กรณีการบินไทยสู่การทำให้ไทยเป็น 'รัฐโลกวิสัย'

เจษฎา บัวบาล | 9 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 3345 ครั้ง


เราพูดถึง “รัฐโลกวิสัย” หรือ 'secular state' มากว่าทศวรรษแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเห็นคือ การให้ภาพที่เป็นรูปธรรมว่ามีวิธีการอย่างไรเพื่อจะก้าวถึงจุดนั้น ไม่ได้หมายความว่า การพูดเรื่องนี้ที่ผ่านไม่มีประโยชน์ ในทางตรงกันข้าม มันให้ประโยชน์อย่างมากในการปูความรู้ให้หลายคนอยากเห็นความเท่าเทียมและเสรีภาพทางศาสนา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่กลายมาเป็นคนโปรรัฐโลกวิสัยเพราะความรู้เหล่านั้น ในบทความนี้แค่อยากชวนให้คิดในมุมที่เป็น 'ปฏิบัติการ' เพื่อปูทางไปสู่การเกิดรัฐแบบนั้น 

ในที่นี้จะมี 3 หัวข้อ (1) ความเข้าใจเรื่องรัฐโลกวิสัย คนที่ทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว ข้ามไปอ่านข้อถัดไปได้เลย (2) การทำรัฐโลกวิสัยผ่านระบอบประชาธิปไตย (3) ศาสนาทางเลือกที่อยู่นอกการสนับสนุนของรัฐต้องช่วยกันปูทาง (ข้อ 2 และ 3 นี้อยากชวนให้อ่านและวิจารณ์ และอยากให้ช่วยเสนอข้อ 4-5-6 ไปเรื่อยๆ) ข้อเสนอของบทความนี้คือ การทำให้ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของในการบินไทย อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยสะท้อนทำให้คนรู้สึกว่าไม่เป็นเจ้าของศาสนาแบบรัฐ ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การยอมปล่อยให้สิ่งนั้นจัดการตัวเองโดยไม่ต้องอุ้มชู

(1) รัฐโลกวิสัย คือการคืนศาสนาให้ชุมชน ไม่การทำลายศาสนา

อันนี้เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่ต้องช่วยให้คนข้ามพ้นมายาคติเรื่อง “รัฐโลกวิสัยคือคอมมิวนิสต์” ในกรณีของไทย เช่น วัด จากเดิมที่เป็นของรัฐ ดูแลโดยสำนักงานพระพุทธศาสนา (หรือกรมศิลป์ฯ กรณีที่เป็นโบราณสถานฯ) รัฐแต่งตั้งคนให้เป็นเจ้าอาวาส ฯลฯ นโยบายจากส่วนกลางลงไปถึงทุกวัดผ่านระบบพระสังฆาธิการ เจ้าคณะตำบล/อำเภอ ฯลฯ มีหลักสูตรการศึกษาศาสนาที่ผูกขาดการตีความผ่านตำราเรียน ซึ่งทำให้วัดเป็นหูเป็นตาให้รัฐ ในการให้ความรู้แบบรัฐ และสอดส่องคนที่คิดต่างโดยการช่วยปรับทัศนคติผ่านการสอนความเชื่อแบบเถรวาท

ในรัฐโลกวิสัย วัดจะไม่ถูกรัฐขอ (เป็นเชิงสั่ง) ให้ต้องสอนนักธรรม/บาลี อีกต่อไป นั่นคือ ไม่ใช่การห้ามเรียนศาสนา วัดไหนจะสอนเช่นนั้นต่อเพราะเชื่อว่าถูกทางที่สุดก็ทำได้ แต่ใครอยากสอนสัทธรรมปุณฑริกสูตร อภิธรรมวิภาษาแบบมหายาน เน้นให้สวดมนต์บทเจ้าแม่กวนอิม หรือจะสอนเดินจงกรมเป็นหลักก็เป็นอิสระของเขา สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การรับรู้ของชุมชน เพราะคนในชุมชนนั้นจะเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย โดยการยังใส่บาตร ทำบุญจ่ายค่าไฟให้ท่าน ถ้าท่านอยากให้วัดอยู่ได้ ก็ต้องตอบสนองชุมชนให้ได้ วิธีแบบนี้ จะเกิดความหลากหลายทางศาสนาขึ้นมาก

วัดก็ยังดำรงอยู่ต่อไป แต่มอบให้เป็นของชุมชนที่ต้องจัดการกันเอง อยากเลือกเจ้าอาวาสก็ทำกันได้ วัดไหนอยากให้บวชภิกษุณีก็ตกลงกัน จะปกครอบแบบธรรมวินัยก็สะดวกขึ้น เช่น พระที่มีพรรษา 10 จะเป็นอุปัชฌาย์บวชให้คนในชุมชนนั้นก็ได้ ไม่ต้องรอใบอนุญาตแต่งตั้งจากส่วนกลาง เจ้าอาวาสจะไม่ได้เงินเดือนจากรัฐอีกแล้ว แต่จะอยู่ด้วยเงินบริจาคของชุมชน ซึ่งเงินเดือนแต่ก่อนนั้นก็ไม่ได้มาก ราว 3,000 บาท แต่เพราะในอดีต การได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มียศเช่น พระครู เจ้าคุณฯ จะทำให้มีหน้าตาในสังคม สิ่งนี้จะไม่มี (หรือถ้าจะมี ก็มีเพราะในหลวงพระราชทานชื่อพิเศษให้ได้เป็นต้น แต่จะไม่ได้เงินเดือนที่เป็นงบประมาณจากภาษีประชาชนอีกต่อไป)

สถานะของพระ กลายมาเป็นพลเมืองแบบคนไทยทั่วไป ที่แค่อยากไปปฏิบัติธรรม บวช ห่มจีวร แต่จะไม่ได้หรือเสียสิทธิอะไรอีก เลือกตั้งได้แบบคนทั่วไป ค่ารถโดยสารสาธารณะก็จ่ายในอัตราคนทั่วไป ความศรัทธาของคนในชุมชนก็ยังเป็นเสรีภาพ อยากส่งเงินให้พระรูปไหนเรียนวิศวะ ฯลฯ ก็ทำได้ และหากพระวัดไหนทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เช่น ขายยาบ้า ก็จะถูกจับดำเนินคดีในฐานะพลเมืองทั่วไป แต่หากท่านเมาเหล้าแล้วนอนอยู่ในห้องส่วนตัว ตำรวจไม่มีสิทธิไปจับกุม เพราะไม่ใช่โทษทางอาญา แต่ให้เป็นเรื่องของกติกาที่วัดและชุมชนนั้นตกลงกันเอง สมมติเขาวางระเบียบที่อิงกับธรรมวินัย กินเหล้าให้อาบัติปาจิตตีย์ ก็ให้ท่านไปปลงอาบัติ หรือสำนักไหนจะเคร่งกำหนดโทษถึงขั้นจับสึก ก็เป็นกติกาที่ตกลงทำกันได้

จะเห็นว่า รัฐโลกวิสัย ช่วยกำจัดปัญหาเรื่องข้อครหาที่ว่า “ฆราวาสไม่ควรปกครองพระ” “พระถูกตำรวจกลั่นแกล้ง” “สื่อถูกอิสลามซื้อไปเพื่อใส่ร้ายพระ” หรือชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมกับชุมชนไปได้เลย

(2) การทำรัฐโลกวิสัยผ่านระบอบประชาธิปไตย

รัฐโลกวิสัย ไม่ได้เกิดง่ายแบบที่หลายคนบอกว่า “ยุบมหาเถรฯ” หรือ “ยุบสำนักงานพุทธฯ” เพราะคำถามคือ ใครยุบ? วิธีแบบประชาธิปไตยคือ ต้องยืนยันให้ได้ว่า กระบวนการนี้เกิดโดยเสียงข้างมากของประชาชน ซึ่งวัดได้ผ่านการเลือกตั้ง สส. ที่มาพร้อมกับนโยบายหาเสียง 

นั่นคือ ต้องมีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบาย “แยกศาสนาออกจากรัฐ” เลย สิ่งนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยพูดถึงสมัยที่เพิ่งก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เพื่อใช้เป็นการแก้ปัญหา 3 จังหวัด คือ รัฐต้องเป็นกลาง ไม่สนับสนุนศาสนาจนแต่ละศาสนิกรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งการพูดสั้นๆ นี้ ทำให้กลุ่มชาวพุทธที่ไม่เข้าใจรัฐโลกวิสัยเกิดความไม่พอใจ และโจมตีพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้นว่า “จะทำลายศาสนาพุทธ”

นโยบายนี้อาจมีพลังมากขึ้น ถ้าพรรคการเมืองใช้เวลาอธิบายข้อดีของรัฐโลกวิสัยให้มากกว่านี้ เช่น พูดถึงความเข้าใจเบื้องต้นแบบที่อธิบายไปในข้อ 1 และตามมาด้วยการให้นโยบายต่อว่า เมื่อยกเลิกสำนักงานพุทธฯ แล้ว เงินงบประมาณต่อปี ซึ่งมีราว 5,000 ล้านบาทนั้น จะเอาไปสร้างประโยชน์อะไร เช่น

ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนประถม/มัธยมในต่างอำเภอ ให้เทียบเท่ากับโรงเรียนในตัวจังหวัด โดยให้เงินช่วยเหลือซื้อรถบัสโรงเรียนรับส่งในราคาถูก มีครูที่เก่ง (เช่นภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์) ไปสอน ฯลฯ ในหนึ่งปีจะพัฒนาโรงเรียนแบบนี้ได้ 200 โรงเรียน และใน 5 ปี จะมีโรงเรียนที่มีคุณภาพเพิ่มเป็น 1,000 โรงเรียน (หมายเหตุ: ตัวเลขเหล่านี้เป็นการสมมติ ไม่ได้อิงบนงานวิจัยใด แค่ใช้เป็นตัวอย่างเท่านั้น) 

และอาจเสริมเพื่อให้ความมั่นใจว่า แม้จะยกเลิกสำนักงานพุทธฯ ซึ่งเท่ากับยกเลิกเงินสนับสนุนพระไปสอนศาสนาพุทธตามโรงเรียนด้วย ว่าสิ่งนี้ยังเป็นไปได้ ถ้าพระ อิหม่าม หรือบาทหลวงอยากไปอาสาสอนหรือไปช่วยด้านต่างๆ (โดยไม่มีการบังคับเด็กในการเข้าร่วม) ก็ทำได้โดยตกลงกับโรงเรียนเอง แต่ในหลักสูตร จะไม่มีวิชาพุทธศาสนาหรืออิสลาม แต่เป็นศาสนาเปรียบเทียบ จริยศาสตร์หรือปรัชญา เพื่อให้เด็กฝึกตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ (อันนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องไม่มีครูสอน อาจทำเป็นโครงการให้อาจารย์ในมหาลัยทำคลิปลง YouTube เพื่อเด็กจะติดตามในเวลาว่างได้ นอกจากแค่ฟังครูในสายสังคม)

นโยบายแยกศาสนาออกจากรัฐนี้ ควรถูกพูดถึงโดยนักการเมืองเองด้วย และเอาไปเป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียง ถ้าพูดให้คนเห็นประโยชน์ของการจัดสรรงบฯ ไปทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับเขาได้ โดยที่ไม่ได้ทำลายความเชื่อเดิมเขา แต่กลับช่วยให้เขามีอิสระในการเข้าถึงศาสนาได้มากขึ้น และลูกหลานก็ได้ประโยชน์เช่นการศึกษาที่ไม่ต้องไปเรียนไกล ยังไงก็ช่วยให้พรรคได้รับการเลือกได้ และมาถกกันในสภาอีกทีหนึ่ง

(3) ศาสนาทางเลือกที่อยู่นอกการสนับสนุนของรัฐต้องช่วยกันปูทาง

ในขณะที่เรายังเป็นรัฐศาสนา คือ มีบางองค์กรได้รับเงินจากรัฐ และบางองค์กรต้องหาเงินเผยแผ่กันเอง แต่ถ้าอยากช่วยให้องค์กรศาสนาต่างๆ มีอิสระ และใช้งบประมาณอย่างเป็นธรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมด้านอื่นๆ ศาสนาทางเลือกเหล่านี้ ก็พอจะช่วยขับเคลื่อนได้ นั่นคือ เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงศาสนาแบบใหม่ของตนให้มากที่สุด จนคนทั่วไปรู้สึกว่า ศาสนาของรัฐไม่ได้ดีกว่าจนถึงขั้นที่ต้องเอาเงินหลายพันล้านไปช่วยอุ้ม

เป็นความรู้สึกเดียวกับที่คนรู้สึกต่อการบินไทย และแสดงความเห็นคัดค้านกับการที่รัฐจะเอาเงินภาษีไปอุ้ม เพราะนอกจากอัตลักษณ์ที่เป็นสายการบินแห่งชาติแล้ว คนทั่วไปแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรหรือผูกพันใดๆ กับการบินไทย ในทางตรงกันข้าม เขากลับรักสายการบินราคาถูก รถไฟหรือรถเมล์ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า และแน่นอนว่า ถ้ารัฐอยากเอาเงินไปทำให้รถเมล์/รถไฟดีขึ้น คนก็จะไม่ขัด 

ในเมื่อสังคมไทยไม่ผ่านการถูกบีบคั้นจากศาสนจักรแบบยุโรป จนถึงขั้นที่คนรู้สึกว่า ต้องไม่ให้ศาสนามามีอำนาจถึงขั้นกำหนดเสรีภาพเขาหรือใช้เงินภาษีของเขาไปเพื่อกิจการศาสนามากกว่าเรื่องปากท้องของคนทั่วไป ผมคิดว่า ศาสนาทางเลือกกลุ่มเล็กๆ พวกนี้แหละ ที่จะช่วยให้คนไทยรู้สึกแบบนั้นขึ้นได้บ้าง ด้วยการทำให้เขาเข้าถึงได้ง่าย น่าสนใจ ร่วมกิจกรรมด้วยแล้วรู้สึกดี จนเห็นประโยชน์ของอิสระในการศึกษา/ตีความศาสนาที่หลากหลายในมิติใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เขาคลายความยึดมั่นที่ว่า ศาสนาของรัฐจำเป็นที่สุด ที่จะต้องเอางบไปรักษาไว้

แต่ที่เราพบคือ ศาสนาเล็กๆ เหล่านั้น ก็ตอบสนองคนชั้นกลางเป็นหลัก ทำให้คอร์สบรรยายหรือปฏิบัติธรรมราคาแพง เช่น ถ่ายสลิปโอนเงิน 1,000 บาท เพื่อใช้ในการลงทะเบียน การบรรยายของวิทยากรเก่งๆ ก็ไม่มีการบันทึกลง YouTube คนที่พอมีจะกินเท่านั้นจึงเข้าถึงศาสนาเหล่านี้ได้ แน่นอนว่านั่นเป็นเสรีภาพ ที่ศาสนาแบบเอกชนจะกำหนดขึ้น ใครจะกำหนดจ่ายค่าประตู 10 ล้านเพื่อเข้าไปไหว้พระก็ได้ เพราะในแง่ตลาดเสรีที่ศาสนาแข่งกันอย่างเท่าเทียม ถ้าคนไม่ศรัทธา เขาก็ไม่จ่ายเพื่อเข้าไปร่วมเอง และไม่ถูกบังคับให้ต้องจ่ายด้วย

แต่ประเด็นที่ผมหมายถึงคือ ในช่วงที่เรายังไม่ได้เป็นรัฐโลกวิสัย และองค์กรศาสนาเล็กๆ เหล่านั้นบ่อยครั้งก็พูดส่งเสริมเรื่องรัฐโลกวิสัย  การต้องช่วยเอื้อให้คนเข้าถึงศาสนาในรูปแบบใหม่ๆ ให้มากที่สุด เป็นเรื่องที่องค์กรเหล่านี้ช่วยได้ แต่ราคาที่สูง จะทำให้คนเปรียบเทียบกับวัด (ซึ่งยังอยู่ในการอุปถัมภ์ของรัฐ) ว่าวัดถูกกว่า เข้าถึงง่ายกว่า ในแง่การตลาดคือ แทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้คนทิ้งการหยอดตู้ 5 บาท ไปซื้อของราคา 1,000 เพื่อร่วมกิจกรรมทางศาสนา แน่นอนว่า เมื่อศรัทธาแล้ว เขาจะบริจาค 10 ล้านก็ตามแต่สมัครใจ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมเบื้องต้น แล้วตั้งอัตราไว้สูง โดยที่เขายังไม่อินน์ กลับเป็นการเบียดขับให้เขาไม่มีโอกาสเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ

เมื่อเขาเปิด YouTube เพื่อหาธรรมะช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการงาน ก็พบแต่ มหาสมปอง ว.วชิรเมธี ไพศาล วิสาโล ฯลฯ ในขณะที่คำสอนของศาสนาใหม่ๆ เช่น วัชรยาน กลับหายาก (เพราะต้องจ่ายเงินซื้อ) เลยกลายเป็นว่า ศาสนาของรัฐนั่นแหละ สำหรับเขาแล้วมันเข้าถึงง่าย มันตอบโจทย์ชีวิต จะดีแค่ไหนไม่ทราบ แต่อย่างน้อย ก็ไม่มีวัชรยานเป็นต้น มาบอกว่ามันดีกว่า สุดท้ายศาสนาแบบรัฐนี่แหละที่ทำเพื่อเขา และถ้าจะมายกเลิกการสนับสนุนศาสนาแบบรัฐนี้ไป เขาอาจไม่แน่ใจว่า การแข่งขันกันของศาสนาในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้กล่าวโทษศาสนาใหม่ๆ ที่เป็นองค์กรอิสระเหล่านั้นนะครับ เพราะทราบดีว่า การต้องขับเคลื่อนกันเอง บ้างต้องสละอาชีพอื่นมา จำเป็นที่ต้องหารายได้เพื่อให้เลี้ยงตนได้ แค่เสนอว่า การที่องค์กรเหล่านั้นช่วยหาวิธีทำให้ศาสนาแบบตัวเองเข้าถึงง่ายขึ้น จะเอื้อต่อการเกิดรัฐโลกวิสัยในแง่ที่คนจะคลายความสำคัญซึ่งในอดีตเขามีให้แต่ศาสนาของรัฐ สิ่งนี้จะช่วยการขับเคลื่อนในข้อ 2 มากขึ้นด้วย  

 


ที่มาภาพจาก: Wikimedia (CC Public Domain)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: