5 หน่วยงานถกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานขอบเขต 'เขายะลา' 12 มี.ค.นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 มี.ค. 2563 | อ่านแล้ว 1811 ครั้ง

5 หน่วยงานถกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานขอบเขต 'เขายะลา' 12 มี.ค.นี้

อธิบดีกรมศิลป์เชิญ กอ.รมน.- ศอ.บต.-กรมอุตสาหกรรมฯ-สำนักนายกฯ ถกกรณีข้อร้องเรียน ประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานขอบเขต “เขายะลา” 12 มี.ค. ย้ำแค่ในเขตพื้นที่ ยันคุ้มครองภาพเขียนสีตามกฎหมาย

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าสืบเนื่องมาจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องเขายะลา นำโดย นายวรา จันทร์มณี พร้อมคณะ ยื่นหนังสือเปิดผนึกแก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศกรมศิลปากร เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานในขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เพื่อคุ้มครองโบราณสถานและทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน พร้อมกันนี้ ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการลงนามในประกาศ จาก นายอนันต์ ชูโชติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในวันสุดท้ายก่อนจะเกษียณอายุราชการ นั้น

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนเพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปประเทศอินเดีย และได้รับทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวแล้ว กรมศิลปากร ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่งหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาประเด็นตามข้อร้องเรียนของภาคประชาชน ในวันที่ 12 มี.ค. นี้ ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้านอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้จะลงลึกเฉพาะเชิงวิชาการอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องดูในเชิงการพัฒนา และความมั่นคงร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่เกิดขึ้น แม้จะมีการมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการให้สัมปทานในพื้นที่นั้น ก็ต้องมาพิจารณาถึงผลดีและผลเสียของการดำเนินการในพื้นที่ด้วย พร้อมกันนี้ ตนได้สรุปรายงานสถานการณ์ เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง แล้ว

“ซึ่งประกาศดังกล่าว ไม่ใช่การประกาศเพิกถอนภาพเขียนสีเขายะลาออกจากการเป็นแหล่งโบราณคดี แต่เป็นการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานโดยรอบภาพเขียนสีเขายะลา โดยภาพเขียนสีเขายะลา ยังคงสภาพเป็นโบราณสถานเหมือนเดิม และได้รับการปกป้องตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อีกทั้งไม่ได้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่โบราณสถานให้เป็นแหล่งสัมปทานเหมืองหินเนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งสัมปทานเดิมอยู่ก่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และบริเวณดังกล่าวไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งภาพเขียนสี ทั้ง 2 แห่ง” นายประทีป กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศิลปากร ได้ส่งข้อชี้แจงกรณีกรมศิลปากรประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน แหล่งโบราณคดีเขายะลา ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ถึงผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม โดยระบุว่า การพิจารณาเปลี่ยนแปลงขอบเขตโบราณสถาน จากเดิมที่ประกาศขอบเขตโดยครอบคลุมทั้งเขายะลา เป็นพื้นที่ จาก 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยในส่วนที่ประกาศลดขอบเขต ลงประมาณ 190 ไร่ เป็นส่วนที่เป็นระยะกันชน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดภาพเขียนสีประมาณ 500-540 เมตร โดยเป็นความเห็นพ้องกันของภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เป็นการดำเนินงานใน ช่วงระหว่างปี 2562 ประกอบด้วย

1. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ. ปัตตานี ขอให้พิจารณากันเขตโบราณสถานใหม่ โดยระบุผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง การว่างงาน และ ผลต่อการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ 2. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ขอให้กรมศิลปากรพิจารณาช่วยเหลือเกี่ยวกับการขอประทานบัตรเหมืองหินใน จ.ยะลา เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และเพื่อการจ้างแรงงานในพื้นที่ 3. ศูนย์อำนวยการบริหารส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ทบทวนเขตโบราณสถานเนื่องจาก เขายะลาเป็นแหล่งหินหลักเพียงแหล่งเดียวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้ และเพื่อให้ราษฎรมีงานทำ 4. ศาลากลางจังหวัดยะลา ขอให้กันเขตโบราณสถานออกจากเขตเหมืองแร่ เนื่องจากหากการต่ออายุประทานบัตรทำไมได้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และประชาชนต้องถูกเลิกจ้าง มีโอกาสชี้นำเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้

ทั้งนี้ การพิจารณาเปลี่ยนแปลงขอบเขตโบราณสถาน เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยในมาตราที่ 17 วรรคที่ 4 ระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า การทำเหมืองแร่จะต้องไม่อยู่ในเขตโบราณสถาน ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยได้รับอนุญาตเดิม โดยขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมศิลปากร ไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรได้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จึงมีหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 มีนาคม 2562 ขอให้พิจารณาช่วยเหลือเกี่ยวกับการขอประทานบัตรดังกล่าว ขณะที่ กรมศิลปากรซึ่งรับผิดชอบดูแลการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ. โบราณสถานฯ ขอเรียนให้ทราบว่า พื้นที่ซึ่งถูกกันออกไปจาก เขตโบราณสถาน มีการประกอบกิจการประทานบัตรมาแล้วไม่ต่ากว่า 20 ปี และไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งของภาพเขียนสี อีกทั้งในขั้นตอนสำคัญของการพิจารณา มีการดำเนินการตรวจสอบแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินที่มีต่อ โบราณสถาน โดย สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ประสานสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 1 จ.สงขลา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา และภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ ได้ร่วมกันตรวจสอบ วัดแรงสั่นสะเทือนและแรงอัดในอากาศในขณะระเบิดใหม่แล้ว

ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ค่าแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินและแรงอัดอากาศในการระเบิด ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จึงพิจารณาแล้วว่าการระเบิดหินในบริเวณดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโบราณสถานภาพเขียนสียะลา ดังนั้น หากมีการระเบิดย่อยหินในอนาคตจะไม่ส่งผลกระทบกับแห่งภาพเขียนสีบนแหล่งโบราณคดีเขายะลา ภาพเขียนสีบางภาพที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งเขายะลา ข้อเท็จจริงคือ เป็นภาพเขียนสีจากแหล่งถ้ำศิลป์ อยู่นอกเขตแหล่งเขายะลาออกไปประมาณ 7 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (ก.พ.ร.) ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตร ซึ่งผู้ขอจะต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วน โดยเป็นไปตามระเบียบ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: