กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใครก็ตาม
11 มิ.ย. 2563 ย้อนกลับไปหลังการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ในปี 2557 วันเฉลิม สัตยศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ถูกคณะรัฐประหารเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหาร อย่างไรก็ตาม ด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปกัมพูชา ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 เขาลักพาตัวและอุ้มหายไปในรถสีดำคันหนึ่ง จากหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยมีภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน รวมถึงมีพยานเห็นเหตุการณ์ที่พยายามเข้าช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ
ล่วงเลยมาถึงวันนี้ ข่าวคราวของเขายังคงไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความหวังเมื่อชาวโซเชียล มีเดียต่างออกมาร่วมกันติด #Saveวันเฉลิม เรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลไทยติดตามการหายตัวไปของเขาอย่างเร็วที่สุด
ล่าสุด กลุ่มเพื่อนวันเฉลิมร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 25 องค์กรร่วมกันจัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน)” โดยได้เชิญวิทยากรทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงพรรคการเมือง เพื่อพูดคุยสนทนา รวมถึงออกแบบหลักประกัน หรือกฎหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่ากับใครก็ตาม
ชยุตม์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม กล่าวว่า วันเฉลิม ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมตั้งแต่ครั้งเป็นเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ หรือครั้งลงไปทำงานกับเยาวชนภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 โดยเขาเปรียบว่า วันเฉลิมเป็นดั่งต้นกล้าในการพัฒนาสังคมตั้งแต่สมัยเยาวชน และแม้เขาจะเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมาไปบ้าง แต่ไม่มีทางที่เขาจะทำร้ายใคร ชยุตม์ย้ำว่าประเด็นที่มีการพูดถึงเรื่อง วันเฉลิม เป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ’ ไม่ใช่เรื่องจริง เพียงแต่วันเฉลิมไม่มีสิทธิ์ที่จะออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เลย
ชยุตม์ทิ้งท้ายว่า “ไม่มีใครสมควรถูกอุ้มหายไปทั้งนั้น ถึงแม้เขาจะมีความคิดและแสดงออกแตกต่างแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากผิดก็ควรให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย และรัฐบาลควรติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิม เพราะอย่างน้อยเขายังเป็นคนไทยคนหนึ่ง”
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย แต่มันเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงตอนนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ UN รายงานว่า มีนักกิจกรรมทางการเมืองของไทยถูกอุ้มหายไปแล้วทั้งหมด 82 คน โดย 9 คนถูกอุ้มหาย ขณะที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ
กรณีที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง และไม่ว่าเขาจะเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยหรือไม่ ในฐานะที่เขาเป็นคนไทยคนหนึ่ง รัฐบาลมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองเขา นอกจากนี้ ประเทศกัมพูชาในฐานะประเทศภาคีที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยระหว่างประเทศหลายฉบับ ควรต้องให้ความร่วมมือในการสอบสวนการหายไปของวันเฉลิมเช่นกัน
สุณัยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO ของไทย ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ตัวตนของ วันเฉลิม ด้อยค่าลง เหตุใด IO ของไทยถึงต้องปฏิบัติการช่วยรัฐบาลกัมพูชา ทั้งที่ผู้ที่หายตัวไปคือคนไทยทั้งคน
เขาทิ้งท้ายว่า “ควรมีการเปิดเผยหนังสือของสถานทูตไทยที่ส่งไปให้รัฐบาลกัมพูชาว่า มีการใช้ถ้อยคำและเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งถ้าหากข้อความในหนังสือยังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ควรผลักดันให้มีการออกเอกสารฉบับใหม่ รวมถึงเรียกทูตกัมพูชามาติดตามความคืบหน้าในคดีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง”
อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียม เธอเล่าว่าทุกๆ ครั้งที่ตัวเธอเองและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหายคนอื่นพยายามให้ภาครัฐช่วยเหลือในการตามตัวผู้สูญหาย ไม่มีสักครั้งที่มีความคืบหน้า และไม่มีสักครั้งที่พวกตนรู้สึกว่ามีความหวังเพิ่มขึ้น
เธอกล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ครอบครัวของผู้สูญหายจะรับมือกับความรู้สึก “เหมือนอยู่ในม่านหมอกของความคลุมเครือตลอดเวลา” เช่นนี้ นอกจากนี้ ความพยายามลดทอนคุณค่าของผู้ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม ยิ่งเป็นการซ้ำเติมครอบครัวให้สิ้นหวังมากขึ้น
“นอกจากกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย ทางการไทยควรมีการเยียวยาไม่ใช่แค่ในเรื่องเงินทอง แต่รวมถึงด้านความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นอกจากนี้ เธอเสนอว่า ครอบครัวของผู้สูญหายควรมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ตลอดจนเป็นคณะกรรมการวิสามัญติดตามกรณีที่เกิดขึ้น”
เธอกล่าวจบว่า ทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันในการติดตามการหายตัวไปครั้งนี้ ส่วนตัวเธอขอให้กำลังใจทุกครอบครัวของผู้สูญหาย และเรียกร้องให้สังคมยืนเคียงข้างครอบครัวของผู้สูญหาย
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้เหมือนสังคมไทยอยู่ในดินแดนที่คลุมเครือ ปากที่เผอิญพูด มือที่บังเอิญโพสต์ หรือเพียงแค่ความคิดที่แวบเข้ามา ทำให้เราวิตกว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่จริงกฎหมายไม่ควรถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
แอมเนสตี้เรียกร้องให้มีการสืบสวนเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้น การออกกฎหมายป้องกันการอุ้มหายเป็นหลักประกันขั้นแรกสุดของประชาชน ที่อย่างน้อยสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงนอกกฎหมายกับประชาชน
แอมเนสตี้ยืนยันว่า วันเฉลิม เป็นบุคคลหนึ่งที่ใช้สิทธิ เสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และยินดีที่ได้เห็น แฮชแทค และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าสังคมส่วนหนึ่งยังคงยืนอยู่ข้างวันเฉลิม
อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่า นับตั้งแต่ คสช. ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 บรรยากาศการเมืองไทยอึมครึมขึ้นมาก นอกจากการออกคำสั่งให้คนบางกลุ่มเข้าไป ‘ปรับทัศนคติ’ ในค่ายทหารแล้ว ยังมีการรายงานว่านักเคลื่อนไหวหลายคนถูกทำให้หายตัวไป ไม่ว่าจะเป็น วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ในปี 2560 สุรชัย แซ่ด่าน และอีกสองสหายคนสนิทเมื่อปี 2561 หรือ สยาม ธีรวุฒิ เมื่อปี 2562 และไม่เพียงแค่นั้น ราวเดือนสิงหาคมปี 2562 มีการรายงานว่า อ๊อด ไชยวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวลาว หายตัวไปจากบ้านพักในกรุงเทพฯ
อานนท์ย้ำเช่นเดียวกับทุกคนว่า “ไม่ว่าสาเหตุเบื้องหลังจะเกิดจากอะไร รัฐบาลไทยและกัมพูชามีหน้าที่ต้องติดตามและทำให้ความจริงปรากฎ เพื่อทำให้ทุกอย่างชัดเจน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เขาทิ้งท้ายว่าที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีใครควรต้องถูกทำร้าย ด้วยวิธีการนอกกฎหมาย”
นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ (กฎหมาย) ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังประสานผ่านกระทรวงต่างประเทศ ไปยังสถานทูตไทย ในกัมพูชา เพื่อติดตามกรณีดังกล่าว
ทางด้านความคืบหน้าของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย กำลังคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เธอยังไม่ได้รับปากว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกคลอดและนำมาใช้เมื่อไร
พ.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่า รากฐานของกฎหมายไทย อาจจะไม่ได้มีขึ้นเพื่อรับใช้ประชาชนโดยแท้จริง โดยเฉพาะรัฐไทยมักพยายามเน้นการควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ทำให้หลายครั้งเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา
เขาชี้ว่า คงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปกฎหมายให้รับใช้ประชาชน และเป็นประชาธิปไตยเสียที ต้องไม่ทำให้อำนาจในการออกและตีความกฎหมายอยู่ในอุ้งมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องทำให้เป็นของประชาชนทุกคน เพื่อลดอคติให้น้อยที่สุด หรือใช้กฎหมายเพื่อเข้าข้างตนและกลุ่มของตนเอง
ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่ารัฐไทยยังติดอยู่กับการใช้เลนส์แบบเก่าสมัยสงครามเย็นมองประชาชนว่าเป็นศัตรู กับสถาบันของชาติ และยิ่งรุนแรงขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2557 ดั่งจะเห็นได้จากนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนที่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ รวมถึงการทำร้ายนักเคลื่อนไหวที่ถี่เพิ่มขึ้น หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในปี 2554 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน
เขาเอ่ยถึงประเด็นที่ภายหลังที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาถึงประเด็นมาตรา 112 ก่อนที่ประชาชนทางบ้านจะคอมเมนท์แสดงความเป็นห่วง เขาชี้ว่ามันสะท้อนว่าประชาชนในประเทศรู้ดีถึงความรุนแรงที่แฝงอยู่ในสังคมไทย และความไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน หากคิดแตะต้องผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐ
เขามองว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่กฎหมายป้องกันการอุ้มหายจะเกิดขึ้นโดยง่ายในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคการเมือง ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันเรื่องนี้ โดยในเบื้องต้น ได้ร่างกฎหมายฉบับร่างเสร็จเรียบร้อยและผ่านที่ประชุมมติพรรคแล้ว ในลำดับถัดไปจะนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพูดคุยใน กมธ. อีกรอบ ซึ่งหวังว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จะช่วยเป็นอีกแรงที่ผลักดันเรื่องนี้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ