สื่อเผย 'โรงพยาบาลเอกชน' รายได้ลดจาก COVID-19 ต้อง 'ยกเลิกโอที-หมอพาร์ตไทม์'

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มิ.ย. 2563 | อ่านแล้ว 2797 ครั้ง

สื่อเผย 'โรงพยาบาลเอกชน' รายได้ลดจาก COVID-19 ต้อง 'ยกเลิกโอที-หมอพาร์ตไทม์'

รายงานพิเศษสื่อ 'ประชาชาติธุรกิจ' จากวิกฤต COVID-19 โรงพยาบาลเอกชนยอด 'คนไข้นอก-คนไข้ใน-ต่างประเทศ' ร่วงต่อเนื่อง ปิดคลินิก 'ทันตกรรม-ความงาม-ผ่าตัด' ลดความเสี่ยงการระบาด ทำรายได้ลด คาดไตรมาส 2/2563 สถานการณ์ยังหนัก เดินหน้าลดต้นทุน คุมเข้ม-ลดรายจ่าย ประกาศเลิกจ้าง 'แพทย์-พยาบาล พาร์ตไทม์' ควบคู่ลดโอที | ที่มาภาพประกอบ: DarkoStojanovic (CC0)

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนคนไข้ ทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน อย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของไตรมาสแรกที่ผ่านมา ล้วนมีตัวเลขที่ลดลง เนื่องจากคนไข้หรือผู้ใช้บริการส่วนใหญ่มีความกังวลและหลีกเลี่ยงการเข้าโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยง และส่งผลกระทบกับรายได้โดยตรง ล่าสุดโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งต้องหันมาใช้นโยบายรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่ยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มและระยะเวลาของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

คาดไตรมาส 2 ยังหนัก

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการโรงพยาบาลเอกชนเปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่าขณะนี้แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยรวมของโควิด-19 ในประเทศอาจจะดูคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่แต่ละวันมีจำนวนไม่มากนัก แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนยังคงได้รับผลกระทบในแง่ของจำนวนผู้ใช้บริการหรือคนไข้ที่เข้ามารับการรักษาที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30-40% ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบกับที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งได้หยุดให้บริการคลินิกต่าง ๆ ลงจำนวนหนึ่ง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาด เช่น คลินิกทันตกรรม คลินิกความงาม คลินิกศัลยกรรมตกแต่ง รวมถึงการผ่าตัดแทบทุกประเภท โดยทั้ง 2 ปัจจัยหลักนี้ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนมีรายได้ลดลง

“จากจำนวนอุบัติเหตุที่ลดลงค่อนข้างมากในช่วงที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการประกาศเคอร์ฟิว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีรายได้ที่ลดลง จากก่อนหน้านี้ที่ทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุ หรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โรงพยาบาลที่รับเคสก็จะมีรายได้จากยูเซป (UCEP&Universal Coverage for Emergency Patients) จากกองทุนประกันหลักสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ แล้วแต่กรณี”

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า จากการได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนหลาย ๆ แห่ง ทุกคนต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลในช่วงไตรมาสที่ 2 จะหนักกว่าไตรมาสแรก เพราะช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ โรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ตลอดทั้งไตรมาส ขณะที่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา โรงพยาบาลได้รับผลกระทบเฉพาะช่วงครึ่งหลังของไตรมาส แต่ช่วงเดือนมกราคมถึงกลางกุมภาพันธ์ เหตุการณ์ยังปกติ

ซีโร่โอที-ลดหมอพาร์ตไทม์

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า จากแนวโน้มรายได้ที่ลดลงดังกล่าว ทำให้ตอนนี้โรงพยาบาลแทบทุกแห่งหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยสิ่งที่เริ่มทยอยทำมาระยะหนึ่งก็คือ การลดการทำงานล่วงเวลาหรือโอทีของทุกแผนก รวมทั้งกรณีของแพทย์และพยาบาล โดยหลายแห่งประกาศใช้นโยบาย “ซีโร่โอที” นอกจากนี้ยังมีการประกาศงบฯการจ้างแพทย์พาร์ตไทม์ และพยาบาลพาร์ตไทม์ เพื่อลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง เนื่องจากค่าจ้างแพทย์และพยาบาลนั้นถือเป็นต้นทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง หรือคิดเป็นประมาณ 40-60% ของต้นทุนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่ามีการซื้อตัวมาแพงมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ใช้แพทย์-พยาบาลฟูลไทม์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่

“ที่อาจจะหนักหน่อยหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ เพราะนอกจากคนไข้ในประเทศที่ยังวิตกกังวลและไม่อยากเข้าไปใช้บริการแล้ว คนไข้ใหม่จากต่างประเทศก็ไม่มีเข้ามาเพิ่มเพราะหลายแห่งยังปิดประเทศ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าอาจจะยาวไปจนถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศด้วย”

ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการมอนิเตอร์การใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในภาพรวมพบว่า ขณะนี้แม้ว่าประชาชนหรือคนไข้จำนวนหนึ่งอาจจะลดความกังวลที่จะไปโรงพยาบาลลงบ้าง แต่ปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อจากปัญหาการปิดกิจการ การเลิกจ้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาวะเช่นนี้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งเป็นเหมือนกันหมด มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป และทำให้ทุกค่ายต้องปรับตัวกันอย่างหนัก

ไตรมาส 1 รายได้ลดถ้วนหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ของธุรกิจโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯพบว่าส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานหรือมีรายได้ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงครึ่งหลังของไตรมาส 1/2563 ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกมีตัวเลขที่ลดลง รวมถึงการปิดประเทศ การห้ามเดินทางระหว่างประเทศเพื่อลดการแพร่ระบาด ทำให้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีจำนวนคนไข้ชาวต่างประเทศลดลงเช่น บริษัท โรงพยาบาลสมิติเวช จำกัด (มหาชน) รายได้ลด 6% หรือ 2,949 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีรายได้ 3,132 ล้านบาท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ มีรายได้ลดลง 4% หรือ 20,003 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีรายได้ 20,770 ล้านบาท

เช่นเดียวกับบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) รายได้ลดลง 11.7% หรือ 4,179 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีรายได้ 4,733 ล้านบาท ขณะที่บริษัท บางกอก เชน ฮอสพิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง หรือเพิ่มขึ้น 4% เป็น 2,196 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีรายได้ 2,105 ล้านบาท

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: