำแน่นอน เนื่องจากลุ่มน้ำคลองวังโตนดมีปริมาตรน้ำท่ารายปีประมาณ 1,237 ล้าน ลบ.ม. ประกอบด้วยลำน้ำสำคัญ 4 สาขา ได้แก่ คลองหางแมว คลองวังโตนด คลองประแกด และคลองพวาใหญ่ โดยปัจจุบันกรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ ความจุ 68 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.7 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ด้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะเริ่มโครงการก่อสร้างปีงบประมาณ 2564 หากเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนจากอ่างฯ 4 แห่ง รวมกันประมาณ 308.5 ล้าน ลบ.ม.
ให้ ‘East Water’ สำรองน้ำเตรียมจ่ายให้ กปภ.
สำหรับกรณีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรมาใช้ทดแทนน้ำที่ขาดจากอ่างเก็บน้ำบางพระได้นั้น กรมชลประทานจะเร่งขุดลอกคลอง และระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวงฯ มาที่สถานีสูบพานทอง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร เพื่อเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระ 10 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งบริษัท East Water เตรียมสำรองน้ำสระเอกชนเพื่อจ่ายให้ กปภ.ชลบุรี และศรีราชาบางส่วน กปภ. ศรีราชา รับน้ำจากบริษัท East water และจากอ่างหนองค้อวันละ 30,000 ลบ.ม. และ กปภ.พัทยาใช้น้ำจากอ่างหนองปลาไหลวันละ 110,000 ลบ.ม.
“ยืนยันว่าภาคตะวันออกโดยเฉพาะฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี จะมีน้ำใช้เพียงพออย่างต่อเนื่อง แต่ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้" รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุ [3]
เปิด 4 มาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้ EEC
1 ใน 4 มาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนให้ EEC นั้นคือการผันน้ำสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือน มี.ค. 2563 | ที่มาภาพ: กรมประมง
ต่อมาเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2563 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกครั้งเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC โดยระบุว่าตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝ่าวิกฤตฝนทิ้งช่วงในเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ โดยให้จัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจากปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งนี้
“จากการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำ ประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำ ประมาณ 141.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะมีน้ำต้นทุนคงเหลือ ประมาณ 9.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณที่เพียงพอไปจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือน มิ.ย. 2563 ประกอบกับ กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ระบบ 3 Rs (Reduce : ลดการใช้ Reuse : นำกลับมาใช้ซ้ำ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่) และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณการใช้น้ำลดลงได้ถึง 14 % ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการระยะยาวภายหลังสิ้นสุดฤดูแล้งโดยการพัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี โดยการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมใน 4 อ่าง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 308 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปี” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ
ด้านผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ร่วมกับทุกภาคส่วนผลักดันมาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนด้วยการดำเนิน 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือน มี.ค. 2563
2.การใช้ระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์
3.การปรับปรุงคลองน้ำแดง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และปรับปรุงสถานีสูบน้ำวัดละหารไร่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำระยองมาอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล
4.การเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด (Waste Water Reverse Osmosis : WWRO ) ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมร่วมกันรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของการดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะสามารถผลิตน้ำได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการฯ แต่มีความประสงค์จะใช้น้ำจากมาตรการนี้สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุนได้เช่นกัน [4]
นักวิจัยเร่งศึกษาสมดุลน้ำ จัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 15%
แนวโน้มการขยายตัวของประชากรใน EEC | ที่มา: ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ได้เปิดเผยว่า 'น้ำ' เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องน้ำได้มีการจัดทำแผนและมาตรการรองรับ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ และเพื่อให้เกิดการกระจายน้ำทั่วถึงในพื้นที่ EEC ดังนั้น เพื่อสนับสนุนแผนการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างสมดุลน้ำต้นทุน การจัดการความต้องการน้ำโดยลดการใช้น้ำ ลดการสูญเสีย โดยใช้เทคโนโลยี และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เป็นที่มาของ การจัดทำ 'โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)' ที่มี รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการและหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
“ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้ในปีนี้มีปริมาณฝนลดลงมากถึง 30% มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้นที่ฝนตกมาก เช่น สกลนคร กาญจบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ที่เหลือเกือบทั้งประเทศฝนตกน้อยลง ฉะนั้นหากมองภาพรวมของประเทศ คือ ส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำ แต่จากปี 2561 เรามีน้ำเหลืออยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำ จึงยังไม่ถึงขั้นรุนแรง” รศ.ดร. บัญชา ระบุ
ตารางเปรียบเทียบการใช้ประโยชน์ที่ดินปี 2560-2580 | ที่มา: ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ EEC รศ.ดร. บัญชา ระบุว่าปริมาณเก็บกักน้ำทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 มีปริมาณน้ำใช้การตามแผนจัดการน้ำเพียงประมาณ 673 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่รู้ว่าน้ำที่มีอยู่จะพอเพียงหรือไม่ แม้กรมชลประทานรับประกันว่าจะไม่ขาดน้ำ โดยมีการจัดเตรียมน้ำต้นทุนรองรับการพัฒนา EEC ไว้แล้ว แต่เพื่อเตรียมการล่วงหน้าป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
"มาตรการประหยัดน้ำจะต้องถูกนำมาใช้ภายในเดือน ม.ค. 2563 ซึ่งต่อไปจะเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้มากขึ้น ดังนั้น การประหยัดน้ำหรือการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การใช้น้ำน้อยลงจึงเป็นทางออกแรกๆ ที่เราจะนำมาใช้"
สำหรับการจัดทำ 'โครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)' นั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์สมดุลน้ำในพื้นที่ EEC ในปัจจุบัน และอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า (2561-2580) ศึกษาอุปสงค์และอุปทาน ศึกษาการใช้น้ำที่แท้จริงของภาคส่วนต่างๆ การหาแนวทางแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยลดการใช้น้ำใน 4 ภาคส่วนหลัก คือ ภาคเกษตร อุปโภคบริโภค ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม การวิเคราะห์น้ำต้นทุนในลักษณะบูรณาการการใช้น้ำร่วมกันระหว่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน การจัดการด้านความต้องการน้ำโดยใช้หลัก 3R ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุนของพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจังหวัดเกี่ยวเนื่องคือ จันทรบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว แบบมีส่วนร่วม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามและประเมินผล ในพื้นที่ศึกษา 3 จังหวัดนำร่อง คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ การใช้น้ำจะต้องลดลงอย่างน้อย 15% ในพื้นที่ EEC
การเชื่อมโยงโครงข่ายแหล่งน้ำภาคตะวันออก EEC | ที่มา: ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
รศ.ดร. บัญชา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ระบุว่าเพราะในอีก 10-20 ปีข้างหน้า อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เมื่อการพัฒนา EEC เกิดขึ้นเต็มที่ตามแผนพัฒนาฯ การลดการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องที่จะต้องทำ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และจากผลกระทบของ Climate change โครงการวิจัยนี้ จึงเน้นศึกษาใน 2 ส่วนหลัก คือ 1.ประเมินการใช้น้ำ การวิเคราะห์สมดุลน้ำในปัจจุบันและอนาคต และแนวทางการใช้น้ำต้นทุนทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินร่วมกัน 2. การคาดการณ์การใช้น้ำของภาคส่วนต่าง ๆ และแนวทางการลดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยีทันสมัย
"ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้น้ำต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดยไทยใช้น้ำต่อหัวสูงกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และพื้นที่ที่ใช้น้ำมากนอกจากจังหวัดชลบุรีแล้ว กรุงเทพฯ ถือเป็นจังหวัดที่มีการใช้น้ำสูงมากเฉลี่ยถึง 300 ลิตร/คน/วัน นั่นเพราะที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องการประหยัดน้ำมากนักในส่วนของภาคการเกษตร นอกจากข้าวแล้วพืชสวนยังเป็นที่นิยมปลูกกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดระยองและจันทบุรี ซึ่งมีความต้องการน้ำสูง งานวิจัยนี้จึงเน้นศึกษาการใช้น้ำกับพืชสวนเป็นหลัก เช่น ทุเรียน"
รศ.ดร. บัญชา กล่าวเสริมว่าในส่วนของข้าวนั้น มีเทคโนโลยีการปลูกข้าวอยู่แล้ว อีกทั้งกรมชลประทานยืนยันว่าการปลูกข้าวสามารถประหยัดน้ำได้ โดยใช้วิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำได้ถึง 20% ซึ่งวิธีดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วจากประเทศจีนและไต้หวันที่ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมากว่า 20 ปี ดังนั้น ชาวนาต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการปลูกข้าวใหม่ ต้องปรับวิธีการให้น้ำและการควบคุมน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจด้วยข้อมูลในพื้นที่เพื่อปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกรไทย
“ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ส่วนใหญ่มีการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ บางแห่งสามารถลดการใช้น้ำลงได้ 15% แต่จากนี้จะเพิ่มให้เป็นระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะมากขึ้นกับทุกภาคส่วน คือ ภาคบริการ ชุมชน เกษตร และอุตสาหกรรม โดยจะนำเรื่อง Water use efficient มาประยุกต์ใช้ หรือการจัดการน้ำด้วยหลัก 3R คือ Reduce Reuse Recycle เพื่อลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพราะมองว่าการใช้น้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่เป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด และถูกกว่าการหาแหล่งน้ำใหม่ ซึ่งวิธีนี้แม้แต่อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นยังเลือกใช้ ของไทยก็จะเป็นไปในทิศทางนี้เช่นกัน”
สำหรับโครงการวิจัยภายใต้การบริหารโครงการวิจัยเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย โครงการวิเคราะห์และการบริหารจัดการสมดุลน้ำในพื้นที่ EEC, โครงการศึกษาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำสำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชน, โครงการพัฒนาระบบข้อมูลบัญชีสมดุลน้ำเพื่อการเกษตรภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม, โครงการวิจัยแผนการจัดการน้ำด้านอุปสงรค์และการพัฒนาอุตสาหรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่, โครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจดัการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริหาร, โครงการวิจัยแผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำแบบใช้น้ำบำบัดแล้ว และโครงการวิจัยแผนการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม [5]
ข้อมูลอ้างอิง
[1] รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนเร่งผันน้ำเสริมพื้นที่ EEC ให้มีใช้เพียงพอต่อเนื่องทุกภาคส่วน (สำนักข่าวไทย, 7 ก.พ. 2563)
[2] ล็อบบี้คณะกรรมการลุ่มน้ำวังโตนด MOU ผันน้ำจากจันทบุรีไประยอง อุ้ม 3 จังหวัด EEC (ประชาชาติธุรกิจ, 5 ก.พ. 2563)
[3] รมว.เกษตรฯ สั่งด่วนเร่งผันน้ำเสริมพื้นที่ EEC ให้มีใช้เพียงพอต่อเนื่องทุกภาคส่วน (สำนักข่าวไทย, 7 ก.พ. 2563)
[4] กนอ.ประชุมร่วมหน่วยงานพันธมิตร เตรียมรับมือวิกฤตน้ำแล้งในพื้นที่ EEC (สำนักข่าวไทย, 4 มี.ค. 2563)
[5] นักวิจัย เร่งศึกษาสมดุลน้ำ จัดหาแหล่งน้ำ รองรับการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลง 15% [ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ, 18 ธ.ค. 2562]
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จับตา: ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ