หลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมพื้นที่ดิจิทัล

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ต.ค. 2563 | อ่านแล้ว 5320 ครั้ง

หลายองค์กรออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมพื้นที่ดิจิทัล

มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation), Access Now, ALTSEAN-Burma, Cambodian Center for Human Rights (CCHR), the Institute of Policy Research and Advocacy (ELSAM), PEN Myanmar, และ Southeast Asia Freedom of Expression Network (SAFEnet) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการควบคุมพื้นที่ดิจิทัล โดยวิธีการการโจมตี เสรีภาพของสื่อ บริษัทในเครือเทคโนโลยี และผู้บอกเล่าความจริงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยในพื้นที่ออนไลน์

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation), Access Now, ALTSEAN-Burma, Cambodian Center for Human Rights (CCHR), the Institute of Policy Research and Advocacy (ELSAM), PEN Myanmar, และ Southeast Asia Freedom of Expression Network (SAFEnet) ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่าขอสนับสนุนและแสดงจุดยืนร่วมกับเยาวชนไทยผู้กล้า พร้อมทั้งบรรดาสื่ออิสระ ให้พวกเขาสามารถเผยแพร่ความจริงและใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครองโดยหลักสากลทั้งในพื้นที่ออนไลน์และพื้นที่สาธารณะและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้

พวกเราขอประณามการกระทำของรัฐบาลไทยอันมีทหารอยู่เบื้องหลังที่พยายามใช้อำนาจเผด็จการควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทยและเสรีภาพสื่อขัดขวางพวกเขาไม่ให้บอกเล่าเรื่องราวให้โลกได้รับรู้ถึงความจริงว่า #กำลังเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย

แม้พวกเราได้รับรู้ถึงการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร โดย นายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา แต่พวกเราเห็นว่า การประกาศยกเลิกครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะประชาคมโลกได้จับจ้องเขาอยู่และกระแสตอบรับกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาได้ตั้งใจไว้ ดังต่อไปนี้

(1) การสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมเกินห้าคน กลับกระตุ้นให้ผู้ชุมนุมต่อต้านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีผู้ชุมนุมหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วง และ

(2) การที่ศาลอาญารัชดามีคำสั่งยกคำร้องกรณีที่มีการใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่ให้สั่งปิดสื่อออนไลน์ทุกช่องทางของ Voice TV โดยพิจารณาว่าการออกคำสั่งลักษณะนี้เป็นการละเมิดมาตรา 35 อนุ 2[i] และมาตรา 36 อนุ 1[ii] ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่วางหลักไว้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพสื่อ

พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากลภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของปัจเจกบุคคล รวมทั้ง สื่อ เช่น สิทธิในการแสวงหา รับรู้ ติดต่อสื่อสารข้อมูล ความคิด ผ่านทางสื่อใด ๆ รวมทั้งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อบนอินเตอร์เน็ต ตามที่ได้ตีความไว้โดยการวินิจฉัยทั่วไป (General comment) ที่ 34 ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน

พวกเราขอประนามการที่รัฐบาลไทยไม่สามารถปฏิบัติตามพันธะสัญญาเหล่านี้และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯและกฎหมายมาเป็นอาวุธทำร้ายประชาชนดังเช่น พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด– 19)[iii] และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันทำให้เกิดสภาวะหวาดกลัว การปกปิดข้อมูล และจับกลุ่มผู้นำชุมนุม กวาดล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวอันทรงพลังของกลุ่มเยาวชนเพื่อประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2020 ประเทศไทย

ในวันที่ 12 ตุลาคม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 ถูกนำมาใช้ในการออกหมายเรียก จับกุมและตั้งข้อหาแก่ผู้ชุมนมทางการเมืองกว่า 73 คนใน 21 คดี ทั้งนี้มีนักเรียนมัธยมอายุ 17 ปีจากจังหวัดราชบุรีก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีและสอบปากคำ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14 อนุ 2 และ 14 อนุ 3 ถูกนำมาใช้อย่างนับไม่ถ้วนเพื่อโจมตีเยาวชนและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ โดยมีการมุ่งเป้าไปยังการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าเป็นการใช้ข้อมูลเท็จ ผิดกฎหมายอาญา และทำให้เกิดความวิตกกังวลของสาธารณ รวมทั้งทำลายความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่ได้ประกาศใช้ในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมเป็นการออกกฎหมายเพื่อหยุดยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยและได้ออกมาตรการควบคุมอย่างเต็มที่ตามมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่สื่อและข้อมูลข่าวสารออนไลน์ที่อาจก่อให้เกิดความหวาดกลัว หรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แม้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานครจะถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม แต่การคุกคามอย่างร้ายแรงก็ยังคงเกิดขึ้น เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 5 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมโรคโควิด -19 เหล่านี้ต่างมีลักษณะการควบคุมเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์และสามารถถูกใช้เป็นอาวุธในการดำเนินคดีใครก็ตามที่แชร์ข้อมูลที่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ การวิจารณ์นั้นถือเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาจถูกจำคุกได้ถึง 5 ปี และถูกปรับ 100,000 บาท ในขณะที่บุคคลใดที่ละเมิดพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉินอาจถูกจำคุกได้ถึง 2 ปี และถูกปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บริษัทในเครือเทคโนโลยีระดับสากลยังถูกคุกคามโดยการปราบปรามของรัฐบาลไทยในพื้นที่ดิจิทัลเป็นผู้ที่ต้องรับมือกับปัญหาของรัฐไทยที่ต้องการจะใช้อำนาจเผด็จการควบคุมพื้นที่สื่อในเดือนสิงหาคม การกดดันโดยรัฐบาลไทยทำให้เกิดการปิดกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส อันเป็นกลุ่มเฟสบุ๊คที่เปิดไว้เพื่อถกแถลงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผยในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่รัฐใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เริ่มดำเนินการทางกฎหมายกับเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยอ้างว่าบริษัทเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือในการที่จะเซนเซอร์ข้อมูลออนไลน์ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้อาจจะทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมาก [iv] ในแต่ละวันที่พวกเขาปฏิเสธจะให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม บริษัทในเครือเทคโนโลยีบางแห่งยังต่อต้านความพยายามที่จะละเมิดสิทธิของผู้ใช้บริการ ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย หรือ UN Guiding Principle on Business and Human Rights ในข้อ GNI Principles ยกตัวอย่างเช่น เฟสบุ๊ค กล่าวว่า พวกเขาจะใช้กระบวนการทางกฎหมายท้าทายคำสั่งเหล่านี้ หากรัฐบาลยังคงใช้กระบวนการทางกฎหมายต่อศูนย์ปฏิบัติการในไทยของเฟสบุ๊ค เพราะมันถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล และกระทบต่อความสามารถในการแสดงออกของผู้ใช้บริการ ในขณะที่ ทวิตเตอร์ต่อต้านโดยการลบ 926 บัญชีผู้ใช้ที่ถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการตอบโต้ของทหารไทยในการบิดเบือนข้อมูลโดยรัฐ

 
ความพยายามเหล่านี้โดยรัฐบาลไทยเป็นการฝ่าฝืนพันธะสัญญาตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลของรัฐไทยอันเป็นการนำไปสู่ภาวะการเซ็นเซอร์ตัวเองออนไลน์ ดังนั้นพวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล
  • ใช้กฎหมายและนโยบาลโดยสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลรวมทั้งเคารพสิทธิในการแสดงออกที่รับรองโดย ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและยกเลิกเพิกถอนกฎหมายที่มากเกินความจำเป็น เช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมโรคโควิด -19 ซึ่งไม่จำเป็น ไม่สมเหตุสมผล ขาดความโปร่งใส และการตรวจสอบการกระทำโดยรัฐ
  • หยุดใช้กฎหมายต่อต้านประชาธิปไตยเป็นอาวุธโจมตีประชาชน เช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันถือเป็นการทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้เคลื่อนไหว ภาคประชาสังคมและสื่ออิสระถูกปิดเงียบ
  • ระงับการขยายการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 นับจากวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2020 เนื่องจากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่หากแต่เป็นการใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อระงับการโต้แย้งและการแสดงออกทางความคิดเห็นตามกระบวนการประชาธิปไตย
  • รับรองว่าสิทธิปัจเจกบุคคลในการใช้เสรีภาพออนไลน์และเข้าถึงข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองตามข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
  • ระงับความพยายามที่จะบังคับบริษัทในเครือเทคโนโลยีทั้งด้านอินเตอร์เน็ตและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปกปิดข้อมูล (censorship) ของรัฐและอนุญาตให้พวกเขาได้ปฏิบัติตามหน้าที่และเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในข้อ GNI Principles (UN Guiding Principles on Business and Human Rights and sector-specific GNI principles)
  • ฟื้นฟูประชาธิปไตยในพื้นที่ดิจิทัลโดยการทำความเข้าใจสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในการแลกเปลี่ยนข้อมูลออนไลน์ เพื่อตรวจสอบความรับผิดชอบและรายงานการทำงานของรัฐบาลไทย
  • ยุติการสร้างข้อมูลเท็จเพื่อทำให้เยาวชนของประเทศและสื่อกลายเป็นศัตรูของรัฐและยับยั้งความพยายามในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมโดยสันติ


[i] มาตราที่ 35 อนุ 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุไว้ว่า ‘การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้’ ซึ่งมาตราที่ 35 อนุ 1 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ระบุไว้ว่า ‘บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ’
[ii] มาตราที่ 36 อนุ 1 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุไว้ว่า ‘บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ…เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ’
[iii] ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด – 19 ประกาศใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มีนาคมและได้มีการขยายระยะเวลาการประกาศใช้มาอย่างต่อเนื่องถึงหกครั้งจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ถึงแม้ว่าประเทศไทยแทบจะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศเลยก็ตาม
[iv] ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บริษัทอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และถูกปรับอีกวันละ 5,000 บาทตามระยะเวลาที่บริษัทปฏิเสธจะให้ความร่วมมือ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: