จับตา: สิ่งที่ 'เด็ก' ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล อาจนำภัยร้ายมาสู่ตัว

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5382 ครั้ง


'แคสเปอร์สกี้' บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกเตือนผู้ปกครองเกี่ยวกับความเสี่ยงของการแชร์ออนไลน์มากเกินไป เนื่องจากปัจจุบันมีอัตราการใช้เวลาออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น และกิจกรรมที่หลากหลายที่โพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ การสูญเสียชื่อเสียงเงินทองและความขัดแย้งในครอบครัว เป็นเพียงผลกระทบบางส่วนของการโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลทางออนไลน์เท่านั้น | ที่มาภาพประกอบ: Coach Mediate Consult

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2563 ผลการวิจัยล่าสุดจากแคสเปอร์สกี้ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ยืนยันว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปี 2020 โซเชียลมีเดียเป็นกิจกรรมอันดับต้นๆ สำหรับผู้ใช้ออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษาครั้งใหม่นี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสอบถาม 760 คน พบว่าผู้ปกครอง 80% ในภูมิภาคนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับแอปโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เนื่องจากข้อจำกัดในช่วงการล็อกดาวน์บังคับให้พวกเขาต้องทำงานที่บ้านและดูแลลูกๆ ในเวลาเดียวกัน

นายสเตฟาน นิวไมเออร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแคสเปอร์สกี้ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ?เราต้องเข้าใจว่าเส้นแบ่งระหว่างความเป็นพ่อแม่และการทำงานในวิชาชีพนั้นเลือนลางอย่างมาก เนื่องจากบ้านได้กลายเป็นสำนักงานและโรงเรียนไปเสียแล้ว โซเชียลมีเดียจึงเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคุณแม่และคุณพ่อในการพักผ่อน และค้นหาคำแนะนำและที่พึ่งทางอารมณ์จากกลุ่มต่างๆ

ในขณะที่แพลตฟอร์มเครือข่ายเสมือนจริงเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งความรู้และความช่วยเหลือที่มีประโยชน์สำหรับผู้ปกครอง แต่ก็จำเป็นต้องจำไว้ว่า บุคคลที่มีเจตนาไม่ดีก็แฝงตัวอยู่ที่นี่เช่นกัน จำเป็นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลที่เราโพสต์ในบัญชีโซเชียลมีเดีย เนื่องจากอันตรายที่ใหญ่ที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แชร์บนเว็บไซต์โซเชียลและแหล่งข้อมูลสาธารณะอื่นๆ โดยข้อมูลนี้สามารถนำไปวิเคราะห์และใช้โดยคนแปลกหน้า รวมถึงอาชญากรทุกรูปแบบ? นายสเตฟาน กล่าวเสริม

ทุกสิ่งที่ผู้ปกครองหรือบุตรหลานเผยแพร่ทางออนไลน์สามารถส่งผลกระทบได้ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ความรู้สึกโกรธในหัวข้อทั่วๆ ไป การโพสต์รูปภาพส่วนตัว หรือรายละเอียดชีวิตส่วนตัว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักและสอนเด็กๆ ว่าก่อนที่คุณจะคลิกปุ่ม 'เผยแพร่? ให้ใช้เวลาคิดสักครู่? คิดถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากโพสต์ในอนาคต ข้อมูลนี้จะส่งผลเสียต่อชีวิตส่วนตัวของคุณหรือคนอื่นหรือไม่ นายจ้างในอนาคตจะพูดอะไรถ้าพวกเขาเห็น เป็นไปได้ไหมที่จะใช้ข้อมูลนี้เพื่อติดตามคุณหรือบุตรหลานของคุณในโลกแห่งความเป็นจริง ใครจะสามารถเห็นข้อมูลนี้

อะไรที่ไม่ควรโพสต์ออนไลน์เด็ดขาด!

- ที่อยู่บ้านหรือโรงเรียน บุคคลอื่นรวมถึงโจรผู้ร้าย เฒ่าหัวงู จอมบูลลี่ จะใช้ข้อมูลนี้ค้นหาคุณหรือบุตรหลานได้อย่างง่ายดาย เด็กๆ ไม่ค่อยเผยแพร่ที่อยู่บ้านในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่บ่อยครั้งจะพูดถึงชื่อโรงเรียนแทน สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่โพสต์ข้อมูลนี้ในหน้าหลัก และยังต้องไม่พิมพ์ลงในคอมเม้นต์หรือรูปภาพที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าบุตรหลานเรียนที่โรงเรียนใด
- หมายเลขโทรศัพท์ สำหรับเด็ก หมายเลขโทรศัพท์เป็นวิธีการติดต่อโดยตรงที่สามารถใช้เพื่อกลั่นแกล้ง สำหรับผู้ใหญ่ยิ่งน่ากลัวกว่า ข้อมูลนี้เป็นหนึ่งในข้อมูลที่มีค่าที่สุดสำหรับอาชญากร ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นอย่างน้อย อาชญากรไซเบอร์เริ่มรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ และใช้ข้อมูลที่ขโมยมาเพื่อลงทะเบียนบริการธนาคารออนไลน์และเข้าถึงบัญชีของเหยื่อได้
- ข้อมูลเช็คอิน หรือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ข้อมูลที่ระบุว่าครอบครัวไม่อยู่บ้านอาจนำไปสู่การลักทรัพย์ และยังช่วยให้ติดตามบุคคลอื่นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การโพสต์ว่า "สถานที่โปรด" และการโพสต์ป้ายสถานที่อาจเป็นอันตรายแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสถานที่นี้ในขณะนี้ก็ตาม เนื่องจากจะเป็นการแสดงให้คนร้ายเห็นสถานที่ที่สามารถพบคุณได้ง่าย
- รูปภาพและวิดีโอส่วนตัว รูปถ่ายที่ดูเป็นเรื่องสนุกสำหรับวัยรุ่นอาจเกิดปัญหาได้ หากเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น มีเว็บไซต์จำนวนมากที่รวบรวมภาพที่เร้าอารมณ์ของสาววัยรุ่นที่เจ้าตัวโพสต์เองและเผยแพร่เป็นเนื้อหาที่ร้อนแรง ผู้อำนวยการวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และว่าที่นายจ้างอาจมีข้อสงสัยหรือมุมมองลบเกี่ยวกับภาพถ่ายที่หล่อแหลม เช่น การเที่ยวกลางคืนที่เมามาย เป็นต้น
- ภาพถ่ายส่วนตัวของบุคคลอื่น อย่าเผยแพร่รูปถ่ายของคนอื่นที่ตัวคุณก็ไม่อยากเห็นตัวเองแบบนั้น ผู้ใช้ทุกวัยควรเข้าใจกฎพื้นฐานนี้ บุตรหลานของคุณควรเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่จะโพสต์รูปภาพส่วนตัวจากปาร์ตี้วัยรุ่นที่น่าหล่อแหลม ดังนั้นรูปถ่ายของเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ ในสถานการณ์เดียวกันก็ไม่ควรมาโพสต์
- ภาพถ่ายลูกวัยรุ่นตอนเป็นทารก ผู้ปกครองมักจะโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับบุตรหลานบนเว็บซึ่งเด็กไม่ยอมรับ ต้องจำไว้ว่าภาพลูกของคุณที่ดูน่ารักสำหรับคุณ อาจส่งผลให้เกิดการกลั่นแกล้งในอนาคต
- ภาพถ่ายของขวัญราคาแพง เป็นการแสดงความหรูหรามั่งคั่งให้คนแปลกหน้าเห็น เมื่อรวมกับข้อมูลที่อยู่บ้านและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ก็เหมือนแหล่งขุมทรัพย์สำหรับขโมยที่ค้นหาเหยื่อบนอินเทอร์เน็ต
- ข้อมูลชีวิตส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองย้อนเป็นภัยกลับมาได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ใช้เพื่อเดารหัสผ่านสำหรับบัญชีออนไลน์ ใช้เพื่อวางแผนกลลวงที่คุณมีแนวโน้มที่จะตกหลุมพราง หรือใช้ทำความคุ้นเคยและความไว้วางใจกับบุตรหลานของคุณ การโพสต์บ่นหรือโพสต์ข้อมูลส่วนบุคคลของคนที่คุณรักนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจทำลายความสัมพันธ์ได้
- การแสดงควาเห็นในหัวข้อที่ละเอียดอ่อน แน่นอนทั้งคุณและลูกๆ ของคุณได้รับอนุญาตให้มีความคิดเห็นส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม หากเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน เช่น ศาสนา การเมือง รสนิยมทางเพศ ฯลฯ จะเป็นการดีกว่าที่จะไม่แสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งที่สามารถเปลี่ยนจากโลกเสมือนจริงไปสู่โลกแห่งความจริง หรือชื่อเสียงเสียหาย จากมุมมองของสถาบันการศึกษาหรือนายจ้าง

คำแนะนำสิ่งที่ควรทำ

- พูดคุยกับบุตรหลานว่าสิ่งใดที่ห้ามเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตไม่ว่าในกรณีใดๆ และเพราะเหตุใด อธิบายว่าการโพสต์บนเว็บไซต์โซเชียลก็เหมือนกับการพูดในที่สาธารณะ คุณไม่ควรเขียนสิ่งใดๆ บนอินเทอร์เน็ตที่ถือว่าเป็นอันตราย หรือผิดจริยธรรมในการตะโกนบนถนนหรือในห้องเรียน
- อธิบายว่า การแชร์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนทั้งหมดควรผ่านช่องทาง messenger และส่งให้เฉพาะกับคนที่คุณรู้จักในชีวิตจริงเท่านั้น
- ผู้ปกครองควรลงทะเบียนเว็บไซต์โซเชียลเดียวกับบุตรหลาน และเพิ่มบุตรหลานเป็นเพื่อน เพื่อให้สามารถดูโพสต์ต่างๆ ได้ และป้องกันการเปิดเผยมากเกินไปได้อย่างทันท่วงที
- หากบุตรหลานยังเล็ก โปรดจำไว้ว่าบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์กบัญชีแรกนั้นจะต้องสร้างร่วมกับผู้ปกครอง ซึ่งคุณจะสามารถอธิบายกฎกติกาและตั้งค่ามาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหมด ให้สอดคล้องและเข้ากับบุตรหลานอย่างเต็มที่
ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันควบคุมโดยผู้ปกครองเพื่อช่วยปกป้องบุตรหลานจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และแจ้งให้ทราบหากมีการเปลี่ยนแปลงโปรไฟล์และรายชื่อเพื่อน รวมถึงโพสต์ที่อาจเป็นอันตราย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: