โครงการ “ทูตอาหารทะเล : ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” จัดขึ้นภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19” ที่พยายามทำเพื่อประคับประคองพี่น้องชาวประมง และแบ่งปันความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยทางโครงการจะเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไป และรับซื้ออาหารจากชาวประมงพื้นบ้านเพื่อนำไปส่งให้กลุ่มเป้าหมายที่แบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น
วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบให้คนในสังคมไทยอย่างถ้วนหน้า ทั้งในเชิงสุขภาพและเศรษฐกิจ เมื่อผู้คนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและลดการจับจ่ายใช้สอย
‘ชาวประมงพื้นบ้าน’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านการประกอบอาชีพ แม้พวกเขาจะยังออกหาปลาได้ แต่ช่องทางการขายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ประมงพื้นบ้านคือการทำประมงตามชายฝั่งด้วยเรือเล็ก ขนาดไม่เกิน 10 ตันกรอส โดยจะอยู่กันเป็นชุมชนกระจายอยู่ในหลายจังหวัดชายฝั่งทะเล
เมื่อเกิดโรคระบาดการรับซื้อสินค้าสัตว์น้ำในชุมชนก็ลดลงและหยุดชะงักจากมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพ แพปลาต้องหยุดประกอบการ เนื่องจากการขนส่งและต้องเฝ้าระวังการทำงานในอาคาร ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีตลาดขาย แม้ว่าชาวประมงจะยังมีอาหารกินในครัวเรือน และบางส่วนสามารถขายสัตว์น้ำแบ่งปันในชุมชนได้ แต่รายได้ที่หายไปทำให้ไม่พอซื้อข้าวสารและสิ่งของจำเป็นอื่นๆ
‘ทูตอาหารทะเล’ ส่งต่อความช่วยเหลือ-กำลังใจจากท้องทะเล
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เล่าว่า ช่วงนี้รายได้ของชาวประมงหายไปมาก ที่ผ่านมาทางสมาคมพยายามช่วยเหลือชาวประมงด้านผลผลิต ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านได้จัดการผลผลิตเองผ่านการขายทาง ‘ร้านคนจับปลา’ ที่ขายอาหารทะเลแช่แข็งโดยไม่ใช้สารเคมี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะจับด้วยวิถีประมงพื้นบ้าน และรับซื้ออาหารทะเลด้วยราคาที่เป็นธรรม สูงกว่าพ่อค้าคนกลาง
“ผลผลิตของชาวประมงพื้นบ้านมีคุณภาพดี สด น่ารับประทาน ไม่มีการใช้สารปนเปื้อน ทำให้ผู้บริโภคได้อาหารสดจากชาวประมงส่งตรงถึงมือ เราเชื่อว่าทะเลไทยเหมือนบึงใหญ่ที่พร้อมดูแลคนไทยทั้งหมด ถ้าเรามีการดูแลที่ดี ทำการประมงอย่างยั่งยืนทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เราจะมีทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถดูแลพวกเราได้” วิโชคศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ทางสมาคมได้ร่วมมือกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทำโครงการ “ทูตอาหารทะเล : ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” จัดขึ้นภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19” ที่พยายามทำเพื่อประคับประคองพี่น้องชาวประมง และแบ่งปันความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยทางโครงการจะเปิดรับบริจาคจากคนทั่วไป และรับซื้ออาหารจากชาวประมงพื้นบ้านเพื่อนำไปส่งให้กลุ่มเป้าหมายที่แบ่งเป็นสองส่วน ซึ่งจะทำให้ชาวประมงได้มีช่องทางการขายเพิ่มขึ้น
- บุคลากรทางการแพทย์ โดยทางโครงการเชิญชวนคนทั่วไปบริจาคเงิน 150 บาท เพื่อหัวใจ 2 ดวง คือบุคลากรทางการแพทย์และชาวประมงพื้นบ้าน แล้วจัดส่งอาหารทะเลส่งถึงบ้านบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่แล้วต้องกักตัวเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน
- ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยโครงการเปิดรับบริจาคและร่วมสมทบทุนซื้ออาหารทะเลแห้ง ส่งให้ผู้ต้องการความช่วยเหลือ กลุ่มผู้ขาดแคลนอาหาร เดือดร้อนเพราะขาดรายได้รายวัน เช่น คนจนเมือง คนไร้บ้าน ผู้พิการ
“โครงการนี้ถือเป็นการช่วยชาวประมงและช่วยสังคมไปด้วย แม้จะไม่เยอะมาก แต่ถือเป็นกำลังใจให้แก่กันในยามนี้ โดยในช่วงแรกทางสมาคมได้จัดสรรทุนให้ก่อนโดยไม่รอการบริจาค และต่อมาได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสหภาพยุโรปและอ็อกแฟมด้วย เราจึงคิดว่าจะทำโครงการนี้อีกเพื่อช่วยผู้ด้อยโอกาส โดยดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ‘สมาคมรักษ์ทะเลไทย’
“ผมเชื่อว่าหากพ้นโควิดไปแล้วคิดว่าสิ่งที่เราทำกันอยู่จะยังไปต่อได้ เพราะเชื่อว่าอาหารทะเลเป็นที่นิยมจากทั้งสังคมไทยและสังคมโลก และผลผลิตสัตว์น้ำที่ดีเป็นความต้องการของผู้บริโภคอยู่แล้ว ถ้าทำได้ต่อเนื่อง เมื่อหมดโควิดแล้วชาวประมงพื้นบ้านอาจขายตรงสู่ผู้บริโภคได้” วิโชคศักดิ์กล่าว
ความสุขที่ได้แบ่งปันอาหารปลอดภัย
อีกเสียงสะท้อนจากผู้ที่ทำอาชีพนี้มากว่า 40 ปี เจริญ โต๊ะอิแต หรือ บังมุ ประมงพื้นบ้านที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช เล่าว่าในหมู่บ้านของเขามีเรือประมงกว่า 200 ลำ ผลผลิตหลากชนิดที่หาได้จากประมงพื้นบ้านก็จะส่งขายตามตลาดในชุมชน โดยส่วนใหญ่เป็นปลาทู แต่ก็มีชนิดที่มีราคาและอร่อย อย่าง ปูม้า กุ้งแชบ๊วย ติดอวนมาด้วย
“จากสถานการณ์ที่มีโรคระบาดทำให้เราเจอปัญหาหลายเรื่อง เช่น การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานช่วง 4 ทุ่ม - ตี 4 ขณะที่ชาวประมงจะออกเรือตอนตี 2 แต่รัฐมองเห็นปัญหาจึงให้ไปทำเรื่องขออนุญาตผู้ใหญ่บ้านเป็นกรณีไป ผลกระทบอีกส่วนคือราคาสัตว์น้ำ เช่น กั้งจากราคา กิโลกรัมละ 1,000 บาท เหลือ 450 บาท ปลาทูจาก กิโลกรัมละ 120บาท เหลือ 50 บาท ทำให้เราต้องขายถูกกว่าปกติด้วยความจำเป็น ที่ตลาดคนก็จับจ่ายใช้สอยกันน้อยมาก ถ้าไม่อยากเหลือกลับบ้านก็ต้องแจก แต่อย่างน้อยพวกเราก็มีอาหารที่สมบูรณ์ให้กิน”
ชาวประมงพื้นบ้านที่มีอยู่ราวหนึ่งแสนคนอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับเงินชดเชยรายได้จากรัฐเป็นรายครอบครัวด้วยนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร โดยที่ผ่านมามีการลงทะเบียนไว้แล้วแต่อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด บังมุบอกว่าเขาเข้าใจดีว่าในสถานการณ์เช่นนี้จะให้ภาครัฐช่วยเหลือคนจำนวนมากให้เสร็จเรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็วคงเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขายังคอยอยู่ ด้วยหวังว่าจะได้การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ
บังมุ อยู่ในเครือข่ายทำงานของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและได้ร่วมโครงการทูตอาหารทะเลที่รวบรวมอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เขามองว่าโครงการนี้ได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ให้พี่น้องชาวประมงบางส่วน แม้ว่าอาจได้ไม่เต็มที่ แต่สิ่งสำคัญที่พวกเขาเล็งเห็นคือการได้ช่วยเหลือคนกลุ่มอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง
“ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เราอยากช่วยเขา เราเป็นห่วงคนกลุ่มที่ขาดโอกาส เรากินพอแล้วแต่เห็นคนอื่นยังขาดอาหารอยู่เลยอยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นช่วงแรกมีโครงการระดมปลาทะเล 1 ตันส่งไปให้เป็นอาหารแก่ผู้พิการทางสายตาฟรี แล้วก็มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่มีอาหารการกิน พวกเราจัดส่งไปทำให้หลายคนมีอาหารสดๆ ที่ปลอดภัย
“พวกเราชาวประมงพื้นบ้านมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่เกิดปัญหา แม้เราเองก็ได้รับผลกระทบ แต่เรายังพอมีอาหารการกิน ยังมีพี่น้องบางกลุ่มบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารสดที่ปลอดภัยได้ ทำให้พวกเรายินดีช่วยเหลือกันในยามเกิดวิกฤต ยินดีที่ได้ทำให้สถานการณ์ของคนอื่นๆ คลี่คลายลงและได้กินอาหารที่ปลอดภัย” บังมุกล่าว
สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ทูตอาหารทะเล : ส่งปลาจากทะเลถึงผู้เสียสละ” จัดขึ้นภายใต้ “โครงการอาหารทะเลจากชาวประมงพื้นบ้านสู้โควิด-19” สามารถโอนเงินมาที่บัญชี สมาคมรักษ์ทะเลไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 691-235-323-6 |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ